คุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 10:28 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 37/2552

เรื่อง คุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำ

ตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

_____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 41(3) มาตรา 46 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้ และในแบบคำขอตามประกาศนี้

(1) คำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” “บริษัท” “บริษัทจดทะเบียน” “บริษัทย่อย” “ผู้บริหาร” และ “ผู้มีอำนาจควบคุม” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนด บทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

(2) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้

(3) “การเสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัด” หมายความว่า การเสนอขาย

(ก) ตราสารหนี้ที่ออกใหม่ตามหมวด 2 ของภาค 2 และหมวด 3 ของภาค 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่

(ข) หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามหมวด 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ และ

(ค) หุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามหมวด 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

หมวด 1

คุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

_______________

ข้อ 3 ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายไทยในประเภทหนึ่งประเภทใดดังต่อไปนี้

(ก) ธนาคารพาณิชย์

(ข) บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

(ค) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือ

(ง) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่มิใช่การจัดการกองทุนรวมหรือการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(2) มีสายงานที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ชัดเจน โดยอย่างน้อยต้องแยกส่วนงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ออกจากส่วนงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือส่วนงานอื่นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในการกระทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ตลอดจนมีโครงสร้างการจัดการและระบบการควบคุมภายในที่สามารถป้องกันการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้

(3) มีกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้บริหารในสายงานที่รับผิดชอบงานด้านผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ที่มีจริยธรรม มีความสามารถ หรือมีประสบการณ์ในธุรกิจที่จะดำเนินการ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีความเข้าใจและรับผิดชอบต่อสาธารณชน และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(ก) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย

(ข) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

(ค) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยห้ามเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทจดทะเบียน

(ง) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต

(จ) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น

(ฉ) เคยต้องคำพิพากษา หรือถูกเปรียบเทียบปรับเนื่องจากกระทำความผิดตาม (ง) หรือ (จ)

(ช) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน เนื่องจากการกระทำโดยทุจริต

(ซ) มีพฤติกรรมที่แสดงว่ามีเจตนาอำพรางฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือของบริษัทที่เคยเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน หรือเคยแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ ที่ควรบอกให้แจ้งในเอกสารใด ๆ ที่ต้องเปิดเผยต่อประชาชนหรือต้องยื่นต่อสำนักงาน คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต.

(ฌ) มีพฤติกรรมในระหว่างเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทที่เคยเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความซื่อสัตย์สุจริต หรือขาดความระมัดระวังเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัท และก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้ถือหุ้น อย่างร้ายแรง หรือทำให้ตนเองหรือบุคคลอื่นได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องนั้น

(ญ) มีพฤติกรรมที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการตรวจสอบดูแลมิให้บริษัทและบริษัทย่อย ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามตาม (ฉ) (ช) (ซ) (ฌ) หรือ (ญ) ให้พิจารณาจากข้อมูลย้อนหลังห้าปีก่อนวันที่ยื่นคำขอต่อสำนักงาน

ข้อ 4 ให้บุคคลที่ประสงค์จะให้บริการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบที่จัดไว้ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนของคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว

ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาการตรวจสอบดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน

ข้อ 5 สำหรับผู้ยื่นคำขอรายที่สำนักงานพิจารณาเห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในข้อ 3 ให้สำนักงานประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวไว้ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

สำหรับผู้ยื่นคำขอรายที่สำนักงานพบว่ามีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อ 3(3) (ฉ) (ช) (ซ) (ฌ) หรือ (ญ) ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) หากข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่ทำให้ขาดคุณสมบัติมิใช่เรื่องร้ายแรงหรือผู้ยื่นคำขอได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวไว้ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้

(2) กรณีอื่นนอกจาก (1) ในการแจ้งผลการพิจารณาคำขอ ให้สำนักงานกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอของบุคคลรายนั้นในคราวต่อไป โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่สำนักงานกำหนดระยะเวลาการรับพิจารณาคำขอ ระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่ง หรือวันพ้นโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุด หรือวันที่คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับมีคำสั่งเปรียบเทียบ หรือวันที่สำนักงานมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติตาม ข้อ 3(3) (ฉ) (ช) (ซ) (ฌ) หรือ (ญ) แล้วแต่กรณี

ข้อ 6 ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อได้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้บุคคลดังกล่าวแจ้งให้สำนักงานทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงการขาดคุณสมบัติดังกล่าว

เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง สำนักงานอาจกำหนดระยะเวลาให้บุคคลดังกล่าวแก้ไขเหตุที่ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก่อนก็ได้

ข้อ 7 ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อได้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในลักษณะที่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีการแก้ไขเหตุที่ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือไม่สามารถแก้ไขเหตุดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด หรือบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 2 ของประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้บุคคลดังกล่าวชี้แจง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

(2) สั่งให้บุคคลดังกล่าวแก้ไขการกระทำ หรือสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ

(3) สั่งพักหรือเพิกถอนรายชื่อบุคคลดังกล่าวจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ โดยอาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้

คำสั่งของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง (3) ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวในการเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สำหรับหุ้นกู้ที่ได้ออกไปแล้วก่อนวันที่สำนักงานมีคำสั่ง ทั้งนี้ เท่าที่จำเป็นจนกว่าจะมีการแต่งตั้งบุคคลรายใหม่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สำหรับหุ้นกู้ครั้งนั้น

หมวด 2

การปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

______________

ส่วนที่ 1

การไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง

_______________

ข้อ 8 เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน บุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของหุ้นกู้ที่ออกในแต่ละครั้งได้ก็ต่อเมื่อไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ออกหุ้นกู้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ในมูลหนี้เดียวกับที่จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(2) เป็นผู้ถือหุ้นในผู้ออกหุ้นกู้โดยมีสิทธิออกเสียงเกินร้อยละห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของผู้ออกหุ้นกู้นั้น ทั้งนี้ หุ้นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังต่อไปนี้ถืออยู่ให้นับเป็นหุ้นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ด้วย

(ก) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่กรรมการหรือผู้บริหารของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นหุ้นส่วน

(ข) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่กรรมการหรือผู้บริหารของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดรวมกันเกินร้อยละสิบของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น

(ค) บริษัทที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ก) หรือ (ข) ถือหุ้นโดยมีสิทธิออกเสียงรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทนั้น

(ง) บริษัทที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ กรรมการหรือผู้บริหารของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ก) หรือ (ข) หรือบริษัทตาม (ค) ถือหุ้นโดยมีสิทธิออกเสียงรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทนั้น

(จ) บริษัทที่มีกรรมการหรือผู้บริหารเป็นบุคคลเดียวกับกรรมการหรือผู้บริหารของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(3) มีผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ถือหุ้นโดยมีสิทธิออกเสียงในผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เกินร้อยละห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้นั้น ทั้งนี้ หุ้นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทตาม (2) (ก) ถึง (จ) ถืออยู่ให้นับรวมเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ออกหุ้นกู้ด้วย โดยอนุโลม

(4) มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันถือหุ้นโดยมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่ร้อยละห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ทั้งในผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และในผู้ออกหุ้นกู้ เว้นแต่เป็นการถือหุ้นของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(5) มีกรรมการหรือผู้บริหารเป็นบุคคลเดียวกับกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ออกหุ้นกู้ เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นกรรมการที่ไม่มีอำนาจในการจัดการของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งมีจำนวนไม่เกินหนึ่งคน และเฉพาะกรณีที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้มีกรรมการของบริษัทไม่น้อยกว่าเก้าคน

(6) มีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในผู้ออกหุ้นกู้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะอื่นที่อาจเป็นเหตุให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงาน

ข้อ 9 ให้บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ออกหุ้นกู้ในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ 8 ได้รับการผ่อนผันให้เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของหุ้นกู้ที่ออกในครั้งนั้นได้ หากเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัด ทั้งนี้ ผู้ออกหุ้นกู้ต้องเปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กับผู้ออกหุ้นกู้ในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้ผู้จองซื้อหุ้นกู้หรือผู้ถือหุ้นกู้ได้รับทราบในเอกสารประกอบการเสนอขายที่แจกจ่ายให้แก่ผู้จองซื้อหุ้นกู้หรือผู้ถือหุ้นกู้

ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่เปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กับผู้ออกหุ้นกู้ในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้การผ่อนผันที่ได้รับสิ้นสุดลง และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของหุ้นกู้ดังกล่าวได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นระหว่างที่ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันปิดการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวการผ่อนผันตามข้อนี้มิให้ใช้บังคับกับการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รายใหม่อันเป็นผลจากการที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่เปิดเผยข้อมูลที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กับผู้ออกหุ้นกู้ในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเอกสารประกอบการเสนอขายหุ้นกู้

ส่วนที่ 2

การกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

_______________

ข้อ 10 ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและดูแลรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้เยี่ยงผู้มีวิชาชีพจะพึงกระทำในกิจการเช่นว่านั้น

ข้อ 11 ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกิจการซึ่งต้องลงลายมือชื่อของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ระบุไว้ด้วยว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวง

ข้อ 12 ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ดูแลมิให้ผู้ออกหุ้นกู้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามหุ้นกู้อันจะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินนั้นลดน้อยถอยลงในลักษณะที่ทำให้สัดส่วนของมูลค่าหลักประกันต่อมูลหนี้ตามหุ้นกู้ต่ำลงกว่าที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่อาจทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เสียประโยชน์ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อกำหนดสิทธิ ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการใช้สอยทรัพย์สินตามปกติ

ข้อ 13 ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องไม่ให้ความเห็นชอบในการนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันออกหาผลประโยชน์ หากการหาผลประโยชน์นั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือจะเป็นผลให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้นมีมูลค่าไม่เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ

ข้อ 14 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ออกหุ้นกู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิในลักษณะอื่นนอกจากการผิดนัดชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยหรือการผิดเงื่อนไขเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อการไถ่ถอนหุ้นกู้ (ถ้ามี) และเกิดความเสียหายขึ้น ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้งปวงภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นได้ เว้นแต่ข้อกำหนดสิทธิกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ข้อ 15 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ย หรือผิดเงื่อนไขเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อการไถ่ถอน (ถ้ามี) ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอมติในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิและสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ข้อ 16 ในการแจ้งกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้แจ้งเป็นหนังสือแก่ผู้ถือหุ้นกู้ที่ปรากฏชื่อตามทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ โดยระบุถึงการดำเนินการของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าว ตลอดจนผลการดำเนินการนั้นด้วย

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รู้หรือควรรู้ถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ หรือนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือนับแต่วันที่ปรากฏผลการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ แล้วแต่กรณี

ข้อ 17 ในการดำเนินการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอมติของผู้ถือหุ้นกู้ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้แจ้งเป็นหนังสือถึงการจัดให้มีการประชุมดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ปรากฏชื่อตามทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันประชุม

ข้อ 18 ในการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย บังคับหลักประกัน หรือบังคับชำระหนี้ ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อการดังกล่าวล่วงหน้าไปพลางก่อน

ก่อนดำเนินการแจกจ่ายทรัพย์สินที่ได้จากการเรียกร้องค่าเสียหาย บังคับหลักประกัน หรือบังคับชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในแต่ละครั้ง ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายที่ทดรองจ่ายไปเพื่อการดังกล่าวออกจากทรัพย์สินนั้นได้

ข้อ 19 ภายใต้บังคับข้อ 18 เมื่อดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย บังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้แล้ว ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รวบรวมและแจกจ่ายทรัพย์สินที่ได้จากการเรียกร้องค่าเสียหาย บังคับหลักประกัน หรือบังคับชำระหนี้ให้ผู้ถือหุ้นกู้ตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นกู้แต่ละคนพึงได้รับให้ถูกต้องและครบถ้วน ทั้งนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องจัดทำบัญชีแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการรวบรวมทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และการแจกจ่ายทรัพย์สินไว้ทุกขั้นตอน

ข้อ 20 ห้ามมิให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้กระทำการดังต่อไปนี้

(1) เข้าทำสัญญารับหลักประกันที่มีข้อความแห่งสัญญาที่เป็นผลให้ไม่อาจดำเนินการบังคับหลักประกันได้

(2) ยอมให้มีการปลดหรือเปลี่ยนแปลงหลักประกันนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิ

(3) นำทรัพย์สินที่เป็นประกันการออกหุ้นกู้ซึ่งอยู่ในการครอบครองของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ไปแสวงหาประโยชน์หรือยอมให้บุคคลใดนำไปแสวงหาประโยชน์ เว้นแต่ข้อกำหนดสิทธิกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

(4) เข้าซื้อไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมซึ่งทรัพย์สินที่เป็นประกันการออกหุ้นกู้นั้นหรือทรัพย์สินของผู้ออกหุ้นกู้ที่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเพื่อการชำระหนี้ตามหุ้นกู้

(5) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อตนเองจากบุคคลใด ๆ ที่เข้าซื้อหลักประกันหรือทรัพย์สินที่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ในกรณีที่มีการบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้

(6) รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดจากการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย บังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(7) ประนีประนอมยอมความในการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย บังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ ทั้งนี้ เว้นแต่การประนีประนอมยอมความนั้นไม่ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับชำระหนี้และค่าเสียหายน้อยลงกว่าที่ควรจะได้รับตามสิทธิ หรือได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ให้ประนีประนอมยอมความได้

(8) หักเงินที่ต้องแจกจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งได้มาจากการเรียกร้องค่าเสียหายบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ เพื่อชำระหนี้อื่นที่ผู้ถือหุ้นกู้มีอยู่กับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(9) กระทำการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งอาจเป็นผลให้ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ได้รับชำระหนี้ตามหุ้นกู้อย่างครบถ้วน

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

___________

ข้อ 21 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 33/2544 เรื่อง คุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 22 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 33/2544 เรื่อง คุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การ

ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับ

ตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 33/2544 เรื่อง

คุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544 จึงจำเป็นต้องออก

ประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ