โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร (ฉบับที่ 4)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 19, 2009 11:05 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ ขส. 1/2552

เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร

(ฉบับที่ 4)

__________________________

ตามที่สำนักงานได้มีประกาศที่ ขส. 3/2550 เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550 แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน โครงสร้างการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงาน หน้าที่ของแต่ละส่วนงาน และสถานที่ติดต่อของสำนักงาน มาเพื่อทราบโดยทั่วกันแล้ว นั้น

โดยที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้อนุมัติให้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของฝ่ายกำกับตลาด ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์ ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ และฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล เพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารจัดการงานของสำนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

สำนักงานจึงขอแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนงานขององค์กรและอำนาจหน้าที่ของส่วนงานภายในสำนักงานเฉพาะส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลง มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ดังนี้

อำนาจหน้าที่ของส่วนงาน (เฉพาะส่วนงานที่มีการปรับปรุง)

ฝ่ายกำกับตลาด มีหน้าที่

(1) กำกับและพัฒนาโครงสร้างและกลไกตลาดทุน อันรวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลตนเอง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดอนุพันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

(2) กำกับดูแลหน่วยงานกำกับดูแลตนเอง รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชี ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่การทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงาน การเสนอแนะความเห็นในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (contract specification) การให้ความเห็นชอบผู้บริหาร การให้ความเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบการปฏิบัติงาน และการพิจารณาข้อร้องเรียน ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลตนเองข้างต้นมิให้หมายความรวมถึงสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

(3) กำกับดูแลธุรกรรมด้านตราสารหนี้ และตราสารที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งได้แก่ การออกและเสนอขาย ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูล การกำกับดูแลตัวกลาง องค์กรที่ทำหน้าที่การจัด อันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency) รวมทั้งศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเสนอขาย การประกอบธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ใหม่ และการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตัวกลางและองค์กร ที่เกี่ยวข้อง

(4) ติดตามข่าวและสภาพการซื้อขายในภาพรวมทั้งตลาด ทั้งการซื้อขายในตลาดตราสารทุนตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์ รวมทั้งประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

(5) ติดตามข่าวและสภาพการซื้อขายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแต่ละประเภทในตลาดอนุพันธ์

(6) ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนตามความเหมาะสม

(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์ มีหน้าที่

(1) กำกับดูแลบุคคลที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ บุคคลที่ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตั้งแต่การพิจารณาอนุญาตให้เริ่มประกอบธุรกิจ การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการในการประกอบธุรกิจ การตอบข้อหารือ รวมถึงการพิจารณา ข้อร้องเรียนและดำเนินการภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ

(2) กำกับดูแลและประสานงานกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตาม (1)

(3) รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตาม (1) และ (2)

(4) ตรวจสอบการดำเนินงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตตาม (1) และ (2) รวมถึงการพิจารณาลงโทษทางบริหารกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำหนด

(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ มีหน้าที่

(1) กำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนประเภทหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหุ้น และตราสารอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งได้แก่ การพิจารณาคำขออนุญาต การตรวจทานการเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าว และการสุ่มตรวจทาน การเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี

(2) ติดตามการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน รวมทั้งการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน

(3) ให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงิน รวมทั้งติดตามการปฏิบัติหน้าที่ และพิจารณาลงโทษเมื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

(4) ศึกษาแนวทางในการพัฒนาผู้ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

(5) ตรวจสอบข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน

(6) ขึ้นทะเบียนรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน

(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

ฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล มีหน้าที่

(1) ศึกษาแนวทางการเสริมสร้างบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) และการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ของบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ รวมทั้งการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งมาตรการเชิงบังคับและมาตรการเชิงสนับสนุน

(2) กำกับดูแลการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ

(3) ศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น และตราสารอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ

(4) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

สถานที่ติดต่อสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต.ชั้น 10 และชั้น 13-16 อาคารจีพีเอฟ วิทยุ เลขที่ 93/1 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทรศัพท์ 0-2695-9999 และ 0-2263-6499 โทรสาร 0-2256-7711

การติดต่อสำนักงาน หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถกระทำผ่านสำนักงานได้ตามสถานที่ทำการข้างต้น หรือทาง email: info@sec.or.th

นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th

ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


แท็ก ก.ล.ต.   ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ