ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาความผิดของธุรกิจจัดการลงทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday October 30, 2006 08:38 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                            30  ตุลาคม  2549
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่ กลต.น.(ว) 49/2549
เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาความผิดของธุรกิจจัดการกองทุน
ตามที่สำนักงานได้มีหนังสือให้สมาคมบริษัทจัดการลงทุนรวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการกรณีกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (“กองทุน”) ลงทุนไม่เป็นไปตามที่กำหนด นั้น
สำนักงานได้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินการตามความคิดเห็นของสมาชิกแล้ว และเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกัน รวมทั้งถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ดังนี้
1. ประเภทความผิด
1.1 การลงทุนเพื่อกองทุนที่ถือเป็นความผิดให้ดูรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1
1.2 กรณีกองทุนรวมครอบคลุมเฉพาะกรณีเป็นอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในขณะใดขณะหนึ่ง โดยกรณีที่เป็นอัตราส่วนเฉลี่ยในรอบปีบัญชี เช่น อัตราส่วนที่กำหนดในนโยบายการลงทุน สำนักงานจะดำเนินการทันที โดยไม่นับครั้ง
2. การดำเนินการ
2.1 บริษัทจะต้องจัดให้มีระบบที่จะตรวจสอบการลงทุนของกองทุนต่าง ๆ อยู่เสมอว่าเป็นไปตามอัตราส่วนที่กำหนดหรือไม่ กรณีที่บริษัทตรวจพบการกระทำผิด ต่อไปนี้ให้บริษัทยังไม่ต้องชี้แจง 4 องค์ประกอบที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามหนังสือที่ น.(ว) 60/2545 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการชี้แจงข้อมูลการกระทำความผิดของบริษัทจัดการและผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุน ลงวันที่ 19 กันยายน 2545ไปที่สำนักงาน แต่ให้ดำเนินการดังนี้
(1) ให้แก้ไขรายการดังกล่าวในวันที่รู้หรือวันทำการถัดไป (T+1) หากไม่สามารถทำได้ให้ชี้แจง 4 องค์ประกอบ และเสนอแผนให้สำนักงานทราบในวันทำการถัดไป (T+ 2)
(2) ให้ดำเนินการกับผลของการแก้ไขรายการ ดังนี้
- กรณีที่มีกำไร ให้นำกำไรเข้ากองทุน
- กรณีขาดทุน ให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้กองทุน โดยค่าชดเชยให้รวมทั้งยอดขาดทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรายการ เช่น ค่าธรรมเนียมในการขายหลักทรัพย์ ค่าปรับโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกรณีขายหลักทรัพย์โดยไม่มีในครอบครอง ค่าใช้จ่าย
ในการแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าเสียโอกาส
(3) ให้แจ้งผู้ถือหน่วยลงทุน หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลทางไปรษณีย์ หรือแจ้งในรายงานผลการดำเนินงาน หรือเปิดเผยบนเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งบริษัทสามารถเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งได้ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ลงทุน
เป็นสำคัญ
(4) ให้แจ้งสำนักงานภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่รู้ โดยกรณีกองทุนรวมให้แจ้งผู้ดูแลผลประโยชน์ด้วย ซึ่งข้อมูลที่แจ้งมีดังนี้ 1) ลักษณะความผิด 2) สาเหตุ 3) การแก้ไขของบริษัท 4) จำนวนผลกำไรหรือค่าชดเชยที่จ่ายให้ 5) วิธีการเปิดเผยข้อมูล
2.2 กรณีที่เกิดความผิดตาม 2.1 เป็นครั้งที่ 3 หรือกรณีที่ผลจากการลงทุนผิดนั้นเกิดขาดทุนเกิน 30,000 บาท ให้บริษัทดำเนินการตาม 2.1 และชี้แจง 4 องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปที่สำนักงานด้วย พร้อมทั้งแจ้งรายชื่อผู้จัดการกองทุนที่รับผิดชอบรายการลงทุน
ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และหากสำนักงานดำเนินการเปรียบเทียบปรับบริษัทจัดการใดเกี่ยวกับการลงทุน 3 ครั้งในรอบ 12 เดือน โดยมีผู้จัดการกองทุนรายเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันเป็นผู้ตัดสินใจลงทุน สำนักงานจะขอให้ผู้จัดการกองทุนมีหนังสือชี้แจงเหตุผลของการตัดสินใจดังกล่าวเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาลงโทษทางบริหารต่อไป
2.3 กรณีสำนักงานเห็นว่าบริษัทพบการกระทำความผิด แต่ไม่รายงานต่อสำนักงาน สำนักงานจะพิจารณาดำเนินการลงโทษอย่างเข้มงวดทุกกรณี
3. การนับความผิด
3.1 นับตามรายบริษัท โดยแยกนับเป็น 2 ส่วน คือ ผิดประเภทหลักทรัพย์ที่กำหนดและผิดอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด
3.2 นับแยกธุรกิจระหว่างกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคลซึ่งรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย เว้นแต่เป็นความผิดที่เกิดจากการลงทุนเพียงครั้งเดียวซึ่งทำให้ผิด 3 ธุรกิจ จะนับเป็น 1 ครั้ง หรือการลงทุนผิดครั้งเดียวให้กองทุนหลายกองทุน จะนับเป็น 1 ครั้ง
3.3 นับตามปีปฏิทิน ซึ่งจะตัดยอดความผิดเดิมออกทุกวันที่ 31 ธันวาคม โดยความผิดใน 2 ครั้งแรก หากดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด สำนักงานจะไม่ยกขึ้นดำเนินการ แต่หากมีความผิดเรื่องเดิมติดต่อกันหลายครั้ง (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) สำนักงานอาจให้บริษัทเสนอแผนในการแก้ไขระบบงาน ซึ่งหากยังมีการกระทำผิดอีก สำนักงานจะดำเนินการพิจารณาความผิดเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบงานเพิ่มเติมด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. การลงทุนที่ถือเป็นความผิดของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล
2. ตัวอย่างการนับครั้งความผิด
3. สรุปการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการลงทุน
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทร. 0-2263-6029
โทรสาร 0-2263-6289

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ