การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 28, 2009 12:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 24/2552

เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

_______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 12 และข้อ 17 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และข้อ 19(6) และข้อ 20 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปเว้นแต่ข้อ 65 ถึงข้อ 70 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับกองทุนต่าง ๆ มีดังนี้

(ก) “กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล

(ข) “กองทุนรวมพันธบัตรเอเชีย” หมายความว่า กองทุนรวมอีทีเอฟที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สอง (Asian Bond Fund 2) ตามมติของที่ประชุมกลุ่มธนาคารกลางสมาชิก Executives’ Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP)

(ค) “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(ง) “กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย” หมายความว่า กองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ลงทุนรายย่อยต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท

(จ) “กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ” หมายความว่า กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นโครงการแบบกลุ่ม (collective investment scheme) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(2) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับตราสาร มีดังนี้

(ก) “หุ้น” หมายความว่า หุ้นของบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือ นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงหุ้นของบริษัทจัดการลงทุนต่างประเทศที่มีการดำเนินการในลักษณะของโครงการลงทุนแบบกลุ่ม

(ข) “หุ้นกู้ระยะสั้น” หมายความว่า หุ้นกู้ระยะสั้นตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่

(3) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับกิจการ มีดังนี้

(ก) “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(ข) “นายจ้าง” หมายความว่า นายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ค) “บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(ง) “บริษัทเงินทุน” หมายความว่า บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(จ) “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(ฉ) “นิติบุคคลต่างประเทศ” หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศและเป็นภาคเอกชน

(ช) “บริษัทในเครือ” หมายความว่า บริษัทที่ถือหุ้นของบริษัทจัดการหรือของนายจ้างตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจัดการหรือของนายจ้าง และบริษัทที่บริษัทจัดการหรือนายจ้างถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น แล้วแต่กรณี

(ซ) “สถาบันการเงินตามกฎหมายไทย” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน

(4) บทนิยามที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีดังนี้

(ก) “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ตัวตราสาร ที่ผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญา หรือที่ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี ครั้งล่าสุด โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน เว้นแต่ข้อกำหนดในประกาศนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ตัวตราสาร ที่ผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญา หรือที่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ หรือเป็นการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ข้อกำหนดในประกาศนี้กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง

(ข) “อันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า สัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(ค) “อันดับที่สามารถลงทุนได้” (investment grade) หมายความว่า อันดับความน่าเชื่อถือที่แต่ละสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน กำหนดว่าเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้

(5) บทนิยามเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured note) มีดังนี้

(ก) “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน” หมายความว่า การลงทุนในทรัพย์สินเพื่อกองทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. การลดความเสี่ยง

2. การลดค่าใช้จ่าย

3. การเพิ่มรายได้ของกองทุนโดยไม่มีความเสี่ยง หรือหากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่เป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

(ข) “การลดความเสี่ยง” หมายความว่า การลดหรือป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินอื่นด้วยการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือด้วยการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี

(ค) “ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์” หมายความว่า ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศ

(ง) “ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง” หมายความว่า ตราสารหรือสัญญาดังต่อไปนี้

1. ตราสารทางการเงินหรือสัญญาที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง หรือ

2. หุ้นกู้อนุพันธ์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ เว้นแต่ในข้อกำหนดในประกาศนี้จะแสดงให้เห็นว่าไม่รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์

(จ) “ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งสามารถให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น และได้รับการยอมรับจากสำนักงาน

(ฉ) “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสัญญาอื่นในทำนองเดียวกัน

(ช) “สัญญาเครดิตอนุพันธ์” (credit derivatives) หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงด้านเครดิตหรือผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจ จากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อประกันความเสี่ยง ไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายประกันความเสี่ยง โดยผู้ขายประกันความเสี่ยงมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ซื้อประกันความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ (credit event) ของทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ โดยแลกกับการได้รับผลตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อประกันความเสี่ยง

(ซ) “ทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์” (reference obligation) หมายความว่า ทรัพย์สินหรือสัญญาที่สัญญาเครดิตอนุพันธ์อ้างอิงกับเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของทรัพย์สินหรือสัญญานั้น หรือของผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญาดังกล่าว

(ฌ) “ทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง” (underlying obligation) หมายความว่า ทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้ และได้รับการลดความเสี่ยงจากการเข้าทำสัญญาเครดิตอนุพันธ์ในนามของกองทุน

(ญ) “สัญญาซีดีเอส” (single-name credit default swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่กำหนดทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ไว้เพียงรายการเดียว

(ฎ) “สัญญาเอฟทีดีเอส” (first-to-default swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่กำหนดทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ไว้หลายรายการ ทั้งนี้ ผู้ขายประกันความเสี่ยงมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของทรัพย์สินดังกล่าวรายการใดรายการหนึ่งเป็นรายการแรก

(ฏ) “สัญญาโพรพอร์ชั่นเนทซีดีเอส” (proportionate credit default swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่กำหนดทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ไว้หลายรายการ ทั้งนี้ ผู้ขายประกันความเสี่ยงมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของทรัพย์สินดังกล่าวแต่ละรายการ โดยจะชำระเงินตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในสัญญาสำหรับทรัพย์สินแต่ละรายการนั้น

(ฐ) “สัญญาทีอาร์โออาร์เอส” (total rate of return swap) หมายความว่า สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ขายประกันความเสี่ยงจ่ายผลตอบแทนในอัตราลอยตัวที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย และผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจที่ลดลงของทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ ให้แก่ผู้ซื้อประกันความเสี่ยงจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ หรือจนกว่าสัญญาเครดิตอนุพันธ์นั้นจะครบอายุ เพื่อแลกกับการที่ผู้ซื้อประกันความเสี่ยงโอนผลตอบแทนและผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ให้แก่ตน

(ฑ) “ค่าเดลต้า” หมายความว่า อัตราเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหรือสัญญา กับราคาสินค้าหรือตัวแปรของตราสารหรือสัญญา แล้วแต่กรณี

(6) บทนิยามอื่น ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรม มีดังนี้

(ก) “การขายชอร์ต” หมายความว่า การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อส่งมอบ

(ข) “การรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น” หมายความว่า การรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นตามประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้บริษัทจัดการสามารถรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขหรือระยะเวลาที่ประกาศนั้นกำหนด

(ค) “คำเสนอซื้อ” หมายความว่า คำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการตามประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ

ข้อ 3 การจัดการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือแสวงหาประโยชน์เฉพาะจากหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทรัพย์สินอื่น หรือไปหาดอกผลหรือแสวงหาประโยชน์โดยวิธีอื่น ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สินที่กำหนดไว้ในภาค 1 ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 เว้นแต่เป็นกรณีที่อยู่ภายใต้บทเฉพาะกาลตามภาค 3 ได้

ภาค 1

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สิน

____________________

หมวด 1

บททั่วไป

____________________

ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามประเภทที่กำหนดในหมวด 2 ของภาค 1 ทั้งนี้ ตามลักษณะของตราสารและหลักเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดในหมวด 3 ของภาค 1

(2) เปิดเผยข้อมูลการลงทุนตามหมวด 4 ของภาค 1

(3) เมื่อมีเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ขาดคุณสมบัติที่จะลงทุนหรือมีไว้ได้ต่อไป ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหมวด 5 ของภาค 1

หมวด 2

ข้อกำหนดประเภททรัพย์สินตามลักษณะของกองทุน

____________________

ข้อ 5 ในกรณีของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สิน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนประเภทเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว ให้กองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับข้อ 6 ด้วย

(1) ตราสารแห่งทุนตามส่วนที่ 1 ในหมวด 3 ของภาค 1

(2) ตราสารแห่งหนี้ตามส่วนที่ 2 ในหมวด 3 ของภาค 1

(3) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามส่วนที่ 3 ในหมวด 3 ของภาค 1

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามส่วนที่ 4 ในหมวด 3 ของภาค 1

(5) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศตามส่วนที่ 5 ในหมวด 3 ของภาค 1

(6) เงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสดตามส่วนที่ 6 ในหมวด 3 ของภาค 1

(7) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 7 ของหมวด 3 ของภาค 1

(8) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 10 ของหมวด 3 ของภาค 1

(9) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 11 ของหมวด 3 ของภาค 1

(10) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) ถึง (9) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ในกรณีของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือได้มาซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง (5) ได้

ข้อ 6 ในกรณีที่กองทุนเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนประเภทเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อกองทุนดังกล่าวต้องเป็นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลักไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยประเทศเหล่านั้นต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือมีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE) ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นการลงทุนในประเทศ ได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 13 หรือเงินฝากตามข้อ 23(1) ที่มีอายุของตราสารหรือสัญญา หรือระยะเวลาการฝากเงิน แล้วแต่กรณี ต่ำกว่าหนึ่งปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน

(2) เข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 38(4) และข้อ 40

(3) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) หรือ (2) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

บริษัทจัดการอาจนับมูลค่าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง (2) รวมในอัตราส่วนของการลงทุนในต่างประเทศตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งด้วยได้

ข้อ 7 ในกรณีที่กองทุนเป็นกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนประเภทเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว หากกองทุนดังกล่าวมีการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทจัดการต้องเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 38(4) และข้อ 40

ข้อ 8 ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สิน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาดังต่อไปนี้

(1) หลักทรัพย์ ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ทุกประเภท ที่เสนอขายในประเทศ หรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(2) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศตามข้อ 11

(3) ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 18

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามส่วนที่ 4 ในหมวด 3 ของภาค 1

(5) ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศตามส่วนที่ 5 ในหมวด 3 ของภาค 1

(6) เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินสดตามส่วนที่ 6 ในหมวด 3 ของภาค 1

(7) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8 ของหมวด 3 ของภาค 1

(8) ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในกรณีของธุรกรรมการยืมหลักทรัพย์ ต้องมีคู่สัญญาเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันเท่านั้น และในกรณีของธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 9 ในหมวด 3 ของภาค 1

(9) การขายชอร์ต ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง โดยอนุโลม

(10) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกลักษณะ ทั้งนี้ การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 38(4) ด้วย

(11) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงทุกประเภท

(12) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) ถึง (10) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

หมวด 3

ข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะของตราสาร

และหลักเกณฑ์การลงทุน

____________________

ส่วนที่ 1

ตราสารแห่งทุน

____________________

ข้อ 9 ตราสารแห่งทุน ได้แก่ หลักทรัพย์ ตราสาร หรือสัญญาดังต่อไปนี้

(1) ตราสารแห่งทุนในประเทศตามข้อ 10

(2) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศตามข้อ 11

ข้อ 10 ตราสารแห่งทุนในประเทศ ได้แก่ ตราสาร หรือสัญญา ที่เสนอขายในประเทศ หรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้

(1) หุ้น

(2) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งทุน หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน เช่น กองทุนรวมผสม เป็นต้น

(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) การลงทุนในตราสารดังกล่าวต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน

(ข) บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้มีการกันหรือแยกทรัพย์สินของกองทุนที่มีคุณภาพซึ่งมีสภาพคล่องในจำนวนที่เพียงพอต่อมูลค่าการใช้สิทธิตามตราสารดังกล่าวไว้ตลอดเวลาที่ได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

(4) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

(5) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์โดยหลักทรัพย์ที่ให้ยืมเป็นหลักทรัพย์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 9 ของหมวดนี้

ข้อ 11 ตราสารแห่งทุนต่างประเทศ ได้แก่ หุ้นหรือหน่วยลงทุนที่เสนอขายในต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

(1) หุ้นที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE)ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

(2) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่เป็นกองทุนรวมตราสารแห่งทุน หรือที่เป็นกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน เช่น กองทุนรวมผสม เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในส่วนที่ 4 ของหมวดนี้ด้วย

ส่วนที่ 2

ตราสารแห่งหนี้

____________________

ข้อ 12 ตราสารแห่งหนี้ ได้แก่ หลักทรัพย์ ตราสาร หรือสัญญาดังต่อไปนี้

(1) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 13

(2) ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 17

(3) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มีข้อกำหนดให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวน และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 11 ของหมวดนี้

ข้อ 13 ตราสารแห่งหนี้ในประเทศ ได้แก่ หลักทรัพย์ ตราสาร หรือสัญญาที่เสนอขายในประเทศ หรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้

(1) ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากตามข้อ 14

(2) ตราสารแห่งหนี้ทั่วไปตามข้อ 15

ข้อ 14 ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก ได้แก่

(1) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝาก หรือหุ้นกู้ระยะสั้น ที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัลผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน

(2) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์เป็นผู้ออก ซึ่งกำหนดวันใช้เงินตามตั๋วไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันออกตั๋ว และเป็นตั๋วเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น

(3) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินอายุไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออก ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือดังต่อไปนี้

(ก) อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับแรก ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร ต้องเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นด้วย หรือ

(ข) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน อยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ ทั้งนี้ โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือภายใต้ชื่อ Standard & Poor หรือ Moody’s หรือ Fitch หรือสถาบันอื่นที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติม

ข้อ 15 ตราสารแห่งหนี้ทั่วไป ได้แก่

(1) ตราสารภาครัฐไทย อันได้แก่

(ก) ตั๋วเงินคลัง

(ข) พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

(ค) พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน

(2) ตราสารภาครัฐต่างประเทศ อันได้แก่ ตราสารที่มีรูปแบบทำนองเดียวกับตราสารภาครัฐไทยที่รัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวต้องมีลักษณะตามข้อ 16 ด้วย

(3) ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ ซึ่งหมายถึง พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ที่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นกู้อนุพันธ์ ที่สำนักงานอนุญาตให้เสนอขายในลักษณะทั่วไปหรือในลักษณะจำกัด หรือที่ออกภายใต้ข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง หรือที่นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ออก หรือที่เป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ซึ่งผู้ออกหลักทรัพย์ได้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่นั้นทั้งหมดต่อผู้ถือหุ้นโดยได้รับชำระราคาเต็มมูลค่าที่เสนอขายจากผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ต้องมีลักษณะตามข้อ 16 ด้วย

(4) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่ไม่ใช่หุ้นกู้อนุพันธ์

(5) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ที่เสนอขายในต่างประเทศโดยมีผู้ออกเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นกู้อนุพันธ์

(6) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่สำนักงานกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

(7) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8 ของหมวดนี้

(8) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์โดยหลักทรัพย์ที่ให้ยืมเป็นตราสารแห่งหนี้ตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (6) หรือข้อ 14 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 9 ของหมวดนี้

ข้อ 16 ตราสารภาครัฐต่างประเทศตามข้อ 15(2) และตราสารที่เปลี่ยนมือได้ตามข้อ 15(3) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นตราสารขึ้นทะเบียนในสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

(2) มีราคาที่เหมาะสมตามที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกำหนด หรือมีผู้แสดงตนต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะเสนอราคาซื้อและรับซื้อตราสารนั้นในราคาดังกล่าว ตามจำนวนและวิธีการที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกำหนดอยู่เสมอ โดยได้ส่งสำเนาราคาแก่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยตลอดอายุของตราสารนั้น

(3) เป็นตราสารที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีที่เป็นตราสารภาครัฐต่างประเทศ ตราสารดังกล่าวต้องเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ เว้นแต่ผู้ออกตราสารดังกล่าวเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศ ตราสารนั้นต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้เท่านั้น

(ข) ในกรณีที่ผู้ออกตราสารเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ตราสารนั้นต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(ค) ในกรณีที่กองทุนลงทุนในตราสารอื่นนอกเหนือจาก (ก) และ (ข) ในการเสนอขายครั้งแรก หากตราสารดังกล่าวไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ ตราสารนั้นต้องมีบริษัทจัดการไม่ต่ำกว่าสามรายเป็นผู้ซื้อตราสาร ดังกล่าวเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนภายใต้การจัดการ

ข้อ 17 ในกรณีที่ตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 13 เป็นตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีการจ่ายผลตอบแทน ผลตอบแทนนั้นต้องอยู่ในรูปอัตราดอกเบี้ยคงที่หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่านั้น

การรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกันของบุคคลที่กำหนดไว้ในข้อ 14 และข้อ 15 ต้องเป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข

ข้อ 18 ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศ ได้แก่ หลักทรัพย์หรือตราสารที่ออกโดยบุคคลต่างประเทศและเสนอขายในต่างประเทศ

(1) ตราสารภาครัฐต่างประเทศ อันได้แก่

(ก) พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่รัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(ข) พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศเป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(2) ตราสารแห่งหนี้ภาคเอกชน อันได้แก่

(ก) ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ และได้รับการคัดเลือกให้ใช้ในการคำนวณดัชนีตราสารแห่งหนี้ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับตราสาร แห่งหนี้ดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย

(ข) ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศที่มีอายุตราสารคงเหลือไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงทุน ซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรก ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย

(3) ตราสารแห่งหนี้อื่น อันได้แก่ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่เป็นกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่สำนักงานกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในส่วนที่ 4 ของหมวดนี้

ส่วนที่ 3

ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน

____________________

ข้อ 19 ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ได้แก่ หุ้นกู้แปลงสภาพดังต่อไปนี้

(1) หุ้นกู้แปลงสภาพที่เสนอขายในประเทศซึ่งมีลักษณะตามข้อ 16(1) และ (2) ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวในการเสนอขายครั้งแรก หุ้นกู้แปลงสภาพนั้นต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ หรือ

(ข) เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพที่มีบริษัทจัดการไม่ต่ำกว่าสามรายเป็นผู้ซื้อตราสารดังกล่าวเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนภายใต้การจัดการ

ในกรณีที่หุ้นกู้แปลงสภาพตามวรรคหนึ่งมีการค้ำประกัน การค้ำประกันดังกล่าวต้องเป็นการค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข

(2) หุ้นกู้แปลงสภาพที่เสนอขายในต่างประเทศโดยมีผู้ออกเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

ข้อ 20 ในกรณีของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือได้มาซึ่งหุ้นกู้แปลงสภาพตามข้อ 19 ได้ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) บริษัทจัดการได้ระบุหลักเกณฑ์ตาม (2) และ (3) ไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี

(2) ในขณะที่ลงทุนหรือได้มา มูลค่าของหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวมีมูลค่าสูงกว่าราคาตลาดของหุ้นที่รองรับหุ้นกู้แปลงสภาพนั้น

(3) ในกรณีที่มีการใช้สิทธิแปลงสภาพ ให้บริษัทจัดการขายหุ้นที่ได้รับจากการแปลงสภาพนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้หุ้นดังกล่าวมา

การใช้สิทธิแปลงสภาพตามวรรคหนึ่ง (3) หมายความว่า การแปลงสภาพแห่งสิทธิในหุ้นกู้แปลงสภาพเป็นหุ้น ไม่ว่าการแปลงสภาพดังกล่าวจะเกิดจากการใช้สิทธิแปลงสภาพหรือเกิดจากข้อกำหนดบังคับการแปลงสภาพ

ส่วนที่ 4

หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ

____________________

ข้อ 21 หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่กองทุนจะลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE)

(2) ต้องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีทรัพย์สินที่ลงทุนเป็นประเภทและชนิดเดียวกับทรัพย์สินที่กองทุนอาจลงทุนหรือมีไว้ได้ เว้นแต่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำโดยตรง

(3) ในกรณีที่เป็นการลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย หน่วยลงทุนที่จะลงทุนหรือมีไว้ได้ต้องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเช่นกัน

(4) ต้องไม่ใช่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทเฮ็ดจ์ฟันด์

ส่วนที่ 5

ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ

____________________

ข้อ 22 ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่กองทุนจะลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organizations of Securities Commission (IOSCO) และมีนโยบายหลักในการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(ก) อสังหาริมทรัพย์

(ข) หุ้นสามัญของบริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE) หรือหุ้นสามัญของบริษัทที่มีลักษณะธุรกิจเทียบเคียงได้กับหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

(2) ตราสารดังกล่าวมีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (WFE) หรือมีการรับซื้อคืนโดยผู้ออกตราสาร

(3) ในกรณีกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ตราสารที่จะลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเช่นกัน

ส่วนที่ 6

เงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสด

____________________

ข้อ 23 เงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสดที่บริษัทจัดการจะลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นเงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย หรือ

(2) เป็นเงินฝากระยะสั้นในสถาบันการเงิน หรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสดระยะสั้นที่สถาบันการเงินเป็นผู้ออก โดยสถาบันการเงินดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินต่างประเทศ ทั้งนี้ การมีไว้ซึ่งเงินฝากหรือตราสารดังกล่าวต้องมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกหรือป้องกันปัญหาในการดำเนินงานในต่างประเทศของกองทุน เช่น เพื่อรอการลงทุน หรือเพื่อชำระค่าใช้จ่าย เป็นต้น

ส่วนที่ 7

ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

________________

ข้อ 24 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 10(3) โดยอนุโลม

ส่วนที่ 8

ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน

____________________

ข้อ 25 การทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ต้องมีคู่สัญญาเป็นผู้ลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 26

(2) ต้องเป็นการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ตามที่กำหนดในข้อ 27

(3) ต้องใช้สัญญามาตรฐานตามที่กำหนดโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด แล้วแต่กรณี หรือใช้สัญญามาตรฐานตามที่สำนักงานยอมรับ

(4) ต้องมีวัตถุประสงค์เป็นการลงทุนระยะสั้น และไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน

ข้อ 26 ให้บริษัทจัดการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในนามกองทุนได้ เฉพาะกับสถาบันการเงินหรือบุคคลดังต่อไปนี้ที่สามารถประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการได้ตามกฎหมายไทย

(1) ธนาคารพาณิชย์

(2) บริษัทเงินทุน

(3) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

(4) บริษัทหลักทรัพย์

(5) บริษัทประกันภัย

(6) ธนาคารแห่งประเทศไทย

(7) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(8) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(9) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

ข้อ 27 ให้บริษัทจัดการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในนามกองทุนได้ เฉพาะในหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ ดังต่อไปนี้

(1) ตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 15(1)

(2) ตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(3) หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายชื่ออยู่ในดัชนี SET 50 ทั้งนี้ เฉพาะกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุน

ข้อ 28 ในการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนในนามกองทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ดำรงมูลค่าของหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ซื้อ ณ สิ้นวัน ไม่น้อยกว่าราคาซื้อ โดยให้ใช้ราคาตลาดในการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้นั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่มูลค่าหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวลดลงกว่าราคาซื้อ บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้มีการเพิ่มหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ หรือโอนเงินเพื่อให้มูลค่ารวมไม่น้อยกว่าราคาซื้อภายในวันทำการถัดจากวันที่มูลค่าหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ลดลงตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ดำเนินการให้มีการโอนเงิน หรือหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 27 แล้วแต่กรณี ให้แก่กองทุน

(ข) ดำเนินการให้กองทุนมีกรรมสิทธิ์ในเงิน หรือหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่โอนมาตาม (ก) แล้วแต่กรณี

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย

(2) ห้ามมิให้บริษัทจัดการนำหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ได้มาจากการทำธุรกรรมดังกล่าวไปขายหรือโอนต่อ เว้นแต่เป็นการขายตามธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืนที่สามารถทำได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการกู้ยืมเงินในนามของกองทุนรวมและการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวม

(3) ห้ามมิให้บริษัทจัดการเพิ่มวงเงินตามธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนที่ได้ทำไว้กับคู่สัญญา ไม่ว่ามูลค่าของหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ของธุรกรรมดังกล่าวจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่

(4) คำนวณมูลค่าธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน โดยใช้ราคาซื้อหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ซื้อรวมกับผลประโยชน์ที่พึงได้รับจนถึงวันที่คำนวณมูลค่าธุรกรรมดังกล่าว

ส่วนที่ 9

ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์

____________________

ข้อ 29 การทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นผู้ลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 30

(2) หลักทรัพย์ที่ให้ยืมต้องเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในระบบรับฝากหลักทรัพย์ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์

(3) ใช้สัญญาที่มีลักษณะและสาระสำคัญของสัญญาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบงาน สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์และหลักประกันในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์

(4) ดำเนินการให้มีการวางหรือเรียกหลักประกันจากผู้ยืมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 31 ข้อ 32 และข้อ 33

ข้อ 30 การทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ต้องมีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์

ในกรณีที่คู่สัญญาตามวรรคหนึ่งกระทำการในฐานะตัวแทนของผู้ยืม ผู้ยืมต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้ที่สามารถประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการได้ตามกฎหมายไทย

(1) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์

(2) ธนาคารแห่งประเทศไทย

(3) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(4) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออกแห่งประเทศไทย

(5) ธนาคารพาณิชย์

(6) บริษัทเงินทุน

(7) บริษัทหลักทรัพย์

(8) บริษัทประกันชีวิต

(9) กองทุนส่วนบุคคลที่ไม่ใช่กองทุนส่วนบุคคลรายย่อยและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(10) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(11) นิติบุคคลอื่นตามที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 31 บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้มีการวางหรือเรียกหลักประกันดังต่อไปนี้ จากผู้ยืม เพื่อเป็นประกันการให้ยืมหลักทรัพย์

(1) เงินสด

(2) ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากตามข้อ 14

(3) ตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 15(1)

(4) ตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(5) หนังสือค้ำประกันที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออกให้แก่กองทุนเพื่อเป็นประกันการคืนหลักทรัพย์ให้แก่กองทุน โดยธนาคารพาณิชย์นั้นยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น

(6) หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายชื่ออยู่ในดัชนี SET 50 ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนไม่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุน กองทุนจะรับหลักประกันดังกล่าวไม่ได้

ข้อ 32 ในการวางหรือเรียกหลักประกันจากผู้ยืมตามข้อ 31 บริษัทจัดการต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการให้กองทุนมีกรรมสิทธิ์ในหลักประกันตามข้อ 31(2) (3) (4) หรือ (6) หรือดำเนินการโดยวิธีอื่นซึ่งจะมีผลให้บริษัทจัดการสามารถบังคับชำระหนี้เอาจากหลักประกันดังกล่าวได้โดยพลัน

(2) ห้ามมิให้บริษัทจัดการนำหลักประกันตามข้อ 31(2) (3) (4) หรือ (6) ที่กองทุนมีกรรมสิทธิ์ไปโอนหรือขายต่อ เว้นแต่เป็นการบังคับชำระหนี้ตามข้อตกลงธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์

(3) ต้องดำเนินการให้มีการดำรงมูลค่าหลักประกัน ณ สิ้นวัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ หนึ่งร้อยของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม

ข้อ 33 ในกรณีที่หลักประกันเป็นเงินสด ให้บริษัทจัดการนำเงินสดดังกล่าวไปลงทุนโดยทันทีในทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) เงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(2) ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากตามข้อ 14 ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นบัตรเงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน

(3) ตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 15(1)

(4) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนตราสารแห่งหนี้ที่เป็นตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 15(1)

ข้อ 34 ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานการทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ของกองทุนเป็นรายเดือนโดยระบุรายชื่อคู่สัญญา วัน เดือน ปี ที่ทำธุรกรรม ชื่อ ประเภท และมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม ณ วันทำธุรกรรม อัตราผลตอบแทนต่อปี อายุของสัญญา ชื่อและประเภทของหลักประกัน และจัดเก็บรายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้

ส่วนที่ 10

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

____________________

ข้อ 35 การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาต้องไม่ทำให้วัตถุประสงค์หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น

(2) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการเข้าเป็นคู่สัญญาได้เฉพาะเพื่อการลดความเสี่ยงเท่านั้น

(ก) การเข้าเป็นคู่สัญญาในนามของกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ข) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ในนามของกองทุน

(3) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาต้องมีลักษณะและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 36 ข้อ 37 ข้อ 38 ข้อ 39 และข้อ 40

(4) ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่วงหน้าก่อนเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ในการขอความยินยอมดังกล่าว บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องอธิบายให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าใจถึงลักษณะและความเสี่ยงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงก่อนขอรับความยินยอมด้วย

ข้อ 36 สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาได้ต้องมีสินค้าหรือตัวแปรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

(1) หลักทรัพย์หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์

(2) อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน กองทุนจะเข้าเป็นคู่สัญญาในกรณีดังกล่าวได้เฉพาะเพื่อการลดความเสี่ยง เท่านั้น

(3) อันดับความน่าเชื่อถือหรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารแห่งหนี้หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือของผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญาดังกล่าว

(4) ทองคำ น้ำมันดิบ หรือดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งได้ระบุการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าหรือตัวแปรไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมแล้ว

(5) สินค้าหรือตัวแปรอื่นใดที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 37 ในกรณีที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีตัวแปรเป็นดัชนี ดัชนีดังกล่าวต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เกิดจากการคำนวณโดยใช้สินค้าหรือตัวแปรอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างอันได้แก่ หลักทรัพย์หรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารแห่งหนี้ ทองคำ น้ำมันดิบหรือดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

(2) เป็นดัชนีที่มีการกำหนดวิธีการคำนวณไว้อย่างชัดเจน โดยมีการระบุแหล่งข้อมูลของสินค้า ตัวแปร หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการคำนวณ ทั้งนี้ สินค้า ตัวแปร หรือปัจจัยดังกล่าวต้องมีการเคลื่อนไหวตามสภาวะตลาดอย่างเป็นอิสระด้วย

(3) ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ

(4) เป็นดัชนีที่นิยมแพร่หลายในตลาดการเงินไทยหรือสากล และ

(5) มีการแสดงดัชนีนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันทำการผ่านสื่อที่มีการเสนอข้อมูลอย่างทันเหตุการณ์

ข้อ 38 การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 36 ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) หากวัตถุประสงค์ของการเข้าเป็นคู่สัญญาเพื่อการลดความเสี่ยงโดยสินค้าหรือตัวแปรของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวไม่ใช่ตัวแปรเดียวกับทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยง สัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นต้องมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างผลตอบแทนของสินค้าหรือตัวแปรกับผลตอบแทนของทรัพย์สินที่ต้องการลดความเสี่ยง อยู่ระหว่างอัตราที่สำนักงานกำหนด

(2) ห้ามมิให้บริษัทจัดการเข้าเป็นคู่สัญญาออปชันที่ผูกพันกองทุนในฐานะผู้ให้สัญญา (option writer) เว้นแต่เป็นสัญญาออปชันที่มีข้อผูกพันให้ส่งมอบสินค้าที่กองทุนมีอยู่แล้วอย่างเพียงพอตามข้อผูกพันนั้นในขณะเข้าเป็นคู่สัญญาดังกล่าว

(3) การชำระหนี้ด้วยการส่งมอบสินค้าเมื่อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสิ้นสุดลง สินค้านั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนจะเป็นผู้มีสิทธิรับมอบหรือมีหน้าที่ส่งมอบสินค้านั้นก็ตาม

(4) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องกระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือในกรณีที่กระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 39 นอกจากเงื่อนไขในการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 38 แล้ว การเข้าเป็นคู่สัญญาเครดิตอนุพันธ์ในนามของกองทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย

(1) ให้กองทุนเข้าเป็นคู่สัญญาได้เฉพาะสัญญาเครดิตอนุพันธ์ประเภทสัญญาซีดีเอส สัญญาเอฟทีดีเอส สัญญาโพรพอร์ชั่นเนทซีดีเอส หรือสัญญาทีอาร์โออาร์เอส

(2) การเข้าเป็นคู่สัญญาในนามของกองทุนต้องไม่มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน

(3) ต้องใช้สัญญามาตรฐานตามที่กำหนดโดย International Swaps and Derivatives Association (ISDA) หรือสัญญามาตรฐานตามที่สำนักงานยอมรับ ซึ่งมีข้อตกลงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย และไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายอื่น

(ข) ไม่มีข้อกำหนดที่ทำให้สิทธิที่กำหนดไว้ในตราสารแห่งหนี้หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สัญญาเครดิตอนุพันธ์นั้นอ้างอิงเสื่อมเสียไป

(ค) ไม่มีข้อกำหนดให้กองทุนต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่คู่สัญญา

ข้อ 40 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อตกลงในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งได้กระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังต่อไปนี้

(1) ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้บริษัทจัดการทราบทุกวันที่สิบห้าและวันสุดท้ายของแต่ละเดือน ทั้งนี้ ในกรณีที่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการของบริษัทจัดการ ให้คำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมภายในวันทำการถัดไป

(2) ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้บริษัทจัดการทราบทันที

(3) คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมให้มีการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อบริษัทจัดการร้องขอได้

ข้อ 41 เมื่อบริษัทจัดการได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนแล้ว ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่กองทุนเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้มีการกันหรือแยกทรัพย์สินของกองทุนที่มีคุณภาพซึ่งมีสภาพคล่องในจำนวนที่เพียงพอต่อมูลค่าสุทธิที่กองทุนอาจมีภาระต้องชำระหนี้หรือชำระค่าสินค้าเมื่อสิ้นสุดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไว้ตลอดเวลาที่ได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญานั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

(2) ในกรณีที่กองทุนเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาออปชันตามข้อ 38(2) ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้มีการดำรงสินค้าตามสัญญาดังกล่าวไว้อยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญานั้น

ข้อ 42 การจัดประเภทสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ให้พิจารณาจากลักษณะของสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงดังต่อไปนี้

(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีสินค้าเป็นตราสารแห่งทุน หรือมีตราสารแห่งทุนเป็นองค์ประกอบในการคำนวณตัวแปร ให้ถือเป็นตราสารแห่งทุน

(2) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีสินค้าเป็นตราสารแห่งหนี้ หรือมีตราสารแห่งหนี้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณตัวแปร หรือมีตัวแปรเป็นอัตราดอกเบี้ย อันดับความน่าเชื่อถือ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารแห่งหนี้ ให้ถือเป็นตราสารแห่งหนี้

(3) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีสินค้าเป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือมีตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นองค์ประกอบในการคำนวณตัวแปร หรือมีตัวแปรเป็นอัตราดอกเบี้ยหรืออันดับความน่าเชื่อถือของตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ให้ถือเป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน

ส่วนที่ 11

ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

____________________

ข้อ 43 ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงซึ่งกองทุนจะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้ลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารดังกล่าวต้องไม่ทำให้การจัดการกองทุนเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์หรือนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น และต้องไม่ทำให้กองทุนขาดทุนเป็นมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการลงทุน

(2) ตราสารดังกล่าวมีการจ่ายผลตอบแทนโดยอ้างอิงกับสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในข้อ 36

(3) ในกรณีที่การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารดังกล่าวจะมีผลทำให้กองทุนต้องรับมอบทรัพย์สิน ทรัพย์สินดังกล่าวต้องเป็นประเภทที่กองทุนสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้

การขอความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงานกำหนด พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้

(1) โครงสร้างและรายละเอียดของตราสารดังกล่าว

(2) วัตถุประสงค์ของการลงทุนในตราสารดังกล่าว

(3) วิธีการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของตราสารดังกล่าว

(4) การบริหารความเสี่ยง

(5) การเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ลงทุน

(6) การบันทึกบัญชีในงบการเงิน

ข้อ 44 ในกรณีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบให้กองทุนลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงได้ ก่อนการลงทุนในตราสารดังกล่าว บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีข้อตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของตราสารดังกล่าวไปยังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยทุกวันที่สิบห้าและวันสุดท้ายของแต่ละเดือน ทั้งนี้ ในกรณีที่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการของบริษัทจัดการ ให้คำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมภายในวันทำการถัดไป

(ข) ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคำนวณและแจ้งมูลค่ายุติธรรมของตราสารดังกล่าวไปยังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยทันที

(ค) ในกรณีที่ตราสารดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามเปลี่ยนมือ นอกจากข้อตกลงตาม (ก) และ (ข) แล้ว บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมให้กองทุนไถ่ถอนตราสารดังกล่าวก่อนครบอายุตราสารเมื่อบริษัทจัดการร้องขอได้

(2) เปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ตราสารดังกล่าวให้สิทธิแก่ผู้ออกในการที่จะชำระหนี้ตามตราสารก่อนครบอายุตราสาร

ในกรณีที่บริษัทจัดการมิได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้การให้ความเห็นชอบเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีในเวลาที่ลงทุนโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว

ข้อ 45 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 43 วรรคหนึ่ง (1) และ (3)

(1) หุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16 โดยอนุโลม

(2) ตราสารที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ตราสารดังกล่าวจัดทำขึ้นในรูปแบบตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 14 หรือข้อ 15(1) (2) (3) หรือ (4)

(ข) ตราสารดังกล่าวต้องอ้างอิงกับราคาหุ้น ราคาเฉลี่ยของกลุ่มหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 12(1) หรือ (2) ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หรืออัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ในกรณีของดัชนีต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 37(2) (3) และ (4) ด้วย

(ค) ตราสารดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ผู้ออกชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนให้แก่กองทุนเมื่อครบอายุตราสาร เว้นแต่เป็นตราสารที่ไม่ชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนเมื่อครบอายุตราสารซึ่งสำนักงานให้ความเห็นชอบแล้ว และบริษัทจัดการได้จัดให้มีข้อตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามข้อ 44 วรรคหนึ่ง (1)

(ง) ในกรณีที่เป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกตราสารในการที่จะชำระหนี้ตามตราสารก่อนครบอายุตราสาร บริษัทจัดการได้เปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ก่อนทำการลงทุน

หมวด 4

การเปิดเผยข้อมูลการลงทุน

____________________

ข้อ 46 ในกรณีที่ตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนจะลงทุนเป็นตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกตราสารในการที่จะชำระหนี้ตามตราสารก่อนครบอายุตราสาร ให้บริษัทจัดการเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ก่อนทำการลงทุน

ข้อ 47 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 13 ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 18 ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามข้อ 19 หรือเงินฝากตามข้อ 23(1) เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ให้บริษัทจัดการจัดทำข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) รายงานสรุปจำนวนเงินลงทุนในตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และสัดส่วนเงินลงทุนดังกล่าวต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยแบ่งข้อมูลตามกลุ่มดังต่อไปนี้

(ก) กลุ่มตราสารภาครัฐไทยและตราสารภาครัฐต่างประเทศ

(ข) กลุ่มตราสารที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน

(ค) กลุ่มตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(ง) กลุ่มตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ หรือตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(2) รายละเอียดและอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้เป็นรายตัว

(3) ในกรณีของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการเปิดเผยสัดส่วนเงินลงทุนขั้นสูงต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนที่บริษัทจัดการตั้งไว้ในแผนการลงทุนสำหรับกลุ่มตราสารตาม (1) (ง) ทั้งนี้ ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สัดส่วนเงินลงทุนขั้นสูงดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

การจัดทำข้อมูลตามวรรคหนึ่งในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการจัดทำข้อมูลดังกล่าวแยกตามนโยบายการลงทุน

ข้อ 48 ให้บริษัทจัดการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามข้อ 47 ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีของกองทุนรวม ให้เปิดเผยเป็นรายเดือนทางเว็บไซด์ของบริษัทจัดการภายในสิบห้าวันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละเดือน

(2) ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไว้ในรายงานรายเดือนและรายงานรายปี

การเปิดเผยข้อมูลตามข้อ 47 วรรคหนึ่ง (2) อาจใช้วิธีเปิดเผยรายละเอียดและอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นรายกลุ่มตามข้อ 47 วรรคหนึ่ง (1) (ก) ถึง (ง) แทนการเปิดเผยเป็นรายตัวก็ได้

ข้อ 49 ในกรณีที่กองทุนประสงค์จะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ให้บริษัทจัดการเปิดเผยนโยบายการลงทุนพร้อมทั้งอธิบายความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นหรือได้ทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลไว้ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการหรือสัญญาดังกล่าวก่อนการเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ในกรณีที่กองทุนรวมจะเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าหรือตัวแปรตามข้อ 36(4) ให้บริษัทจัดการส่งหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติต่อสำนักงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่บริษัทจัดการจะส่งหนังสือดังกล่าวไปยังผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ หากสำนักงานมิได้แจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทจัดการทราบภายในสิบห้าวัน ให้ถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบหนังสือนั้นแล้ว

หนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติตามวรรคสองต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและความเสี่ยงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้วย

ข้อ 50 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ให้บริษัทจัดการจัดทำข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ที่ใช้ในการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาหรือตราสารดังกล่าว ตลอดจนผลกำไรหรือผลขาดทุนที่บริษัทจัดการคาดว่าจะได้รับ

(2) การวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่สัญญา ในกรณีของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(3) แผนรองรับในการชำระหนี้ตามสัญญาหรือตราสารดังกล่าว

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีมูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ลงทุนตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไป

ข้อ 51 ให้บริษัทจัดการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลที่จัดทำขึ้นตามข้อ 50 ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวม จัดส่งข้อมูลให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่มีการลงทุนหรือได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดเก็บสำเนาข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ด้วย

(2) ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคล ให้จัดส่งข้อมูลให้ลูกค้า หรือต่อคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี

หมวด 5

การดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินขาดคุณสมบัติ

ที่กองทุนอาจลงทุนหรือมีไว้ได้

____________________

ข้อ 52 ในกรณีที่บริษัทจัดการได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 2 และหมวด 3 ของภาคนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนไว้แล้ว หากต่อมาทรัพย์สินดังกล่าวมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป จนเป็นเหตุให้บริษัทจัดการไม่สามารถมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ ให้บริษัทจัดการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นขาดคุณสมบัติ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

ภาค 2

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน

____________________

ข้อ 53 ข้อกำหนดในภาคนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะกับ

(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

(2) กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย

(3) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อ 54 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) จัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนทั่วไปในหมวด 1 ของภาค 2

(2) จัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกองทุนเฉพาะประเภทตามที่กำหนดไว้ในหมวด 2 ถึงหมวด 11 ของภาค 2

(3) ให้ดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินไม่เป็นไปตามอัตราส่วนตามที่กำหนดในหมวด 12 ของภาค 2

ข้อ 55 การคำนวณอัตราส่วนเพื่อการปฏิบัติตามข้อกำหนดในภาคนี้สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการคำนวณแยกตามรายยโยบายการลงทุนแทนการคำนวณตามรายกองทุน เว้นแต่อัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดไว้ในข้อ 58

ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนของทรัพย์สินที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุนสามารถลงทุนได้เพิ่มเติมตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (10) ให้บริษัทจัดการคำนวนแยกตามรายนโยบายการลงทุนแทนการคำนวนตามรายกองทุน

หมวด 1

หลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนทั่วไป

____________________

ข้อ 56 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยไม่จำกัดอัตราส่วน

(1) ตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 15(1)

(2) เงินฝากระยะสั้นหรือตราสารระยะสั้นที่เทียบเท่าเงินสดในต่างประเทศตามข้อ 23(2)

ข้อ 57 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารภาครัฐต่างประเทศตามข้อ 15(2) หรือข้อ 18(1) ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรก หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเป็นตราสารดังกล่าว เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยไม่จำกัดอัตราส่วน

ในกรณีของกองทุนรวมเปิด มูลค่าของตราสารภาครัฐต่างประเทศตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าตราสารนั้นในแต่ละรุ่น เว้นแต่เป็นกองทุนรวมเปิดที่มีการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน

ข้อ 58 ในกรณีที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่นายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรองผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ มิให้นับรวมตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 15(1) ซึ่งนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญาในอัตราส่วนดังกล่าว

ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งมิให้หมายความรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมนั้น

การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) นับทรัพย์สินทุกประเภทที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา รวมในอัตราส่วนดังกล่าวด้วย

(2) นับรวมการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดไปลงทุนในทรัพย์สินของนายจ้าง หรือทรัพย์สินอื่นใดที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 59 มิให้นำความในข้อ 58 มาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับอัตราส่วนไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนตามข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1)

(2) การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนายจ้างมากกว่าหนึ่งรายและมีจำนวนนายจ้างที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันน้อยกว่าสองในสามของจำนวนนายจ้างทั้งหมด

ส่วนที่ 1

อัตราส่วนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สิน

หรือคู่สัญญา

____________________

ข้อ 60 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารภาครัฐต่างประเทศที่นอกเหนือจากข้อ 57 หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเป็นตราสารดังกล่าว เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออกหรือผู้เป็นคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละสามสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เว้นแต่เข้าลักษณะตามข้อ 58 ให้ใช้อัตราส่วนตามข้อ 58 แทน

ในกรณีของกองทุนรวมเปิด มูลค่าของตราสารภาครัฐต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าตราสารนั้นในแต่ละรุ่น เว้นแต่เป็นกองทุนรวมเปิดที่มีการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน

การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับตราสารตามวรรคหนึ่งและทรัพย์สินทุกประเภทที่ผู้ออกหรือผู้เป็นคู่สัญญารายดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเหล่านั้น รวมในอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวด้วย

ข้อ 61 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารดังต่อไปนี้ ที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุนรายใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เว้นแต่เข้าลักษณะตามข้อ 58 ให้ใช้อัตราส่วนตามข้อ 58 แทน

(1) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 13

(2) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามส่วนที่ 3 ในหมวด 3 ของภาค 1

(3) เงินฝากตามข้อ 23(1)

(4) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามส่วนที่ 10 ในหมวด 3 ของภาค 1 หรือ

(5) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงตามภาค 1 หมวด 3 ส่วนที่ 11

การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับตราสารตามวรรคหนึ่งและทรัพย์สินตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (5) และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วนดังกล่าว โดยในกรณีของธนาคารพาณิชย์ หากธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ ให้นับทรัพย์สินที่ธนาคารต่างประเทศดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วน การลงทุนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าในกรณีใด มิให้คำนวณเงินฝากในบัญชีเงินฝากเพื่อการดำเนินงานของกองทุนเข้าในอัตราส่วนดังกล่าว

ข้อ 62 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(1) ตราสารแห่งทุนในประเทศตามข้อ 10 ที่บริษัทจดทะเบียนเป็นผู้ออกหรือคู่สัญญา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตราสารแห่งทุนของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป

(2) หุ้นที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สั่งรับเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ออกหุ้นดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการกระจายการถือหุ้นรายย่อยตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็น หลักทรัพย์จดทะเบียน

(3) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศตามข้อ 13 หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามข้อ 19 ทั้งนี้ เฉพาะที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(5) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตามส่วนที่ 7 ในหมวด 3 ของภาค 1 ที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(6) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศตามข้อ 11 ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 18 หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามข้อ 21 หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศตามข้อ 22

(7) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามส่วนที่ 10 ในหมวด 3 ของภาค 1 ที่คู่สัญญามีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(8) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงตามส่วนที่ 11 ในหมวด 3 ของภาค 1 ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

ตราสารแห่งทุนตามวรรคหนึ่ง (1) และตราสารแห่งหนี้ตามวรรคหนึ่ง (3) มิให้หมายความรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ถูกจัดให้เป็นตราสารแห่งทุนตามข้อ 10(2) หรือตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 15(6)

การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งและทรัพย์สินตามข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วนดังกล่าวด้วย

ข้อ 63 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 60 ข้อ 61 และข้อ 62 เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนตามอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ต้องมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(2) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตาม (1) เมื่อคำนวณรวมทุกบุคคลที่เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญาแล้ว ต้องมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ข้อ 64 ในกรณีของกองทุนรวมที่ประสงค์จะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้น นอกจากอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในส่วนนี้แล้ว บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นที่บริษัทใดเป็นผู้ออก เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม เมื่อรวมกันทุกกองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการต้องไม่ถึงร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น เว้นแต่เป็นการได้มาเนื่องจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น

ส่วนที่ 2

อัตราส่วนที่คำนวณตามกลุ่มกิจการ

____________________

ข้อ 65 ในส่วนนี้

“กลุ่มกิจการ” หมายความว่า บริษัทใหญ่และบริษัทย่อยตามมาตรฐานการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินรวม

ข้อ 66 ความในส่วนนี้มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมหน่วยลงทุน

(2) กองทุนรวมมีประกัน

(3) กองทุนรวมวายุภักษ์

(4) กองทุนรวมสึนามิ

(5) กองทุนรวมอีทีเอฟที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สอง (Asian Bond Fund 2) ตามมติของที่ประชุมกลุ่มธนาคารกลางสมาชิก Executives’ Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP)

(6) กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2542

ข้อ 67 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร บริษัทจัดการอาจขอผ่อนผันการดำเนินการตามส่วนนี้ต่อสำนักงานสำหรับการลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมที่มิใช่กองทุนรวมตามข้อ 66 ซึ่งเป็นกองทุนรวมพิเศษตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

ข้อ 68 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่กลุ่มกิจการใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นของกลุ่มกิจการนั้นไม่เกินอัตราอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แล้วแต่อัตราใดจะสูงกว่า

(1) ร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน

(2) อัตราที่คำนวณได้จากน้ำหนักของกลุ่มกิจการดังกล่าวในตัวชี้วัด (benchmark) ของกองทุนนั้นรวมกับร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนนั้น ทั้งนี้ ตัวชี้วัดดังกล่าวต้องเป็นดัชนีหรือองค์ประกอบของดัชนี ที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและสอดคล้องกับนโยบาย การลงทุนของกองทุนนั้น

ข้อ 69 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่บริษัทในกลุ่มกิจการใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน หากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่ใช้ในการคำนวณตัวชี้วัด (benchmark) ของกองทุนนั้น บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวโดยมี มูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินอัตราที่คำนวณได้จากน้ำหนักของทรัพย์สินดังกล่าวในตัวชี้วัดรวมกับร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่อัตราดังกล่าวสูงกว่าอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 62 ข้อ 63 แล้วแต่กรณี

มิให้นำความในข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 62 ข้อ 63 มาใช้บังคับกับกรณีตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 70 ให้บริษัทจัดการพิจารณาความเป็นกลุ่มกิจการตามข้อ 68 และข้อ 69 ตามงบการเงินรวมที่มีการจัดทำและเปิดเผยล่าสุด เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีการจัดทำงบการเงินรวม ให้พิจารณาตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดที่ส่งต่อกระทรวงพาณิชย์

ส่วนที่ 3

อัตราส่วนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน

____________________

ข้อ 71 ในกรณีของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือธนาคารต่างประเทศ เป็นผู้ออกหรือคู่สัญญา เป็นจำนวนที่มีมูลค่ารวมโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละสี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมในรอบระยะเวลาบัญชี หรือในรอบอายุกองทุนรวมสำหรับกองทุนรวมที่มีอายุน้อยกว่าหนึ่งปี แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ไม่ว่าในกรณีใด มิให้คำนวณเงินฝากในบัญชีเงินฝากเพื่อการดำเนินงานของกองทุนเข้าในอัตราส่วนดังกล่าว

อัตราส่วนตามวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่มีการกำหนดอายุโครงการตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้ เฉพาะในระยะเวลาหกเดือนก่อนวันครบกำหนดอายุของโครงการจัดการกองทุนรวม

ข้อ 72 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน อันเนื่องมาจากปัญหาความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนในวงกว้างในรอบระยะเวลาบัญชีใด บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันต่อสำนักงานเพื่อไม่ต้องนำการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ในช่วงเวลาที่เกิดความผันผวนดังกล่าวมารวมคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 71 ได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ข้อ 73 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และตราสารกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ข้อ 74 ในกรณีของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมได้ ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

(2) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของทุกกองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

หน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เท่านั้น แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

ข้อ 75 ในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าวได้ โดยไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้น ได้ไม่เกินร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย เว้นแต่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ให้ลงทุนหรือมีไว้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย

(2) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีประกันดังนี้

(ก) กองทุนรวมมีประกันประเภทรับประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน ลงทุนได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วน

(ข) กองทุนรวมมีประกันประเภทรับประกันเฉพาะเงินลงทุนทั้งจำนวน ลงทุนได้ไม่เกินร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย

(ค) กองทุนรวมมีประกันประเภทรับประกันเฉพาะเงินลงทุนเพียงบางส่วน ลงทุนได้ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลประสงค์จะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ร่วมกัน บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ภายใต้อัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) ที่สูงกว่า ได้

หน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง หมายความว่า หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เท่านั้น แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

ข้อ 76 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยงเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยไม่เกินมูลค่าความเสี่ยงทั้งหมดที่กองทุนมีอยู่

ข้อ 77 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมเปิดที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอนหรือกองทุนรวมเปิดแบบมีกำหนดระยะเวลาซึ่งกำหนดช่วงห่างของวันทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนครั้งก่อนและครั้งใหม่ยาวกว่าอายุของตราสารดังกล่าว หรือกองทุนรวมปิด

ข้อ 78 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ข้อ 79 บริษัทจัดการอาจทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ในนามของกองทุนได้ โดยมีมูลค่าธุรกรรมรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าธุรกรรมดังกล่าว ให้บริษัทจัดการคำนวณโดยใช้มูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม รวมผลประโยชน์ที่พึงได้รับจนถึงวันที่คำนวณมูลค่าธุรกรรมดังกล่าว

ส่วนที่ 4

ข้อกำหนดในการคำนวณอัตราส่วน

____________________

ข้อ 80 ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมพันธบัตรเอเชีย หรือธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีของใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ให้นับมูลค่าของหลักทรัพย์อ้างอิงของใบแสดงสิทธิดังกล่าว รวมในอัตราส่วนสำหรับหลักทรัพย์อ้างอิงดังกล่าวที่กำหนดในประกาศนี้ โดยถือเสมือนหนึ่งว่ากองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นโดยตรง ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจไม่นับมูลค่าของใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยรวมในอัตราส่วนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญาที่กำหนดตามส่วนที่ 1 ของหมวด 1 ในภาคนี้ก็ได้

มูลค่าของหลักทรัพย์อ้างอิงที่นำมาคำนวณรวมในอัตราส่วนตามวรรคหนึ่งให้มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้

(2) ในกรณีของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนดังต่อไปนี้

(ก) นับมูลค่าที่ผู้ออกตราสารดังกล่าวมีหน้าที่ต้องชำระตามตราสารนั้นรวมในอัตราส่วนที่ผู้ออกตราสารดังกล่าว

(ข) นับมูลค่าของหุ้นที่รองรับรวมในอัตราส่วนที่ผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิง โดยถือเสมือนหนึ่งว่ากองทุนลงทุนในหุ้นที่รองรับนั้นโดยตรง ทั้งนี้ มูลค่าของหุ้นที่รองรับให้ใช้มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นนั้นซึ่งคูณกับค่าเดลต้าของใบสำคัญแสดงสิทธิหรือใบแสดงสิทธิดังกล่าว แล้วแต่กรณี

(3) ในกรณีของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนดังต่อไปนี้

(ก) นับมูลค่าที่ผู้ออกตราสารดังกล่าวมีหน้าที่ต้องชำระตามตราสารนั้นรวมในอัตราส่วนที่ผู้ออกตราสารดังกล่าว

(ข) นับมูลค่าของหลักทรัพย์อ้างอิงรวมในอัตราส่วนที่ผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิง โดยถือเสมือนหนึ่งว่ากองทุนลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นโดยตรง ทั้งนี้ มูลค่าของหลักทรัพย์อ้างอิงดังกล่าว ให้ใช้มูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นซึ่งคูณกับค่าเดลต้าของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์

(4) ในกรณีของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมพันธบัตรเอเชีย ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) นับมูลค่าของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมพันธบัตรเอเชียที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนดังกล่าว

(ข) นับมูลค่าของทรัพย์สินที่กองทุนรวมพันธบัตรเอเชียดังกล่าวลงทุนหรือมีไว้ รวมในอัตราส่วนสำหรับทรัพย์สินที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ โดยถือเสมือนหนึ่งว่ากองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินนั้นโดยตรง

(5) ในกรณีของธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ การนับมูลค่าของของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมและมูลค่าของธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตาม (1) โดยอนุโลม

ข้อ 81 การคำนวณมูลค่าการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 58 ข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 62 และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ให้นับมูลค่าที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมคำนวณในอัตราส่วนของบุคคล ที่เป็นคู่สัญญาดังกล่าว เว้นแต่กรณีที่กองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญานั้นในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บริษัทจัดการไม่ต้องคำนวณมูลค่าและอัตราส่วนตามที่กำหนดในข้อดังกล่าว

ข้อ 82 นอกจากการคำนวณตามข้อ 81 แล้ว ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนที่ผู้ออกสินค้าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือผู้ที่ต้องชำระหนี้ตามข้อผูกพันของสินค้า โดยให้คำนวณอัตราส่วนเสมือนกองทุนลงทุนในสินค้านั้นโดยตรง ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นผลหรืออาจเป็นผลให้กองทุนมีความเสี่ยงต่อเครดิตของผู้ออกสินค้าหรือผู้ที่ต้องชำระหนี้ตามข้อผูกพันของสินค้า โดยให้ใช้มูลค่าตามขนาดของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นสัญญาออปชัน ให้บริษัทจัดการใช้มูลค่าตามขนาดของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งคูณกับค่าเดลต้าของสัญญาออปชัน

ข้อ 83 การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนสำหรับสัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีประสิทธิภาพตามข้อ 84 และทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงจากสัญญาดังกล่าว ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนสำหรับสัญญาเครดิตอนุพันธ์ ให้ใช้มูลค่าขั้นสูงที่คู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์มีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญา เป็นมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศนี้

(2) การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนสำหรับทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงหากคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์นั้นมีอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับที่สูงกว่าหรือเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง ให้ใช้ส่วนต่างของมูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สินดังกล่าวหักด้วยมูลค่าขั้นสูงที่คู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ ทั้งนี้ มิให้ใช้มูลค่าส่วนต่างที่ต่ำกว่าศูนย์ในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว

ข้อ 84 สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีประสิทธิภาพตามข้อ 83 ต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในเชิงการเงินหรือเศรษฐกิจ ของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงถูกเคลื่อนย้ายไปยังคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ทั้งจำนวน

(2) ทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงจากสัญญาเครดิตอนุพันธ์ต้องเป็นทรัพย์สินชนิดเดียวกันกับทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้

(ก) ทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงและทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์มีผู้ออกเป็นบุคคลเดียวกัน

(ข) ลำดับที่กองทุนจะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์อยู่ในลำดับก่อนหรือลำดับเดียวกันกับลำดับที่กองทุนจะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง

(ค) สัญญาเครดิตอนุพันธ์มีข้อกำหนดให้ถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงและทรัพย์สินตามสัญญาเครดิตอนุพันธ์เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในเวลาเดียวกัน เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ของทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง และ

(ง) กองทุนสามารถส่งมอบทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ ในกรณีที่สัญญาเครดิตอนุพันธ์มีข้อกำหนดให้กองทุนส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาดังกล่าว

(3) อายุคงเหลือของสัญญาเครดิตอนุพันธ์เท่ากับอายุคงเหลือของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยง เว้นแต่เป็นสัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีอายุคงเหลือมากกว่าอายุคงเหลือของทรัพย์สินดังกล่าวอย่างไม่มีนัยสำคัญ

(4) สกุลเงินของสัญญาเครดิตอนุพันธ์และทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงเป็นสกุลเงินเดียวกัน

(5) ตัวแปรตามข้อ 36(3) ของสัญญาเครดิตอนุพันธ์ต้องครอบคลุมความเสี่ยงด้านเครดิตทุกกรณี

(6) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างความเสี่ยงด้านเครดิตของทรัพย์สินที่ได้รับการประกันความเสี่ยงกับความเสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ ต้องไม่สูงจนเกินไป ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการกำหนดขั้นสูงของค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ที่เหมาะสม ในการเข้าทำธุรกรรม ซึ่งค่าขั้นสูงดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการอื่นที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวต้องเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการลงทุนด้วย

ข้อ 85 ในกรณีที่การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงเป็นผลหรืออาจเป็นผลให้กองทุนมีความเสี่ยงต่อเครดิตของผู้ออกสินค้าหรือผู้ที่ต้องชำระหนี้ตามข้อผูกพันของสินค้า ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนที่ผู้ออกสินค้าของตราสารดังกล่าว หรือผู้ที่ต้องชำระหนี้ตามข้อผูกพันของสินค้า โดยให้คำนวณอัตราส่วนเสมือนกองทุนลงทุนในสินค้านั้นโดยตรง ทั้งนี้ ให้ใช้มูลค่าของตราสารดังกล่าวเป็นมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณ

ข้อ 86 ในกรณีที่ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงมีข้อกำหนดที่อาจมีผลให้กองทุนได้รับชำระหนี้เป็นทรัพย์สิน ให้บริษัทจัดการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวรวมในอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 58 ข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 62 และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) แล้วแต่กรณี ในทันทีเสมือนกองทุนได้ลงทุนในทรัพย์สินนั้นแล้ว เว้นแต่เข้าลักษณะตามข้อ 85 ให้ปฏิบัติตามข้อ 85 แทน

ข้อ 87 ในการคำนวณอัตราส่วนตามข้อ 58 ข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 62 และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ รวมทั้งเงื่อนไขตามข้อ 88 ด้วย

(1) ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวมีผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน บริษัทจัดการจะคำนวณอัตราส่วนที่ผู้ออกทรัพย์สินหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาดังกล่าว หรือคำนวณอัตราส่วนผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี ก็ได้

(2) ในกรณีที่ทรัพย์สินมีบุคคลมากกว่าหนึ่งรายเป็นผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน บริษัทจัดการจะเลือกคำนวณอัตราส่วนที่ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกันรายใดรายหนึ่งก็ได้

ข้อ 88 การคำนวณอัตราส่วนที่ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกันตามข้อ 87 จะทำได้ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้ทำการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข

หมวด 2

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมหน่วยลงทุน

และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุน

ลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว

____________________

ข้อ 89 มิให้นำอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (6) ข้อ 74 หรือข้อ 75 มาใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมหน่วยลงทุน และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหน่วยลงทุน หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กองทุนดังกล่าวมีนโยบายการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่ง โดยเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ร้อยละแปดสิบของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนนั้น และ

(2) บริษัทจัดการแจกจ่ายเอกสารแสดงข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญซึ่งผู้ลงทุนควรทราบของกองทุนรวมที่บริษัทจัดการไปลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวต้องมีข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) ชื่อ ประเภท และอายุโครงการกองทุนรวม

(ข) นโยบายการลงทุนของกองทุนรวม

(ค) ความเสี่ยงของกองทุนรวม

(ง) ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม

การแจกจ่ายเอกสารตามวรรคหนึ่ง (2) สำหรับกรณีกองทุนรวมหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจกจ่ายเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ลงทุนไปพร้อมกับหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ

ข้อ 90 มิให้นำความในข้อ 74 และข้อ 75 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมหน่วยลงทุนและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยอื่นใดที่มิใช่กรณีตามข้อ 89 โดยบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าว ณ สิ้นวัน ได้ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหน่วยลงทุน

(2) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกองทุนใดกองทุนหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น

(3) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนได้ไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหน่วยลงทุน

หน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แต่มิให้หมายความรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

ข้อ 91 มิให้นำอัตราส่วนตามข้อ 75 มาใช้บังคับกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหน่วยลงทุน

หมวด 3

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น

และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกัน

____________________

ข้อ 92 มิให้นำอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 61 ข้อ 62 และข้อ 63 มาใช้บังคับกับการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออก หรือเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ โดยบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่บุคคลใดเป็นผู้ออกหรือคู่สัญญา แล้วแต่กรณี มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออกหรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้นับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งและทรัพย์สินอื่นที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วนดังกล่าวด้วย

หมวด 4

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมที่มีการกระจาย

การลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และกองทุนส่วนบุคคล

ที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกัน

____________________

ข้อ 93 มิให้นำอัตราส่วนตามข้อ 61 ข้อ 62 ข้อ 63 ข้อ 74 ข้อ 75 และข้อ 90 แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) อัตราส่วนตามข้อ 61 และข้อ 62 มิให้นำมาใช้ในกรณีที่กองทุนตามหมวดนี้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) หรือทรัพย์สินที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกันหรือคู่สัญญา ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(2) ในกรณีที่กองทุนตามหมวดนี้เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนหรือกองทุน ส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหน่วยลงทุน

(ก) มิให้นำอัตราส่วนตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (6) มาใช้บังคับกับการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ หากกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(ข) มิให้นำอัตราส่วนตามข้อ 74 ข้อ 75 และข้อ 90 มาใช้บังคับกับการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(3) อัตราส่วนตามข้อ 61 ข้อ 62 หรือข้อ 63 มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่กองทุนตามหมวดนี้เป็นกองทุนรวมมีประกันหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว โดยบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วน เว้นแต่เป็นการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่มีผู้ประกันของกองทุนนั้นเป็นผู้ออกหรือเป็นคู่สัญญา กรณีนี้ให้ยังคงอยู่ภายใต้บังคับของอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 61 ข้อ 62 หรือข้อ 63 แล้วแต่กรณี

หมวด 5

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับ

กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ

____________________

ข้อ 94 มิให้นำความในข้อ 64 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ

หมวด 6

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมเพื่อแก้ไข

ปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

____________________

ข้อ 95 มิให้นำความในข้อ 61 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ เฉพาะในส่วนที่เป็นการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก ซึ่งตราสารดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ตราสาร หรือที่ผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ โดยให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วน

หมวด 7

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมวายุภักษ์

____________________

ข้อ 96 มิให้นำความในข้อ 64 มาใช้บังคับ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ได้ไม่ถึงร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทดังกล่าวเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมวายุภักษ์เนื่องจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมมีไว้ซึ่งหุ้นที่ได้มานั้นเกินกว่าอัตราส่วนที่กำหนดไว้ได้

ข้อ 97 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ขายหุ้นดังกล่าวให้กองทุนรวมวายุภักษ์ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นดังกล่าวได้ไม่ถึงร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทดังกล่าวเนื่องจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมมีไว้ซึ่งหุ้นที่ได้มานั้นเกินกว่าอัตราส่วนที่กำหนดไว้ได้

ข้อ 98 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ขายหุ้นดังกล่าวให้กองทุนรวมวายุภักษ์ มิให้นำความในข้อ 61 ข้อ 62 วรรคหนึ่ง(1) (2) (3) และ (4) และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) มาใช้บังคับกับกองทุนรวมวายุภักษ์ โดยให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้น หลักทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมวายุภักษ์ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะบริษัทนั้น ไม่เกินร้อยละห้าสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ทั้งนี้ ให้นำความในข้อ 87 และข้อ 88 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่บริษัทดังกล่าวเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือธนาคารพาณิชย์ ให้นับเงินฝากในธนาคารดังกล่าวที่มิใช่เงินฝากในบัญชีเพื่อการดำเนินงานของกองทุนรวมวายุภักษ์ รวมในอัตราส่วนดังกล่าวด้วย

ข้อ 99 มิให้นำความในข้อ 71 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมวายุภักษ์ในรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม และในรอบระยะเวลาบัญชีของสามปีสุดท้ายก่อนวันสิ้นอายุโครงการจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์

หมวด 8

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวม

สำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ

____________________

ข้อ 100 อัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 61 ข้อ 62 ข้อ 63 ข้อ 74 และข้อ 90 มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ

นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่งแล้ว ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ของภาคนี้ ต่อสำนักงานได้

หมวด 9

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมสึนามิ

__________________

ข้อ 101 มิให้นำอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 64 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมสึนามิ

ข้อ 102 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันต่อสำนักงานมิให้นำอัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 71 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมสึนามิได้

หมวด 10

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวม

หมวดอุตสาหกรรม และกองทุนส่วนบุคคลที่มี

นโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกัน

____________________

ข้อ 103 มิให้นำอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 73 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว

ในกรณีที่กองทุนตามวรรคหนึ่งเป็นกองทุนดังต่อไปนี้ ให้อยู่ภายใต้บังคับของอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 104 ด้วย

(1) กองทุนรวมหน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โดยเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(2) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(3) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศรวมกันโดยเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือ

(4) กองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตาม (1) (2) หรือ (3)

ข้อ 104 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนตามข้อ 103 วรรคสอง (1) (2) (3) หรือ (4) ให้เป็นไปตามอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่กองทุนตามข้อ 103 วรรคสอง (1) (2) (3) หรือ (4) มีนโยบายการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศใด แล้วแต่กรณี โดยเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าว หากบริษัทจัดการได้ดำเนินการตามข้อ 89 วรรคหนึ่ง (2) โดยอนุโลมแล้ว มิให้นำอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (4) หรือ (6) แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับกับกองทุนนั้น

(2) ในกรณีที่กองทุนตามข้อ 103 วรรคสอง (1) (2) (3) หรือ (4) ไม่เข้าลักษณะตามข้อ 104(1) มิให้นำอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (4) หรือ (6) แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ โดยบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าว ณ สิ้นวันได้ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(ก) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ใด หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศใด ได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนตามข้อ 103 วรรคสอง (1) (2) (3) หรือ (4) นั้น เว้นแต่ในกรณีที่กองทุนตามข้อ 103 วรรคสอง (1) (2) (3) หรือ (4) ดังกล่าวเป็นกองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ใด หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศใด ได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนตามข้อ 103 วรรคสอง (1) (2) (3) หรือ (4) นั้น

(ข) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ใด หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศใด ได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือจำนวนตราสารที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศนั้น แล้วแต่กรณี

หมวด 11

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวม

ที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี

____________________

ข้อ 105 อัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 63 และข้อ 64 มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2542

ข้อ 106 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันต่อสำนักงานมิให้นำอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 71 มาใช้บังคับ สำหรับกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2542

หมวด 12

การดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้ไม่เป็นไปตามอัตราส่วน

____________________

ข้อ 107 ในกรณีของกองทุนรวมเปิดที่กำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ กองทุนรวมเปิดแบบมีกำหนดระยะเวลาที่กำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนครั้งก่อนและครั้งใหม่ห่างกันน้อยกว่าสิบห้าวัน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มิใช่หุ้นกู้อนุพันธ์ของกองทุนดังกล่าวเกินอัตราส่วนที่กำหนดตามข้อ 77 หรือข้อ 78 แล้วแต่กรณี โดยมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้ตราสารมาเพิ่มเติม ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารดังกล่าวให้มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินอัตราส่วนตามข้อดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตราสารนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนด

ข้อ 108 ในกรณีที่เงินฝากหรือตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้เกินอัตราส่วนที่กำหนดตามข้อ 71 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้มีมูลค่ารวมโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละสี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ให้คำนวณอัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวโดยเฉลี่ยตั้งแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นจนถึงวันที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเป็นไปตามอัตราส่วนดังกล่าว

เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่ารวมโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละสี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ตรวจสอบการปฏิบัติดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมแจ้งให้สำนักงานทราบภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากบริษัทจัดการกองทุนรวมด้วย

หากบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถปฏิบัติตามวรรคหนึ่งได้ สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเลิกกองทุนรวมนั้น

ข้อ 109 ในกรณีที่กองทุนมีสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทใดตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่กองทุนถืออยู่ หากการใช้สิทธินั้นจะเป็นเหตุให้กองทุนลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนดในภาค 2 นี้ บริษัทจัดการอาจซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้นโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามอัตราส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะภายในช่วงระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันแรกที่ผู้ถือหุ้นหมดสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น

ข้อ 110 ในกรณีที่ตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุน มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดในภาค 2 นี้ หากต่อมา ตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนนั้น มีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าว โดยเหตุดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขอัตราส่วนให้เป็นไปตามที่กำหนดภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการประกาศให้ทราบถึงเหตุดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน

(1) ตราสารแห่งทุนนั้นในเวลาต่อมาเป็นตราสารแห่งทุนของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างแก้ไขการดำเนินการให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป หรือถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

(2) ตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 111 ในกรณีที่ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ในขณะที่กองทุนเข้าทำธุรกรรม มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 79 หากต่อมาธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์นั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวโดยมิได้เกิดจากการทำธุรกรรมเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ดังกล่าวต่อไปก็ได้

ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุวันที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ และส่งรายงานดังกล่าวให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์นั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนด พร้อมทั้งจัดทำสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้

ข้อ 112 ภายใต้บังคับข้อ 107 ในกรณีที่ทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุน มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดในภาค 2 นี้ หากต่อมามีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น หรือจากการรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินในกรณีของกองทุนรวมอีทีเอฟ บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้

ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และวันที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ และส่งรายงานดังกล่าวให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนด พร้อมทั้งจัดทำสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่การรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นเป็นผลให้กองทุนรวมเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทใดเกินอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 64 ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศที่กำหนดให้บริษัทจัดการสามารถรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นได้

(2) งดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงในหุ้นจำนวนที่เกินอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน และ

(3) กรณีที่เป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และการได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทดังกล่าว เป็นผลให้กองทุนได้มาหรือเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นจนถึงหรือข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ บริษัทจัดการต้องดำเนินการเพื่อให้ได้รับการยกเว้นการทำคำเสนอซื้อโดยการลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือลดการมีอำนาจควบคุม หรือยื่นคำขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อตามประกาศที่ออกตามความในมาตรา 247 ทั้งนี้ การลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ให้บริษัทจัดการลดสัดส่วนตามสัดส่วนของหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่แต่ละกองทุนได้มาจากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น

ข้อ 113 ในกรณีที่ทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุน มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดในภาค 2 นี้ หากต่อมามีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวโดยไม่เข้าลักษณะตามข้อ 107 ถึงข้อ 112 และการเกินอัตราส่วนดังกล่าวมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้ทรัพย์สินมาเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้

ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และวันที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ และส่งรายงานดังกล่าวให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนด พร้อมทั้งจัดทำสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้

ภาค 3

บทเฉพาะกาล

____________________

ข้อ 114 ในกรณีบริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินของกองทุนเป็นไปตามประเภทและอัตราส่วนโดยชอบก่อนวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549 แต่ไม่เป็นไปตามประเภทหรือเกินอัตราส่วนที่กำหนดตามประกาศนี้ บริษัทจัดการจะยังคงไว้ซึ่งการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ต่อไปก็ได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่มีกำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นที่ได้ขายหน่วยลงทุนครั้งแรก หรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกันซึ่งได้มีการทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ในวันก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามข้อ 117 แทน

ข้อ 115 ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากบริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินของกองทุนเป็นไปตามอัตราส่วนโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ บริษัทจัดการจะยังคงไว้ซึ่งการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ต่อไปก็ได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่มีกำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

ข้อ 116 ในกรณีของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นที่ได้ขายหน่วยลงทุนครั้งแรก หรือในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกันซึ่งได้มีการทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลแล้ว ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อกองทุน เป็นไปตามประเภทและอัตราส่วนโดยชอบก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 แต่ไม่เป็นไปตามประเภทหรือเกินอัตราส่วนที่กำหนดสำหรับกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นที่กำหนดตามประกาศนี้ บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนต่อไปได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่มีกำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

(2) ในกรณีของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมในวันที่หรือภายหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเลือกที่จะลงทุนสำหรับการลงทุนครั้งแรกให้เป็นไปตามประเภทที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานได้ ทั้งนี้ การลงทุนครั้งต่อไปของกองทุนรวมดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับ (3)

(3) ห้ามมิให้บริษัทจัดการลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินใด ๆ เว้นแต่เป็นกรณีตาม (5) หรือเป็นกรณีที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม หรือสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลแล้ว

(4) อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2) ให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดอัตราส่วนการลงทุนสำหรับกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นซึ่งใช้บังคับในวันก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

(5) ในกรณีที่ทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2) ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจนเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนตาม (4) ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขอัตราส่วนให้เป็นไปตาม (4) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทรัพย์สินดังกล่าวถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 117 ให้บรรดาคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 118 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไป

ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และเพื่อเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การลงทุนหรือการแสวงหา

ประโยชน์จากหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือทรัพย์สินอื่น ในกลุ่มกิจการใดกลุ่มกิจการหนึ่ง ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอด

คล้องกับนโยบายการลงทุนและวัตถุประสงค์ของกองทุน และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมหมวด

อุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งในกรณีที่กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าวจัดตั้งในรูปแบบ

ทั่วไปและในรูปของกองทุนรวมหน่วยลงทุน ดังนั้น จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์

และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.

2549 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ