การจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศสำหรับกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ครั้งที่ 2/2549

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday June 7, 2006 08:10 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                            7  มิถุนายน  2549
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ กลต.น.(ว) 18 /2549
เรื่อง การจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศสำหรับกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ครั้งที่ 2/2549
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (“ธปท.”) ได้อนุมัติวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มเติมให้สำนักงานเพื่อจัดสรรแก่กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) (“MF”) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (“PVD”) ในวงเงินไม่เกิน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเมื่อรวมกับวงเงินเดิม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเท่ากับ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (“สมาคม”) ได้มีหนังสือที่ สจก.ร.010/2549 ลงวันที่10 พฤษภาคม 2549 แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรวงเงินใหม่ นั้น
สำนักงานขอเรียนดังนี้
1. สำนักงานจะจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมให้กับบริษัทจัดการทุกแห่ง โดยพิจารณาจากยอดการใช้วงเงิน ณ วันที่ 30 เมษายน 2549 กับแนวทางตามที่สมาคมเสนอมาประกอบการพิจารณา โดยมีแนวทางการจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศตามวงเงินที่ ธปท. อนุญาตเพิ่มเติมข้างต้น ดังนี้
1.1 บริษัทจัดการเดิมที่ได้รับจัดสรร
(1) จัดสรรวงเงินเพิ่มเติมสำหรับ MF โดยพิจารณาจากการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของวงเงินเดิม ซึ่งแบ่งการจัดสรรเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- บริษัทจัดการที่มียอดการใช้วงเงินตั้งแต่ร้อยละ 50 ของวงเงินเดิมที่ได้รับจัดสรร จะได้รับจัดสรรเพิ่มเติม บริษัทละ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
- บริษัทจัดการที่มียอดการใช้วงเงินตั้งแต่ร้อยละ 25-50 ของวงเงินเดิมที่ได้รับจัดสรร จะได้รับจัดสรรเพิ่มเติม บริษัทละ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ
- บริษัทจัดการที่มียอดการใช้วงเงินต่ำกว่าร้อยละ 25 ของวงเงินเดิมที่ได้รับจัดสรร จะได้รับจัดสรรเพิ่มเติม บริษัทละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
(2) จัดสรรวงเงินเพิ่มเติมสำหรับ PVD บริษัทละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หากมียอดการใช้วงเงินตั้งแต่ร้อยละ 50 ของวงเงินเดิมที่ได้รับจัดสรร
1.2 บริษัทจัดการที่ไม่ได้ขอรับการจัดสรรวงเงินเดิม
จัดสรรวงเงินโดยพิจารณาแยกตามประเภทกองทุน สำหรับ MF จะได้รับจัดสรรวงเงินจำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และ PVD ในวงเงินจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
1.3 สำนักงานได้จัดสรรวงเงินเพื่อลงทุนในต่างประเทศสำหรับ MF และ PVD ดังนี้
รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน วงเงินที่ได้รับจัดสรร(ล้านเหรียญสหรัฐ)
MF PVD รวม
บลจ. อเบอร์ดีน จำกัด 25 10 35
บลจ. ทหารไทย จำกัด 25 10 35
บลจ. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) 25 - 25
บลจ. ฟินันซ่า จำกัด 25 - 25
บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 25 - 25
บลจ. กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 25 - 25
บลจ. ทิสโก้ จำกัด 25 - 25
บลจ. พรีมาเวสท์ จำกัด 25 - 25
บลจ. บีที จำกัด 25 - 25
บลจ. ยูโอบี (ไทย) จำกัด 15 10 25
บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด 15 - 15
บลจ. วรรณ จำกัด 15 - 15
บลจ. แอสเซท พลัส จำกัด 15 - 15
บลจ. นครหลวงไทย จำกัด 15 - 15
บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด 10 - 10
บลจ. ธนชาต จำกัด 10 - 10
บลจ. กสิกรไทย จำกัด 10 - 10
บลจ. อยุธยาเจเอฟ จำกัด 10 - 10
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) - 10 10
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) - 10 10
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) - 10 10
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด - 10 10
บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด - 10 10
บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด - 10 10
รวม 340 90 430
มียอดการจัดสรรให้บริษัทจัดการทั้งสิ้น 430 ล้านเหรียญสหรัฐ และวงเงินคงเหลือที่สำนักงานจำนวน 870 ล้านเหรียญสหรัฐ (สรุปวงเงินรวมที่บริษัทจัดการได้รับจัดสรรทั้งหมด ตามเอกสารแนบท้าย)
ทั้งนี้ บริษัทจัดการสามารถนำวงเงินที่ได้รับจัดสรรให้แก่ MF และ PVD ข้างต้นมาใช้เพื่อการลงทุนของ MF และ PVD (รวมวงเงินกันได้)
1.4 ในกรณีที่บริษัทจัดการใดไม่สามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2549 ได้ถึงร้อยละ 50 ของวงเงินทั้งหมดที่ได้รับจัดสรร (วงเงินเดิมที่ได้รับจัดสรรรวมกับวงเงินที่ได้รับจัดสรรตามข้อ 1.2 ข้างต้น) สำนักงานจะเรียกวงเงินที่เหลือคืนครึ่งหนึ่งของวงเงินที่ได้รับจัดสรร (พิจารณาจาก net outflow ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2549) และนำมารวมกับวงเงินสำรองคงเหลือที่สำนักงานเพื่อทำการจัดสรรครั้งใหม่ให้กับบริษัทจัดการที่ประสงค์จะไปลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ให้ยกเลิกข้อ 2.3 ของหนังสือสำนักงานที่ กลต.น.(ว) 1/2549 ลงวันที่ 24 มกราคม 2549 ที่กำหนดในเรื่องระยะเวลาการเรียกคืนวงเงินภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 และให้ใช้แนวทางตามข้อ 1.4 ข้างต้นแทน
2. สำนักงานขอชี้แจงแนวทางการจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 บริษัทจัดการสามารถขอวงเงินเพิ่มเติมได้ ครั้งละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในขณะที่ยื่นขอวงเงินเพิ่มเติมนั้นบริษัทจัดการต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศแล้วเกินกว่าร้อยละ 75 ของวงเงินทั้งหมดที่ได้รับจัดสรร ทั้งนี้ ในการพิจารณาวงเงินเพิ่มเติมของสำนักงานจะพิจารณาจากความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานที่แสดงว่ามี net outflow ณ วันที่ยื่นขอวงเงินเพิ่มเติมเป็นไปตามเกณฑ์ข้างต้นด้วย
2.2 ในกรณีที่บริษัทจัดการใดสามารถเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ได้เกินกว่าวงเงินทั้งหมดที่บริษัทจัดการนั้นได้รับจัดสรร บริษัทจัดการสามารถขอวงเงินเพิ่มเติมตามจำนวนที่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรรทั้งหมดได้ (ตามที่จำหน่ายได้จริง)
3. แนวทางปฏิบัติอื่นๆ
3.1 ในกรณีที่บริษัทจัดการใดเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศสำหรับวงเงินเดิมที่ได้รับจัดสรรไว้แล้ว บริษัทจัดการนั้นสามารถใช้บัญชีเดิมสำหรับวงเงินที่ได้รับจัดสรรในครั้งใหม่นี้ได้
3.2 ให้บริษัทจัดการถือปฏิบัติในแนวทางอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศตามหนังสือของ ธปท. ที่ ฝกก. (31) 358/2548 เรื่อง การผ่อนผันระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2548 อย่างเคร่งครัด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
เลขาธิการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย สรุปวงเงินรวมที่บริษัทจัดการได้รับจัดสรรทั้งหมด
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทร. 0-2695-9537
สำเนาเรียน เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ