หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์ อันเป็นตราสารแห่งหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 14:15 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทด. 67/2552

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์

อันเป็นตราสารแห่งหนี้

___________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทด. 13/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อ 3 ในประกาศนี้

(1) “หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้

(2) “บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์

(3) “คู่ค้า” หมายความว่า บุคคลที่ซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์

(4) “ลูกค้า” หมายความว่า คู่ค้าที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ตามกฎหมายต่างประเทศ

(5) “ลูกค้าสถาบัน” หมายความว่า ลูกค้าดังต่อไปนี้

(ก) ธนาคารพาณิชย์

(ข) บริษัทเงินทุน

(ค) บริษัทหลักทรัพย์

(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

(จ) บริษัทประกันภัย

(ฉ) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลตาม (ซ)

(ช) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(ซ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(ฌ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(ญ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(ฎ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ฏ) กองทุนรวม

(ฐ) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

(ฑ) นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม(ก) ถึง(ฐ)ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(ฒ) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (ก) ถึง (ฑ) โดยอนุโลม

(6) “ลูกค้ารายย่อย” หมายความว่า ลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าสถาบัน

(7) “ข้อมูลภายใน” หมายความว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนและบริษัทหลักทรัพย์ได้ล่วงรู้มาเนื่องจากการประกอบธุรกิจ

(8) “ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำ หรือวางแผนการลงทุน ให้กับผู้ลงทุนหรือลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ในธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก ซึ่งสามารถทำการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ได้ด้วย และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข ซึ่งไม่สามารถทำการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์

(9) “คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน” หมายความว่า คำแนะนำไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของหลักทรัพย์หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใด ๆ

(10) “การวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์” หมายความว่า การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักทรัพย์ เพื่อใช้สำหรับการให้คำแนะนำหรือเผยแพร่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของหลักทรัพย์หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น

(11) “คำแนะนำทั่วไป” หมายความว่า คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนที่ให้แก่บุคคลใด โดยมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน และความต้องการของบุคคลนั้น

(12) “คำแนะนำเฉพาะเจาะจง” หมายความว่า คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนที่ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน หรือความต้องการของบุคคลนั้น

หมวด 1

การควบคุมการปฏิบัติงาน

__________________________

ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบการควบคุมภายใน ระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารของ บริษัทหลักทรัพย์

ข้อ 5 บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์ โดยอย่างน้อยต้องกำหนดมาตรการป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากรที่มีโอกาสทราบข้อมูลภายในเกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์กับหน่วยงานและบุคลากรที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในดังกล่าว

ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ต้องแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์แก่ลูกค้าออกจากหน่วยงานและบุคลากรที่ตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัทหลักทรัพย์

ข้อ 7 บริษัทหลักทรัพย์ต้องแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการค้าหลักทรัพย์ (front office) ออกจากหน่วยงานและบุคลากรที่ปฏิบัติงานหลังการซื้อขาย (back office) และต้องกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการค้าหลักทรัพย์รายงานผลการค้าหลักทรัพย์ แก่หน่วยงานที่ปฏิบัติงานหลังการซื้อขายภายในระยะเวลาอันควร เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ได้รับทราบและสามารถรายงานผลการค้าหลักทรัพย์ได้ตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้หน่วยงานที่ปฏิบัติงานหลังการซื้อขายสามารถยืนยันการซื้อหรือขายหลักทรัพย์กับคู่ค้าได้โดยเร็ว

ข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์หยุดประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้หรือหยุดทำธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ และบริษัทหลักทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งหยุดประกอบธุรกิจหรือธุรกรรมต่อสำนักงานแล้ว

ข้อ 9 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์และเก็บรักษาไว้ให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบันอย่างน้อยเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีการซื้อขาย โดยการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวในระยะเวลาสองปีแรกต้องกระทำในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที

หมวด 2

การซื้อขายหลักทรัพย์

_________________________

ข้อ 10 บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งให้คู่ค้าทราบว่าราคาเสนอซื้อขายหลักทรัพย์เป็นราคาที่แน่นอน (firm quotation) หรือเป็นราคาที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ (indicative quotation)

ข้อ 11 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เสนอราคาซื้อขายหลักทรัพย์เป็นราคาที่แน่นอน บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) รับซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามราคาเสนอซื้อขายดังกล่าว โดยต้องทำความเข้าใจกับคู่ค้าให้ชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่ราคาเสนอซื้อขายจะสิ้นผล

(2) กรณีที่ราคาเสนอซื้อขายดังกล่าวมีเงื่อนไข บริษัทหลักทรัพย์ต้องชี้แจงเงื่อนไขให้คู่ค้าทราบอย่างชัดเจน และบริษัทหลักทรัพย์จะปฏิเสธไม่รับซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามราคาเสนอซื้อขายดังกล่าวได้เฉพาะกรณีที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการปฏิเสธแก่ลูกค้าได้อย่างชัดเจนด้วย

ข้อ 12 บริษัทหลักทรัพย์ต้องไม่ทำให้คู่ค้าเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการซื้อขาย หลักทรัพย์ด้วยการละเว้นการเปิดเผยข้อมูล บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่คู่ค้า

ข้อ 13 บริษัทหลักทรัพย์ต้องไม่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอกหรือเปิดเผยข้อมูลภายในนั้นให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์

ข้อ 14 บริษัทหลักทรัพย์ต้องยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์กับคู่ค้าเป็นลายลักษณ์อักษรภายในระยะเวลาอันควรหลังจากที่ได้ตกลงซื้อขายหลักทรัพย์กับคู่ค้า

ข้อ 15 บริษัทหลักทรัพย์ต้องรายงานข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์แก่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 16 บริษัทหลักทรัพย์ต้องแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

หมวด 3

การติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำแก่ลูกค้า

________________________

ข้อ 17 ในการติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ กับลูกค้ารายย่อยหรือผู้ลงทุนที่มิได้มีลักษณะเดียวกับลูกค้าสถาบัน หรือในการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก หรือประเภท ข แล้วแต่กรณี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด และต้องดูแลให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดด้วย

ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าในการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยที่มีข้อกำหนดให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ขายคืนได้ตามราคาที่แน่นอนหรือราคาขั้นต่ำที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ออกพันธบัตรดังกล่าว โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนรับซื้อพันธบัตรดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวอาจจัดให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ทั้งนี้ ให้บริษัทหลักทรัพย์นั้นปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเกี่ยวกับความเสี่ยงและลักษณะของพันธบัตรที่จะลงทุน โดยอาจดำเนินการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกัน ดังนี้

(ก) จัดให้มีพนักงานที่สามารถให้ข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้าประจำอยู่ ณ สถานที่ทำการของบริษัทหลักทรัพย์ที่ติดต่อกับลูกค้าในเรื่องดังกล่าว

(ข) จัดให้มีระบบที่ทำให้ลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสารกับพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถให้ข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้าได้ ณ สถานที่ทำการของบริษัทหลักทรัพย์ที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

(ค) จัดให้มีศูนย์บริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้า โดยอย่างน้อยต้องให้บริการตลอดเวลาทำการของบริษัทหลักทรัพย์

(2) ดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ให้ลูกค้าทราบถึงการดำเนินการตาม (1)

(3) เปิดเผยให้ลูกค้าทราบถึงราคารับซื้อคืน

(4) ตรวจสอบดูแลให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

ข้อ 18 ในการพิจารณาทำธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์กับลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการทำความรู้จักลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยต้องมีกระบวนการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าเป็นบุคคลเดียวกับที่ปรากฏตามเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการขอทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า ตลอดจนต้องพิจารณาและจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะทราบถึงฐานะการเงินและความสามารถ ในการชำระหนี้ของลูกค้า และสำหรับกรณีลูกค้ารายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะทราบถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน ระดับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของลูกค้ารายย่อยนั้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาทำธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์และการให้คำแนะนำกับลูกค้าด้วย

บริษัทหลักทรัพย์ต้องทำความรู้จักลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องปรับปรุงข้อมูลของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งทบทวนความสามารถในการชำระหนี้และวงเงินซื้อขายของลูกค้าแต่ละรายเป็นประจำ

บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไว้ให้ครบถ้วนในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที และต้องจัดเก็บเอกสารดังกล่าวต่อไปอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อยห้าปีนับแต่วันที่มีการเลิกสัญญากับลูกค้า

ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามให้ใช้กับคู่ค้าที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ตามกฎหมายต่างประเทศด้วย

ข้อ 19 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดเก็บบันทึกการให้คำแนะนำและการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์กับลูกค้า ไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ให้คำแนะนำหรือวันที่เจรจาตกลง ทั้งนี้ หากกรณีที่ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้คำแนะนำหรือการเจรจาตกลงและ การดำเนินการกับข้อร้องเรียนยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดเก็บบันทึกเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวไว้ต่อไปจนกว่าการดำเนินการกับข้อร้องเรียนจะแล้วเสร็จ

ในกรณีที่การให้คำแนะนำหรือเจรจาตกลงได้กระทำทางโทรศัพท์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดเก็บบันทึกการให้คำแนะนำหรือเจรจาตกลงดังกล่าวไว้โดยเทปบันทึกเสียงหรือสิ่งบันทึกข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 20 ในการซื้อขายหลักทรัพย์กับลูกค้ารายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดทำเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวลูกค้าได้รับคำแนะนำทั่วไป คำแนะนำเฉพาะเจาะจง หรือไม่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน

ข้อ 21 บริษัทหลักทรัพย์ต้องตรวจสอบดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามประกาศนี้และระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้

ข้อ 22 นอกจากที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้

ข้อ 23 ในกรณีที่สำนักงานพบว่าบริษัทหลักทรัพย์ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ หรือตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการค้าหลักทรัพย์ สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์นั้นแก้ไข กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ได้

หมวด 4

บทเฉพาะกาล

___________________________

ข้อ 24 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า ตลอดจนต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ในส่วนของลูกค้ารายเดิมทุกรายที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่เคยมีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 25 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 26 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การออก

หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทน

ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้า

หลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ