หลักเกณฑ์ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าและสาระสำคัญของสัญญาดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday February 8, 2006 14:52 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 3/2549
เรื่อง หลักเกณฑ์ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าและ
สาระสำคัญของสัญญาดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 ข้อ 4 และข้อ 7 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับ
หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 68/2547 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของผู้ได้รับ
ใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 สำนักงาน ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“ตัวแทนซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“ศูนย์ซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
“สำนักหักบัญชีสัญญา” หมายความว่า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
“ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์” หมายความว่า ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งตัวแทนซื้อขายสัญญาได้รับมาหรือมีไว้เนื่องจากการให้บริการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ให้แก่ลูกค้าในศูนย์ซื้อขายสัญญา
หมวด 1
บททั่วไป
ข้อ 4 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องจัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการดูแลรักษา
ทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งเป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือการให้คำแนะนำด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และต้องจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่ดีในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แยกผู้ทำหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าและผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาตัวทรัพย์สินของลูกค้าออกจากกัน
(2) กำหนดให้การจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกค้าและการแก้ไขรายการในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าทุกครั้งต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจสั่งการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องมิใช่ผู้ทำหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าและผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาตัวทรัพย์สินของลูกค้า
ข้อ 5 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องกำหนดระเบียบหรือวิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ โดยให้จัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แสดงถึงขั้นตอนการจัดการและผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า
ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การรับหรือส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้า
(2) การบันทึกรายการทรัพย์สินของลูกค้า
(3) การจัดการข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า
ข้อ 6 ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) แจ้งให้ลูกค้าเข้าใจและลงนามรับทราบถึงวิธีปฏิบัติของลูกค้าในการฝากหรือถอนทรัพย์สินของลูกค้ากับหรือจากตัวแทนซื้อขายสัญญา ตลอดจนวิธีการของตัวแทนซื้อขายสัญญาในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า
ในกรณีที่ข้อมูลตามวรรคหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ลูกค้าทราบโดยไม่ชักช้า
(2) เปิดเผยให้ลูกค้าทราบว่าในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาประสบปัญหาทางการเงิน เงินของลูกค้าที่เก็บรักษาไว้กับตัวแทนซื้อขายสัญญาจะไม่อยู่ภายใต้มาตรการให้ความคุ้มครองของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ข้อ 7 สัญญาหรือข้อตกลงในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าต้องมีรายการและสาระสำคัญอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของตัวแทนซื้อขายสัญญา
(2) อัตราและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า (ถ้ามี)
(3) ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกผลหรือประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดจากทรัพย์สินของลูกค้า
ข้อ 8 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องเก็บรักษาข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ไม่น้อยกว่าห้าปี โดยการจัดเก็บข้อมูลและเอกสารดังกล่าวในระยะเวลาสองปีแรกต้องกระทำในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที
หมวด 2
การจัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้า
ข้อ 9 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องจัดทำบัญชีแสดงทรัพย์สินทุกรายการของลูกค้าแต่ละราย โดยแยกเป็นบัญชีต่างหากจากบัญชีทรัพย์สินของตัวแทนซื้อขายสัญญา บัญชีทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) วันที่รับหรือจ่ายทรัพย์สิน
(2) จำนวนและประเภททรัพย์สิน
(3) เหตุที่รับหรือจ่ายทรัพย์สิน
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ถูกบันทึกไว้ในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้ารายใดเป็นทรัพย์สินของบุคคลที่สามซึ่งนำมาวางไว้เพื่อเป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายนั้น ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องบันทึกชื่อบุคคลที่สามซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวไว้ในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้ารายนั้นด้วย
ข้อ 10 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องบันทึกรายการในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน และในกรณีที่เป็นการบันทึกเพื่อแก้ไขรายการ ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันทำการที่พบเหตุแห่งการแก้ไขรายการและต้องบันทึกเหตุผลประกอบการแก้ไขรายการทุกครั้ง
ข้อ 11 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องจัดให้มีการตรวจนับทรัพย์สินของลูกค้าในส่วนที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเก็บรักษาไว้อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อสอบทานความถูกต้องกับรายการที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเป็นผู้จัดทำ
สำหรับทรัพย์สินของลูกค้าส่วนที่ตัวแทนซื้อขายสัญญามิได้เก็บรักษาไว้เอง ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องจัดให้มีระบบที่สามารถเรียกดูข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อสอบทานความถูกต้องของรายการทรัพย์สินที่ปรากฏในรายงานของบุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของลูกค้า กับรายการที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเป็นผู้จัดทำ
หมวด 3
การจัดเก็บทรัพย์สินของลูกค้า
ข้อ 12 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องแยกทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลรักษาจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ เป็นทรัพย์สินของลูกค้า
(1) ทรัพย์สินประเภทเงิน จำนวนเงินที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องแยกไว้ในแต่ละวันต้องไม่น้อยกว่าผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาบันทึกไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย ณ สิ้นวันทำการก่อน หรือ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบัน ทั้งนี้ ในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเลือกใช้ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณแล้ว ตัวแทนซื้อขายสัญญาจะต้องใช้ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณตลอดไป เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาไม่สามารถใช้
ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณต่อไป ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาใช้ผลรวมของยอดเงินคงเหลือสุทธิ ณ สิ้นวันทำการก่อนเป็นฐานในการคำนวณในระหว่างที่มีเหตุจำเป็นได้ ทั้งนี้ ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องแจ้งเหตุจำเป็นดังกล่าวให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยทันที
(2) ทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์ จำนวนทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์ที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องแยกไว้ในแต่ละวันต้องไม่น้อยกว่าผลรวมของรายการหลักทรัพย์ที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาบันทึกไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย ณ สิ้นวันทำการนั้น
(3) ทรัพย์สินประเภทอื่น จำนวนทรัพย์สินประเภทอื่นที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องแยกไว้ในแต่ละวันต้องไม่น้อยกว่าผลรวมของรายการทรัพย์สินประเภทอื่นที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาบันทึกไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย ณ สิ้นวันทำการนั้น
ข้อ 13 ตัวแทนซื้อขายสัญญาอาจหักเงินดังต่อไปนี้ออกจากจำนวนทรัพย์สินที่ต้องแยกไว้เป็นทรัพย์สินของลูกค้าตามข้อ 12 (1) ได้
(1) เงินที่ลูกค้านำมาชำระหนี้ที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าเกินกว่าจำนวนที่ลูกค้าต้องชำระ และตัวแทนซื้อขายสัญญาได้ส่งเงินส่วนเกินดังกล่าวคืนให้แก่ลูกค้าภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับเงินนั้น
(2) เงินที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาได้รับแทนลูกค้าหรือในนามของลูกค้าอันเนื่องมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า และตัวแทนซื้อขายสัญญาได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ลูกค้าภายในวันที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาได้รับเงินนั้น
(3) เงินที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาได้รับไว้แทนลูกค้าหรือในนามของลูกค้า เนื่องจากเป็นเงินปันผลหรือดอกเบี้ยของหลักทรัพย์หรือตราสารที่ลูกค้าเป็นเจ้าของ และตัวแทนซื้อขายสัญญาได้ส่งเงินดังกล่าวให้แก่ลูกค้าภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาได้รับเงินนั้นในกรณีที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาเก็บรักษาเงินตาม (1) — (3) ไว้เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมของลูกค้าในอนาคต ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมในยอดเงินของวันทำการที่ได้รับทราบความประสงค์ของลูกค้า เพื่อการคำนวณจำนวนทรัพย์สินที่ต้องแยกไว้เป็นทรัพย์สินของลูกค้าตามข้อ 12 (1) ต่อไป
ข้อ 14 การดำเนินการดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการแยกทรัพย์สินของลูกค้าตามข้อ 12 แล้ว
(1) กรณีทรัพย์สินของลูกค้าเป็นเงิน
(ก) แยกโดยดำเนินการดังนี้
1. ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ โดยในกรณีที่เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นประเภทชำระคืนเมื่อครบกำหนดระยะเวลา เงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวต้องไม่มีข้อห้ามการไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด ในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญานำเงินจำนวนที่แยกไว้เป็นทรัพย์สินของลูกค้าไปฝากหรือลงทุนกับสถาบันการเงินที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วมของตัวแทนซื้อขายสัญญา ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าก่อนดำเนินการ โดยหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวต้องจัดทำเป็นเอกสารแยกต่างหากจากสัญญาตั้งตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อประโยชน์ในข้อนี้ คำว่า “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” และ“บริษัทร่วม” ให้อนุโลมตามบทนิยามของคำดังกล่าวในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
2. ลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยตราสารดังกล่าวต้องไม่มีเงื่อนไขการห้ามขายหรือโอนก่อนครบกำหนดอายุของตราสาร
(ข) แยกโดยการนำไปวางไว้กับสำนักหักบัญชีสัญญา ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักหักบัญชีสัญญากำหนด
(ค) แยกโดยการจัดเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งต้องกระทำในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย
(2) กรณีทรัพย์สินของลูกค้าเป็นหลักทรัพย์
(ก) แยกโดยการฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทยโดยให้ระบุอย่างชัดเจนว่าการฝากหลักทรัพย์จำนวนดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยตัวแทนซื้อขายสัญญาเพื่อประโยชน์ของลูกค้า
(ข) แยกโดยการนำไปวางไว้กับสำนักหักบัญชีสัญญา ตามหลักเกณฑ์ที่
สำนักหักบัญชีสัญญากำหนด
(ค) แยกโดยการเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งต้องกระทำในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย
(3) กรณีทรัพย์สินของลูกค้าเป็นทรัพย์สินอื่น ให้แยกในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะ
ได้ว่าทรัพย์สินอื่นนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย
ข้อ 15 ในกรณีที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเป็นผู้เก็บรักษาตัวทรัพย์สินของลูกค้าไว้เองไม่ว่าการจัดเก็บจะกระทำในสถานที่ของตัวแทนซื้อขายสัญญาเองหรือใช้สถานที่ของบุคคลอื่น สถานที่นั้นต้องมีความมั่นคงและปลอดภัย และในกรณีที่เป็นการใช้สถานที่ของบุคคลอื่น ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องแจ้งให้บุคคลอื่นนั้นทราบอย่างชัดเจนด้วยว่าทรัพย์สินที่นำมาเก็บเป็นทรัพย์สินของลูกค้า
หมวด 4
การรายงานการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า
ข้อ 16 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องจัดทำรายงานแสดงทรัพย์สินและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าเป็นรายเดือน และจัดส่งให้แก่ลูกค้าภายในวันที่เจ็ดของเดือนถัดไป เว้นแต่กรณีที่ทรัพย์สินหรือฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนนั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ทรัพย์สินหรือฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกันขึ้นไป ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาจัดทำรายงานแสดงทรัพย์สินและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าอย่างน้อยทุกสามเดือนครั้งและจัดส่งให้แก่ลูกค้าภายในวันที่เจ็ดของเดือนถัดไป
ในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากลูกค้า ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาจัดทำและจัดส่งรายงานแสดงทรัพย์สินและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าให้แก่ลูกค้าตามที่ได้รับการร้องขอโดยไม่ชักช้า
ข้อ 17 รายงานแสดงทรัพย์สินและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าตามข้อ 16 ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ประเภททรัพย์สินของลูกค้า
(2) มูลค่าหรือจำนวนทรัพย์สินแต่ละประเภทและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคงค้างยกมาจากรายงานแสดงทรัพย์สินและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าในรอบระยะเวลาก่อนหน้า
(3) รายการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดจนมูลค่าหรือจำนวนทรัพย์สินหรือฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
(4) ยอดสุทธิของทรัพย์สินแต่ละประเภทและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า
ที่เปลี่ยนแปลงไป
(5) มูลค่าหรือจำนวนคงเหลือสุทธิของทรัพย์สินแต่ละประเภทและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคงค้าง
ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(นายประสงค์ วินัยแพทย์)
รองเลขาธิการ
รักษาการแทนเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ