การดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(ฉบับที่ 2)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday May 2, 2006 10:25 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ. 19/2549
เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็น
ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(ฉบับที่ 2)
__________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 39 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ
แห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (7) ของข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 66/2547 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“(7) “หนี้สินพิเศษ” หมายความว่า
(ก) หนี้สินที่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืนเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่คำนวณรายการซึ่งไม่มีเงื่อนไขการชำระคืนก่อนกำหนดภายในหนึ่งปี ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่เกิดจากการให้สิทธิผู้กู้หรือผู้ให้กู้ไถ่ถอนก่อนกำหนด (put/call option) หรือเงื่อนไขอื่นในทำนองเดียวกัน เว้นแต่เป็นเงื่อนไขที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต.
(ข) ภาระผูกพันที่มีสัญญาระบุอย่างชัดเจนว่าเจ้าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นไม่มีสิทธิเรียกให้มีการชำระหนี้ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คำนวณรายการ
(ค) ผลรวมของหนี้สินรายการดังต่อไปนี้
1. เจ้าหนี้หลักทรัพย์ยืม
2. เจ้าหนี้ทรัพย์สินวางประกัน
3. บัญชีลูกค้า
4. หลักทรัพย์ขายโดยมีสัญญาซื้อคืน
(ง) หนี้สินอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (9) ของข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 66/2547 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“(9) “ทรัพย์สินที่ต้องวางเป็นประกัน” หมายความว่า ผลรวมของจำนวนทรัพย์สิน
ที่ลูกค้าต้องนำมาวางเป็นประกันสำหรับฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่คงค้างอยู่ตามอัตราหรือมูลค่าที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (10) ของข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 66/2547 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 66/2547 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 2 ให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเมื่อสิ้นวันทำการใด ๆ ไม่น้อยกว่าสิบห้าล้านบาทและไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดของหนี้สินทั่วไปและทรัพย์สินที่ต้องวางเป็นประกัน”
ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 2/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 66/2547 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 “ข้อ 2/1 มิให้นำความในข้อ 2 มาใช้บังคับกับตัวแทนซื้อขายสัญญาที่ได้หยุดการประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ทั้งนี้ ตราบเท่าที่ตัวแทนดังกล่าวยังคงหยุดการประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเรียกให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาตามวรรคหนึ่ง
ส่งเอกสารหรือรายงานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของบริษัทในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร”
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
(นายทนง พิทยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ