การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 3, 2009 13:58 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 30/2552

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขาย

ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่

__________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) คำว่า “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” “บริษัทร่วม” “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” “บริษัท” “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” และ “บริษัทจดทะเบียน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

(2) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์

(3) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น” หมายความว่า

(ก) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือใบแสดงสิทธิที่ออกโดยบริษัทอื่น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้

(ข) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาหุ้นหรือราคาใบแสดงสิทธิที่ออกโดยบริษัทอื่น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ กับราคาที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ราคา ของหุ้นหรือราคาของใบแสดงสิทธิที่ออกโดยบริษัทอื่น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(4) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์” หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของดัชนีหลักทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ กับดัชนีหลักทรัพย์ที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ดัชนีหลักทรัพย์ที่กำหนดไว้สูงกว่าดัชนีหลักทรัพย์ที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(5) “ใบแสดงสิทธิ” หมายความว่า ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงที่มีหลักทรัพย์รองรับเป็นหุ้น ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยโดยบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย

(6) “หุ้นอ้างอิง” หมายความว่า

(ก) หุ้นหรือใบแสดงสิทธิรายการใดรายการหนึ่งหรือหลายรายการ ที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นตาม (3) (ก) มีสิทธิที่จะซื้อจากบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ

(ข) หุ้นหรือใบแสดงสิทธิรายการใดรายการหนึ่งหรือหลายรายการ ที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตาม (3) (ข) กำหนดให้ใช้ราคาหุ้นหรือราคาใบแสดงสิทธินั้นเป็นฐานในการคำนวณส่วนต่างของราคาหุ้นหรือราคาใบแสดงสิทธิเพื่อประโยชน์ในการกำหนดจำนวนเงินที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวมีสิทธิจะได้รับ

(7) “ดัชนีอ้างอิง” หมายความว่า ดัชนีที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์กำหนดให้ใช้ระดับของดัชนีนั้นเป็นฐานในการคำนวณส่วนต่างของดัชนีหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการกำหนดจำนวนเงินที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวมีสิทธิจะได้รับ

(8) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน” หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ผู้ขออนุญาตจะจัดให้มีการฝากทรัพย์สินไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สินเสมือนเป็นประกันในการให้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้น

(9) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(10) “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกราย และให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับ ผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า

(11) “ผู้มีอำนาจควบคุม” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอำนาจตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบุคคลที่เข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

(ก) บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท

(ข) บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการของบริษัทนั้นได้

(ค) บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมผู้ซึ่งรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย การจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัทให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการกำหนดนโยบาย การจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท

(ง) บุคคลที่ตามพฤติการณ์มีการดำเนินงานในบริษัทหรือมีความรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทเยี่ยงกรรมการหรือผู้บริหาร รวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าวของบริษัทนั้น

(12) “บุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง” หมายความว่า บุคคลที่อยู่ในฐานะที่อาจมีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงอันเนื่องมาจากการมีโครงสร้างการถือหุ้นหรือโครงสร้างการจัดการร่วมกับบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงนั้น

(ข) มีบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(ค) มีผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง

(ง) มีกรรมการหรือผู้บริหารเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพันหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง

(จ) มีโครงสร้างการถือหุ้นหรือการจัดการในลักษณะอื่นใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำขออนุญาตมีอำนาจควบคุมบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง หรือมีบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเป็นผู้มีอำนาจควบคุม หรือมีผู้มีอำนาจควบคุมเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีอำนาจควบคุมบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง

การนับรวมจำนวนหุ้นตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวด้วย และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล ให้นับรวมการถือหุ้นของกรรมการและผู้บริหารในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของนิติบุคคลดังกล่าวด้วย

ข้อ 3 เว้นแต่กรณีตามข้อ 4 การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ให้เป็นไปตามตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น ผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการดังนี้

(ก) ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่สำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นอ้างอิงใดหุ้นอ้างอิงหนึ่ง และให้การอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 1 สำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัด หรือหมวด 2 สำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อประชาชน ตามแต่กรณี ซึ่งการอนุญาตดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ในหุ้นอ้างอิงนั้นได้หลายครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับจากวันที่ได้รับอนุญาต

(ข) ก่อนการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นแต่ละครั้ง ผู้ได้รับอนุญาตตาม (ก) ต้องยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงต่อสำนักงานเพื่อขอยืนยันว่าในขณะที่ประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น จำนวนและลักษณะของหุ้นอ้างอิงดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 3

ในกรณีที่เป็นการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่ให้สิทธิที่จะซื้อใบแสดงสิทธิ หรือให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาใบแสดงสิทธิ ข้อกำหนดเรื่องบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงในข้อ 14(3) ข้อ 25(3) และข้อ 41(2) ให้พิจารณาถึงบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นที่ใช้เพื่อรองรับใบแสดงสิทธิแทน และข้อกำหนดเรื่องการจัดทำบทวิเคราะห์เผยแพร่แก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับความเหมาะสมในการลงทุนหรือราคาของหุ้นอ้างอิงในข้อ 31(2) ให้พิจารณารวมถึงหุ้นที่ใช้เพื่อรองรับใบแสดงสิทธิด้วย

(2) ในกรณีการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ ผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการ ดังนี้

(ก) ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่สำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ และให้การอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 1 สำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัด หรือหมวด 2 สำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อประชาชน ตามแต่กรณี ซึ่งการอนุญาตดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ที่กำหนดตาม (ข) ได้หลายครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับจากวันที่ได้รับอนุญาต

(ข) ผู้ได้รับอนุญาตตาม (ก) จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ได้เฉพาะกรณีที่ดัชนีอ้างอิงเป็นดัชนีหลักทรัพย์ใดดัชนีหลักทรัพย์หนึ่ง ดังนี้

1. SET INDEX หรือ SET 50 INDEX ที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด

2. ดัชนีหลักทรัพย์อื่นที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 4 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้น และให้การขออนุญาตและการอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 4

ข้อ 5 คำขออนุญาตตามข้อ 3 และข้อ 4 ให้เป็นไปตามแบบและให้มีเอกสารหลักฐานตามที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 6 ให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตต่อสำนักงานตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

ข้อ 7 ในการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้นอีกต่อไป

ข้อ 8 ในการพิจารณาว่าคำขออนุญาตใดมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้หรือไม่ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่า ความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้น เข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือประกาศนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามคำขออนุญาตได้ ทั้งนี้ สำนักงานต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน

(2) ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้

(ก) ประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนของผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติ และมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น

(ข) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(ค) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

ข้อ 9 ในกรณีเป็นการขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น สำนักงานสามารถผ่อนผันข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงตามข้อ 14(3) ข้อ 25(3) และข้อ 41(2) เมื่อไม่มีเหตุให้สงสัยว่าการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายต้องเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่ให้สิทธิในการซื้อหุ้นอ้างอิงเพียงประการเดียว

(2) ผู้ขออนุญาตมีความผูกพันตามข้อกำหนดสิทธิในการจัดให้มีหุ้นอ้างอิงรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เต็มจำนวน และ

(3) ผู้ขออนุญาตไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหารายได้จากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าว เช่น เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ควบคู่กับหลักทรัพย์ประเภทอื่น เป็นต้น

ข้อ 10 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่ฝากต้องเป็นหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งดังต่อไปนี้

(1) หุ้นอ้างอิง

(2) หุ้นกู้แปลงสภาพที่ให้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง และหุ้นอ้างอิงดังกล่าวเป็นหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้แปลงสภาพนั้นเอง หรือ

(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ซึ่งให้สิทธิที่จะซื้อหุ้นอ้างอิงซึ่งเป็นหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าว รวมกับจำนวนเงินที่จะชำระเป็นค่าซื้อหุ้นอ้างอิงตามสิทธิดังกล่าว

ข้อ 11 ในกรณีที่มีเหตุที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิ อันเป็นผลให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้ถือว่าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว และกรณีที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น ให้ถือว่าได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงจากสำนักงานแล้วด้วย ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว

หมวด 1

การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่

แก่บุคคลในวงจำกัด

________________

ส่วนที่ 1

ลักษณะของการเสนอขายที่เข้าข่ายเป็นการเสนอขาย

แก่บุคคลในวงจำกัด

__________________

ข้อ 12 การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัดตามหมวดนี้ ต้องเป็นการเสนอขายที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายแก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งไม่ทำให้มีจำนวนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ณ ขณะใดขณะหนึ่งเมื่อนับรวมกับจำนวนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในกรณีดังกล่าวทุกลักษณะที่ออกโดยบริษัท มีจำนวนเกินกว่าสามสิบห้าราย

(2) เป็นการเสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันการนับจำนวนผู้ลงทุนตามวรรคหนึ่ง (1) ไม่นับรวมผู้ลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามหมวด 4 การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัดตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่บุคคลใด ๆ ซึ่งมีข้อตกลงกับผู้ขออนุญาตไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ในการนำใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ซื้อนั้นไปเสนอขายอีกทอดหนึ่งแก่บุคคลที่มิได้มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หรือเพื่อไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ข้อ 13 การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่กองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นหรือมีการลงทุนในลักษณะที่เป็นเครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามหมวด 2 มิให้ถือเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่ผู้ลงทุนสถาบัน

เว้นแต่กรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามวรรคสาม ให้การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่กองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการเสนอขายที่มิให้ถือเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่ผู้ลงทุนสถาบัน

(1) กองทุนรวมนั้นมิได้จำกัดการเสนอขายหน่วยลงทุนเฉพาะแก่ผู้ลงทุนสถาบัน

(2) การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ให้กองทุนรวมนั้นเป็นไปตามข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์กับบริษัทจัดการ โดยบริษัทจัดการดังกล่าวไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายนั้นในระดับเดียวกับการบริหารกองทุนรวมทั่วไป และ

(3) มีการลงทุนของกองทุนรวมในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) ลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายของบริษัทใดบริษัทหนึ่งในแต่ละครั้งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมนั้น หรือ

(ข) ลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่ารวมของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

ในกรณีที่ผู้เสนอขายประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่กองทุนรวมที่มีลักษณะตามที่กำหนดในวรรคสอง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่กองทุนรวมนั้นเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์แก่ผู้ลงทุนสถาบัน ให้ผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ดังกล่าวยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงานพร้อมทั้งคำชี้แจงและเอกสารหลักฐาน และให้สำนักงานมีอำนาจให้ความเห็นชอบให้ผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สามารถเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่กองทุนรวมในฐานะเป็นผู้ลงทุนสถาบันในครั้งนั้นได้

เพื่อประโยชน์ตามความในข้อนี้

“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์การอนุญาต

_______________

ข้อ 14 บริษัทที่ประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัดต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน และจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(ข) ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์เป็นสาขาเต็มรูปแบบในประเทศไทย หรือ

(ค) บริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยหรือธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย

(2) ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1) (ก) หรือผู้มีอำนาจอนุมัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1) (ข) หรือ (ค)

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตาม (1) (ก) มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามมาตรา 56 หรือเป็นบริษัทจดทะเบียน และไม่เคยเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ หรือไม่มีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยผู้ขออนุญาต คงค้างอยู่ในระยะเวลาสองปีก่อนยื่นคำขออนุญาต ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยในการมีมตินั้น ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และนโยบายในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวแล้วด้วย

(3) ผู้ขออนุญาตไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง ในกรณีเป็นการขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น

ข้อ 15 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตตามหมวดนี้ให้ผู้ขออนุญาตทราบภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาตพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน หากสำนักงานไม่แจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตนั้นได้รับอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัดได้ในวันถัดจากวันที่ครบกำหนดเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาตนั้นการอนุญาตตามหมวดนี้มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่อนุญาต โดยในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ได้หลายครั้ง

หากพ้นระยะเวลาตามวรรคสองแล้ว ให้การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

ในระหว่างระยะเวลาการได้รับอนุญาตตามวรรคสอง หากผู้ได้รับอนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 14 หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อ 16 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตที่กำหนดตามส่วนที่ 3 ของหมวดนี้ ให้ผู้ได้รับอนุญาตแจ้งกรณีดังกล่าวให้สำนักงานทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว หากผู้ได้รับอนุญาตไม่แจ้งเหตุดังกล่าวต่อสำนักงานภายในกำหนดเวลาข้างต้นหรือไม่สามารถแก้ไขให้มีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้สำนักงานมีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตนั้นหรือสั่งระงับการอนุญาตเป็นการชั่วคราวจนกว่าผู้ได้รับอนุญาตจะแก้ไขลักษณะให้เป็นไปตามหมวดนี้แล้ว

ข้อ 16 ในกรณีเป็นการได้รับอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นก่อนการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตในแต่ละครั้ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงและได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงตามหมวด 3 ด้วย มิฉะนั้น การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในครั้งนั้นจะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายโดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงาน

ส่วนที่ 3

เงื่อนไขภายหลังการอนุญาต

___________________

ข้อ 17 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกในแต่ละครั้งมีสิทธิและเงื่อนไขตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยต้องมีการกำหนดสิทธิและเงื่อนไขอย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(1) จัดให้มีชื่อเฉพาะสำหรับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกในแต่ละครั้งเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง โดยต้องแสดงให้ทราบถึงชื่อหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงไว้ในชื่อดังกล่าวด้วย

(2) เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ซึ่งผู้ที่จะสามารถใช้สิทธิและได้รับประโยชน์ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือในทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เท่านั้น

(3) มีอายุไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เว้นแต่กรณีที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิ (ถ้ามี)

(4) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน ต้องมีข้อกำหนดว่าเมื่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ใช้สิทธิ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิงให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(5) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่มีเงื่อนไขว่าบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิง ต้องมีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หากบริษัทไม่สามารถส่งมอบหุ้นอ้างอิงได้เมื่อมีการใช้สิทธิ ทั้งนี้ ค่าเสียหายดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ กับราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนดไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บวกด้วยค่าปรับซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสามของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ

(6) มีการกำหนดวิธีการในการจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จัดให้มีทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(ข) กำหนดให้การโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้มีชื่อแสดงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนคนสุดท้ายได้ส่งมอบตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวต่อผู้รับโอน โดยลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนตามมาตรา 53 และตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์และการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

นอกจากรายการตามวรรคหนึ่ง ข้อกำหนดสิทธิต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดในมาตรา 42 โดยอนุโลม

ข้อ 18 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีตราสารกำกับ (certificate) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ชื่อเฉพาะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(2) ลักษณะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยให้ระบุว่าเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น และในกรณีที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน ก็ให้ระบุประเภทของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เช่นนั้นไว้ รวมทั้งระบุสัดส่วนของทรัพย์สินที่ฝากด้วย

(3) ชื่อของหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิง

(4) ชื่อบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(5) จำนวนหน่วยที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีสิทธิ

(6) ชื่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(7) เลขที่อ้างอิงของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(8) วัน เดือน ปีที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และวัน เดือน ปีที่สิ้นสุดของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(9) การชำระหนี้ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เมื่อมีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ซึ่งต้องระบุอย่างชัดเจนว่าจะชำระหนี้โดยการส่งมอบเงินสดหรือหุ้นอ้างอิง

(10) มีข้อความที่ระบุว่าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นี้ออกตามสิทธิและเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อกำหนดสิทธิซึ่งบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้จัดทำขึ้นและถือเป็นข้อตกลงผูกพันระหว่างบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์กับผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ ต้องระบุด้วยว่าผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สามารถขอตรวจดูข้อกำหนดสิทธิดังกล่าวได้ที่ใด

(11) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือนายทะเบียนหลักทรัพย์

ข้อ 19 ผู้ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ ต้องดำเนินการเพื่อให้การเสนอขายและการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในทอดใด ๆ จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนที่กำหนดในส่วนที่ 1 จนกว่าสิทธิเรียกร้องตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะระงับลง โดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จดทะเบียนข้อจำกัดการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต่อสำนักงานในลักษณะที่แสดงได้ว่าการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายหลังการลงทะเบียน มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 12

(2) ตรวจสอบความถูกต้องของการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หากพบว่าเป็นการโอนที่จะขัดต่อข้อจำกัดการโอนตาม (1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้น เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก

ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีนายทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้นายทะเบียนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

(3) ไม่ทำการโฆษณาการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย บริษัทต้องแจกจ่ายให้เฉพาะบุคคลที่มีลักษณะหรือมีจำนวนอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในข้อ 12(1) หรือ (2) และต้องระบุข้อความที่แสดงถึงข้อจำกัดดังกล่าวด้วย

(4) จัดให้มีข้อความที่อธิบายถึงลักษณะข้อจำกัดการโอนตาม (1) ในตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

ข้อ 20 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ

ข้อ 21 ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดส่งเอกสารดังต่อไปนี้ให้สำนักงานจำนวนหนึ่งชุด พร้อมกับการรายงานผลการขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(1) ตัวอย่างตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(2) เอกสารประกอบการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (ถ้ามี)

(3) ในกรณีที่มีการแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นนายทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้จัดส่งหนังสือของนายทะเบียนที่แสดงว่าบุคคลดังกล่าว

(ก) ยอมรับการแต่งตั้งเป็นนายทะเบียน

(ข) รับทราบข้อจำกัดการโอน และรับรองว่าจะปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์และการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์

(4) สำเนาข้อกำหนดสิทธิที่มีการรับรองความถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของผู้ได้รับอนุญาต

ข้อ 22 นอกจากการรายงานตามมาตรา 81 แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ ยื่นรายงานผลการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าว แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 23 ในกรณีที่มีการชดใช้ค่าเสียหายแทนการชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิง ให้ผู้ได้รับอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว

ข้อ 24 ในกรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ ให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งสำเนาข้อกำหนดสิทธิส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงที่มีการรับรองความถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของผู้ได้รับอนุญาตต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ

หมวด 2

การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่

ต่อประชาชน

________________

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์การอนุญาต

_______________

ข้อ 25 บริษัทที่ประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อประชาชนต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน โดยต้องจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำคำขออนุญาตดังกล่าว เว้นแต่ผู้ขออนุญาตนั้นเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

1. เป็นบริษัทหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมหรือเฉพาะประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวแสดงได้ว่าจะสามารถบริหารความเสี่ยงจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ขออนุญาตได้

2. เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าร้อยล้านบาทตามงบการเงินล่าสุดที่ผ่านการตรวจสอบหรือสอบทานจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวจะขออนุญาตได้เฉพาะกรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน

(ข) ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์เป็นสาขาเต็มรูปแบบในประเทศไทย หรือ

(ค) บริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยหรือธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตามวรรคหนึ่ง (ข) หรือ (ค) ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทซึ่งมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) และบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสาธารณชนตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานหรือองค์การดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

(2) ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1) (ก) หรือผู้มีอำนาจอนุมัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1) (ข) หรือ (ค) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตาม (1) (ก) ซึ่งมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามมาตรา 56 หรือเป็นบริษัทจดทะเบียน และไม่เคยเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ หรือไม่มีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยผู้ขออนุญาต คงค้างอยู่ในระยะเวลาสองปีก่อนยื่นคำขออนุญาต ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ โดยในการมีมตินั้นผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และนโยบายในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวแล้วด้วย

(3) ผู้ขออนุญาตไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง ในกรณีเป็นการขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น

(4) (ก) มีกรรมการและผู้บริหารที่เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

(ข) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลมในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1) (ข) หรือ (ค) ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการและผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งในสาขาในประเทศไทย เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารตามประกาศที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (ก)

(5) ไม่มีประวัติการขาดความรับผิดชอบในการเป็นบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และไม่มีกรรมการและผู้บริหารที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่มีประวัติดังกล่าว

ข้อ 26 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 25(4) (ข) หรือ (5) หากสำนักงานเห็นว่าเหตุดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงหรือได้มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการป้องกันแล้ว สำนักงานอาจไม่นำเหตุดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้

ข้อ 27 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตตามหมวดนี้ให้ผู้ขออนุญาตทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาตพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน

การอนุญาตตามหมวดนี้มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่อนุญาต โดยในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ในหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงที่ได้รับอนุญาตได้หลายครั้ง และอาจเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้นต่อประชาชนตามหมวดนี้หรือแก่บุคคลในวงจำกัดตามหมวด 1 ก็ได้ โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานอีก แต่ในกรณีการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตาม หมวด 1 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตที่กำหนดตามส่วนที่ 3 ของหมวด 1 ด้วย หากพ้นระยะเวลาตามวรรคสองแล้ว ให้การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ในหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

ในระหว่างระยะเวลาการได้รับอนุญาตตามวรรคสอง หากผู้ได้รับอนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 25 หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้การอนุญาตมีผลสมบูรณ์ที่กำหนดตามส่วนที่ 2 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตที่กำหนดตามส่วนที่ 3 ของหมวดนี้ ให้ผู้ได้รับอนุญาตแจ้งกรณีดังกล่าวให้สำนักงานทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว หากผู้ได้รับอนุญาตไม่แจ้งเหตุดังกล่าวต่อสำนักงานภายในกำหนดเวลาข้างต้น หรือไม่สามารถแก้ไขให้มีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้สำนักงานมีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตนั้นหรือสั่งระงับการอนุญาตเป็นการชั่วคราวจนกว่าผู้ได้รับอนุญาตจะแก้ไขลักษณะให้เป็นไปตามหมวดนี้แล้ว

ข้อ 28 ในกรณีที่สำนักงานไม่อนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่เนื่องจากผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 25(4) (ข) หรือ (5) ในการแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการพิจารณาคำขออนุญาตในคราวต่อไป โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการกำหนดระยะเวลา ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตต่อผู้ขออนุญาตเมื่อพ้นระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อผู้ขออนุญาตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดแล้ว มิให้สำนักงานนำข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการสั่งการตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาคำขอในครั้งใหม่อีกในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 25(4) (ข) หรือ (5) เป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงหรือได้มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการป้องกันแล้วสำนักงานอาจไม่นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณลักษณะดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้

ข้อ 29 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 25(1) (ก) 1. ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ หากผู้ได้รับอนุญาตประสงค์จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยผู้ได้รับอนุญาตนั้นเอง ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานทราบก่อนเริ่มทำการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้นอย่างน้อยสามวันทำการ

ในการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้ซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ได้เสนอขายไปกลับคืนมา หากผู้ได้รับอนุญาตจะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้นออกไปอีก ให้ผู้ได้รับอนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่มีจำนวน ลักษณะ และเงื่อนไขเช่นเดียวกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ซื้อกลับคืนมาได้ โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว และกรณีเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น ให้ถือว่าได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงจากสำนักงานแล้วด้วย

ส่วนที่ 2

ข้อกำหนดเพื่อให้การอนุญาตมีผลสมบูรณ์

__________________

ข้อ 30 ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนนี้ มิฉะนั้นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในครั้งนั้นจะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายโดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงาน

ข้อ 31 ในกรณีเป็นการได้รับอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นก่อนการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตในแต่ละครั้ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการดังนี้

(1) ยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงตามหมวด 3

(2) มีหนังสือเพื่อรับรองต่อสำนักงานพร้อมการยื่นคำขอตรวจสอบตาม (1) ว่าในระยะเวลาสองสัปดาห์ก่อนการยื่นคำขอตรวจสอบต่อสำนักงาน ผู้ได้รับอนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย และผู้ที่เกี่ยวข้องของผู้ได้รับอนุญาต ไม่มีการจัดทำบทวิเคราะห์เผยแพร่แก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับความเหมาะสมในการลงทุนหรือราคาของหุ้นอ้างอิง

ข้อ 32 การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นประเภทที่มิได้จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ได้รับอนุญาตมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ในวันที่เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่

(1) เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่

(ก) ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้สามารถทำธุรกรรมด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของทรัพย์สิน หนี้สิน หรือภาระผูกพันที่บริษัทหลักทรัพย์มีอยู่หรือจะมีในอนาคตอันใกล้ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ใช้บังคับแก่กรณี

(ข) มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดของหนี้สินทั่วไป

(2) เป็นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(3) เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้รับชำระหนี้จากคู่สัญญาในจำนวนและระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับจำนวนและระยะเวลาที่ต้องชำระหนี้ให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายนั้น (back to back agreement) ทั้งนี้ คู่สัญญาดังกล่าวต้องเป็นบุคคลตาม (1) หรือ (2) ซึ่งได้ระบุไว้ในคำขออนุญาตหรือได้แจ้งแก้ไขเพิ่มเติมให้สำนักงานทราบล่วงหน้าแล้วไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนการเสนอขาย

ข้อ 33 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตมิได้เป็นบุคคลตามข้อ 32 ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายแต่ละครั้งต้องเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวนเท่านั้น

ข้อ 34 ผู้ได้รับอนุญาตต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับสูงสุดโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีการค้ำประกันในลักษณะดังต่อไปนี้ สำหรับการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย

(1) ผู้ค้ำประกันได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับสูงสุดจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) การค้ำประกันมีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายเต็มจำนวน และรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนสิทธิเรียกร้องตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะระงับลง ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องส่งร่างสัญญาค้ำประกันพร้อมทั้งความเห็นจากที่ปรึกษากฎหมายอิสระซึ่งให้ความเห็นว่าผลบังคับของร่างสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามที่กำหนดข้างต้นแล้ว ให้สำนักงานอย่างน้อยหนึ่งวันทำการก่อนการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในครั้งนั้นด้วย

ส่วนที่ 3

เงื่อนไขภายหลังการอนุญาต

________________

ข้อ 35 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกในแต่ละครั้งมีสิทธิและเงื่อนไขตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยต้องมีการกำหนดสิทธิและเงื่อนไขอย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(1) จัดให้มีชื่อเฉพาะสำหรับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกในแต่ละครั้งเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง โดยต้องแสดงให้ทราบถึงชื่อหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงไว้ในชื่อดังกล่าวด้วย

(2) เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ซึ่งผู้ที่จะสามารถใช้สิทธิและได้รับประโยชน์ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือในทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เท่านั้น

(3) มีอายุไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เว้นแต่กรณีที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิ (ถ้ามี)

(4) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน ต้องมีข้อกำหนดว่าเมื่อมีการใช้สิทธิของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิงให้แก่ผู้ถือใบสำคัญ แสดงสิทธิอนุพันธ์

(5) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่มีเงื่อนไขว่าบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิง ต้องมีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หากบริษัทไม่สามารถส่งมอบหุ้นอ้างอิงได้เมื่อมีการใช้สิทธิ ทั้งนี้ ค่าเสียหายดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ กับราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนดไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บวกด้วยค่าปรับซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสามของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ

(6) ในกรณีที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงิน ตามส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงหรือเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ ต้องมีข้อกำหนดว่าหากราคาของหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงตามที่กำหนด ณ เวลาที่ครบกำหนดอายุของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สูงกว่าราคาของหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงที่กำหนดไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (in the money) บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวจะชำระเงินให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามวิธีและภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะได้แสดงความจำนงในการใช้สิทธิหรือไม่

(7) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่มีเงื่อนไขว่าบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิง ต้องมีระยะเวลาในการแสดงความจำนงในการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันใช้สิทธิดังกล่าว

นอกจากรายการตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งแล้ว ข้อกำหนดสิทธิต้องมีรายการตามที่กำหนดในส่วนที่ 4 ด้วย ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดส่งสำเนาข้อกำหนดสิทธิที่มีการรับรองความถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของผู้ได้รับอนุญาต ให้แก่สำนักงานจำนวนหนึ่งชุด พร้อมกับการรายงานผลการขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดส่งสำเนาข้อกำหนดสิทธิส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงที่มีการรับรองความถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของผู้ได้รับอนุญาต ให้แก่สำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วย

ข้อ 36 ในกรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) จัดให้มีสัญญาฝากทรัพย์สินซึ่งมีรายการและสาระสำคัญตามที่กำหนดในส่วนที่ 5

(2) แต่งตั้งให้บุคคลที่สามารถเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์กองทุนรวมได้เป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน

(3) ดำเนินการฝากทรัพย์สินกับผู้รับฝากทรัพย์สินภายในระยะเวลาและตามจำนวนที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิ

(4) จัดส่งสำเนาสัญญาฝากทรัพย์สินที่มีการรับรองความถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของผู้ได้รับอนุญาต ให้แก่สำนักงานจำนวนหนึ่งชุด พร้อมกับการรายงานผลการขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาฝากทรัพย์สิน ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดส่งสำเนาสัญญาฝากทรัพย์สินส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงที่มีการรับรองความถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของผู้ได้รับอนุญาต ให้แก่สำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วย

ข้อ 37 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ และจัดส่งตัวอย่างตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ให้สำนักงานจำนวนหนึ่งชุด พร้อมกับการรายงานผลขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

ข้อ 38 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตประสงค์จะโฆษณาการขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์โดยวิธีอื่นใดนอกจากการโฆษณาทางสิ่งตีพิมพ์ตามมาตรา 80 ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการโฆษณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 80 โดยอนุโลมด้วย

ข้อ 39 นอกจากการรายงานตามมาตรา 81 แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ ยื่นรายงานผลการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าว แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 40 ในกรณีที่มีการชดใช้ค่าเสียหายแทนการชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิง ให้ผู้ได้รับอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว

ข้อ 41 ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำรงลักษณะหรือดำเนินการดังต่อไปนี้ ตลอดจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะระงับลง

(1) ดำเนินการให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามข้อ 34

(2) ไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง ในกรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น

(3) ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ การลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และการจ่ายผลประโยชน์ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ

(4) แจ้งการไม่สามารถดำเนินการตาม (1) (2) หรือ (3) ให้สำนักงานทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว

ส่วนที่ 4

ข้อกำหนดสิทธิ

_____________

ข้อ 42 ข้อกำหนดสิทธิสำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องมีความชัดเจน ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม มีการลงลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และประทับตราสำคัญของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (ถ้ามี) ทั้งนี้ ข้อกำหนดสิทธิต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามรายการดังต่อไปนี้ เว้นแต่สำนักงานผ่อนผันเป็นอย่างอื่น

(1) รายการทั่วไป

(2) ลักษณะสำคัญของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(3) ทรัพย์สินที่ฝากไว้ กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน

(4) วิธีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(5) วิธีการจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(6) หน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(7) ผลของการผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลงในข้อกำหนดสิทธิ

(8) อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน

(9) การแต่งตั้งและการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน

(10) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ

(11) การประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(12) ตัวอย่างใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์แนบท้ายข้อกำหนดสิทธิ

ข้อ 43 “รายการทั่วไป” ตามข้อ 42(1) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) ชื่อและที่อยู่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(2) ชื่อและที่อยู่ของผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน

(3) ชื่อและที่อยู่ของผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย (ถ้ามี)

(4) วันมีผลใช้บังคับของข้อกำหนดสิทธิและวันสิ้นสุดการมีผลใช้บังคับของข้อกำหนดสิทธิ ซึ่งวันมีผลใช้บังคับของข้อกำหนดสิทธิต้องเริ่มในวันแรกที่ผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดำเนินการจัดสรรแล้วเสร็จ และสิ้นสุดเมื่อผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ชำระหนี้ให้กับผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์แล้วเสร็จ

(5) กฎหมายที่ใช้บังคับในกรณีที่เกิดข้อพิพาทตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ซึ่งต้องระบุว่าเป็นกฎหมายไทย เว้นแต่เป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศทั้งจำนวน

ข้อ 44 “ลักษณะสำคัญของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ตามข้อ 42(2) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) ชื่อเฉพาะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(2) ให้ระบุว่าเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น และในกรณีที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน ให้ระบุประเภทของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เช่นนั้นไว้ รวมทั้งสัดส่วนของทรัพย์สินที่ฝากด้วย

(3) ชื่อของหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิง

(4) วันเดือนปีที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ซึ่งหมายถึงวันที่ผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดำเนินการจัดสรรแล้วเสร็จ

(5) อายุของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ระยะเวลาแสดงความจำนงในการใช้สิทธิ วันใช้สิทธิ และวันสุดท้ายที่อาจใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(6) จำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ มูลค่าที่ตราไว้ และมูลค่ารวมของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกและเสนอขาย

(7) อัตราและราคาการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น (ถ้ามี)

(8) ประเภทและจำนวนของทรัพย์สินที่ฝาก กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน

(9) การดำเนินการของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในกรณีที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้แสดงความจำนงในการใช้สิทธิแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏชื่อในทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นอ้างอิงของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้มีโอกาสออกเสียง ได้ซื้อหุ้นที่เป็นหุ้นเพิ่มทุน หรือได้รับเงินที่เป็นเงินปันผลหรือประโยชน์อื่นใด ที่เกิดจากหุ้นอ้างอิงในช่วงเวลาดังกล่าว

(10) สิทธิและเงื่อนไขอื่นใดของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เช่น สิทธิของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะเรียกให้มีการใช้สิทธิก่อนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะครบกำหนด เป็นต้น

(11) ข้อจำกัดในการโอน (ถ้ามี)

ข้อ 45 “ทรัพย์สินที่ฝากไว้ กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน” ตามข้อ 42(3) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) รายละเอียดของทรัพย์สินที่ฝากไว้ โดยต้องระบุลักษณะเฉพาะของทรัพย์สินดังกล่าว และในกรณีที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินหลายประเภท ให้ระบุสัดส่วนของทรัพย์สินแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจนด้วย

(2) นโยบายเกี่ยวกับการฝากทรัพย์สินว่าเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวนหรือบางส่วน พร้อมทั้งระบุรายละเอียดและขั้นตอนการฝากทรัพย์สินกับผู้รับฝากทรัพย์สิน และต้องฝากทรัพย์สินดังกล่าวตลอดอายุของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ ตามสัดส่วนของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังไม่มีการใช้สิทธิ

(3) การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ฝากไว้ โดยมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังนี้

(ก) ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินตามข้อ 10(2) หรือ (3) หากบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะใช้สิทธิตามทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อถึงกำหนดการใช้สิทธิ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องมอบหมายให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเป็นผู้ดำเนินการใช้สิทธิแทนบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และส่งมอบหุ้นอ้างอิงที่ได้จากการใช้สิทธิให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเพื่อทดแทนทรัพย์สินที่ฝากไว้เดิม

(ข) การถอนทรัพย์สินที่ฝากไว้นอกจากกรณีตาม (ก) บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะกระทำได้โดยได้รับความยินยอมจากที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และต้องจัดให้มีทรัพย์สินใหม่ที่จะนำมาทดแทนทรัพย์สินเดิม ซึ่งต้องเป็นไปตามลักษณะที่กำหนดในข้อ 10 ด้วย

(4) ในการดำเนินการส่งมอบหุ้นอ้างอิงจากทรัพย์สินที่ฝากไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สิน บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องมอบหมายให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเป็นผู้ดำเนินการแทน

ข้อ 46 “วิธีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ตามข้อ 42(4) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) วิธีการ ระยะเวลา วันที่ใช้สิทธิ และสถานที่ในการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(2) เงื่อนไขการปรับราคาหรืออัตราการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ พร้อมทั้งวิธีคำนวณ (ถ้ามี)

(3) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขยายระยะเวลาการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย

(4) กรณีที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีเงื่อนไขว่าจะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิง ต้องมีข้อกำหนดว่าเมื่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ใช้สิทธิ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิงให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และต้องระบุวิธีคำนวณและการชดใช้ค่าเสียหาย ในกรณีที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ไม่สามารถส่งมอบหุ้นอ้างอิงให้ได้ โดยค่าเสียหายที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะได้รับต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าส่วนต่างของราคาของหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ กับราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บวกด้วยค่าปรับซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสามของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ

(5) วิธีในการคำนวณผลประโยชน์ที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องส่งมอบเมื่อมีการใช้สิทธิ (ถ้ามี)

(6) ข้อกำหนดที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่บุคคลที่มิได้มีชื่อในทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

ข้อ 47 “วิธีการจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ตามข้อ 42(5) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จัดให้มีทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอน

(2) กำหนดให้การโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้มีชื่อแสดงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนคนสุดท้ายได้ส่งมอบตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวต่อผู้รับโอน โดยลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนตามมาตรา 53 และตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์และการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์ โดยอนุโลม แต่ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการให้ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับหลักทรัพย์จดทะเบียน

ข้อ 48 “หน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ตามข้อ 42(6) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) ข้อกำหนดที่ระบุว่าบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกตามกฎหมาย และปฏิบัติตามความผูกพันต่าง ๆ ตามข้อกำหนดสิทธิ

(2) ในกรณีเป็นการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินมีข้อกำหนดที่ระบุว่าบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะไม่ถอนหรือทำให้ทรัพย์สินที่ฝากไว้มีจำนวนลดลง เว้นแต่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิ

(3) ข้อกำหนดที่ระบุว่าบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะดำรงทรัพย์สินที่ฝากไว้ในกรณีที่เป็นการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน ตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในการขออนุญาต ตลอดจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะระงับลง และบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะไม่เรียกคืนทรัพย์สินดังกล่าวก่อนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะระงับลงด้วย

(4) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิอันเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ฝากไว้ไม่เพียงพอตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในการขออนุญาต บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะนำทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ไปฝากเพิ่มเติมกับผู้รับฝากทรัพย์สินเพื่อให้เพียงพอตามสัดส่วนเช่นเดิมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว

(5) การจัดให้มีเอกสารเปิดเผยต่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังต่อไปนี้ ณ สถานที่ทำการของนายทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และสถานที่ทำการของผู้รับฝากทรัพย์สิน (ถ้ามี)

(ก) คู่ฉบับข้อกำหนดสิทธิฉบับแรกและฉบับที่แก้ไขเปลี่ยนแปลง

(ข) สำเนางบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ต้องจัดทำและส่งให้สำนักงานตามมาตรา 56 มาตรา 57 และมาตรา 58 สำเนารายงานผลการขายและรายงานผลการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามมาตรา 81 โดยจะจัดส่งให้ผู้รับฝากทรัพย์สินภายในระยะเวลาเดียวกับที่กำหนดให้ส่งต่อสำนักงาน

(ค) สำเนาทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เมื่อผู้รับฝากทรัพย์สินร้องขอ

(6) การจัดทำและส่งรายงานดังต่อไปนี้ให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีรายชื่อตามทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้รับฝากทรัพย์สิน (ถ้ามี)

(ก) รายงานกรณีที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกิจการของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เช่น ถูกฟ้องร้องคดีต่อศาลซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพย์สินที่ฝากไว้ในกรณีที่เป็นการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินมีผลการดำเนินงานขาดทุน หรือมีการลดทุนอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น

(ข) รายงานกรณีที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกิจการของผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย (ถ้ามี) เช่น มีการขาดทุน หยุดการดำเนินกิจการ หรือเกิดเหตุการณ์อื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกัน เป็นต้น

(7) การแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ เมื่อมีกรณีที่จะต้องเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน โดยต้องเป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 36(2)

(8) การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับฝากทรัพย์สินในการเข้าตรวจดูทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามที่ผู้รับฝากทรัพย์สินร้องขอในระหว่างเวลาทำการของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

ข้อ 49 “ผลของการผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลงในข้อกำหนดสิทธิ” ตามข้อ 42(7) จะต้องระบุผลของการผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลงในแต่ละกรณีไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการเมื่อมีการผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลงนั้นด้วย และให้ระบุมาตรการอื่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ด้วย

ข้อ 50 “อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน” ตามข้อ 42(8) ต้องตรงกับที่กำหนดไว้ในสัญญาฝากทรัพย์สิน โดยมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) ความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์สินเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ตนละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่

(2) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินในการติดตามดูแลให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้รับฝากทรัพย์สิน

(3) อำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการรับและเก็บรักษาทรัพย์สินซึ่งผู้รับฝากทรัพย์สินได้รับฝากไว้เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน รวมทั้งการส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ด้วย

(4) ข้อจำกัดอำนาจของผู้รับฝากทรัพย์สินในการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ฝากไว้ในกรณีที่เป็นการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน โดยข้อจำกัดอำนาจดังกล่าวต้องไม่ขัดแย้งกับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ฝากไว้ในข้อ 45 (ถ้ามี)

(5) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินในการรายงานต่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามรายชื่อที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อทรัพย์สินที่ฝากไว้อย่างมีนัยสำคัญ เว้นแต่กรณีที่ระบุไว้แล้วในข้อกำหนดสิทธิ

(6) หน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในการตรวจดูเอกสารดังต่อไปนี้ ในระหว่างเวลาทำการของผู้รับฝากทรัพย์สิน

(ก) บัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้

(ข) งบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จัดส่งมาให้

(7) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินที่ต้องดำรงคุณสมบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 36(2) ตลอดเวลาของการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน และในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินขาดคุณสมบัติ ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติของตนให้ถูกต้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ขาดคุณสมบัตินั้น ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทันทีที่พ้นระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน

(8) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินเมื่อจะมีการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน ซึ่งต้องกำหนดให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเดิมปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิและสัญญาฝากทรัพย์สินต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่และได้มีการส่งมอบบรรดาทรัพย์สิน เอกสาร และหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้แก่ผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่แล้ว ทั้งนี้ ผู้รับฝากทรัพย์สินเดิมต้องให้ความร่วมมือกับผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ด้วยเพื่อให้การดำเนินการตามหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่เป็นไปโดยเรียบร้อย

(9) หน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์สินในการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่ฝากไว้ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามความเป็นจริง

ข้อ 51 “การแต่งตั้งและการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน” ตามข้อ 42(9) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) วิธีการแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สิน

(2) การเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สินซึ่งอย่างน้อยต้องระบุให้มีการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สินเมื่อเกิดกรณีดังนี้

(ก) ผู้รับฝากทรัพย์สินไม่สามารถดำเนินการแก้ไขการขาดคุณสมบัติภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 50(7)

(ข) ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังสามารถใช้สิทธิได้ แจ้งให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน เนื่องจากผู้รับฝากทรัพย์สินปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมหรือบกพร่อง

(ค) เมื่อมีเหตุที่ทำให้สัญญาฝากทรัพย์สินระงับสิ้นไป

(3) การดำเนินการเพื่อแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ ซึ่งต้องระบุให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกับข้อกำหนดในข้อ 36(2) ทั้งนี้ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุตาม (2) หรือภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย และต้องแจ้งให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทราบถึงการเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว

ข้อ 52 “การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ” ตามข้อ 42(10) ต้องมีรายการอย่างน้อยดังนี้

(1) มีการกำหนดให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิ ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เว้นแต่เป็นกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อย่างชัดแจ้ง อาจกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สามารถกระทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ก็ได้

(2) ข้อตกลงที่ระบุให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องส่งคู่ฉบับข้อกำหนดสิทธิส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้นายทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้รับฝากทรัพย์สิน (ถ้ามี) ภายในระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และส่งสรุปสาระสำคัญของข้อกำหนดสิทธิส่วนที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เมื่อได้รับการร้องขอภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น

ข้อ 53 “การประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ตามข้อ 42(11) ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังนี้

(1) กรณีต้องเรียกประชุม มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องเรียกประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายในสามสิบวันนับแต่เกิดกรณีดังต่อไปนี้

(ก) เมื่อมีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิในลักษณะที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(ข) เมื่อมีการขอถอนทรัพย์สินที่ฝากไว้ กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน

(ค) เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอันอาจกระทบต่อความสามารถของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ

ในกรณีที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ไม่ดำเนินการเรียกประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือกรณีที่มีเหตุอันสมควร ให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังไม่มีการใช้สิทธิ เรียกประชุมแทนได้

(2) องค์ประชุมและมติที่ประชุม มีข้อกำหนดให้การประชุมที่ได้มีการเรียกตาม (1) จะต้องมีองค์ประชุมและมติที่ประชุมอย่างน้อยดังนี้

(ก) มีผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (ถ้ามี) มาประชุมโดยมีจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังไม่มีการใช้สิทธิ จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในกรณีที่ได้มีการเรียกประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ครั้งใด แต่จำนวนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ซึ่งมาเข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุม ให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นัดประชุมใหม่ได้โดยในการประชุมครั้งหลังนี้ ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม

(ข) มติของที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทั้งหมดของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

(ค) การนับมติที่ประชุม ไม่ให้นับรวมจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้

1. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ และผู้บริหารของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว

2. บริษัทใหญ่และบริษัทย่อยของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

3. ผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย

(3) มีข้อตกลงระบุให้มติที่ประชุมผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีผลผูกพันผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทุกคนรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

(4) วิธีการเรียกประชุม และวิธีการดำเนินการประชุม

(5) ข้อกำหนดมิให้บุคคลตาม (2) (ค) 1. 2. และ 3. ซึ่งเป็นผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องใดออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น

ข้อ 54 “ตัวอย่างใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ตามข้อ 42(12) ต้องมีรายการดังต่อไปนี้ในตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(1) ชื่อเฉพาะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(2) ลักษณะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยให้ระบุว่าเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น และในกรณีที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน ก็ให้ระบุประเภทของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เช่นนั้นไว้ รวมทั้งระบุสัดส่วนของทรัพย์สินที่ฝากด้วย

(3) ชื่อของหุ้นอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิง

(4) ชื่อบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(5) จำนวนหน่วยที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีสิทธิ

(6) ชื่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(7) เลขที่อ้างอิงของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(8) วัน เดือน ปีที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และวัน เดือน ปีที่สิ้นสุดของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(9) ชื่อผู้รับฝากทรัพย์สิน (ถ้ามี)

(10) ชื่อผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย (ถ้ามี)

(11) การชำระหนี้ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เมื่อมีการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ซึ่งต้องระบุอย่างชัดเจนว่าจะชำระหนี้โดยการส่งมอบเงินสดหรือหุ้นอ้างอิง

(12) มีข้อความที่ระบุว่าใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นี้ออกตามสิทธิและเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อกำหนดสิทธิซึ่งบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้จัดทำขึ้นและถือเป็นข้อตกลงผูกพันระหว่างบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์กับผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ ต้องระบุด้วยว่าผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์สามารถขอตรวจดูข้อกำหนดสิทธิดังกล่าวได้ที่ใด

(13) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือนายทะเบียนหลักทรัพย์

ส่วนที่ 5

สัญญาฝากทรัพย์สิน

______________

ข้อ 55 ในกรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีสัญญาฝากทรัพย์สินที่มีความชัดเจน ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม และสอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้รับฝากทรัพย์สิน มีการลงลายมือชื่อของคู่สัญญา และต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามรายการดังต่อไปนี้ เว้นแต่สำนักงานจะผ่อนผันเป็นอย่างอื่น

(1) รายการทั่วไป

(2) หน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(3) อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์สิน

(4) การสิ้นสุดสัญญาฝากทรัพย์สิน

ข้อ 56 “รายการทั่วไป” ตามข้อ 55(1) ต้องมีสาระอย่างน้อย ดังนี้

(1) ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา

(2) วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ

(3) อัตราและวิธีการจ่ายค่าตอบแทนหรือบำเหน็จในการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ซึ่งต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจน

(4) ระบุข้อความในลักษณะดังต่อไปนี้

“การฝากทรัพย์สินตามสัญญานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเก็บรักษาและดูแลทรัพย์สินที่ฝากไว้เสมือนเป็นประกันการให้สิทธิแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์”

(5) ระบุลักษณะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ สัดส่วนของทรัพย์สินที่ฝากไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สิน ประเภทของทรัพย์สินที่ฝากและลักษณะสำคัญของทรัพย์สินดังกล่าว

ข้อ 57 “หน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” ตามข้อ 55(2) ต้องมีสาระอย่างน้อย ดังนี้

(1) การดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 45(2) (3) และ (4) และข้อ 48(3) และ (4)

(2) ระยะเวลาที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้รับฝากทรัพย์สินซึ่งอย่างช้าต้องเป็นวันแรกที่เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(3) บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะจัดให้มีและส่งมอบข้อกำหนดสิทธิให้แก่นายทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และผู้รับฝากทรัพย์สิน

(4) ในกรณีที่มีเหตุการณ์ให้ต้องเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะส่งมอบทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ไปฝากเพิ่มเติมให้ผู้รับฝากทรัพย์สินเพื่อให้ทรัพย์สินที่ฝากไว้มีสัดส่วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว

ข้อ 58 “อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์สิน” ตามข้อ 55(3) ต้องมีสาระอย่างน้อย ดังนี้

(1) รายละเอียดตามรายการที่กำหนดในข้อ 50

(2) ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องเก็บรักษาทรัพย์สินที่ฝากไว้แยกจากทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สินและของลูกค้ารายอื่นของผู้รับฝากทรัพย์สิน ทั้งนี้ ให้เก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าวไว้ในที่ปลอดภัย และให้จัดทำบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวแยกจากบัญชีทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สินและลูกค้าอื่นของผู้รับฝากทรัพย์สิน และต้องจัดทำโดยครบถ้วน ถูกต้อง และตรงตามความเป็นจริง

(3) ผู้รับฝากทรัพย์สินจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้ทรัพย์สินที่ฝากไว้มีจำนวนเปลี่ยนแปลงหรือลดลง เว้นแต่เป็นการคืนทรัพย์สินดังกล่าวตามสัดส่วนของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ได้มีการใช้สิทธิแล้ว หรือเป็นการคืนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะซื้อหุ้นและเงินที่จะชำระเป็นค่าซื้อหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ฝากไว้เพื่อให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นำไปใช้สิทธิ

ข้อ 59 “การสิ้นสุดสัญญาฝากทรัพย์สิน” ตามข้อ 55(4) ต้องมีสาระอย่างน้อย ดังนี้

(1) ในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการดำรงคุณสมบัติและไม่สามารถแก้ไขคุณสมบัติดังกล่าวตามที่กำหนดในข้อ 50(7) ให้สัญญาฝากทรัพย์สินเป็นอันสิ้นสุดลง

(2) ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ยังสามารถใช้สิทธิได้ แจ้งให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน เนื่องจากผู้รับฝากทรัพย์สินปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมหรือบกพร่อง

หมวด 3

การขอตรวจสอบและการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิง

________________

ข้อ 60 ผู้ได้รับอนุญาตจะได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงสำหรับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นต่อเมื่อหุ้นอ้างอิงมีลักษณะตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขอตรวจสอบและการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงให้เป็นไปตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 61 ผู้ได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงต้องเริ่มดำเนินการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายในระยะเวลาที่สำนักงานประกาศกำหนด โดยหากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผลการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงในครั้งนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

ข้อ 62 ภายหลังการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องยื่นรายงานเกี่ยวกับการใช้หุ้นอ้างอิงต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่สำนักงานประกาศกำหนดด้วย

หมวด 4

การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่

เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้

ของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง

_________________

ข้อ 63 ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) หุ้นอ้างอิงที่รองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องเป็นหุ้นที่ออกโดยบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย และบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงดังกล่าวมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) มีเหตุจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางด้านเงินทุนหรือปรับโครงสร้างบริษัท เนื่องจากประสบปัญหาด้านสภาพคล่องหรือการชำระคืนหนี้อย่างมีนัยสำคัญ หรือประสบปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของบริษัท เช่น มียอดขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น หรือมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงผิดปกติเมื่อเทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงต้องรับทราบเหตุดังกล่าวที่ทำให้ต้องเพิ่มทุน และมีมติให้เพิ่มทุนเพื่อแก้ไขเหตุดังกล่าวแล้ว

(ข) การออกหุ้นอ้างอิงที่รองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบแผนดังกล่าวแล้ว

(2) หุ้นอ้างอิงที่รองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต้องเป็นหุ้นที่บริษัทตาม (1) ออกใหม่ให้แก่ผู้ขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายในระยะเวลาไม่เกินหกเดือนก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาต หรือภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน แต่เมื่อรวมกันแล้วผ่อนผันได้ไม่เกินหนึ่งปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาต

(3) ผู้ขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นสถาบันการเงินที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการของบริษัทตาม (1) โดยการซื้อหุ้นอ้างอิงตาม (2) หรือเป็นนิติบุคคลที่สถาบันการเงินนั้นจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในครั้งนั้น

(4) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ขออนุญาตต้องเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน และเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่มีเงื่อนไขว่าบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิงที่ผู้ขออนุญาตได้รับซื้อไว้เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงตาม (2)

ข้อ 64 การขออนุญาตและการอนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามหมวดนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ของหมวดนี้ โดยในกรณีที่เป็นการขออนุญาตตามส่วนที่ 2 ให้ผู้ขออนุญาตจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำคำขออนุญาตดังกล่าวด้วย เว้นแต่ผู้ขออนุญาตนั้นเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวอยู่แล้ว

ในกรณีที่การฟื้นฟูกิจการหรือการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงนั้นเกี่ยวข้องกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หลายชุด ผู้ขออนุญาตสามารถระบุรายละเอียดของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ทุกชุดไว้ในคำขออนุญาตเพียงหนึ่งคำขอได้

ข้อ 65 ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้การอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลง

ส่วนที่ 1

การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

แก่บุคคลในวงจำกัด

____________________

ข้อ 66 การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัดตามหมวดนี้ได้แก่การเสนอขายที่เข้าลักษณะตามส่วนที่ 1 ของหมวด 1 โดยอนุโลม

ข้อ 67 บริษัทที่ประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัดต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน และจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามข้อ 63(3) วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิต้องชัดเจนว่าจะดำเนินธุรกิจเพื่อการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานตามหมวดนี้เท่านั้น และข้อบังคับของบริษัทต้องกำหนดห้ามมิให้มีการก่อภาระผูกพันอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และสามารถแสดงได้ว่าการแก้ไขข้อบังคับในเรื่องดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวก่อน

(2) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ขออนุญาตมีสิทธิและเงื่อนไขตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยต้องมีการกำหนดสิทธิและเงื่อนไขอย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) จัดให้มีชื่อเฉพาะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง โดยต้องแสดงให้ทราบถึงชื่อหุ้นอ้างอิงไว้ในชื่อดังกล่าวด้วย

(ข) เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ซึ่งผู้ที่จะสามารถใช้สิทธิและได้รับประโยชน์ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือในทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เท่านั้น

(ค) ต้องมีข้อกำหนดว่า เมื่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ใช้สิทธิ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิงให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(ง) มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หากบริษัทไม่สามารถส่งมอบหุ้นอ้างอิงได้เมื่อมีการใช้สิทธิ ทั้งนี้ ค่าเสียหายดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ กับราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนดไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บวกด้วยค่าปรับซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสามของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ

(จ) มีการกำหนดวิธีการในการจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จัดให้มีทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

2. กำหนดให้การโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้มีชื่อแสดงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนคนสุดท้ายได้ส่งมอบตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวต่อผู้รับโอน โดยลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนตามมาตรา 53 และตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์และการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

นอกจากรายการตามวรรคหนึ่ง ข้อกำหนดสิทธิต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดในมาตรา 42 โดยอนุโลม

ข้อ 68 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตตามส่วนนี้ให้ผู้ขออนุญาตทราบภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาตพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน หากสำนักงานไม่แจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตนั้นได้รับอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามส่วนนี้ได้ในวันถัดจากวันที่ครบกำหนดเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาตนั้น

ภายหลังได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตที่กำหนดในข้อ 18 ข้อ 19 ข้อ 20 ข้อ 21 ข้อ 23 และข้อ 24 โดยอนุโลมด้วย

ส่วนที่ 2

การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต่อประชาชน

_________________

ข้อ 69 บริษัทที่ประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อประชาชนต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน และจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) (ก) มีกรรมการและผู้บริหารที่เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

(ข) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

(ค) ไม่มีประวัติขาดความรับผิดชอบในการเป็นบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือไม่มีกรรมการและผู้บริหารที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่มีประวัติดังกล่าว

(2) ในกรณีที่เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามข้อ 63(3) วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิต้องชัดเจนว่าจะดำเนินธุรกิจเพื่อการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานตามหมวดนี้เท่านั้น และข้อบังคับของบริษัทต้องกำหนดห้าม มิให้มีการก่อภาระผูกพันอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และสามารถแสดงได้ว่าการแก้ไขข้อบังคับในเรื่องดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวก่อน

(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ขออนุญาตมีสิทธิและเงื่อนไขตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยต้องมีการกำหนดสิทธิและเงื่อนไขอย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) จัดให้มีชื่อเฉพาะของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง โดยต้องแสดงให้ทราบถึงชื่อหุ้นอ้างอิงไว้ในชื่อดังกล่าวด้วย

(ข) เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ซึ่งผู้ที่จะสามารถใช้สิทธิและได้รับประโยชน์ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่อปรากฏเป็นผู้ถือในทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เท่านั้น

(ค) ต้องมีข้อกำหนดว่า เมื่อผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ใช้สิทธิ บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะชำระหนี้โดยการส่งมอบหุ้นอ้างอิงให้แก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(ง) มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หากบริษัทไม่สามารถส่งมอบหุ้นอ้างอิงได้เมื่อมีการใช้สิทธิ ทั้งนี้ ค่าเสียหายดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ กับราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนดไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ บวกด้วยค่าปรับซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละสามของราคาหุ้นอ้างอิงที่กำหนด ณ วันที่ใช้สิทธิ

(จ) มีระยะเวลาแสดงความจำนงในการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันใช้สิทธิดังกล่าว

(ฉ) มีการกำหนดวิธีการในการจัดทำทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์อย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีข้อกำหนดให้บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จัดให้มีทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

2. กำหนดให้การโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้มีชื่อแสดงว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนคนสุดท้ายได้ส่งมอบตราสารกำกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวต่อผู้รับโอน โดยลงลายมือชื่อสลักหลังแสดงการโอนตามมาตรา 53 และตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดให้มีทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์และการลงทะเบียนการโอนหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

นอกจากรายการตามวรรคหนึ่ง ข้อกำหนดสิทธิต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดในมาตรา 42 โดยอนุโลม

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง (1) หากสำนักงานเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง (1) ดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงหรือได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว สำนักงานอาจไม่นำเหตุดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้

ข้อ 70 ในกรณีที่สำนักงานไม่อนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามส่วนนี้ เนื่องจากผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 69(1) (ข) หรือ (ค) ในการแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการพิจารณาคำขออนุญาตในคราวต่อไป โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการกำหนดระยะเวลา ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตต่อผู้ขออนุญาต

เมื่อพ้นระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อผู้ขออนุญาตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดแล้ว มิให้สำนักงานนำข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการสั่งการตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาคำขอในครั้งใหม่อีก

ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 69(1) (ข) หรือ (ค) เป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงหรือได้มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการป้องกันแล้ว สำนักงานอาจไม่นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณลักษณะดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้

ข้อ 71 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตตามส่วนนี้ให้ผู้ขออนุญาตทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขออนุญาตพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน

ข้อ 72 ภายหลังได้รับอนุญาตตามส่วนนี้แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตที่กำหนดในข้อ 21(4) ข้อ 24 ข้อ 36 ข้อ 37 ข้อ 38 ข้อ 40 และข้อ 41(3) และ (4) โดยอนุโลมด้วย

หมวด 5

บทเฉพาะกาล

___________

ข้อ 73 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 74 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การ

ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับ

ตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การ

ขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 จึงจำเป็นต้องออก

ประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ