หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 11)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday October 25, 2006 10:24 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กย. 26/2549
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์
อันเป็นตราสารแห่งหนี้
(ฉบับที่ 11)
___________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 8 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์
และเก็บรักษาไว้ให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบันอย่างน้อยเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีการซื้อขาย โดยการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวในระยะเวลาสองปีแรกต้องกระทำในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 16/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กข. 19/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์ อันเป็นตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 16/1 ในการพิจารณาทำธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์กับลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการทำความรู้จักลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยต้องมีกระบวนการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าเป็นบุคคลเดียวกับที่ปรากฏตามเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบ
การขอทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า ตลอดจนต้องพิจารณาและจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะทราบถึงฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และสำหรับกรณีลูกค้ารายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะทราบถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน ระดับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของลูกค้ารายย่อยนั้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาทำธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์และการให้คำแนะนำกับลูกค้าด้วย
บริษัทหลักทรัพย์ต้องทำความรู้จักลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องปรับปรุงข้อมูลของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งทบทวนความสามารถในการชำระหนี้และวงเงินซื้อขายของลูกค้าแต่ละราย(Total Exposure) เป็นประจำ
บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไว้ให้ครบถ้วนในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที และต้องจัดเก็บเอกสารดังกล่าวต่อไปอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อยห้าปีนับแต่วันที่มีการเลิกสัญญากับลูกค้า
ความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามให้ใช้กับคู่ค้าที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ตามกฎหมายต่างประเทศด้วย”
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 20/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543
“ข้อ 20/1 นอกจากที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติและเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้”
ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และผู้มีอำนาจควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า ตลอดจนต้องจัดให้มีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ในส่วนของลูกค้ารายเดิมทุกรายที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่เคยมีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ 2 และข้อ 4 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ