หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday February 7, 2006 08:11 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สข/น. 1/2549
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 100 วรรคสอง มาตรา 129 และมาตรา 140 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 16 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้อ 2 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 12 ข้อ 18(1)(2)(3)(4) และ(6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และข้อ 13 และข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2548 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข. 36/2547 เรื่อง มาตรฐานทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2547
(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 1/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยบริษัทจัดการในนามกองทุนและการเปิดเผยข้อมูล ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2548
(4) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 21/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดการกองทุนรวมอีทีเอฟ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข. 40/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2548
(6) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข. 41/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับมูลค่าต่อหน่วยและการคำนวณจำนวนหน่วยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2548
(7) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 42/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2548
ข้อ 3 ในประกาศนี้
ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม และบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“ประกาศ ที่ กน. 30/2547” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“วันทำการ” หมายความว่า วันเปิดทำการตามปกติของบริษัทจัดการ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ภาค 1
ข้อกำหนดที่ใช้บังคับกับการจัดการกองทุนรวม
และการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
หมวด 1
ผู้จัดการกองทุน
_____________________
ข้อ 4 ในหมวดนี้
“พนักงานที่เกี่ยวข้อง” หมายความว่า พนักงานของบริษัทจัดการที่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ข้อ 5 ให้บริษัทจัดการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนให้แก่กองทุน พร้อมทั้งประกาศรายชื่อผู้จัดการกองทุนดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัท
ข้อ 6 ให้บริษัทจัดการจัดทำและส่งเอกสารเกี่ยวกับผู้จัดการกองทุนดังต่อไปนี้ ให้สำนักงาน
(1) รายงานวันเริ่มหรือหยุดการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนของแต่ละกองทุน ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนนั้นเริ่มหรือหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามแบบที่สำนักงานกำหนด
(2) รายชื่อผู้จัดการกองทุนของแต่ละกองทุน ณ วันสิ้นปีปฏิทิน ภายในสิบสี่วันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินนั้นตามแบบที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 7 บริษัทจัดการต้องให้ความรู้หรือจัดอบรมแก่ผู้จัดการกองทุนและพนักงานที่เกี่ยวข้อง
ในเรื่องดังต่อไปนี้ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(1) กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว
(2) มาตรฐานการปฏิบัติงานที่สำนักงานกำหนดหรือที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(3) จรรยาบรรณและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่สมาคมกำหนด
(4) นโยบายและกฎระเบียบภายในของบริษัทจัดการ
ในกรณีที่มีการออกหรือแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการดำเนินการโดยวิธีการใดๆ เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนและพนักงานที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลดังกล่าวด้วยทุกครั้ง
หมวด 2
การดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล
___________________________
ข้อ 8 ในกรณีที่บริษัทจัดการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลที่เปิดเผยต้องมีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ไม่มีลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
หมวด 3
การมอบหมายการจัดการ
_____________________
ข้อ 9 ในการมอบหมายการจัดการในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนให้บุคคลอื่นกระทำแทน หากบริษัทจัดการได้ปฏิบัติตามข้อ 13 แห่งประกาศ ที่ กน. 30/2547 ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจาก
สำนักงานแล้ว
ภาค 2
การจัดการกองทุนรวม
ข้อ 10 ในภาคนี้
“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม
“ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
“ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บุคคลที่บริษัทจัดการกองทุนรวม
มอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ของกองทุนรวม
“มูลค่าหน่วยลงทุน” หมายความว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุน
ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดเมื่อสิ้นวันทำการที่คำนวณนั้น
“วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน” หมายความว่า วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนที่
บริษัทจัดการกองทุนรวมกำหนดไว้ในโครงการ
หมวด 1
หลักเกณฑ์ทั่วไป
________________
ส่วนที่ 1
ผู้ดูแลผลประโยชน์
ข้อ 11 การเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ไม่ว่าเพราะเหตุใด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานก่อน
ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมในภายหลัง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้ผู้ดูแลผลประโยชน์แก้ไขคุณสมบัติให้ถูกต้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่บริษัททราบเหตุดังกล่าว และแจ้งการแก้ไขดังกล่าวให้สำนักงานทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่แก้ไขเสร็จสิ้น
ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์มิได้แก้ไขคุณสมบัติให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมขออนุญาตเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์ต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ให้บริษัทแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์รายใหม่แทนโดยพลัน
ส่วนที่ 2
การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินและมูลค่าหน่วยลงทุน
ข้อ 12 ในการจัดการกองทุนรวมปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 15 หรือได้รับยกเว้นตามข้อ 16
(1) คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการ
(2) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันทำการสุดท้าย
ของสัปดาห์ภายในวันทำการถัดไป เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมปิดที่ไม่มีหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันทำการสุดท้ายของเดือน ภายในวันทำการถัดไป
(3) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันปิดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล ภายในวันทำการถัดไป
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนที่ประกาศตามวรรคหนึ่ง ต้องใช้ตัวเลขทศนิยมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14 และต้องได้รับการรับรองโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ด้วย
ในกรณีที่การประกาศตาม (2) และ (3) ได้กระทำผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลมูลค่าหน่วยลงทุนที่จัดขึ้นโดยสมาคม (NAV Center) หรือช่องทางอื่นที่สำนักงานยอมรับ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนภายในสองวันทำการถัดไปก็ได้
การประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ และปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัท รวมทั้งจัดให้มีประกาศดังกล่าวไว้ ณ สถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนที่ใช้เป็นสถานที่ในการซื้อขายหน่วยลงทุน (ถ้ามี) เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน บริษัทอาจดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบข้อมูลดังกล่าวแทนการประกาศในหนังสือพิมพ์ก็ได้
ข้อ 13 ในการจัดการกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ของกองทุนรวมเปิดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 15 หรือได้รับยกเว้นตามข้อ 16
(1) คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการ และคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ในการคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมใช้มูลค่าหน่วยลงทุนของสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนนั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน
(2) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีกองทุนรวมเปิดแบบมีกำหนดระยะเวลา (interval fund) ที่กำหนด
วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนแต่ละครั้งห่างกันตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไป ให้บริษัทประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ของวันทำการสุดท้ายของเดือน ภายในวันทำการถัดไป
(ข) กรณีอื่นนอกเหนือจาก (ก) ให้บริษัทประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ของวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด ภายในวันทำการถัดไป
(3) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันปิดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล ภายในวันทำการถัดไป
ให้นำความในข้อ 12 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดโดยอนุโลม
ข้อ 14 การใช้ตัวเลขทศนิยมของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กรณีกองทุนรวมปิด
(ก) คำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมสองตำแหน่ง
โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
(ข) คำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมห้าตำแหน่งโดยใช้วิธีการ
ปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล และประกาศมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมสี่ตำแหน่งโดยตัดทศนิยมตำแหน่งที่ห้าทิ้ง
(2) กรณีกองทุนรวมเปิด
(ก) คำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมสองตำแหน่ง โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
(ข) คำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมห้าตำแหน่ง โดยใช้วิธีการ
ปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล สำหรับมูลค่าหน่วยลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนให้ปัดเศษทศนิยมตำแหน่งที่สี่ขึ้น ส่วนมูลค่าหน่วยลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนให้ตัดทศนิยมตำแหน่งที่ห้าทิ้ง
(ค) ประกาศมูลค่าหน่วยลงทุนตามที่คำนวณได้ใน (2)(ข) เป็นตัวเลขโดยมีทศนิยม
สี่ตำแหน่ง โดยตัดทศนิยมตำแหน่งที่ห้าทิ้ง และประกาศราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามที่คำนวณได้ใน (2)(ข)
(ง) คำนวณจำนวนหน่วยลงทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมห้าตำแหน่ง โดยใช้วิธีการ
ปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล แต่ให้ใช้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมเพียงสี่ตำแหน่ง โดยตัดทศนิยมตำแหน่งที่ห้าทิ้ง
ในกรณีที่มีผลประโยชน์เกิดขึ้นจากการคำนวณตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมนำผลประโยชน์นั้นรวมเข้าเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม
ข้อ 15 กองทุนรวมใดที่มีการลงทุนบางส่วนในต่างประเทศ บริษัทจัดการกองทุนรวม
อาจขอผ่อนผันระยะเวลาการคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน หรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามข้อ 12 และข้อ 13 ต่อสำนักงานได้
ข้อ 16 ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 12 และข้อ 13
(1) กรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 28 ทั้งนี้ เฉพาะในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
(2) กรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเลิกกองทุนรวมเนื่องจากมีเหตุตามที่กำหนดไว้ในข้อ 81 และข้อ 82 ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นตามระยะเวลาดังต่อไปนี้
(ก) การคำนวณมูลค่าและราคาตามข้อ 12(1) และข้อ 13(1) ให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่
วันที่ปรากฏเหตุตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
(ข) การประกาศมูลค่าและราคาตามข้อ 12 วรรคสี่ และข้อ 13 วรรคสอง ให้ได้
รับยกเว้นตั้งแต่วันที่ปรากฏเหตุตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ส่วนที่ 3
การดำเนินการในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุน
หรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง
ข้อ 17 ในส่วนนี้
“การชดเชยราคา” หมายความว่า การเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ซื้อหรือผู้ขายคืนหน่วยลงทุนที่มีราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง หรือการจ่ายเงินซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง แทนการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยลงทุน
“ราคาหน่วยลงทุน” หมายความว่า ราคาขายหน่วยลงทุน หรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ข้อ 18 ในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดไม่ถูกต้องและได้มีการประกาศมูลค่าดังกล่าวไปแล้ว หรือในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไม่ถูกต้อง หากการไม่ถูกต้องดังกล่าวมีมูลค่าน้อยกว่าหนึ่งสตางค์ หรือคิดเป็นอัตราไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของมูลค่าหรือราคาที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดทำและส่งรายงานให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ทราบถึงความไม่ถูกต้องภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่พบว่ามูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง โดยรายงานดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(ก) มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้อง
(ข) มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง
(ค) สาเหตุที่ทำให้มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง
(ง) มาตรการป้องกันเพื่อมิให้มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง ในกรณีที่ความไม่ถูกต้องมิได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้
(2) ในกรณีที่สาเหตุที่ทำให้มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีผลต่อเนื่องถึงการคำนวณมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนครั้งต่อไป ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนให้ถูกต้องตั้งแต่วันที่พบว่ามูลค่าหรือราคาไม่ถูกต้อง
ข้อ 19 ในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดไม่ถูกต้องและได้มีการประกาศมูลค่าดังกล่าวไปแล้ว หรือในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไม่ถูกต้อง หากการไม่ถูกต้องดังกล่าวมีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งสตางค์ขึ้นไป และคิดเป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าหรือราคาที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) คำนวณมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังตั้งแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพบว่ามูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องจนถึงวันที่มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนถูกต้อง
(2) ดำเนินการดังต่อไปนี้เฉพาะวันที่มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องนั้นมีมูลค่าและคิดเป็นอัตราดังกล่าว
(ก) จัดทำรายงานการแก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังให้เสร็จสิ้นภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพบว่ามูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง และส่งรายงานดังกล่าวให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ภายในวันทำการถัดจากวันที่คำนวณมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังเสร็จสิ้น เพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานดังกล่าวภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทส่งรายงานให้ผู้ดูแลผลประโยชน์
รายงานตามวรรคหนึ่งให้มีสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 18(1) โดยอนุโลม
เว้นแต่ในกรณีของรายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังของกองทุนรวมเปิด ให้ระบุการดำเนินการ
ของบริษัทจัดการกองทุนรวมเมื่อพบว่าราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องไว้แทนข้อมูลตามข้อ 18(1)(ง)
(ข) แก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนให้ถูกต้องภายในวันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์
รับรองข้อมูลในรายงานตาม (ก)
(ค) ดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถรับทราบชื่อกองทุนรวม
ที่มีการแก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุน และวัน เดือน ปีที่มีการแก้ไขมูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุน ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานตาม (ก)
ความใน (ค) มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมปิดที่มีหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้ประกาศการแก้ไขมูลค่าหน่วยลงทุนตามระเบียบหรือข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ข้อ 20 นอกจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 19 แล้ว ในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไม่ถูกต้อง หากการไม่ถูกต้องดังกล่าวมีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งสตางค์ขึ้นไป และคิดเป็นอัตราตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าหรือราคาที่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้เฉพาะวันที่มูลค่าหรือราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องนั้นมีมูลค่าและคิดเป็นอัตราดังกล่าว
(1) จัดทำรายงานการชดเชยราคาไว้ในรายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนตามข้อ 19(2)(ก) ด้วย โดยให้อยู่ในส่วนของการดำเนินการของบริษัทจัดการกองทุนรวมเมื่อพบว่าราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง
(2) ชดเชยราคาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 21 ให้แล้วเสร็จ และดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนหรือผู้ขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลาที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องทราบถึงการแก้ไขราคาตามข้อ 19(2)(ข) และการชดเชยราคา ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา
(3) จัดทำมาตรการป้องกันเพื่อมิให้ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้อง และส่งรายงานดังกล่าว พร้อมทั้งสำเนารายงานการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนย้อนหลังตามข้อ 19(2)(ก) ให้สำนักงานภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมิได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งสำเนาเอกสารที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองว่าการที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้มาพร้อมสำเนารายงานดังกล่าวแทน
ข้อ 21 ในการชดเชยราคาตามข้อ 20(2) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องต่ำกว่าราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง (understate)ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นการขายหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ซื้อหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง
หากปรากฏว่าผู้ซื้อหน่วยลงทุนไม่มีหน่วยลงทุนเหลืออยู่ หรือมีหน่วยลงทุนเหลืออยู่น้อยกว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่จะต้องลด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินของบริษัทเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ หรือลดจำนวนหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่นั้นและจ่ายเงินของบริษัทเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยราคาให้แก่กองทุนรวมเปิด เว้นแต่การที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ
ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้อง และผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองว่ามีสาเหตุดังกล่าว
(ข) กรณีที่เป็นการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ขายคืนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง หรือจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน แต่หากปรากฏว่าผู้ขายคืนหน่วยลงทุนไม่มีหน่วยลงทุนเหลืออยู่ ให้บริษัทจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน
(2) กรณีราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องสูงกว่าราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง (overstate)
ให้บริษัทปฏิบัติดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นการขายหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ซื้อหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง หรือจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคา เพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุน
(ข) กรณีที่เป็นการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลดจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ขายคืนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่ไม่ถูกต้องกับราคาหน่วยลงทุนที่ถูกต้อง
หากปรากฏว่าผู้ขายคืนหน่วยลงทุนไม่มีหน่วยลงทุนเหลืออยู่ หรือมีหน่วยลงทุนเหลืออยู่น้อยกว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่จะต้องลด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินของบริษัทเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ หรือลดจำนวนหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่นั้นและจ่ายเงินของบริษัทเองเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ขาดอยู่ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยราคาให้แก่กองทุนรวมเปิด เว้นแต่การที่ราคาหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครั้งสุดท้ายของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ถูกต้อง และผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองว่ามีสาเหตุดังกล่าว
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องชดเชยราคาเป็นเงินให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนหรือผู้ขายคืนหน่วยลงทุนรายใดมีมูลค่าไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท บริษัทอาจนำเงินชดเชยราคาไปรวมจ่ายในโอกาสแรกที่มีการจ่ายเงินให้ผู้ถือหน่วยลงทุน แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว ให้บริษัทชดเชยราคาให้แล้วเสร็จภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา
การจ่ายเงินของกองทุนรวมเปิดเพื่อชดเชยราคาให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนตาม (1)(ข) หรือผู้ซื้อหน่วยลงทุนตาม (2)(ก) บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจจ่ายเงินของบริษัทเองแทนกองทุนเปิดก็ได้
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ