การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 28, 2009 14:03 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 22/2552

เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการ

กองทุนส่วนบุคคล

____________________

อาศัยอำนาจตามความดังต่อไปนี้

(1) มาตรา 141(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 118(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 139(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

(2) ข้อ 4 ข้อ 7 และข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน.27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

(3) ข้อ 5 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 19(1) (2) และ (6) และข้อ 20 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(2) “ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน” หมายความว่า

(ก) ธนาคารพาณิชย์

(ข) บริษัทเงินทุน

(ค) บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

(จ) บริษัทประกันภัย

(ฉ) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม (ฌ)

(ช) ธนาคารแห่งประเทศไทย

(ซ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(ฌ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(ญ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(ฎ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(ฏ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ฐ) กองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(ฑ) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

(ฒ) นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (ก)ถึง(ฑ) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่า ร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(ณ) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (ก) ถึง (ฒ) โดยอนุโลม

(ด) นิติบุคคลตามที่สำนักงานอนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งนิติบุคคลนั้นต้องประกอบธุรกิจหลักสอดคล้องกับธุรกิจหลักที่กองทุนรวมต้องการลงทุนตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการลงทุน

(3) “หนังสือชี้ชวน” หมายความว่า หนังสือชี้ชวนที่มีรายละเอียดตามที่กำหนดโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

(4) “เงินทุนจดทะเบียน” หมายความว่า เงินทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนและนำมาจดทะเบียนไว้กับสำนักงาน

(5) “เงินทุนโครงการ” หมายความว่า วงเงินที่บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถจำหน่ายหน่วยลงทุนได้ไม่เกินวงเงินดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม

(6) “ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน

(7) “ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บุคคลที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ของกองทุนรวม

(8) “กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(9) “กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ” หมายความว่า กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นโครงการแบบกลุ่ม (collective investment scheme) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(10) “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนมากกว่าหนึ่งนโยบายโดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างเดียวหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายนายจ้างก็ได้

(11) “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างเดียว” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างเพียงรายเดียว

(12) “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายนายจ้าง” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างหลายราย

ข้อ 3 การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามภาค 1 และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้เป็นไปตามภาค 2

ภาค 1

การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุน

____________________

หมวด 1

หลักเกณฑ์ทั่วไป

____________________

ส่วนที่ 1

ลักษณะและประเภทของกองทุนรวม

____________________

ข้อ 4 การยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อกองทุนรวมที่จะจัดตั้งนั้นมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

(2) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบัน

ข้อ 5 กองทุนรวมที่ยื่นคำขอจัดตั้งตามข้อ 4 จะต้องเป็นกองทุนรวมประเภทดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมทั่วไป อันได้แก่

(ก) กองทุนรวมตราสารแห่งทุน ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(ข) กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือ การหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนให้กองทุนรวมประเภทนี้ลงทุนได้

(ค) กองทุนรวมผสม ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินตลอดจนการหาดอกผลโดยวิธีอื่น โดยสัดส่วนการลงทุนตามนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทจัดการกองทุนรวมตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ ในแต่ละขณะ หรือกำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารแห่งทุนในขณะใดขณะหนึ่งน้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(2) กองทุนรวมพิเศษ อันได้แก่

(ก) กองทุนรวมหน่วยลงทุน ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(ข) กองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และ วิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนให้กองทุนรวมประเภทนี้ลงทุนได้ ซึ่งมีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนหรือมีอายุสัญญาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญาเหล่านั้น

(ค) กองทุนรวมมีประกัน ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีบุคคลอื่นประกันว่าหากผู้ถือหน่วยลงทุนได้ถือหน่วยลงทุนจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน จากการไถ่ถอนหรือการขายคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้

(ง) กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมวางแผนการลงทุนเพื่อให้ความคุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ตามที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม

(จ) กองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งหมายถึงกองทุนรวมที่มีนโยบายในการกระจายการลงทุนน้อยกว่ามาตรฐานการกระจายการลงทุนที่สำนักงานกำหนดสำหรับกองทุนรวมทั่วไปตาม (1)

(ฉ) กองทุนรวมดัชนี ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม โดยดัชนีราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องได้รับการยอมรับจากสำนักงาน

(ช) กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ

(ซ) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

(ฌ) กองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2546

(ญ) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุน

(ฎ) กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดแก่บุคคลซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย

(ฏ) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังต่อไปนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

1. หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน หรือ

2. ตราสารแห่งทุนซึ่งผลตอบแทนของตราสารดังกล่าวอ้างอิงกับผลตอบแทนของหุ้นหรือกลุ่มหุ้นของบริษัทจดทะเบียน

(ฐ) กองทุนรวมสึนามิ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากธรณีพิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ในหกจังหวัดภาคใต้

(ฑ) กองทุนรวมอีทีเอฟ (exchange traded fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมเปิดที่โดยทั่วไปบริษัทจัดการกองทุนรวมจะขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุนรายใหญ่ และจัดให้มีตลาดรอง (organized market) สำหรับการซื้อขายหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนใด ๆ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมได้จัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างน้อยหนึ่งราย

เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง

“ผู้ดูแลสภาพคล่อง” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการกองทุนรวมให้ทำหน้าที่เพื่อให้ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรองสะท้อนมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวที่คำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมได้อย่างใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ โดยการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟและหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี หรือกลุ่มหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่นใด ที่กองทุนรวมอีทีเอฟนั้นอ้างอิง

“ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนที่ซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในปริมาณหรือมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท หรือตามที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานเป็นรายกรณี

(ฒ) กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มุ่งลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมเพียงบางหมวด โดยเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

ข้อ 6 ในกรณีที่กองทุนรวมใดมีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อเปลี่ยนแปลงประเภทหรือนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าว เป็นกองทุนรวมตราสารแห่งทุนตามข้อ 5(1) (ก) หรือกองทุนรวมหน่วยลงทุนตามข้อ 5(2) (ก) ในรอบระยะเวลาบัญชีที่กำหนดไว้ สำหรับกองทุนรวมนั้น บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องนำการลงทุนและระยะเวลาในช่วงก่อนมีการเปลี่ยนแปลงประเภทหรือนโยบายการลงทุน มาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งในการหาอัตราเฉลี่ยในรอบระยะเวลาบัญชีสำหรับกองทุนรวมตราสารแห่งทุน หรือกองทุนรวมหน่วยลงทุนดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 7 การตั้งชื่อกองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้งและจัดการ จะต้องไม่มีข้อความที่อาจทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดในลักษณะและประเภทของกองทุนรวมนั้น

ส่วนที่ 2

การยื่นคำขอและการอนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

____________________

ข้อ 8 การขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอเป็นหนังสือพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้

(1) รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมตามรายการที่กำหนดไว้ในระบบพิจารณาคำขอจัดตั้งกองทุนรวม (Mutual Fund Approval System (MFAS)) ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องยื่นรายละเอียดของโครงการดังกล่าวผ่านระบบข้างต้นที่สำนักงานจัดไว้เพื่อการดังกล่าวด้วย

(2) ร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ซึ่งมีสาระสำคัญอย่างน้อยตามที่กำหนดในมาตรา 119 และในกรณีที่เป็นการขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ร่างข้อผูกพันต้องมีข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมหรือนายทะเบียนหน่วยลงทุนจะปฏิเสธการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุน หากมีการโอนหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ระบุไว้ในโครงการ

(3) ร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม

(4) ร่างหนังสือชี้ชวน

ข้อ 9 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจแบ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมออกเป็นหลายชนิดได้ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนชนิดเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น

(1) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน

(2) ระยะเวลาการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

(3) สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล

(4) อัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหน่วยลงทุน

(5) กรณีอื่นใดตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ สำนักงานจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมเป็นสำคัญ โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ของการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามที่ขอ และผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดจะได้รับ

ข้อ 10 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามข้อ 9ไว้ในโครงการตั้งแต่ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก โดยต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ชนิดหน่วยลงทุนที่แบ่ง

(2) สิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด รวมทั้งวิธีการคำนวณและการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนโดยละเอียด (ถ้ามี)

(3) การขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนในเรื่องต่างๆ ในแต่ละชนิดหน่วยลงทุน

(4) ข้อจำกัดในการเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนระหว่างหน่วยลงทุนแต่ละชนิด (ถ้ามี)

(5) การจัดสรรรายได้ รายจ่าย รวมทั้งผลกำไรและขาดทุน ที่เกิดจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินใด ๆ แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดไว้อย่างชัดเจน (ถ้ามี)

(6) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด (ถ้ามี) โดยการกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจะต้องมีความสอดคล้องกับหน่วยลงทุนแต่ละชนิดด้วย

(7) วิธีการคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด รวมทั้งสิทธิและส่วนได้เสียของหน่วยลงทุนแต่ละชนิดในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (ถ้ามี)

ข้อ 11 ในการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม สำนักงานอาจแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งหรือแก้ไขเอกสารตามข้อ 8 ให้ครบถ้วนถูกต้อง หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่สำนักงานแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมไม่ประสงค์จะขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอีกต่อไป เว้นแต่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะแสดงให้เห็นได้ว่าการที่มิได้ดำเนินการตามที่สำนักงานแจ้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุสมควร

ข้อ 12 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีลักษณะเดียวกันหลายกองทุนในช่วงหนึ่งปีใด ๆ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมแบบเป็นกลุ่มคำขอ โดยให้ยื่นเอกสารตามข้อ 8 มาพร้อมกับคำขอดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวจะยังไม่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับรายการดังต่อไปนี้ก็ได้

(1) ชื่อของโครงการจัดการกองทุนรวม

(2) จำนวนเงินทุนของโครงการจัดการกองทุนรวม

(3) จำนวนหน่วยลงทุน

(4) ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ของผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้สอบบัญชี นายทะเบียน ที่ปรึกษากองทุน และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน

(5) ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุน และกองทุนรวม

ในกรณีที่เป็นข้อมูลตามรายการดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจระบุข้อมูลดังกล่าวเป็นแบบทางเลือกหรือระบุเป็นช่วงของจำนวนหรือเวลาไว้ในเอกสารตามข้อ 8 ก็ได้

(1) ประเภทและอายุของโครงการจัดการกองทุนรวม

(2) มูลค่าขั้นต่ำของการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

(3) วัตถุประสงค์ของโครงการจัดการกองทุนรวม ประเภทและอัตราส่วนของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น ที่จะลงทุนหรือมีไว้

(4) วิธีการซื้อขายหน่วยลงทุน

ในกรณีที่เป็นการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมแบบเป็นกลุ่มคำขอสำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศด้วย ให้แยกการยื่นคำขอนั้นออกจากคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมแบบเป็นกลุ่มคำขอสำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นอื่น

ข้อ 13 สำนักงานจะพิจารณาข้อมูลในคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมและเอกสารประกอบคำขอที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นต่อสำนักงานตามข้อ 12 หากคำขอและข้อมูลตามคำขอดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ สำนักงานจะแจ้งผลการพิจารณาในเบื้องต้นให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบ

(1) เป็นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุของโครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวไม่เกินหนึ่งปี

(2) ข้อมูลตามคำขอเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวม และไม่มีข้อมูลที่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ข้อ 14 สำนักงานจะอนุมัติให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดตั้งกองทุนรวมตามที่ได้ยื่นคำขอตามข้อ 12 ในแต่ละกองทุนรวมต่อเมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ยื่นเอกสารที่แสดงข้อมูลในรายละเอียดที่ชัดเจนของรายการตามข้อ 12 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) และวรรคสอง (1) ถึง (4) สำหรับกองทุนรวมแต่ละกองทุนภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาเบื้องต้นตามข้อ 13 แล้ว โดยให้ถือว่าวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนดังกล่าวสำหรับกองทุนรวมใด เป็นวันที่สำนักงานอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น

ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎเกณฑ์อันทำให้ข้อมูลที่สำนักงานได้แจ้งผลการพิจารณาเบื้องต้นตามข้อ 13 ขัดหรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นหากบริษัทจัดการกองทุนรวมจะดำเนินการตามวรรคหนึ่งสำหรับกองทุนรวมใด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแก้ไขเพิ่มเติมคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมแบบเป็นกลุ่มคำขอให้ถูกต้องและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง และภายหลังจากที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาเบื้องต้นสำหรับข้อมูลที่แก้ไขเพิ่มเติมให้ทราบแล้วบริษัทจัดการกองทุนรวมจึงจะดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้

ข้อ 15 การยื่นคำขอจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน เมื่อสำนักงานรับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนตามข้อ 8 แล้ว ให้ถือว่าสำนักงานอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมดังกล่าวได้

ข้อ 16 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ต้องจัดให้มีข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม สัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน โดยมีสาระสำคัญไม่ต่างจากร่างข้อผูกพัน ร่างสัญญาแต่งตั้ง และร่างหนังสือชี้ชวนที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงาน

ส่วนที่ 3

การเสนอขายหน่วยลงทุน

____________________

ข้อ 17 ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกหรือก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนเพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่งหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้สำนักงานไม่น้อยกว่าหนึ่งวันทำการก่อนการเริ่มจัดส่ง แจกจ่าย หรือจัดให้มีหนังสือชี้ชวนให้แก่ผู้ลงทุน และให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวผ่านระบบรับและเผยแพร่ข้อมูลหนังสือชี้ชวนและการรายงานของกองทุนรวม (Mutual Fund Report and Prospectus (MRAP)) ของสำนักงานด้วย และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้ข้อมูลที่จัดส่งนั้นมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันโดยไม่ชักช้าและให้กระทำผ่านระบบข้างต้นด้วย

ข้อ 18 ในกรณีของกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้เป็นปัจจุบันทุกรอบระยะเวลาบัญชี และจัดส่งให้สำนักงานภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ ให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวผ่านระบบรับและเผยแพร่ข้อมูลหนังสือชี้ชวน และการรายงานของกองทุนรวมของสำนักงานด้วย

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมเปิดที่มีเหตุต้องเลิกกองทุนรวมโดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหรือในวันที่ครบกำหนดจัดทำและจัดส่งหนังสือชี้ชวน

(2) กองทุนรวมเปิดที่มีการขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาไว้แน่นอน (auto redemption)

(3) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร

ข้อ 19 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเสนอขายหน่วยลงทุนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมและต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในหนังสือชี้ชวน และในระหว่างระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมครั้งแรก บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเสนอขายหน่วยลงทุนเกินเงินทุนโครงการได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินทุนโครงการ หากบริษัทจัดการกองทุนรวมแสดงความประสงค์ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม และให้ถือว่าจำนวนเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนเกินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินทุนโครงการแทน

ข้อ 20 ในระหว่างระยะเวลาก่อนปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก หากบริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะยกเลิกการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถยุติการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าวได้

ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานให้สำนักงานทราบการยุติการขายหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ยุติการขายหน่วยลงทุนนั้น และให้การอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้นสิ้นสุดลงในวันที่แจ้งให้สำนักงานทราบ

ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนตามสัดส่วนของเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่การอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมสิ้นสุดลงตามวรรคสอง และหากบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้อันเนื่องจากความผิดของบริษัทจัดการกองทุนรวมเอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระเงินค่าจองซื้อจนครบถ้วน

ข้อ 21 ในการขายหน่วยลงทุน ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงิน หรือจะใช้วิธีหักกลบลบหนี้กันมิได้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นการชำระด้วยตราสารที่เทียบเท่าเงินสด

(2) เป็นการชำระด้วยหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับมาจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหนึ่งเพื่อซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเดียวกันเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ หรือ

(3) มีข้อกำหนดตามประกาศนี้ให้กระทำได้

ข้อ 22 ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำของผู้ลงทุนแต่ละราย ต้องไม่กำหนดไว้สูงกว่าห้าหมื่นบาท

(2) ไม่จัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้

1. กองทุนรวมวายุภักษ์

2. กองทุนรวมตราสารแห่งทุนซึ่งมิใช่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ

3. กองทุนรวมตลาดเงินที่โครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวกำหนดการดำรงอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่จะได้รับจากทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนไว้ (portfolio duration) ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินหกเดือน แต่ทั้งนี้ การจัดสรรหน่วยลงทุนให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดต้องไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

(ข) บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

(ค) บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม กฎหมายไทยซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิ หรือวัด เป็นต้น

(ง) บุคคลอื่นใดที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร

(3) กำหนดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกไม่ต่ำกว่าเจ็ดวัน

(4) ประชาสัมพันธ์การขายหน่วยลงทุนอย่างกว้างขวางเพื่อให้มีการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนอย่างแพร่หลาย

(5) จัดให้มีระบบในการจัดสรรหน่วยลงทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ซื้อหน่วยลงทุน

(6) การกำหนดเงื่อนไขหรือข้อสงวนสิทธิในการจำหน่ายหน่วยลงทุน ต้องไม่มีลักษณะเป็นการจำกัดกลุ่มผู้ลงทุนอันทำให้ไม่มีการกระจายการจำหน่ายหน่วยลงทุนอย่างเพียงพอ

ในกรณีที่มีบุคคลใดซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนในวงกว้างทั้งหมดเพื่อขายต่อ หรือเป็นการซื้อขายหน่วยลงทุนในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์แบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อกำหนดให้บุคคลนั้นปฏิบัติให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (3) (4) และ (5) ด้วยโดยอนุโลม

ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (1) (3) หรือ (4) ต่อสำนักงานได้ เพื่อให้การเสนอขายเป็นไปอย่างเหมาะสมกับชนิดของหน่วยลงทุน และการผ่อนผันดังกล่าวให้มีผลต่อการดำเนินการตามวรรคสองด้วยโดยอนุโลม

ข้อ 23 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันตามประกาศนี้ ให้ถือว่าบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันดังต่อไปนี้เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน

(1) บิดา มารดาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) คู่สมรส

(3) นิติบุคคล และผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้นซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลดังกล่าวเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมด แล้วแต่กรณี

(4) นิติบุคคล และนิติบุคคลอื่นซึ่งนิติบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลอื่นนั้น เกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของนิติบุคคลอื่นนั้นหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมดของนิติบุคคลอื่นนั้น แล้วแต่กรณี

(5) กองทุนส่วนบุคคลของบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ส่วนที่ 4

หลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนและข้อจำกัดการโอน

____________________

ข้อ 24 ในการจัดให้มีหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการให้หลักฐานดังกล่าวแสดงข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนและใช้อ้างอิงต่อบริษัทจัดการกองทุนรวมและบุคคลอื่นได้

(2) มีข้อมูลของบุคคลต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนรวมเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นได้

(3) ในกรณีที่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน ให้ระบุข้อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นไว้ให้ชัดเจน

ข้อ 25 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแจ้งให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนทราบถึงข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

ในกรณีที่นายทะเบียนหน่วยลงทุนทำการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนโดยฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนเพิกถอนการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนโดยไม่ชักช้า

ส่วนที่ 5

การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการ

____________________

ข้อ 26 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมปิดได้โดยต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมตั้งแต่ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกแต่ต้องไม่เกินกว่าเงินทุนโครงการที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน และในการเสนอขายหน่วยลงทุน เพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าวในราคาที่กำหนดตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมของวันที่เสนอขายหน่วยลงทุน

บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเพิ่มเงินทุนโครงการของกองทุนรวมเปิดได้ตามที่ระบุไว้ในโครงการ ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเสนอขายหน่วยลงทุนตามจำนวนที่เพิ่มขึ้นของเงินทุนโครงการได้ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเงินทุนโครงการต่อสำนักงานแล้ว

ส่วนที่ 6

การสิ้นสุดลงของการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

____________________

ข้อ 27 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมครั้งแรกหากปรากฏกรณีดังต่อไปนี้ ให้การอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้นสิ้นสุดลง

(1) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึงสามสิบห้าราย

(2) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึงสิบราย เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนประกันสังคม

(3) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป มีการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 22 วรรคหนึ่ง (2)

ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งให้สำนักงานทราบกรณีตามวรรคหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าว และคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้นตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน หากบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลานั้นได้อันเนื่องจากความผิดพลาดของบริษัทจัดการกองทุนรวมเอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระเงินค่าจองซื้อจนครบถ้วน

ข้อ 28 สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม หากปรากฏกรณีดังต่อไปนี้

(1) มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมที่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดตามประกาศนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน

(2) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หากมีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ระบุไว้ในโครงการ

(3) มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนโดยบริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้ปฏิบัติหรือดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อ 22

เมื่อมีการเพิกถอนการอนุมัติตามวรรคหนึ่ง หากได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนแล้วแต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน โดยให้นำความในวรรคสองของข้อ 27 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม แต่หากมีการจดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที

ข้อ 29 สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป หากปรากฏว่าบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นถือหน่วยลงทุนเกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้มาเพิ่มเติม

(2) เป็นการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 22 วรรคหนึ่ง (2) (ก)

(3) เป็นการถือหน่วยลงทุนโดยบุคคลตามข้อ 22 วรรคหนึ่ง (2) (ข) (ค) หรือ (ง)

ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรือควรรู้ถึงเหตุตามวรรคหนึ่ง (1)

ข้อ 30 ในกรณีที่ปรากฏพฤติการณ์ว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการใด ๆหรือบุคคลใดถือหน่วยลงทุนโดยรู้เห็นหรือตกลงกับบุคคลอื่น อันเป็นการปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงในการถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดที่ประสงค์จะถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น

ข้อ 31 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีการจัดตั้ง จัดการ หรือใช้กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อการแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือธุรกิจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด สำนักงานจะดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทำการชี้แจง แสดงเหตุผล ข้อเท็จจริง และหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

(2) ในกรณีที่ไม่มีการชี้แจงตาม (1) หรือชี้แจงแล้วแต่ไม่อาจพิสูจน์หรือทำให้เชื่อได้ว่าการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวเป็นการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง สำนักงานจะสั่งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทำการแก้ไข หรือดำเนินการใด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง

(3) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการตามที่สำนักงานสั่งตาม (2) หรือดำเนินการแล้วแต่ไม่สามารถทำให้กองทุนรวมนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง สำนักงานจะเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น

ข้อ 32 เมื่อมีการเพิกถอนการอนุมัติตามข้อ 29 ข้อ 30 หรือข้อ 31 หากได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนแล้ว แต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน โดยให้นำความในข้อ 27 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากมีการจดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที

หมวด 2

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมมีประกัน

____________________

ข้อ 33 ในส่วนนี้

“ผู้ประกัน” หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้

“มติของผู้ถือหน่วยลงทุน” หมายความว่า มติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการจัดการกองทุนรวม

ข้อ 34 โครงการจัดการกองทุนรวมมีประกันจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกันที่มีคุณสมบัติตามข้อ 35 อันได้แก่

(ก) ชื่อ และที่อยู่ของผู้ประกัน

(ข) ประเภท และการประกอบธุรกิจของผู้ประกัน

(ค) ฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของผู้ประกัน

(ง) ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ประกัน

(จ) สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ประกัน

(2) รายละเอียดเกี่ยวกับการประกัน อันได้แก่

(ก) จำนวนเงินลงทุนที่ประกัน และผลตอบแทนที่ประกัน (ถ้ามี) โดยต้องไม่มีเงื่อนไขความรับผิดและต้องสามารถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมายไทย

(ข) ระยะเวลาการประกัน และวันครบกำหนดระยะเวลาการประกันแต่ละงวด (ถ้ามี)

(ค) วันที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทนตามที่ประกันไว้ ทั้งนี้ ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ขายคืนหน่วยลงทุนในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิด หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกรณีที่มีการเลิกกองทุนรวม แล้วแต่กรณี

(ง) ผลของการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาการประกัน

(จ) ผลของการขายคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการประกันในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิสูงกว่ามูลค่าที่ประกัน

(3) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาประกันในเรื่องใด ๆ อันมีผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์ จะต้องได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน

ข้อ 35 ผู้ประกันของกองทุนรวมมีประกันจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เป็นนิติบุคคลดังต่อไปนี้ และนิติบุคคลดังกล่าวต้องสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้น

(ก) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(ข) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(ค) บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือ

(ง) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(2) เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรกจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน

การพิจารณาความสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองตามวรรคหนึ่ง (1) จะพิจารณาจากรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ยื่นต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น

ข้อ 36 ผู้ประกันของกองทุนรวมมีประกันต้องมิใช่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมมีประกันดังกล่าว

หมวด 3

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น

____________________

ข้อ 37 ในหมวดนี้

(1) “เงินต้น” หมายความว่า เงินที่ผู้ลงทุนแต่ละรายชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นซึ่งโครงการจัดการกองทุนรวมมุ่งที่จะให้ความคุ้มครอง ทั้งนี้ จำนวนเงินดังกล่าวไม่รวมค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน

(2) “อันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า สัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

(3) “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งล่าสุดที่มีต่อตัวตราสาร ต่อผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญา หรือต่อผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี

(4) “บริษัทเงินทุน” หมายความว่า บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(5) “บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(6) “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

ข้อ 38 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ต้องกำหนดประเภททรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังต่อไปนี้ ไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งจะให้เกิดความคุ้มครองเงินต้นทั้งจำนวน

(ก) ตราสารภาครัฐไทยตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

(ข) ตราสารภาครัฐต่างประเทศตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรก ทั้งนี้ โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือภายใต้ชื่อ Standard & Poor หรือ Moody’s หรือ Fitch หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างประเทศที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติม

(ค) ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือบัตรเงินฝาก ที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออกเพื่อการกู้ยืมหรือรับเงินจากประชาชน

(ง) เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ หรือบัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก

(จ) ทรัพย์สินอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือมีความเสี่ยงเทียบเคียงได้กับความเสี่ยงในทรัพย์สินตาม (ก) ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) ต้องกำหนดอัตราส่วนการลงทุนขั้นต่ำของการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตาม (1) และแสดงได้ว่าอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดนั้นสามารถคุ้มครองเงินต้นทั้งจำนวนได้ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม

(3) ต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินต้นอย่างชัดเจนไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการคุ้มครอง จำนวนเงินต้นที่คุ้มครอง ระยะเวลาการคุ้มครอง และกลไกการคุ้มครอง

หมวด 4

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ

____________________

ข้อ 39 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ประสงค์จะยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 40 ในกรณีของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวต่อประชาชนได้ ต่อเมื่อกองทุนรวมนั้นได้รับการจัดสรรวงเงินลงทุนต่างประเทศแล้ว

หมวด 5

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหา

การดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

____________________

ข้อ 41 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549

(2) ต้องเป็นกองทุนรวมที่กำหนดอายุโครงการจัดการกองทุนรวมที่แน่นอน

หมวด 6

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

__________________

ข้อ 42 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะต้องเป็นกองทุนรวมเปิด

ข้อ 43 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ถือหน่วยลงทุน ประเภทของเงินได้ที่นำมาซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงื่อนไขการลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

(2) การชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับ การชำระภาษีเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน การชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

รายการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ให้มีรูปแบบและรายละเอียดตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 44 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่ง แจกจ่าย หรือจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่เป็นปัจจุบันตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่งและดำเนินการให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนพร้อมกับใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้สนใจจะลงทุนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการกองทุนรวมอยู่แล้วในขณะนั้น บริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าวก็ได้ หากข้อมูลของเอกสารนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลที่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวเคยได้รับ

(2) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัทจัดการกองทุนรวมและ ณ สถานที่ติดต่อทุกแห่งของผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน เพื่อประโยชน์ในการแจกจ่ายแก่ผู้สนใจจะลงทุนได้ตลอดเวลาที่เสนอขายหน่วยลงทุน

ข้อ 45 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อจำกัดการโอนและการจำนำซึ่งระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและในร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวมว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมหรือนายทะเบียนหน่วยลงทุนจะปฏิเสธการลงทะเบียนการโอนและการจำนำหน่วยลงทุน

ข้อ 46 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้ปรากฏข้อจำกัดการโอนและการจำนำของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ในคำขอเปิดบัญชีเพื่อซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแจ้งให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนทราบถึงข้อจำกัดดังกล่าวด้วย

ข้อ 47 มิให้นำความในข้อ 27 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกของโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว หากปรากฏว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึงสามสิบห้าราย ให้การอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนั้นสิ้นสุดลง

หมวด 7

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ

__________________

ข้อ 48 ในการจัดตั้งและการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นการดำเนินการจัดส่งหนังสือชี้ชวนที่เป็นปัจจุบันให้สำนักงานตามข้อ 17

ข้อ 49 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันเหตุของการสิ้นสุดลงของการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามข้อ 27 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) หรือการดำเนินการตามข้อ 27 วรรคสอง ต่อสำนักงานได้

หมวด 8

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว

__________________

ข้อ 50 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมที่จะจัดตั้งต้องเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเท่านั้น

(2) อายุโครงการจัดการกองทุนรวมต้องไม่น้อยกว่าสิบปี

(3) ในกรณีที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวเป็นกองทุนรวมดัชนี ดัชนีที่ใช้ต้องเป็นดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) หรือ ดัชนี SET 50 (SET 50 Index)

ข้อ 51 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกภายในหกเดือนนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

ข้อ 52 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนมาจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมต่อสำนักงานภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ข้อ 53 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อความที่ให้ผู้ลงทุนแสดงเจตนาว่าจะให้มีการโอนย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอื่นหรือไม่ ในใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือ ใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน ในกรณีที่โครงการจัดการกองทุนรวมกำหนดเหตุเลิกกองทุนรวมเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนหรือจำนวนหน่วยลงทุนลดลง

ข้อ 54 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยให้นำความในข้อ 43 และข้อ 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ในเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวไม่ต้องมีรายการเกี่ยวกับประเภทของเงินได้ที่นำมาซื้อหน่วยลงทุน แต่ให้มีรายการเกี่ยวกับระยะเวลาที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นรายการเพิ่มเติมในเอกสารดังกล่าว

ข้อ 55 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเกี่ยวกับข้อจำกัดการโอนและการจำนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยนำความในข้อ 45 และข้อ 46 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด 9

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมสึนามิ

__________________

ข้อ 56 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมสึนามิ ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมที่จะจัดตั้งต้องเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบันเท่านั้น

(2) การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมสึนามิต้องกระทำภายในหกเดือนนับแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2548

(3) ต้องระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมอย่างชัดเจนว่า บริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่ลงทุนเพิ่มในหลักทรัพย์ของกิจการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากธรณีพิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ในหกจังหวัดภาคใต้ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสองปีนับแต่ วันจดทะเบียนกองทุนรวม

ข้อ 57 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกและนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนมาจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมต่อสำนักงาน ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

หมวด 10

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมอีทีเอฟ

__________________

ข้อ 58 กองทุนรวมอีทีเอฟจะต้องเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหลักทรัพย์ หรือความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่นใด ที่ระบุในโครงการจัดการกองทุนรวม ทั้งนี้ ในกรณีของดัชนีราคาหลักทรัพย์ ต้องเป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานด้วย

ข้อ 59 ในการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องและผู้ลงทุนรายใหญ่ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินได้ ต่อเมื่อได้ระบุกรณีดังกล่าวและขั้นตอนการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม

ข้อ 60 มิให้นำความในข้อกำหนดดังต่อไปนี้ มาใช้บังคับกับกองทุนรวมอีทีเอฟ

(1) ข้อ 22 วรรคหนึ่ง (1) และข้อ 27 วรรคหนึ่ง (1)

(2) ข้อ 22 วรรคหนึ่ง (2) ข้อ 27 วรรคหนึ่ง (3) และข้อ 29 ทั้งนี้ เฉพาะก่อนและในวันที่เริ่มซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรอง เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมอีทีเอฟที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคตามโครงการจัดตั้ง กองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สอง ตามมติของที่ประชุมกลุ่มธนาคารกลางสมาชิก Executives’ Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP) มิให้นำมาใช้บังคับไม่ว่าในช่วงเวลาใด

หมวด 11

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม

________________________

ข้อ 61 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ชื่อของกองทุนรวมต้องสะท้อนถึงหมวดอุตสาหกรรม (sector) ที่กองทุนรวมมุ่งลงทุน

(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องระบุหมวดอุตสาหกรรมตาม (1) ไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม ทั้งนี้ หมวดอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเป็นหมวดอุตสาหกรรมตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศกำหนด

(3) ต้องกำหนดประเภททรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังต่อไปนี้ ในโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรมเพียงบางหมวด ตามอัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 5(2) (ฒ)

(ก) หุ้นของบริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในหมวดอุตสาหกรรมหรือที่มีลักษณะเทียบเคียงได้กับหมวดอุตสาหกรรม

(ข) ตราสารหรือสัญญาทางการเงินที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งหุ้นตาม (ก) หรือให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับหุ้นตาม (ก) หรือกลุ่มของหุ้นตาม (ก)

(ค) ในกรณีของกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจกำหนดประเภททรัพย์สินดังต่อไปนี้

1. หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2. ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ หรือ

3. ตราสารหรือสัญญาทางการเงินที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งหน่วยลงทุนตาม 1. หรือตราสารตาม 2. หรือให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับหน่วยลงทุนตาม 1. หรือตราสารตาม 2. หรือกลุ่มของหน่วยลงทุนตาม 1. หรือ ตราสารตาม 2.

(ง) หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานกำหนด

ภาค 2

การเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

__________________

ข้อ 62 ในการรับจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้าที่เป็นคณะบุคคล คณะบุคคลดังกล่าวต้องประกอบด้วยบุคคลไม่เกินสามสิบห้าราย

ข้อ 63 ในการรับจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำข้อมูลของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีรายละเอียดของข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลตามที่สมาคมกำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าวให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าการเสนอนโยบายการลงทุนให้แก่ลูกค้านั้น บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้พิจารณาข้อมูลเพียงเท่าที่ลูกค้าให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเท่านั้น

(2) เสนอนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าซึ่งได้ประเมินจากวัตถุประสงค์ในการลงทุนของลูกค้า ประสบการณ์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ความต้องการและข้อจำกัดการลงทุน และจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นไปตามนโยบายการลงทุนดังกล่าว

ข้อ 64 สัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ไม่มีข้อความที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลสามารถปฏิเสธความรับผิดทางแพ่งอันเนื่องจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่กระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา

(2) มีข้อความที่แจ้งให้ลูกค้าทราบเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของลูกค้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการจัดทำและเปิดเผยรายงานการถือหลักทรัพย์ในมาตรา 59

(3) มีอายุสัญญาไม่น้อยกว่าสองปี ในกรณีการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(4) มีข้อความที่ให้ลูกค้ามีสิทธิเลิกสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ลงนามในสัญญาโดยไม่ต้องแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทราบล่วงหน้าและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเนื่องจากการเลิกสัญญาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการทำสัญญากับลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ข้อ 65 ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่มีมูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ลงทุนรายย่อยต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้นำนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมตามข้อ 5(1) และ (2) (ก) ถึง (ช) และหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้นำนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวมาใช้กับแต่ละนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจกำหนดนโยบายการลงทุนโดยไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่งก็ได้ หากบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดขึ้นนั้น

การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลและลูกค้าร่วมกันตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การวัดผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมกำหนด

ภาค 3

บทเฉพาะกาล

__________________

ข้อ 66 ให้บรรดาคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 67 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไป

ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนรวมและหลัก

เกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดประเภทของกองทุนรวมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการกำหนดให้กองทุนรวมที่มุ่งลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงใน

หมวดอุตสาหกรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไปเป็นกองทุนรวมพิเศษอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงเห็นควรออกประกาศ

เพื่อทดแทนประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการ

เข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ