การดูแลรักษาทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 28, 2009 11:29 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทด. 98/2552

เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญา

ซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก

_____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 82 และมาตรา 83 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 34(2)แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“สำนักหักบัญชีสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“ทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก” หมายความว่า

(1) ทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาได้รับมาจากสมาชิกทั้งที่เป็นของสมาชิกและของลูกค้าเพื่อเป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(2) ทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาได้รับมาเนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งของสมาชิกและของลูกค้า

(3) ทรัพย์สินที่สมาชิกนำมาวางไว้กับสำนักหักบัญชีสัญญาเพื่อความมั่นคงของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วง หน้า

ข้อ 2 สำนักหักบัญชีสัญญามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิกโดยจะมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการดังกล่าวแทนมิได้

การที่สำนักหักบัญชีสัญญาจัดเก็บทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิกตามวิธีการที่กำหนดในข้อ 4 มิให้ถือว่าเป็นการมอบหมายให้ผู้อื่นดูแลรักษาทรัพย์สินดังกล่าวแทนตน

ข้อ 3 ในการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก สำนักหักบัญชีสัญญาต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำและเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิกแยกจากบัญชีทรัพย์สินของสำนักหักบัญชีสัญญาโดยให้ดำเนินการแยกเป็นบัญชีของสมาชิกแต่ละรายด้วย รวมทั้งจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแยกจากบัญชีทรัพย์สินของสมาชิกให้ถูกต้องครบถ้วน ตรงต่อความเป็นจริงและเป็นปัจจุบัน

(2) จัดเก็บทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิกให้มีความมั่นคงปลอดภัยและมีรายการและจำนวนตรงตามที่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินตาม (1)

(3) จัดเก็บทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิกแยกจากทรัพย์สินของสำนักหักบัญชีสัญญาในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิกโดยปราศจากเหตุสงสัย

(4) รายงานการดูแลรักษาทรัพย์สินดังกล่าวให้สมาชิกทราบภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ให้สำนักหักบัญชีสัญญากำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 4 ในการดูแลรักษาทรัพย์สินที่ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก หากสำนักหักบัญชีสัญญาได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการแยกทรัพย์สินตามข้อ 3(3) แล้ว

(1) ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินประเภทเงิน ให้จัดเก็บโดยการฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือลงทุนตามกรอบหรือนโยบายการลงทุนที่สำนักหักบัญชีสัญญากำหนด โดยให้ระบุว่าการฝากหรือการลงทุนดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยสำนักหักบัญชีสัญญาเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามที่กำหนดในมาตรา 83 ทั้งนี้ ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนด้วย

(2) ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์ ให้จัดเก็บโดยการฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทยโดยให้ระบุว่าการฝากหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยสำนักหักบัญชีสัญญาเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามที่กำหนดในมาตรา 83 ทั้งนี้ ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนด้วย

ข้อ 5 ในการกำหนดกรอบหรือนโยบายการลงทุนตามข้อ 4(1) ให้สำนักหักบัญชีสัญญาคำนึงถึงสภาพคล่องและความเสี่ยงในการลงทุน ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของระบบการซื้อขายและการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ให้สำนักหักบัญชีสัญญารายงานกรอบหรือนโยบายการลงทุนที่กำหนดขึ้น ตลอดจนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรอบหรือนโยบายการลงทุนดังกล่าว ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยไม่ชักช้า

ข้อ 6 สำนักหักบัญชีสัญญาต้องตรวจสอบและดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามประกาศและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งสำนักหักบัญชีสัญญากำหนดขึ้นโดยเคร่งครัด

ข้อ 7 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่าสำนักหักบัญชีสัญญาแห่งใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือกฎเกณฑ์ที่สำนักหักบัญชีสัญญากำหนดขึ้น หรือดำเนินการที่ไม่เหมาะสมในการประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีสัญญา สำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งให้สำนักหักบัญชีสัญญาแห่งนั้น ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศและกฎเกณฑ์ดังกล่าว หรือดำเนินการใดๆ ตามที่เห็นสมควรได้

ข้อ 8 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 52/2548 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 9 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 52/2548 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้การออก

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก เป็นอำนาจของคณะกรรมการ

กำกับตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 52/2548 เรื่อง

การดูแลรักษาทรัพย์สินที่สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้รับมาหรือมีไว้เพื่อสมาชิก ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2548 จึงจำเป็น

ต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ