กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอุทธรณ์และระบบการพิจารณา อุทธรณ์คำสั่งลงโทษสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 12:01 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทด. 89/2552

เรื่อง กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอุทธรณ์และระบบการพิจารณา

อุทธรณ์คำสั่งลงโทษสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

_________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 58 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติ บางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“ศูนย์ซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“คำสั่งลงโทษ” หมายความว่า คำสั่งที่ออกโดยผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งตามกฎเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสัญญาซึ่งมีผลเป็นการลงโทษ ทางวินัยต่อสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญา

ข้อ 2 ในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ให้คณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาแต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์สูงด้านกฎหมายและ ด้านธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านละหนึ่งคน เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญา ให้คณะกรรมการ ศูนย์ซื้อขายสัญญาแต่งตั้งกรรมการอุทธรณ์คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการอุทธรณ์กรรมการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกับผู้ออกคำสั่ง ลงโทษและต้องไม่มีประวัติเสียหายหรือดำเนินกิจการใดที่แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกับ กรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญา

ข้อ 3 การประชุมของคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องมีกรรมการอุทธรณ์มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการอุทธรณ์ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการอุทธรณ์ ถ้าประธานกรรมการอุทธรณ์ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ามีรองประธานให้ รองประธานทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีรองประธานหรือมีแต่ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการอุทธรณ์ที่มาประชุมเลือก กรรมการอุทธรณ์คนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการอุทธรณ์คนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการ ลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 4 กรรมการอุทธรณ์ซึ่งคณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาแต่งตั้งคนใดมีส่วนได้เสียใด ๆ ในเรื่องที่พิจารณา ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น

ข้อ 5 ศูนย์ซื้อขายสัญญาต้องจัดให้มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยระเบียบ ปฏิบัติดังกล่าวต้องมีขั้นตอนที่รวดเร็วและให้ความเป็นธรรมแก่สมาชิกซึ่งอย่างน้อยต้อง

(1) เปิดโอกาสให้สมาชิกที่ถูกลงโทษสามารถอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาโดยยื่นอุทธรณ์ผ่านคณะกรรมการ อุทธรณ์ได้ และต้องกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์ไว้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่สมาชิกดังกล่าวได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษนั้น แต่การยื่นอุทธรณ์ ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ

(2) กำหนดให้คณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

(3) กำหนดให้คณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาพิจารณาสั่งการเกี่ยวกับคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน ความเห็นของคณะกรรมการอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ขยายระยะเวลา ออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว หากคณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาสั่งการต่างไปจากความเห็นของ คณะกรรมการอุทธรณ์ ให้คณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาให้เหตุผลประกอบการสั่งการนั้นด้วย

(4) เปิดโอกาสให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาผ่านคณะกรรมการอุทธรณ์พร้อม กับการยื่นอุทธรณ์ได้ โดยกำหนดให้ผู้อุทธรณ์แสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษนั้น

(5) กำหนดให้คณะกรรมการอุทธรณ์และคณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญาพิจารณาคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษเป็นการด่วน และหากพิจารณาเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและคำขอนั้นมีเหตุผลอันสมควร ให้คณะกรรมการศูนย์ซื้อขายสัญญามีคำสั่งตามที่เห็น สมควรโดยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่จำเป็นด้วยก็ได้

(6) กำหนดให้ศูนย์ซื้อขายสัญญามีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสั่งการเกี่ยวกับคำอุทธรณ์และคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษพร้อม เหตุผลให้ผู้อุทธรณ์และสำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยไม่ชักช้า

ข้อ 6 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนว ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กย. 57/2547 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอุทธรณ์และระบบการ พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศ นี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวาง แนวปฏิบัติ ตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 7 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กย. 57/2547 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอุทธรณ์และระบบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การออก

หลักเกณฑ์ให้ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษสมาชิก เป็นอำนาจของคณะกรรมการ

กำกับตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กย. 57/2547

เรื่อง กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอุทธรณ์และระบบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษสมาชิกของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ