การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 13:41 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 43/2552

เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์

___________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 98(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 9/2551 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อ 3 ในประกาศนี้

(1) “ทรัพย์สิน” หมายความว่า

(ก) เงินสด

(ข) หลักทรัพย์

(ค) ทรัพย์สินอื่น

(ง) สิทธิประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากทรัพย์สินตาม (ก) ถึง (ค) เช่น สิทธิในเงินปันผลหรือดอกเบี้ย สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน สิทธิในการเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์ เป็นต้น

(2) “บัญชีมาร์จิ้น” หมายความว่า บัญชีที่บันทึกรายการการให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อการซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ลูกค้ายืมหลักทรัพย์เพื่อการขาย

(3) “บัญชีเงินสด” หมายความว่า บัญชีที่บันทึกรายการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ซึ่งมิใช่รายการที่ต้องบันทึกไว้ในบัญชีมาร์จิ้น

(4) “ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์” หมายความว่า ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมวด 1

บททั่วไป

______________________

ข้อ 4 ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่รับดูแลรักษาทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าไม่ว่าเพื่อประโยชน์ด้านการเก็บรักษา หรือเพื่อการซื้อหรือขายหรือยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ หรือเพื่อเป็นประกันการซื้อหรือขายหรือยืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ในประกาศนี้

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกองทรัพย์สินหรือบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ทรัพย์สินของลูกค้าที่เป็นกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์รับบริหารในฐานะผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมหรือการจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือรับดูแลรักษาในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์หรือผู้รับฝากทรัพย์สิน

(2) สถาบันการเงินที่มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจหลักโดยตรงอยู่แล้วและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในภายหลัง แต่ไม่รวมถึงสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งรับดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์

(3) เงินค่าจองซื้อหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับเนื่องจากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

ข้อ 5 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งเป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการให้คำแนะนำด้านหลักทรัพย์ และต้องจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่ดีในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดยระบบดังกล่าวอย่างน้อยต้องแยกบุคลากรที่ทำหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้า และบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บรักษาตัวทรัพย์สินของลูกค้า ออกจากกัน และกำหนดให้การจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกค้าทุกครั้งต้องได้รับอนุมัติจากบุคลากรที่มีอำนาจของบริษัทซึ่งต้องมิใช่บุคลากรที่ทำหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าและบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บรักษาตัวทรัพย์สินของลูกค้าดังกล่าว

ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดระเบียบหรือวิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในประกาศนี้ โดยให้จัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แสดงถึงขั้นตอนการจัดการและบุคลากรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบหรือวิธีปฏิบัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมถึงเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การรับหรือส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้า

(2) การบันทึกรายการทรัพย์สินของลูกค้า

(3) การจัดการข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า

ข้อ 7 ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) แจ้งให้ลูกค้าเข้าใจและลงนามรับทราบถึงวิธีปฏิบัติของลูกค้าในการฝากหรือถอนทรัพย์สินกับหรือจากบริษัทหลักทรัพย์ วิธีการของบริษัทหลักทรัพย์ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ตลอดจนค่าธรรมเนียมในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า (ถ้ามี)

ในกรณีที่ข้อมูลตามวรรคหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ลูกค้าทราบโดยไม่ชักช้า

(2) เปิดเผยให้ลูกค้าทราบว่าในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ประสบปัญหาทางการเงิน เงินของลูกค้าที่เก็บรักษาไว้กับบริษัทหลักทรัพย์จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

(3) จัดให้มีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ระบุถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่มีข้อความตอนใดที่ทำให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถปฏิเสธความรับผิดต่อลูกค้าในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าสูญหายหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเลยการกระทำหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทหลักทรัพย์ หรือพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทหลักทรัพย์ รวมทั้งบุคคลอื่นใดที่บริษัทหลักทรัพย์ยินยอมให้มีอำนาจดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

ข้อ 8 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ตั้งให้บุคคลใดเป็นตัวแทนของตนในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า เว้นแต่การตั้งตัวแทนดังกล่าวจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) บุคคลที่บริษัทหลักทรัพย์จะตั้งให้เป็นตัวแทนในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้

(ก) ธนาคารพาณิชย์

(ข) บริษัทเงินทุน

(ค) บริษัทหลักทรัพย์

(ง) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์

(จ) สถาบันการเงินอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(2) จัดให้มีสัญญาตั้งตัวแทนในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษรโดยสัญญาดังกล่าวต้องมีข้อห้ามมิให้ตัวแทนตั้งตัวแทนช่วง และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวแทน ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าเกิดความเสียหาย และข้อกำหนดให้ตัวแทนต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่ประกาศนี้กำหนด

ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการตั้งตัวแทนในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าโดยไม่ชักช้า และในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ตั้งบุคคลที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม เป็นตัวแทน บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งความสัมพันธ์ดังกล่าวให้ลูกค้าทราบด้วย

คำว่า “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” และ “บริษัทร่วม” ตามวรรคสอง ให้อนุโลมตามบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

การที่บริษัทหลักทรัพย์แยกทรัพย์สินของลูกค้าตามวิธีที่กำหนดในข้อ 18(1) (ก) หรือ (2) (ก) มิให้ถือว่าเป็นการตั้งตัวแทนในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

ข้อ 9 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์กระทำการใดอันมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิของลูกค้าในทรัพย์สิน โดยปราศจากหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งหรือความยินยอมของลูกค้าหรือบุคคลที่มีอำนาจสั่งการแทนลูกค้า

ข้อ 10 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของลูกค้ารายหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าอีกรายหนึ่งหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นหรือของบริษัทหลักทรัพย์เอง เว้นแต่จะได้รับคำสั่งหรือความยินยอมจากลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นรายกรณี

ข้อ 11 บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของหลักทรัพย์หรือตราสารใดที่อยู่ในการดูแลรักษาของบริษัทหลักทรัพย์จากผู้ออกหลักทรัพย์หรือผู้ออกตราสารนั้นได้ภายในเวลาอันสมควร

ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์แสดงเจตนาใช้สิทธิประโยชน์ของลูกค้าโดยปราศจากคำสั่งหรือความยินยอมของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร

หมวด 2

การบันทึกรายการทรัพย์สินของลูกค้า

_________________________

ข้อ 12 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดทำบัญชีแสดงทรัพย์สินทุกรายการของลูกค้าแต่ละรายที่อยู่ในการดูแลรักษา โดยต้องแยกเป็นบัญชีต่างหากจากบัญชีทรัพย์สินอื่นใดของบริษัทหลักทรัพย์ และให้แยกไว้เป็นบัญชีมาร์จิ้นหรือบัญชีเงินสด แล้วแต่กรณี

บัญชีทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้

(1) วันที่รับหรือจ่ายทรัพย์สิน

(2) จำนวนและประเภททรัพย์สิน

(3) เหตุที่รับหรือจ่ายทรัพย์สิน

ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ถูกบันทึกไว้ในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้ารายใดเป็นทรัพย์สินของบุคคลที่สามซึ่งถูกวางไว้เป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์ของลูกค้ารายนั้น บริษัทหลักทรัพย์ต้องบันทึกชื่อบุคคลที่สามซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวไว้ในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้ารายนั้นด้วย

ข้อ 13 บริษัทหลักทรัพย์ต้องบันทึกรายการในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน และในกรณีที่เป็นการบันทึกเพื่อแก้ไขรายการ บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันทำการที่พบเหตุแห่งการแก้ไขรายการ และต้องบันทึกเหตุผลประกอบการแก้ไข รายการทุกครั้ง

ข้อ 14 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการตรวจนับทรัพย์สินของลูกค้าในส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์เก็บรักษาไว้เองอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อสอบทานความถูกต้องกับรายการที่ปรากฏในบัญชีที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดทำ

สำหรับทรัพย์สินของลูกค้าส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์มิได้เก็บรักษาไว้เอง บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบที่สามารถเรียกดูข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อสอบทานความถูกต้องของรายการทรัพย์สินที่ปรากฏในรายงานของบุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของลูกค้า กับรายการที่ปรากฏในบัญชีที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดทำ

ข้อ 15 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดส่งรายงานแสดงทรัพย์สินของลูกค้า ณ วันสิ้นเดือนให้แก่ลูกค้าภายในวันที่เจ็ดของเดือนถัดไป เว้นแต่ในเดือนนั้นลูกค้าไม่มีธุรกรรมซึ่งก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงในทรัพย์สินที่มอบให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ดูแลรักษา โดยในกรณีที่ลูกค้ารายดังกล่าวไม่มีธุรกรรมติดต่อกันตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดส่งรายงานแสดงทรัพย์สินของลูกค้าไปให้แก่ลูกค้ารายนั้นอย่างน้อยทุกหกเดือนครั้งภายในวันที่เจ็ดของเดือนถัดไป

ข้อ 16 บริษัทหลักทรัพย์ต้องเก็บรักษาข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ไม่น้อยกว่าห้าปี โดยการจัดเก็บข้อมูลและเอกสารดังกล่าวในระยะเวลาสองปีแรกต้องกระทำในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที

หมวด 3

การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

___________________________

ข้อ 17 บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลรักษาจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้เป็นทรัพย์สินของลูกค้า

(1) ทรัพย์สินประเภทเงิน จำนวนเงินที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกไว้ในแต่ละวันต้องไม่น้อยกว่าผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิซึ่งคำนวณได้ ณ สิ้นวันทำการก่อนหรือ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบัน จากบัญชีเงินสดและบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าทุกราย หลังจากหักเงินประกันการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตของลูกค้าแต่ละรายนั้นในอัตราตามที่บริษัทหลักทรัพย์ได้ตกลงกับลูกค้าซึ่งเป็นผู้ยืมหลักทรัพย์แล้ว ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เลือกใช้ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณแล้ว บริษัทหลักทรัพย์จะต้องใช้ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณตลอดไป เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถใช้ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณต่อไปให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการก่อนเป็นฐานในการคำนวณในระหว่างที่มีเหตุจำเป็นได้ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งเหตุจำเป็นดังกล่าวให้สำนักงานทราบโดยทันที

บริษัทหลักทรัพย์อาจหักเงินดังต่อไปนี้ออกจากจำนวนทรัพย์สินที่ต้องแยกไว้เป็นทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่งได้

(ก) เงินที่ลูกค้านำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ก่อนวันครบกำหนดชำระราคาตามธุรกรรมการซื้อหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้ว

(ข) เงินที่ลูกค้านำมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์เกินกว่าจำนวนที่ต้องชำระหนี้ตามธุรกรรมการซื้อหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้ว และบริษัทหลักทรัพย์ได้ส่งเงินส่วนเกินดังกล่าวคืนให้แก่ลูกค้าภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับเงินจำนวนนั้น

(ค) เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับแทนลูกค้าหรือในนามของลูกค้าตามธุรกรรมการขายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้น และบริษัทหลักทรัพย์ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ลูกค้าหรือส่งมอบเงินให้แก่ลูกค้าภายในวันครบกำหนดชำระราคาแล้ว

(ง) เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับแทนลูกค้าหรือในนามของลูกค้า เนื่องจากเป็นเงินปันผลหรือดอกเบี้ยของหลักทรัพย์หรือตราสารที่ลูกค้าเป็นเจ้าของ และบริษัทหลักทรัพย์ได้ส่งเงินทั้งหมดนั้นให้แก่ลูกค้าภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับเงินนั้น

แต่ในกรณีที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ให้บริษัทหลักทรัพย์เก็บรักษาเงินตาม (ข)(ค) หรือ (ง) ไว้เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมของลูกค้าในอนาคต บริษัทหลักทรัพย์ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมในยอดเงินของวันทำการที่ได้รับทราบความประสงค์ของลูกค้า เพื่อการคำนวณ จำนวนทรัพย์สินที่ต้องแยกไว้เป็นทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่งต่อไป

(2) ทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์ จำนวนทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกไว้ในแต่ละวันต้องไม่น้อยกว่าผลรวมของรายการหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์บันทึกไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย ณ สิ้นวันทำการนั้น

(3) ทรัพย์สินประเภทอื่น จำนวนทรัพย์สินประเภทอื่นที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกไว้ในแต่ละวันต้องไม่น้อยกว่าผลรวมของรายการทรัพย์สินประเภทอื่นที่บริษัทหลักทรัพย์บันทึกไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย ณ สิ้นวันทำการนั้น

ข้อ 18 การดำเนินการดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการแยกทรัพย์สินของลูกค้าตามข้อ 17 แล้ว

(1) ทรัพย์สินประเภทเงิน

(ก) แยกโดยดำเนินการดังนี้

1. ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ โดยในกรณีที่เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นประเภทชำระคืนเมื่อครบกำหนดระยะเวลา เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวต้องไม่มีข้อห้ามการไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด

2. ลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยตราสารดังกล่าวต้องไม่มีเงื่อนไขการห้ามขายหรือโอนก่อนครบกำหนดอายุของตราสาร

3. ลงทุนในลักษณะอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บริษัทหลักทรัพย์ต้องระบุอย่างชัดเจนในบัญชีเงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินหรือการลงทุนนั้นว่าเป็นการดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของลูกค้า

(ข) แยกโดยการเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งต้องกระทำในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย

(2) ทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์

(ก) แยกโดยการฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โดยต้องระบุอย่างชัดเจนว่าหลักทรัพย์จำนวนดังกล่าวเป็นการฝากโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของลูกค้า

(ข) แยกโดยการเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งต้องกระทำในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย

(3) ทรัพย์สินอื่น ให้แยกไว้ในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าทรัพย์สินอื่นนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย

ข้อ 19 บริษัทหลักทรัพย์อาจตกลงกับลูกค้าเพื่อกำหนดอัตราดอกผลที่บริษัทหลักทรัพย์จะคำนวณให้แก่ลูกค้าสำหรับยอดเงินจำนวนที่บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องแยกไว้เป็นทรัพย์สินของลูกค้าตามประกาศนี้ไว้ด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ อัตราดอกผลดังกล่าวต้องไม่เกินอัตราที่บริษัทหลักทรัพย์จะได้ รับจริงจากการฝากเงินหรือลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินหรือการลงทุนในลักษณะอื่น

ข้อ 20 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์นำเงินของลูกค้าที่ได้แยกไว้ตามข้อ 18 ไปเป็นหลักประกันหนี้เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นหรือของบริษัทหลักทรัพย์เอง

ข้อ 21 ภายใต้บังคับข้อ 18(1) (ก) ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์นำเงินจำนวนที่ต้องแยกไว้เป็นทรัพย์สินของลูกค้าไปฝากหรือลงทุนกับสถาบันการเงินที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม เว้นแต่ลูกค้าจะแสดงความยินยอมโดยชัดแจ้ง

คำว่า “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” และ “บริษัทร่วม” ตามวรรคหนึ่ง ให้อนุโลมตามบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

ข้อ 22 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้เก็บรักษาตัวทรัพย์สินของลูกค้าไว้เองไม่ว่าการจัดเก็บจะกระทำในสถานที่ของบริษัทหลักทรัพย์เองหรือใช้สถานที่ของบุคคลอื่น สถานที่นั้นต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย และในกรณีที่เป็นการใช้สถานที่ของบุคคลอื่น บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งให้บุคคลอื่นนั้นทราบอย่างชัดเจนด้วยว่าทรัพย์สินที่นำมาเก็บรักษาเป็นทรัพย์สินของลูกค้า

หมวด 4

บทเฉพาะกาล

____________________

ข้อ 23 ให้บรรดาคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 4/2543 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 24 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 4/2543 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2543 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การ

ออกหลักเกณฑ์ห้ามบริษัทหลักทรัพย์กระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่

เกี่ยวข้อง เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ

ตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 4/2543 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2543 จึง

จำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ