หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 11:54 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 63/2552

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุน

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 100 วรรคสอง และมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 10/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 17/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 2)ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 3 ในประกาศนี้ เว้นแต่จะมีข้อความกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

(1) คำว่า “ผู้บริหาร” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์

(2) “หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุน

(3) “บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือการค้าหลักทรัพย์ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุน

(4) “ลูกค้าสถาบัน” หมายความว่า บุคคลดังต่อไปนี้ที่ทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือการค้าหลักทรัพย์

(ก) ธนาคารพาณิชย์

(ข) บริษัทเงินทุน

(ค) บริษัทหลักทรัพย์

(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

(จ) บริษัทประกันภัย

(ฉ) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลตาม (ซ)

(ช) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(ซ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(ฌ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(ญ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(ฎ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ฏ) กองทุนรวม

(ฐ) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

(ฑ) นิติบุคคลซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (ก) ถึง (ฐ) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(ฒ) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (ก) ถึง (ฑ) โดยอนุโลม

(5) “ลูกค้ารายย่อย” หมายความว่า ลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าสถาบัน

(6) “ข้อมูลภายใน” หมายความว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนและบริษัทหลักทรัพย์ได้ล่วงรู้มาเนื่องจากการประกอบธุรกิจ

(7) “ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำ หรือวางแผนการลงทุน ให้กับผู้ลงทุนหรือลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ในธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งมี 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก ซึ่งสามารถทำการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ได้ด้วย และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข ซึ่งไม่สามารถทำการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์

(8) “การวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์” หมายความว่า การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักทรัพย์ เพื่อใช้สำหรับการให้คำแนะนำหรือเผยแพร่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของหลักทรัพย์หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น

ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการประกอบการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ ให้คำว่า “บุคลากร” และ “พนักงาน” ตามที่กำหนดในประกาศนี้ หมายความรวมถึงผู้อื่นที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ด้วย

ข้อ 5 ให้นำความในข้อ 19 มาใช้บังคับกับการทำธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ด้วย โดยอนุโลม

หมวด 1

การควบคุมการปฏิบัติงาน

__________________________

ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระเบียบปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารหรือคณะกรรมการของบริษัทหลักทรัพย์ เกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้

(1) ระบบการควบคุมภายในและระบบป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพ

(2) ระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันความเสียหายจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจให้อยู่ในระดับที่จะไม่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ โดยความเสี่ยงที่นำมาประเมินเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงต้องครอบคลุมความเสี่ยงทุกประเภทที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ

(3) มาตรการป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์ โดยอย่างน้อยต้องกำหนดมาตรการป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากรที่มีโอกาสทราบข้อมูลภายในเกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ กับหน่วยงานและบุคลากร ที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในดังกล่าว

(4) ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจนของกรรมการ ผู้บริหารและหน่วยงานต่าง ๆ

ข้อ 7 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของจำนวนกรรมการของบริษัท

ในกรณีที่กรรมการอิสระของบริษัทหลักทรัพย์ตาย ลาออกหรือถูกสำนักงานเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (financial conglomerate) ซึ่งมีโครงสร้างการถือหุ้น การตรวจสอบการบริหารงานภายในกลุ่ม และการกำกับดูแลโดยหน่วยงานทางการอื่น ตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันให้บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่ต้องจัดให้มีกรรมการอิสระเป็นการชั่วคราวหรือถาวรตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งได้ ในการนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานและหน่วยงานควบคุมภายในที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ โดยหน่วยงานดังกล่าวต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินงานและมีความเป็นอิสระจากหน่วยงานอื่น

ข้อ 9 บริษัทหลักทรัพย์ต้องแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบหรือมีลักษณะการปฏิบัติงานที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ออกจากกัน โดยอย่างน้อยต้องแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ติดต่อ ชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ แก่ลูกค้า ออกจากหน่วยงานและบุคลากรที่ตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัทหลักทรัพย์

ข้อ 10 บริษัทหลักทรัพย์ต้องแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ให้บริการด้านหลักทรัพย์ (front office) ออกจากหน่วยงานและบุคลากรที่ปฏิบัติการด้านหลักทรัพย์ (back office) และต้องจัดให้มีระบบการสอบยันการปฏิบัติงานระหว่างบุคลากรในหน่วยงานดังกล่าว โดยอย่างน้อยต้องไม่มอบหมายให้บุคลากรคนหนึ่งคนใดรับผิดชอบการปฏิบัติงานตลอดกระบวนการในลักษณะที่อาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้

ข้อ 11 บริษัทหลักทรัพย์ต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอแก่การป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ล่วงรู้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ได้

ข้อ 12 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์และเก็บรักษาไว้ให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบันอย่างน้อยเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีการซื้อขาย โดยการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวในระยะเวลาสองปีแรกต้องกระทำในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที และต้องจัดเก็บรายงานหรือบทความการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่เผยแพร่รายงานหรือบทความการวิเคราะห์ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที

หมวด 2

การปฏิบัติงาน

___________________________

ส่วนที่ 1

การติดต่อ ชักชวน หรือการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า

และการปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

___________________________

ข้อ 13 ในการติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์กับลูกค้ารายย่อยหรือผู้ลงทุนที่มิได้มีลักษณะเดียวกับลูกค้าสถาบัน หรือในการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก หรือประเภท ข แล้วแต่กรณี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด และต้องดูแลให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดด้วย

ข้อ 14 บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่จะให้คำแนะนำหรือทำการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์ผ่านสื่อ ขออนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์ก่อน ในการนี้บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตและการอนุญาตไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ข้อ 15 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ตรวจพบการกระทำของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงานประกาศกำหนด ให้บริษัทหลักทรัพย์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและแจ้งต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตรวจพบ

ข้อ 16 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดเก็บบันทึกการให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์และการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์กับลูกค้า ไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ให้คำแนะนำ วันที่ได้รับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือวันที่เจรจาตกลง ทั้งนี้ หากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือการเจรจาตกลงและการดำเนินการกับข้อร้องเรียนยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดเก็บบันทึกเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวไว้ต่อไปจนกว่าการดำเนินการกับข้อร้องเรียนจะแล้วเสร็จ

ในกรณีที่การให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือการเจรจาตกลงได้กระทำทางโทรศัพท์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดเก็บบันทึกการให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือการเจรจาตกลง โดยเทปบันทึกเสียงหรือสิ่งบันทึกข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อ 17 บริษัทหลักทรัพย์ต้องไม่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก หรือเปิดเผยข้อมูลภายในนั้นให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์

ส่วนที่ 2

การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และการเป็น

นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

__________________________

ข้อ 18 ในส่วนนี้ “บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

ข้อ 19 ในการพิจารณาคำขอเปิดบัญชีและการทำสัญญากับลูกค้าที่แต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการพิจารณาคำขอเปิดบัญชีและการทำสัญญากับลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยต้องมีกระบวนการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าเป็นบุคคลเดียวกับที่ปรากฏตามเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการขอเปิดบัญชี รวมทั้งตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า ตลอดจนต้องพิจารณาและจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะทราบถึงฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และสำหรับกรณีลูกค้ารายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะทราบถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน ระดับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของลูกค้ารายย่อยนั้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคำขอเปิดบัญชีและการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าด้วย

บริษัทหลักทรัพย์ต้องทำความรู้จักลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องปรับปรุงข้อมูลของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งทบทวนความสามารถในการชำระหนี้และวงเงินซื้อขายของลูกค้าแต่ละรายเป็นประจำ

บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไว้ให้ครบถ้วนในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที และต้องจัดเก็บเอกสารดังกล่าวต่อไปอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อยห้าปีนับแต่วันที่มีการปิดบัญชีหรือเลิกสัญญากับลูกค้า

ข้อ 20 สัญญาที่บริษัทหลักทรัพย์ทำกับลูกค้ารายย่อยที่มอบหมายให้ตนทำการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ต้องมีข้อความที่แสดงด้วยตัวอักษรที่มีขนาดเด่นกว่าข้อความอื่นหรือกำกับเครื่องหมายหรือกระทำด้วยประการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการเน้นข้อความดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าทราบถึง

(1) ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักทรัพย์หรือหลักประกัน อันอาจมีผลให้ลูกค้าขาดทุนหรือต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมตามจำนวนที่กำหนด

(2) การที่ลูกค้าอาจถูกบริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้ หากลูกค้าไม่ชำระราคา ไม่ส่งมอบหลักทรัพย์ หรือไม่วางหลักประกันภายในระยะเวลาที่กำหนด

(ก) การบังคับหลักประกัน

(ข) การบังคับขายหลักทรัพย์ หรือการบังคับซื้อคืนหลักทรัพย์

(ค) การระงับการชำระเงินที่ลูกค้ามีสิทธิได้รับจากบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อนำมาชำระหนี้ที่ลูกค้าค้างชำระ

(ง) การบอกเลิกสัญญา

สัญญาที่บริษัทหลักทรัพย์ทำกับลูกค้ารายย่อยตามวรรคหนึ่งต้องไม่มีข้อความตอนใดที่ทำให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถปฏิเสธความรับผิดต่อลูกค้าจากการกระทำหรือการละเลยการกระทำหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทหลักทรัพย์หรือพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์

ข้อ 21 บริษัทหลักทรัพย์ต้องซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามคำสั่งของลูกค้าที่เป็นเจ้าของบัญชีและต้องมีระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้ว่าบุคคลที่ส่งคำสั่งซื้อขายดังกล่าวหรือคำสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินในบัญชีของลูกค้า เป็นเจ้าของบัญชีที่แท้จริงหรือเป็นบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบัญชีที่แท้จริง

ข้อ 22 บริษัทหลักทรัพย์ต้องตรวจสอบสถานะบัญชีของลูกค้าก่อนทำการซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า

ข้อ 23 บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าให้เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าก่อนประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์โดยต้องซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อลูกค้าก่อนตนเอง เว้นแต่คำสั่งของลูกค้าดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขในการซื้อขายไว้ชัดเจนเป็นอย่างอื่น

ข้อ 24 บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการแก้ไขรายการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องควบคุมดูแลมิให้มีการแก้ไขรายการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนด

ข้อ 25 บริษัทหลักทรัพย์ต้องไม่ซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้บัญชีของลูกค้ารายหนึ่งเพื่อลูกค้ารายอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชี

ข้อ 26 ในการประกอบการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จะมอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนได้ต่อเมื่อจัดให้มีมาตรการที่ทำให้มั่นใจว่าบริษัทหลักทรัพย์จะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้ และระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด

ส่วนที่ 3

ข้อปฏิบัติของพนักงาน

_________________________

ข้อ 27 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานเพื่อป้องกันมิให้พนักงานนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ และเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน ทั้งนี้ ระเบียบปฏิบัติดังกล่าวจะต้องกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ในกรณีที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ระเบียบปฏิบัติตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้พนักงานซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ตนสังกัดด้วย เว้นแต่จะแสดงต่อสำนักงานได้ว่าบริษัทหลักทรัพย์มีวิธีการอื่นในการควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ และในกรณีที่เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์อื่นตามข้อ 28 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้พนักงานของตนยอมรับการปฏิบัติตามที่กำหนดในข้อ 28 ดังกล่าวด้วย

ในกรณีที่คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของพนักงานมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์อื่น ระเบียบปฏิบัติตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดให้พนักงานแจ้งให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบถึงการมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด

ข้อ 28 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงแก่บริษัทหลักทรัพย์ว่าลูกค้าของตน หรือบุคคลที่ขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับตน หรือบุคคลที่มีอำนาจสั่งการในการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้าของตน เป็นพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์อื่น ให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) แจ้งให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นนั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการที่ลูกค้ามีบัญชี การรับเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการมีอำนาจสั่งการในการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์กับตน ก่อนที่บริษัทหลักทรัพย์จะให้บริการแก่ลูกค้าในบัญชีนั้นต่อไป

(2) จัดส่งสำเนารายงานการซื้อขายหลักทรัพย์รายเดือนซึ่งแสดงรายการซื้อขายแต่ละรายการ ให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นนั้นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป รวมทั้งจัดส่งข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานและอยู่ในความครอบครองของบริษัทหลักทรัพย์ตามที่บริษัทหลักทรัพย์อื่นนั้นร้องขอภายในเวลาอันสมควรด้วย

(3) แจ้งให้ลูกค้าและบุคคลที่มีอำนาจสั่งการในการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้าทราบว่า บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งและจัดส่งข้อมูลและเอกสารตาม (1) และ (2) ให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นนั้นด้วย

เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง “บริษัทหลักทรัพย์อื่น” ให้หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุน และการจัดการกองทุนรวม

ข้อ 29 บริษัทหลักทรัพย์ต้องตรวจสอบดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามประกาศนี้และระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดขึ้นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้

ข้อ 30 นอกจากที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้

ข้อ 31 ในกรณีที่สำนักงานพบว่าบริษัทหลักทรัพย์ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้หรือตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดเพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือการค้าหลักทรัพย์ สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์นั้นแก้ไข กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ได้

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

_________________________

ข้อ 32 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า ตลอดจนต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ในส่วนของลูกค้ารายเดิมทุกรายที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่เคยมีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 33 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 34 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การออก

หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ และการขอรับอนุญาตและการอนุญาตตั้งบุคคล

ใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขาย

หลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ