การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 11:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 32/2552

เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์

ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย

____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 56 มาตรา 67 มาตรา 69(11) มาตรา 70(9) และมาตรา 71(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) “ผู้ออกใบแสดงสิทธิ” หมายความว่า บริษัทที่ออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทอื่นซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน

(2) “ใบแสดงสิทธิ” หมายความว่า ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย

(3) “หลักทรัพย์อ้างอิง” หมายความว่า หลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและใช้เพื่อรองรับใบแสดงสิทธิ

(4) “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(5) “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกราย และให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับ ผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า

(6) “ผู้มีอำนาจควบคุม” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอำนาจตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบุคคลที่เข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

(ก) บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท

(ข) บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการของบริษัทนั้นได้

(ค) บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมผู้ซึ่งรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัทให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการกำหนดนโยบาย การจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท

(ง) บุคคลที่ตามพฤติการณ์มีการดำเนินงานในบริษัทหรือมีความรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทเยี่ยงกรรมการหรือผู้บริหาร รวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าวของบริษัทนั้น

(7) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ออกใบแสดงสิทธิและบริษัทจดทะเบียน กับผู้ถือใบแสดงสิทธิ

(8) “แบบแสดงรายการข้อมูล” หมายความว่า แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์

ข้อ 3 ผู้ออกใบแสดงสิทธิจะยื่นคำขออนุญาตออกและเสนอขายใบแสดงสิทธิตามประกาศนี้ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากบริษัทจดทะเบียนที่เป็นผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิงเท่านั้น

การสนับสนุนของบริษัทจดทะเบียนตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการร่วมดำเนินการและรับผิดชอบในการยื่นคำขออนุญาตออกและเสนอขายใบแสดงสิทธิ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน และการดำเนินการใด ๆ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามความผูกพันที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิจนกว่าจะมีการไถ่ถอนใบแสดงสิทธิที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

ข้อ 4 ในการพิจารณาว่าคำขออนุญาตใดมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้หรือไม่ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ออกใหม่มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่า ความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ออกใหม่นั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535 หรือประกาศนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายใบแสดงสิทธิตามคำขออนุญาตได้ ทั้งนี้ สำนักงานต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน

(2) ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอ ของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้

(ก) ประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนของผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติ และมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น

(ข) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(ค) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

หมวด 1

การขออนุญาตออกและเสนอขายใบแสดงสิทธิ

และการอนุญาต

_______________

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์การอนุญาต

_______________

ข้อ 5 การขออนุญาตและการอนุญาตให้ออกและเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ออกใหม่ ให้เป็นดังนี้

(1) ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัดดังต่อไปนี้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 8 และ ข้อ 9 หรือข้อ 10 ให้ถือว่ากระทำได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว

(ก) ใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น เว้นแต่การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงนั้น จะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

(ข) ใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตร

(2) ในกรณีอื่นนอกจาก (1) ให้บริษัทที่ประสงค์จะเป็นผู้ออกใบแสดงสิทธิและบริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิงร่วมกันยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐานต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด และชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตชี้แจงหรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวไม่ประสงค์จะยื่นคำขออนุญาต อีกต่อไป

ข้อ 6 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขออนุญาตตามข้อ 5(2) ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน กรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด

(2) ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน กรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1)

ข้อ 7 การเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด

(1) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น ในลักษณะเดียวกับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดตาประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

(2) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นกู้ ในลักษณะเดียวกับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในวงจำกัดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่

(3) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ในลักษณะเดียวกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่และหุ้นที่ออกใหม่เพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิ

(4) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตร ในลักษณะเดียวกับการเสนอขายพันธบัตรที่ออกใหม่ซึ่งได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน

ข้อ 8 ผู้ออกใบแสดงสิทธิและบริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิงจะได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายใบแสดงสิทธิที่ออกใหม่ ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ออกใบแสดงสิทธิต้องมีลักษณะดังนี้

(ก) เป็นบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(ข) มีวัตถุประสงค์จำกัดเฉพาะการออกใบแสดงสิทธิที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามประกาศนี้

(ค) มีกรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

(ง) แสดงได้ว่ามีกลไกในการดูแลรักษาและดำรงหลักทรัพย์อ้างอิงให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนใบแสดงสิทธิทั้งหมดที่จำหน่ายได้แล้วและยังไม่ได้ไถ่ถอน โดยกลไกดังกล่าวจะต้องสามารถป้องกันมิให้มีการนำหลักทรัพย์อ้างอิงไปใช้เพื่อการอื่นได้

(2) บริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิงต้องมีลักษณะดังนี้

(ก) มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ใช้บังคับกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทนั้น ไม่ว่าหลักทรัพย์อ้างอิงที่ผู้ออกใบแสดงสิทธิใช้รองรับใบแสดงสิทธิจะเป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วของบริษัทจดทะเบียน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด ในลักษณะจำกัด หรือในกรณีที่ได้รับยกเว้น

2. ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะอื่นนอกจาก 1. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน หรือในลักษณะทั่วไป

(ข) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนได้รับข้อมูลว่าบริษัทจดทะเบียนจะนำหลักทรัพย์ที่ขออนุมัติไปใช้เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงของใบแสดงสิทธิ ในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่กรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนตกลงผูกพันที่จะรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองใบแสดงสิทธิที่ขออนุญาต โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดตามมาตรา 59 โดยอนุโลมความในวรรคหนึ่ง (ข) มิให้ใช้บังคับกับการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด

(3) ใบแสดงสิทธิที่จะเสนอขายต้องมีลักษณะดังนี้

(ก) อ้างอิงหลักทรัพย์อ้างอิงเพียงหนึ่งประเภทที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนเพียงหนึ่งแห่ง และอัตราการอ้างอิงของหนึ่งหน่วยใบแสดงสิทธิต้องเท่ากับหนึ่งหลักทรัพย์อ้างอิง ทั้งนี้ หลักทรัพย์อ้างอิงต้องเป็นประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้

1. หุ้น

2. พันธบัตร หรือหุ้นกู้ แต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์

3. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

(ข) มีอายุที่แน่นอน หากเป็นการอ้างอิงหลักทรัพย์ที่มีกำหนดอายุ และในกรณีเช่นว่านี้ อายุของใบแสดงสิทธิต้องครบกำหนดก่อนอายุของหลักทรัพย์อ้างอิง ทั้งนี้ การกำหนดอายุของใบแสดงสิทธิต้องคำนึงถึงการมีระยะเวลาที่เพียงพอให้ผู้ถือใบแสดงสิทธิที่ได้รับหลักทรัพย์อ้างอิงที่มีกำหนดอายุนั้นสามารถใช้สิทธิหรือได้รับประโยชน์ตาหลักทรัพย์ดังกล่าวได้

(ค) กำหนดให้ผู้ถือใบแสดงสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเดียวกับที่ผู้ถือหลักทรัพย์อ้างอิงจะได้รับจากบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการจัดการของผู้ออกใบแสดงสิทธิแล้ว (เฉพาะกรณีที่ข้อกำหนดสิทธิยินยอมให้กระทำได้)

(ง) มีข้อจำกัดการโอนใบแสดงสิทธิซึ่งได้จดไว้กับสำนักงาน ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด เพื่อให้การโอนใบแสดงสิทธิในทอดต่อ ๆ ไป ยังคงลักษณะเป็นไปตามข้อ 7

(จ) มีข้อกำหนดสิทธิประกอบใบแสดงสิทธิที่เป็นไปตามข้อ 9 หรือข้อ 10 แล้วแต่กรณี

ข้อ 9 ข้อกำหนดสิทธิของใบแสดงสิทธิต้องไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม และมีการลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ออกใบแสดงสิทธิและบริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิง และประทับตราสำคัญของผู้ออกใบแสดงสิทธิและบริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิง (ถ้ามี) ทั้งนี้ ข้อกำหนดสิทธิต้องมีรายการและสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) สิทธิของผู้ถือใบแสดงสิทธิ

(ก) สิทธิที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งต้องเป็นลักษณะเดียวกับที่ผู้ถือหลักทรัพย์อ้างอิงจะได้รับจากบริษัทจดทะเบียน โดยต้องระบุลักษณะและวิธีการจ่ายผลตอบแทนนั้นไว้อย่างชัดเจน

(ข) สิทธิในการออกเสียงลงคะแนน ในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น และผู้ออกใบแสดงสิทธิผูกพันยินยอมให้ผู้ถือใบแสดงสิทธิสามารถใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจดทะเบียนผ่านผู้ออกใบแสดงสิทธิได้ ข้อกำหนดสิทธิต้องกำหนดให้ชัดเจนถึงเรื่องดังต่อไปนี้

1. เรื่องที่ผู้ถือใบแสดงสิทธิสามารถใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน

2. วิธีการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน

3. เหตุแห่งข้อจำกัดในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน หรือสิทธิในการใช้ดุลพินิจของผู้ออกใบแสดงสิทธิในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน (ถ้ามี)

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการใช้สิทธิออกเสียง ผู้ออกใบแสดงสิทธิต้องไม่ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจดทะเบียนในลักษณะที่เป็นการหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

(ค) สิทธิได้รับข้อมูลเช่นเดียวกับที่ผู้ถือหลักทรัพย์อ้างอิงจะได้รับ เช่น หนังสือนัดประชุม งบการเงิน และรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน หรือคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาอันสมควร

(ง) สิทธิอื่นใด (ถ้ามี) ของผู้ถือใบแสดงสิทธินอกเหนือจากที่กล่าวใน (ก) (ข) หรือ (ค) ทั้งนี้ ในกรณีที่สิทธิอื่นใดดังกล่าเป็นนิติสัมพันธ์ที่จะมีผลผูกพันบุคคลอื่นนอกจากผู้ออกใบแสดงสิทธิหรือบริษัทจดทะเบียน ต้องระบุสถานภาพและความผูกพันของบุคคลดังกล่าวให้ชัดเจน

(2) ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ถือใบแสดงสิทธิ (ถ้ามี) ซึ่งกำหนดได้ตามที่จำเป็นและในอัตราที่สมควร ทั้งนี้ ต้องกำหนดจำนวนหรือวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายและวิธีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน

(3) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้

(ก) การแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ถือใบแสดงสิทธิ ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือใบแสดงสิทธิไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนใบแสดงสิทธิทั้งหมดที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน

(ข) การแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจดทะเบียน ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือใบแสดงสิทธิไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนใบแสดงสิทธิทั้งหมดที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน และต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานด้วย

(4) วิธีการดูแลรักษาหลักทรัพย์อ้างอิง

(5) การจัดให้มีทะเบียนผู้ถือใบแสดงสิทธิ และข้อกำหนดให้การออกใบแสดงสิทธิต้องเป็นชนิดระบุชื่อเท่านั้น

(6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิ ซึ่งต้องกำหนดให้การโอนใบแสดงสิทธิจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้มีชื่อในใบแสดงสิทธิหรือผู้รับโอนคนสุดท้ายได้ส่งมอบใบแสดงสิทธิดังกล่าวต่อผู้รับโอน โดยลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนตามมาตรา 53 และตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์และการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

(7) ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการไถ่ถอนใบแสดงสิทธิ ซึ่งต้องกำหนดให้การไถ่ถอนต้องกระทำโดยการส่งมอบหลักทรัพย์อ้างอิงให้แก่ผู้ถือใบแสดงสิทธิเท่านั้น

(8) คำรับรองของผู้ออกใบแสดงสิทธิว่าจะไม่มีการโอนหลักทรัพย์อ้างอิงให้แก่บุคคลใด ๆ เว้นแต่จะเป็นการโอนให้แก่บุคคลที่รับฝากหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของผู้ถือใบแสดงสิทธิ รวมทั้งจะไม่มีการก่อให้เกิดภาระผูกพันไม่ว่าในลักษณะใด ๆ ในหลักทรัพย์อ้างอิงดังกล่าว

(9) คำรับรองของบริษัทจดทะเบียนว่าจะไม่รับจดทะเบียนการโอนหรือการจำนำหลักทรัพย์อ้างอิงที่ถืออยู่โดยผู้ออกใบแสดงสิทธิ เว้นแต่จะเป็นการโอนหลักทรัพย์อ้างอิงเพื่อไถ่ถอนใบแสดงสิทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทจดทะเบียนจะเป็นนายทะเบียนของหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นนายทะเบียนก็ตาม

(10) สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ถือใบแสดงสิทธิอันเนื่องมาจากการที่ผู้ออกใบแสดงสิทธิหรือบริษัทจดทะเบียนกระทำการหรือไม่กระทำการที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิ

(11) ตัวอย่างใบแสดงสิทธิ

ข้อ 10 ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ข้อกำหนดสิทธิของใบแสดงสิทธิต้องมีรายการและสาระสำคัญอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9(1) (5) (6) (7) (8) (9) และ (11)

ส่วนที่ 2

การอนุญาต และเงื่อนไขการอนุญาต

_________________

ข้อ 11 เว้นแต่กรณีการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ เสมือนการเสนอขายหลักทรัพย์อ้างอิงที่ออกใหม่ โดยอนุโลม

ข้อ 12 ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอขายใบแสดงสิทธิให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ หรือภายในหกเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาต หรือภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ซึ่งต้องไม่เกินสิบสองเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผล การอนุญาต ทั้งนี้ ในการพิจารณาผ่อนผันสำนักงานอาจเรียกให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมได้

ข้อ 13 ผู้ออกใบแสดงสิทธิจะออกใบแสดงสิทธิเกินจำนวนหลักทรัพย์อ้างอิงที่มีเพื่อรองรับการออกใบแสดงสิทธินั้นไม่ได้ และเมื่อได้ออกใบแสดงสิทธิแล้ว ผู้ออกใบแสดงสิทธิต้องดำรงหลักทรัพย์อ้างอิงให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนใบแสดงสิทธิทั้งหมดที่จำหน่ายได้แล้วและยังไม่ได้ไถ่ถอน

ข้อ 14 ใบแสดงสิทธิต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ออกใบแสดงสิทธิ

(2) ชื่อเฉพาะและลักษณะสำคัญของใบแสดงสิทธิ

(3) ชื่อของหลักทรัพย์อ้างอิง

(4) ชื่อบริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิง

(5) จำนวนหน่วยของใบแสดงสิทธิ

(6) ชื่อผู้ถือใบแสดงสิทธิ

(7) เลขที่อ้างอิงของผู้ถือใบแสดงสิทธิตามทะเบียนผู้ถือใบแสดงสิทธิ

(8) วันเดือนปีที่ออกใบแสดงสิทธิ และวันเดือนปีที่สิ้นสุดของใบแสดงสิทธิ

(9) ข้อกำหนดและวิธีการไถ่ถอนใบแสดงสิทธิ

(10) ข้อความที่ระบุว่าสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ถือใบแสดงสิทธิ ผู้ออกใบแสดงสิทธิ และบริษัทจดทะเบียน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ

(11) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ออกใบแสดงสิทธิหรือนายทะเบียนใบแสดงสิทธิ

(12) ข้อจำกัดการโอนแสดงว่าผู้ออกใบแสดงสิทธิจะไม่รับจดทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนที่จดไว้กับสำนักงาน

ข้อ 15 ในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ เมื่อสำนักงานได้อนุญาตให้เสนอขายใบแสดงสิทธิแล้ว ให้ถือว่าสำนักงานได้อนุญาตให้บริษัทจดทะเบียนออกและเสนอขายหลักทรัพย์อ้างอิงที่ออกใหม่นั้น พร้อมทั้งหุ้นรองรับหลักทรัพย์อ้างอิงที่ออกใหม่ (ถ้ามี) ด้วย

ข้อ 16 ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณาการเสนอขายใบแสดงสิทธิต่อบุคคลเป็นการทั่วไป และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับใบแสดงสิทธิที่จะเสนอขายหรือกำลังเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจกจ่ายไปให้กับบุคคลเฉพาะเจาะจงหรือบุคคลเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การเสนอขายหุ้นดังกล่าวอยู่ภายในลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อ 7 เท่านั้น

(2) ในกรณีที่มีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีข้อความที่ระบุถึงข้อจำกัดการโอนแสดงว่าผู้ได้รับอนุญาตจะไม่รับจดทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนตามที่ระบุไว้ ซึ่งต้องเป็นข้อจำกัดการโอน เดียวกับที่ได้จดไว้กับสำนักงาน

(3) ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ต่อผู้ได้รับอนุญาตที่จะลงทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิ ให้ผู้ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องของการโอนใบแสดงสิทธิ หากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงทะเบียนการโอน ใบแสดงสิทธิ เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก

ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีนายทะเบียนใบแสดงสิทธิ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้นายทะเบียนใบแสดงสิทธิปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 17 ภายหลังการเสนอขายใบแสดงสิทธิ ให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งสำเนาข้อกำหนดสิทธิต่อสำนักงานพร้อมกับรายงานผลการขายใบแสดงสิทธิ

การแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิภายหลังจากที่ได้ออกใบแสดงสิทธิแล้ว ให้กระทำได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ทั้งนี้ ให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งสำเนาข้อกำหนดสิทธิที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว

ในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิที่กำหนดให้ต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนดำเนินการ การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นให้กระทำได้ก็ต่อเมื่อสำนักงานมิได้แจ้งทักท้วงภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอความเห็นชอบสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น

ข้อ 18 ในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงที่รองรับใบแสดงสิทธิเป็นหุ้น และภายหลังจากที่ได้ออกใบแสดงสิทธิแล้ว บริษัทจดทะเบียนได้เพิ่มทุนจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนนั้นต่อผู้ถือหุ้นตามสัดส่วน หากผู้ถือใบแสดงสิทธิแจ้งความประสงค์ในการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว และผู้ออกใบแสดงสิทธิได้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว ให้ผู้ออกใบแสดงสิทธิสามารถออกใบแสดงสิทธิเพิ่มเติมให้แก่ผู้ถือใบแสดงสิทธิรายนั้นได้ โดยถือว่าใบแสดงสิทธิที่ออกให้เพิ่มเติมในกรณีนี้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว

หมวด 2

การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

____________________

ข้อ 19 ก่อนการเสนอขายใบแสดงสิทธิในแต่ละครั้งหรือแต่ละโครงการ ให้ผู้เสนอขายใบแสดงสิทธิยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานจำนวนสองชุด พร้อมทั้งร่างหนังสือชี้ชวน โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกใบแสดงสิทธิ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามมาตรา 69(1) ถึง (10)

(2) ข้อมูลเกี่ยวกับใบแสดงสิทธิที่จะเสนอขาย และข้อกำหนดสิทธิของใบแสดงสิทธิ รวมทั้งเอกสารแสดงข้อผูกพันตามใบแสดงสิทธิ ที่มีบุคคลอื่นนอกจากผู้ออกใบแสดงสิทธิหรือบริษัทจดทะเบียนเป็นคู่สัญญา (ถ้ามี)

(3) ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทอ้างอิง และหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งต้องมีข้อมูลอย่างเดียวกับที่ต้องเปิดเผยตามแบบแสดงรายการข้อมูลที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์อ้างอิง

(4) การรับรองความถูกต้องของข้อมูลตามส่วนที่ 4 ของแบบ 69-1 ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

การรับรองความถูกต้องของข้อมูลตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) ผู้ออกใบแสดงสิทธิรับรองข้อมูลตาม (1) และ (2)

(ข) บริษัทจดทะเบียนรับรองข้อมูลตาม (2) และ (3)

(ค) เจ้าของหลักทรัพย์อ้างอิงที่ร่วมให้การสนับสนุนการออกใบแสดงสิทธิ (ถ้ามี) รับรองข้อมูลตาม (3)

(ง) ที่ปรึกษาทางการเงินรับรองข้อมูลตาม (1) (2) และ (3)

ข้อ 20 ภายใต้บังคับมาตรา 68 และมาตรา 75 เมื่อผู้เสนอขายใบแสดงสิทธิได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนดแล้ว ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

ข้อ 21 นอกจากที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 19 และข้อ 20 ให้นำประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้มาใช้บังคับ โดยอนุโลม แล้วแต่กรณี

ข้อ 22 ให้ผู้เสนอขายใบแสดงสิทธิรายงานผลการไถ่ถอนใบแสดงสิทธิต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กรณีการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ให้รายงานต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันสุดท้ายของการไถ่ถอนแต่ละครั้ง โดยแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้

(ก) วันที่ไถ่ถอนใบแสดงสิทธิ

(ข) ประเภท ลักษณะ และชื่อเฉพาะของใบแสดงสิทธิ (ถ้ามี)

(ค) จำนวนใบแสดงสิทธิที่เสนอขายทั้งหมด และจำนวนใบแสดงสิทธิทั้งหมดที่มีการไถ่ถอน

(ง) ราคาของใบแสดงสิทธิที่มีการไถ่ถอน ในกรณีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น ให้ระบุราคาตลาดของหุ้นนั้น วันที่ใช้ในการคำนวณ แหล่งอ้างอิงของราคาตลาด พร้อมทั้งวิธีการคำนวณราคาตลาดดังกล่าวด้วย

(จ) ชื่อและที่อยู่ของผู้ถือใบแสดงสิทธิที่ได้รับการไถ่ถอน

(ฉ) ชื่อ สถานที่ติดต่อ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รายงานผลการไถ่ถอน

(2) กรณีอื่นนอกจาก (1) ให้รายงานต่อสำนักงาน โดยใช้การรายงานผลการขายหลักทรัพย์อ้างอิงตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรายงานผลการขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน มาใช้บังคับโดยอนุโลม พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบแสดงสิทธินั้นด้วย

ข้อ 23 ให้บริษัทที่ออกใบแสดงสิทธิรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทตามมาตรา 56 ตามระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดหรือเมื่อได้รับการสั่งการของสำนักงาน ทั้งนี้ รายงานที่จัดทำขึ้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

___________

ข้อ 24 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 25 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การ

ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาด

ทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอ

ขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ