การทำประกันภัยความรับผิดของบริษัทจัดการ และข้อกำหนดสำหรับบริษัทจัดการในการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 13:49 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 42/2552

เรื่อง การทำประกันภัยความรับผิดของบริษัทจัดการ และข้อกำหนด

สำหรับบริษัทจัดการในการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุน

_____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 109 มาตรา 117 และมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) “บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม และบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(2) “บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

(3) “บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(4) “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจัดการ

(5) “ส่วนของผู้ถือหุ้น”หมายความว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัทจัดการ ซึ่งมีวิธีการคำนวณตามมาตรฐานการบัญชี

(6) “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(7) “ลูกค้า” หมายความว่า บุคคลที่มอบหมายให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

หมวด 1

บริษัทจัดการกองทุนรวม

_____________________

ข้อ 3 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีการประกันภัยสำหรับความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการปฏิบัติงานของบริษัทจัดการกองทุนรวม ผู้บริหาร กรรมการ และพนักงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทุกกองทุนรวมซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการ ณ วันทำการสุดท้ายก่อนวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าว ไม่เกินสองหมื่นห้าพันล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจัดการกองทุนรวมต่ำกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาท ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดังกล่าวจัดทำประกันภัยในวงเงินไม่น้อยกว่าส่วนต่างของเงินจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบล้านบาทหักด้วยมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจัดการกองทุนรวมนั้น

(2) ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทุกกองทุนรวมซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการ ณ วันทำการสุดท้ายก่อนวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าว มากกว่าสองหมื่นห้าพันล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจัดการกองทุนรวมต่ำกว่าสองร้อยยี่สิบล้านบาท ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดังกล่าวจัดทำประกันภัยในวงเงินไม่น้อยกว่าส่วนต่างของเงินจำนวนสองร้อยยี่สิบล้านบาทหักด้วยมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจัดการกองทุนรวมนั้น

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมีการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ด้วย ให้คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทุกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมเข้าในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 4 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าสามสิบล้านบาทแต่ไม่น้อยกว่ายี่สิบล้านบาท ณ วันสุดท้ายของเดือนใด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดังกล่าวปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) รายงานส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรืออาจรู้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าจำนวนดังกล่าว

(2) จัดทำแผนการปรับปรุงเพื่อให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท และให้ยื่นต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรืออาจรู้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าจำนวนดังกล่าว เว้นแต่ก่อนพ้นกำหนดเวลา บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถเพิ่มส่วนของ ผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามจำนวนดังกล่าวได้

(3) ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนการปรับปรุงที่ได้ยื่นต่อสำนักงานตาม (2) และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ตลอดจนรายงานส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันสุดท้ายของเดือนต่อสำนักงานภายในวันทำการที่เจ็ดของเดือนถัดไป ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท

ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งต่อสำนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมนั้นสามารถปรับปรุงส่วนของผู้ถือหุ้นได้โดยมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท

ข้อ 5 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทจัดการ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) รายงานต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรืออาจรู้ถึงการไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนดังกล่าว

(2) เปลี่ยนให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าจัดการกองทุนรวม หรือโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรืออาจรู้ถึงการไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนดังกล่าว เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้ ทั้งนี้ การคัดเลือกบริษัทจัดการกองทุนรวมรายใหม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ และในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

หากบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเลิกกองทุนรวม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(3) ระงับการประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวมจนกว่าจะสามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทจัดการ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการได้รับความเสียหาย เพื่อใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวมในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน หรือเพื่อเปลี่ยนตั๋วเงินที่ครบกำหนดไถ่ถอนกับบริษัทเงินทุนที่เป็นผู้ออกตั๋วเงินดังกล่าว

(4) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานมีคำสั่ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเพียงพอของเงินกองทุนหรือการปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อนี้สามารถดำเนินการได้อย่างลุล่วง หรือเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนของบริษัทจัดการกองทุนรวม

ข้อ 6 ในการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนรวมตามข้อ 5(2)ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ขอรับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) ขอมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น

หมวด 2

บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล

_____________________

ข้อ 7 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ด้วยจัดให้มีการประกันภัยสำหรับความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการปฏิบัติงานของบริษัทจัดการ ผู้บริหาร กรรมการ และพนักงาน โดยให้นำความในข้อ 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่มีการกำกับดูแลฐานะตามกฎหมายอื่นหรือที่ต้องดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

ข้อ 8 ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลปฏิบัติตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง โดยอนุโลม

(1) บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ด้วย มีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าสามสิบล้านบาทแต่ไม่น้อยกว่ายี่สิบล้านบาท ณ วันสุดท้ายของเดือนใด

(2) บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งไม่ได้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าสิบห้าล้านบาทแต่ไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ณ วันสุดท้ายของเดือนใด

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่มีการกำกับดูแลฐานะตามกฎหมายอื่นหรือที่ต้องดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

ข้อ 9 เมื่อบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่มีหน้าที่ตามข้อ 8 ปรับปรุงส่วนของผู้ถือหุ้นได้ตามจำนวนดังต่อไปนี้ ให้แจ้งต่อสำนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลนั้นสามารถปรับปรุงส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้

(1) ไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท ในกรณีของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ด้วย

(2) ไม่ต่ำกว่าสิบห้าล้านบาท ในกรณีของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งไม่ได้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อ 10 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทจัดการ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) รายงานต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรู้หรืออาจรู้ถึงการไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนดังกล่าว

(2) รายงานให้ลูกค้าทราบถึงการไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรู้หรืออาจรู้ถึงการไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนดังกล่าว

(3) ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลกับลูกค้ารายใหม่ หรือยอมให้ลูกค้าเพิ่มเงินทุนของกองทุนส่วนบุคคล หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในสัญญากับลูกค้ารายเดิมอันอาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุน แต่ไม่รวมถึง

(ก) การรับบริหารเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วในขณะนั้น และ

(ข) การจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพ

(4) หากบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้รับแจ้งจากลูกค้าว่าประสงค์จะเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นรายอื่น ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเปลี่ยนให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายอื่นเข้าจัดการกองทุนส่วนบุคคล ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากลูกค้า ทั้งนี้ ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

(5) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานมีคำสั่ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเพียงพอของเงินกองทุนหรือการปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อนี้สามารถดำเนินการได้อย่างลุล่วง หรือเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนของบริษัทจัดการกองทุน ส่วนบุคคล

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

__________________

ข้อ 11 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 13/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนและการทำประกันภัยความรับผิดของบริษัทจัดการ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2548 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง หรือหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 12 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 13/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนและการทำประกันภัยความรับผิดของบริษัทจัดการ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2548 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการแก้ประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้อำนาจ

สั่งการในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีฐานะอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน และการ

ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม และการจัดการกองทุนส่วนบุคคล เป็นอำนาจของคณะ

กรรมการกำกับตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อรองรับการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่

กน. 13/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนและการทำประกันภัยความรับผิดของบริษัทจัดการ ลง

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2548 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ