การขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 11:05 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 33/2552

เรื่อง การขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้

___________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

(1) คำว่า “บริษัทจดทะเบียน” “ผู้บริหาร” และ “ผู้มีอำนาจควบคุม” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

(2) “ข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้” หมายความว่า ข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ดังกล่าวได้จดไว้ต่อสำนักงาน

(3) “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

(4) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้

ข้อ 2 การขออนุญาตยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่ได้ออกและเสนอขายต่อประชาชนหรือบุคคลใดไปแล้วจะกระทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) หุ้นกู้ที่จะขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนต้องเป็นหุ้นกู้ที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตให้ออกและเสนอขายตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 13/2537 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2537

(ข) เป็นหุ้นกู้ที่จัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว เว้นแต่เป็นหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ตามวรรคหนึ่งจะต้องมีอยู่จนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้จะระงับลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ โดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น

(ค) เป็นหุ้นกู้ซึ่งมีข้อกำหนดสิทธิที่มีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 42(1) ถึง (9) และ

(ง) เป็นหุ้นกู้ที่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) บริษัทที่ออกหุ้นกู้มีการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) เป็นบริษัทที่มีหน้าที่ตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี ในขณะที่ขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ และไม่อยู่ระหว่างค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตราดังกล่าว หรือไม่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขนั้น หรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(ข) มิใช่บริษัทที่มีหน้าที่ตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี อยู่ก่อน แต่ได้ยื่นเอกสารตามข้อ 3(5) ต่อสำนักงานพร้อมกับการยื่นคำขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ เพื่อประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะ ทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสาธารณชน และได้รับทราบและผูกพันที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามความในมาตรา 56 เริ่มตั้งแต่วันที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ได้ยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้นั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน

(3) กรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

ข้อ 3 ให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ประสงค์จะยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมในวันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(1) คำขออนุญาตยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ตามแบบที่สำนักงานประกาศกำหนด

(2) สำเนาข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ที่จะขอยกเลิกข้อจำกัดการโอน

(3) สำเนาสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(4) รายงานวิเคราะห์การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ประสงค์จะยกเลิกข้อจำกัดการโอน

(5) เอกสารที่มีข้อมูลอย่างเดียวกับแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ 69-Base ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (เฉพาะกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ยังไม่มีหน้าที่ตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี ในขณะที่ขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้)

ข้อ 4 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขอภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) สิบห้าวัน กรณีบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีลักษณะตามข้อ 2(2) (ก)

(2) สามสิบวัน กรณีบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีลักษณะตามข้อ 2(2) (ข)

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้นับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน

ข้อ 5 บริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ตามประกาศนี้ ต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินการอื่นใดเพื่อให้การยกเลิกข้อจำกัดการโอนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาต และให้การอนุญาตให้ยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ตามประกาศนี้ สิ้นสุดลงหากบริษัทที่ออกหุ้นกู้มิได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว

ข้อ 6 ในกรณีที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ได้ดำเนินการตามข้อ 5 แล้ว ให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้รายงานผลการดำเนินการดังกล่าวเป็นหนังสือต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมกับเอกสารดังต่อไปนี้

(1) ตัวอย่างใบหุ้นกู้

(2) สำเนาหนังสือแจ้งนายทะเบียนและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องถึงการยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ (ถ้ามี)

(3) สำเนามติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

(4) เอกสารหลักฐานที่แสดงว่าการยกเลิกข้อจำกัดการโอนได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิแล้ว

ข้อ 7 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 51/2545 เรื่อง การขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 8 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 51/2545 เรื่อง การขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การ

ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งการจด

ข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัด และในการยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ดังกล่าวต้องเป็น

ไปตามหลักเกณฑ์ที่คณกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด

หลักทรัพย์ ที่ กจ. 51/2545 เรื่อง การขอยกเลิกข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 จึงจำเป็นต้องออก

ประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ