นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 23, 2009 14:08 —ประกาศ ก.ล.ต.

23 พฤศจิกายน 2552

เรียน ผู้จัดการ

บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ

กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท

ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย

ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย

นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ที่ น.(ว) 15/2552

เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจด้วยสำนักงานได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ

ตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 58/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 2)

ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การแก้ไขเพิ่มเติมสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิง (underlying) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (derivatives) และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured notes)

1.1) เพิ่มดัชนีเงินเฟ้อ โดยดัชนีเงินเฟ้อดังกล่าวอาจอ้างอิงได้กับแหล่งข้อมูลที่คำนวณโดยหน่วยงานราชการไทย เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (consumer price index: CPI) ที่รายงานโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือที่คำนวณโดยหน่วยงานราชการต่างประเทศ เช่น ดัชนีเงินเฟ้อ (CPI) ประเภท consumer price index all urban consumer (CPI-U) ที่รายงานโดย U.S. Department of Labor ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือผู้พัฒนาดัชนีสามารถคำนวณขึ้นมาเองได้ หากสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าดัชนีที่พัฒนาขึ้นมาเองนั้น สามารถสะท้อนอัตราเงินเฟ้อได้

1.2) ปรับปรุงถ้อยคำให้ชัดเจนว่า ดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ต้องมีองค์ประกอบเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หลาย ๆ ชนิด ยกเว้น ดัชนีทองคำและดัชนีน้ำมันดิบที่สามารถเป็นดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์รายชนิดได้ (single commodity index) ทั้งนี้ ดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาจคำนวณจากราคา spot หรือราคา futures ของสินค้าโภคภัณฑ์หลาย ๆ ชนิด หรือดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์รายชนิดหลาย ๆ ดัชนีก็ได้

1.3) ปรับปรุงถ้อยคำให้ชัดเจนว่า ราคาของ underlying ที่กองทุนลงทุนอ้างอิงสามารถเป็นได้ทั้งราคาปัจจุบัน (spot) และราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures)

2. การแก้ไขลักษณะของดัชนีทางการเงินที่เป็นตัวแปร

2.1) ยกเลิกข้อกำหนดให้ดัชนีต้องเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในตลาดการเงินไทยหรือสากล แต่เน้นเรื่องการกระจายตัวขององค์ประกอบของดัชนีแทน โดยอนุญาตให้สามารถลงทุนอ้างอิงกับดัชนีได้ในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ดัชนีที่กระจายตัว (diversified index)

องค์ประกอบของดัชนีต้องเป็น underlying ตามที่สำนักงานประกาศกำหนด และน้ำหนักขององค์ประกอบใด ๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 20 โดยอนุญาตให้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งสูงสุดไม่เกินร้อยละ 35 ได้เฉพาะกรณีที่เป็นไปตามสภาวะตลาด ยกเว้น กรณีที่เป็นดัชนีทองคำ หรือดัชนีน้ำมันดิบ ไม่จำเป็นต้องกระจายตัว เพราะกองทุนสามารถลงทุนอ้างอิงได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นดัชนีที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (high yield bond index) ให้บริษัทจัดการนำตราสารที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีดังกล่าวมารวมคำนวณในอัตราส่วนการลงทุนเสมือนลงทุนในตราสารดังกล่าวเองโดยตรงด้วย

(ข) ดัชนีที่ไม่กระจายตัว (non-diversified index)

ให้บริษัทจัดการนำองค์ประกอบของดัชนีที่ไม่กระจายตัวมารวมคำนวณในอัตราส่วนการลงทุนเสมือนกองทุนลงทุนในองค์ประกอบดังกล่าวโดยตรงด้วย

(ตัวอย่างการพิจารณาการกระจายตัวขององค์ประกอบของดัชนีและการนำองค์ประกอบมารวมคำนวณเสมือนลงทุนโดยตรงตามเอกสารแนบ)

2.2) ต้องมีการคำนวณดัชนีให้เป็นปัจจุบันตามความเหมาะสมขององค์ประกอบของดัชนี เช่น คำนวณทุกวันทำการกรณีเป็นดัชนีหุ้น คำนวณทุกเดือนหากเป็นดัชนีเงินเฟ้อ เป็นต้น

2.3) ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระจากบริษัทจัดการ โดยหากเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน บริษัทจัดการต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกรณีที่กองทุนลงทุนใน derivatives หรือ structured notes ที่อ้างอิงกับดัชนี บริษัทจัดการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเหตุในการเปลี่ยนแปลงการคำนวณหรือการยกเลิกการคำนวณดัชนี และแนวทางการดำเนินการเพื่อรองรับเหตุดังกล่าวในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือสัญญารับจัดการกองทุนด้วย

3. การแก้ไขลักษณะของ structured notes ที่ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเป็นการทั่วไป โดยบริษัทจัดการไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการลงทุนอีก (auto-approve)

3.1) เพิ่มดัชนีเงินเฟ้อและเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารหนี้หรือผู้ออกตราสารหนี้เป็น underlying ที่เข้าข่ายได้รับ auto-approve

3.2) ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ structured notes ที่เข้าข่ายได้รับ auto-approve ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ออกชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนให้แก่กองทุนเมื่อครบกำหนดอายุตราสาร

ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทั้งก่อนการลงทุนและตลอดระยะเวลาที่ลงทุน โดยมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรเก็บไว้ที่บริษัทจัดการด้วย

4. ยกเลิกข้อกำหนดให้บริษัทจัดการที่จะเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มี underlying เป็นทองคำ น้ำมันดิบ และดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ต้องส่งหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งแสดงข้อมูลความเสี่ยงและแนวทางการบริหารความเสี่ยงต่อสำนักงานเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุน

5. ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ

ขอแสดงความนับถือ

(นายประกิด บุณยัษฐิติ)

ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

เลขาธิการแทน

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 58/2552เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

2. เอกสารแนบ

ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

โทรศัพท์ 0-2695-9693

โทรสาร 0-2695-9914

เอกสารแนบ

ตัวอย่างการพิจารณาการกระจายตัวขององค์ประกอบของดัชนี และการนำองค์ประกอบของดัชนีมารวมคำนวณเสมือนลงทุนโดยตรง

ตัวอย่างการพิจารณาการกระจายตัวขององค์ประกอบของดัชนี

ตัวอย่างที่ 1 : กรณีดัชนีมีองค์ประกอบเป็นหุ้นบริษัท A B C D และ E

                    อันดับ       องค์ประกอบ          น้ำหนักบนดัชนี

กรณีที่ 1 กรณีที่ 2

                    1          บริษัท A          30%          40%
                    2          บริษัท B          20%          20%
                    3          บริษัท C          20%          20%
                    4          บริษัท D          20%          10%
                    5          บริษัท E          10%          10%

กรณีที่ 1 : ถือว่ากระจายตัวอย่างเพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณในอัตราส่วนการลงทุน หากน้ำหนักของบริษัท A เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะตลาด เช่น market capitalization

กรณีที่ 2 : ถือว่าไม่กระจายตัวอย่างเพียงพอ โดยให้ look through โดยนำองค์ประกอบทั้งหมดของดัชนีมารวมคำนวณในอัตราส่วนการลงทุนเสมือนลงทุนโดยตรง

ตัวอย่างที่ 2 : กรณีดัชนีที่มีองค์ประกอบเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

          อันดับ          องค์ประกอบ                 น้ำหนักบนดัชนี
                                        กรณีที่ 1       กรณีที่ 2       กรณีที่ 3
          1          Wheat index         30%          20%          40%
          2          Gold index          20%          50%          20%
          3          Soybean index       20%          10%          20%
          4          Lean Hogs index     20%          10%          10%
          5          Copper index        10%          10%          10%

กรณีที่ 1 : ถือว่ากระจายตัวอย่างเพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณในอัตราส่วนการลงทุน หากน้ำหนักของ wheat index เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะตลาด

กรณีที่ 2 : แม้ว่าน้ำหนักของ gold index ที่องค์ประกอบของดัชนีจะเกินกว่าร้อยละ 20 แต่เนื่องจากทองคำเป็น underlying ที่กองทุนสามารถลงทุนอ้างอิงได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงถือว่าเป็นดัชนีที่กระจายตัว ไม่ต้องนำองค์ประกอบมารวมคำนวณในอัตราส่วนการลงทุน

กรณีที่ 3 : ถือว่าไม่กระจายตัวอย่างเพียงพอ และเนื่องจาก commodity ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีดังกล่าวไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้หลัก look through กองทุนจึงไม่สามารถลงทุนอ้างอิงกับดัชนีนี้ได้

ตัวอย่างการนำองค์ประกอบของดัชนีมารวมคำนวณเสมือนลงทุนโดยตรงสมมติว่ากองทุนลงทุนอ้างอิงกับดัชนีตามตัวอย่างที่ 1 กรณีที่ 2 ข้างต้น 100 ล้านบาท โดยมีอัตราการอ้างอิง (participation rate) เท่ากับ 100%

องค์ประกอบ น้ำหนัก

บนดัชนี การคำนวณมูลค่าการลงทุนในองค์ประกอบของดัชนี

(เงินลงทุน*น้ำหนักบนดัชนี)

          บริษัท A          40%          100 ลบ. * 40% = 40 ลบ.
          บริษัท B          20%          100 ลบ. * 20% = 20 ลบ.
          บริษัท C          20%          100 ลบ. * 20% = 20 ลบ.
          บริษัท D          10%          100 ลบ. * 10% = 10 ลบ.
          บริษัท E          10%          100 ลบ. * 10% = 10 ลบ.

ให้บริษัทจัดการนำมูลค่าการลงทุนในองค์ประกอบต่าง ๆ ของดัชนีตามตารางข้างต้นไปรวมคำนวณกับการลงทุนโดยตรงในองค์ประกอบนั้น ๆ โดยผลรวมของการลงทุนในองค์ประกอบนั้น ๆ จะต้องไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนตามที่ประกาศกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ