การเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างหลักการของประกาศสำนักงานเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการฟอกเงินและการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และซักซ้อมการเตรียมความพร้อมเพื่อการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday August 15, 2006 14:36 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                  15  สิงหาคม  2549
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ทุกประเภท
ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท
นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ กลต.ธ/น. (ว) 37 /2549
เรื่อง การเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างหลักการของประกาศสำนักงานเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการฟอกเงินและการให้การ
สนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และซักซ้อมการเตรียมความพร้อมเพื่อการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 คณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติได้มีมติให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (Report on the Observance of Standards and Codes : ROSCs) รวมถึงในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating of Financing of Terrorism : AML/CFT) ซึ่งประเทศไทยจะต้องรับการประเมินความพร้อมโดยผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank (WB) และ International Monetary Fund (IMF) ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550
สำนักงานขอเรียนว่า
1. ในการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับสถาบันการเงินนั้น สำนักงาน ปปง. รวมทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินจะต้องเตรียมการแก้กฎหมายหรือร่างกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์นั้น สำนักงานได้ร่างหลักการของประกาศที่จะออกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำไปใช้กับกรณี ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย โดยเป็นการร่างตามแนวทางของร่างระเบียบของสำนักงาน ปปง. ข้อแนะนำที่กำหนดโดย Financial Action Task Force on Money Laundering (FATF) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ประเมิน กำหนดมาตรฐานหรือแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และหลักการที่กำหนดโดย International Organization of Securities Commission (IOSCO) รวม 2 ฉบับ ได้แก่ Principles on Client Identification And Beneficial Ownership For The Securities Industry และ Anti-Money Laundering Guidance for Collective Investment Schemes จึงขอเปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างหลักการซึ่งมีรายละเอียดตามเอกสารรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ สามารถ download ได้จากเว็ปไซต์ของสำนักงานที่http://www.sec.or.th โดยขอให้ส่งความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเป็นลายลักษณ์อักษรทางหนังสือหรือ e-mail มายังสำนักงาน ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 เพื่อที่จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปพิจารณาประกอบการดำเนินการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป อนึ่ง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับการปฏิบัติงานของภาคธุรกิจ สำนักงานจึงได้ขอให้สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (ASCO) และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เป็นผู้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในส่วนที่เป็นรายละเอียด อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฟอกเงิน ประกาศของสำนักงาน มาตรฐานสากลหรือข้อแนะนำที่กำหนดโดย FATF รวมทั้ง IOSCO และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อน
2. ในชั้นต้น ประกาศที่กล่าวข้างต้นจะใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์สำหรับการทำธุรกิจทุกประเภท ได้แก่ การเป็นนายหน้า ค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (กรณีบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ หรือ TSFC) การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล และการประกอบธุรกิจอื่นที่มีลักษณะเป็นการให้บริการซึ่งมีการรับหรือผ่านรายการทรัพย์สินของลูกค้า แต่ไม่รวมนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาลงทุน ตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ และที่ปรึกษาการเงิน นอกจากนี้ จะไม่ใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานโดยตรง เช่น ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยให้สถาบันการเงินดังกล่าวถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดโดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหลักแทน สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภทนั้น เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศกำหนดเพิ่มเติมภายใต้กฎหมายฟอกเงิน ให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจัดเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่งที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฟอกเงิน ในระหว่างนี้สำนักงานจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถือ
ปฏิบัติตามร่างประกาศฉบับนี้ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานที่จะกำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ไปพลางๆ ก่อน
3. นอกจากนี้ เนื่องจากในการประเมินของ IMF และ WB จะเน้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติจริงของสถาบันการเงินและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแล โดยในวิธีการประเมินจะรวมถึงการสุ่มสอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของบริษัทหลักทรัพย์
และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการกำหนดมาตรการในด้านนี้ การกำหนดนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงาน และการควบคุมติดตามให้มีการปฏิบัติตามมาตรการและนโยบายที่กล่าว นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (client due diligence :CDD) ซึ่งมีความเข้มงวดและมีรายละเอียดที่ครอบคลุมมากกว่าหลักเกณฑ์การทำความรู้จักลูกค้า (know-your-client :KYC) ที่ใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์และตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในปัจจุบัน สำนักงานจึงขอซักซ้อมเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมความพร้อมไว้ดังนี้
3.1 บริษัทหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าควรจัดให้มีการซักซ้อมและทำความเข้าใจต่อผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของบริษัทเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการและนโยบายในการป้องกันการฟอกเงินและการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสากลตาม FATF Recommendations
3.2 จัดเตรียมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการติดตามและการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน ปปง. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อพร้อมแสดงต่อผู้ประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของ ปปง. ในการเข้าทำการสัมภาษณ์หรือตรวจสอบ
3.3 ให้ความร่วมมือกับสมาคมฯ ในการร่างแนวทางการปฏิบัติงานและการให้ความคิดเห็นเมื่อมีการร้องขอ รวมทั้งการจัดส่งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอบรมหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยสมาคมฯ
3.4 เร่งศึกษาร่างหลักการประกาศของสำนักงาน ร่างแนวทางการปฏิบัติงานของสมาคมฯ มาตรฐานสากลตาม FATF Recommendations และ IOSCO Principles เพื่อกำหนดนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานในส่วนนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทำ CDD ลูกค้าปัจจุบัน
3.5 การมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบเฉพาะ (AML/CFT officer) เพื่อให้คำปรึกษา ติดตาม และตรวจสอบ ในด้านนี้
ทั้งนี้ สำนักงานจะบรรจุหัวข้อดังกล่าวไว้เป็นประเด็นที่จะเน้นตรวจสอบในการตรวจสอบปกติสำหรับการตรวจสอบบริษัทหลักทรัพย์ประมาณเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นไป รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นในการตรวจสอบในภาพรวมเฉพาะในเรื่องนี้ต่อไป (theme inspection) โดยในการตรวจสอบจะเน้นการให้ความสำคัญของบริษัทและผู้บริหารระดับสูง ความเข้าใจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ของ AML/CFT officer การวางนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงาน การติดตามให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานภายในของบริษัท และแผนการดำเนินการสำหรับลูกค้าปัจจุบัน
อนึ่ง การออกประกาศที่กล่าวข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์โดยรวมของตลาดทุนของประเทศ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในฐานะที่เป็นคนกลาง ถือเป็นด่านแรกที่ควรจะต้องมีบทบาทในการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายหรือผู้กระทำผิดอาศัยตลาดทุนของประเทศเป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมายหรือเป็นแหล่งฟอกเงิน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์จากการประกอบธุรกิจในระยะยาว ประกอบกับสืบเนื่องจากยุคโลกาภิวัตร์ การลงทุนเริ่มไม่มีขีดจำกัดในเรื่องเขตดินแดน กฎเกณฑ์หรือประกาศที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศจึงจะทำให้ตลาดทุนของประเทศสามารถแข่งขันได้ และในทางกลับกันหากกฎเกณฑ์หรือประกาศไม่ได้มาตรฐานสากล อาจมีผลให้ประเทศไทยอาจถูกกีดกันหรือต่อต้านทางการค้าหรือการทำธุรกรรมทางการเงินจากนานาประเทศ การออกประกาศดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวของการประกอบธุรกิจและการแข่งขันในอนาคต ทั้งนี้ โดยไม่ได้เล็งเห็นผลในระยะสั้นเพียงเพื่อการเข้ารับการประเมินในคราวนี้หรือใช้เป็นข้อต่อรองทางการค้าแต่อย่างใด
ในกรณีที่มีข้อสงสัย โปรดสอบถามได้ที่หมายเลขต่อไปนี้
ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์
นางณัฐฐิรา จิรเสวีนุประพันธ์ โทร. 0-2695-9562 หรือ email : nattira@sec.or.th
นายสิทธิ์ สุนทรายุทธ โทร. 0-2263-6048 หรือ email : sid@sec.or.th
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
นางสาวมยุรี ผาสุพันธ์ โทร. 0-2695-9543 หรือ email : mayuree@sec.or.th
นางสาวศุภรา ผ่องศรี โทร. 0-2263-6040 หรือ email : subhara@sec.or.th
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ