การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 6)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday June 20, 2005 14:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กจ. 28/2548
เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขาย
ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่
(ฉบับที่ 6)
_____________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 14 มาตรา 34(1) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“(1) คำว่า “ผู้บริหาร” “ผู้มีอำนาจควบคุม” “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” “บริษัทร่วม” “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” “บริษัท” “ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะ” “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” และ “บริษัทจดทะเบียน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์
(2) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์
(3) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น” หมายความว่า
(ก) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือใบแสดงสิทธิที่ออกโดยบริษัทอื่น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้
(ข) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาหุ้นหรือราคาใบแสดงสิทธิที่ออกโดยบริษัทอื่น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ กับราคาที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ราคาของหุ้นหรือราคาของใบแสดงสิทธิที่ออกโดยบริษัทอื่น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิ
อนุพันธ์
(4) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์” หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของดัชนีหลักทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ กับดัชนีหลักทรัพย์ที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ดัชนีหลักทรัพย์ที่กำหนดไว้สูงกว่าดัชนีหลักทรัพย์ที่กำหนดในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(5) “ใบแสดงสิทธิ” หมายความว่า ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงที่มีหลักทรัพย์รองรับเป็นหุ้น ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยโดยบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย
(6) “หุ้นอ้างอิง” หมายความว่า
(ก) หุ้นหรือใบแสดงสิทธิรายการใดรายการหนึ่งหรือหลายรายการ ที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นตาม (3)(ก) มีสิทธิที่จะซื้อจากบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ
(ข) หุ้นหรือใบแสดงสิทธิรายการใดรายการหนึ่งหรือหลายรายการ ที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ตาม (3)(ข) กำหนดให้ใช้ราคาหุ้นหรือราคาใบแสดงสิทธินั้นเป็นฐานในการคำนวณส่วนต่างของราคาหุ้นหรือราคาใบแสดงสิทธิเพื่อประโยชน์ในการกำหนดจำนวนเงินที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวมีสิทธิจะได้รับ
(7) “ดัชนีอ้างอิง” หมายความว่า ดัชนีที่บริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์กำหนดให้ใช้ระดับของดัชนีนั้นเป็นฐานในการคำนวณส่วนต่างของดัชนีหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการกำหนดจำนวนเงินที่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวมีสิทธิจะได้รับ
(8) “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน” หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ผู้ขออนุญาตจะจัดให้มีการฝากทรัพย์สินไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สินเสมือนเป็นประกันในการให้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้น
(9) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
(10) “บุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง” หมายความว่า บุคคลที่อยู่ในฐานะที่อาจมีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงอันเนื่องมาจากการมีโครงสร้างการถือหุ้นหรือโครงสร้างการจัดการร่วมกับบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงนั้น
(ข) มีบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
(ค) มีผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง
(ง) มีกรรมการหรือผู้บริหารเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพันหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง
(จ) มีโครงสร้างการถือหุ้นหรือการจัดการในลักษณะอื่นใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำขออนุญาตมีอำนาจควบคุมบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง หรือมีบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเป็นผู้มีอำนาจควบคุม หรือมีผู้มีอำนาจควบคุมเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีอำนาจควบคุมบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงการนับรวมจำนวนหุ้นตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวด้วย และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล ให้นับรวมการถือหุ้นของกรรมการและผู้บริหารในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ของนิติบุคคลดังกล่าวด้วย
(11) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของ (1) ในข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 “ในกรณีที่เป็นการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่ให้สิทธิที่จะซื้อใบแสดงสิทธิ หรือให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาใบแสดงสิทธิ
ข้อกำหนดเรื่องบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงในข้อ 12(3) ข้อ 22(3) และข้อ 37(2) ให้พิจารณาถึงบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นที่ใช้เพื่อรองรับใบแสดงสิทธิแทน และข้อกำหนดเรื่องการจัดทำบทวิเคราะห์เผยแพร่แก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับความเหมาะสมในการลงทุนหรือราคาของหุ้นอ้างอิงในข้อ 28(2) ให้พิจารณารวมถึงหุ้นที่ใช้เพื่อรองรับใบแสดงสิทธิด้วย”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 8 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ซึ่งให้สิทธิที่จะซื้อหุ้นอ้างอิงซึ่งเป็นหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าว รวมกับจำนวนเงินที่จะชำระเป็นค่าซื้อหุ้นอ้างอิงตามสิทธิดังกล่าว”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (2) ของวรรคหนึ่งในข้อ 10 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) เป็นการเสนอขายแก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะ”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งและวรรคสองของข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 11 การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่กองทุนรวมใด
กองทุนรวมหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นหรือมีการลงทุนในลักษณะที่เป็นเครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามหมวด 2 มิให้ถือเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะ
เว้นแต่กรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามวรรคสาม ให้การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่กองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการเสนอขายที่มิให้ถือเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะ
(1) กองทุนรวมนั้นมิได้จำกัดการเสนอขายหน่วยลงทุนเฉพาะแก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันหรือที่มีลักษณะเฉพาะ
(2) การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ให้กองทุนรวมนั้นเป็นไปตามข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์กับบริษัทจัดการ โดยบริษัทจัดการ
ดังกล่าวไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายนั้นในระดับเดียวกับการบริหารกองทุนรวมทั่วไป และ
(3) มีการลงทุนของกองทุนรวมในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายใน
ลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) ลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
ในแต่ละครั้งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมนั้น หรือ
(ข) ลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
เกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่ารวมของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง”
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“ข้อ 12 บริษัทที่ประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัดต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน และจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อเป็นไปตาม
หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(ข) ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์เป็นสาขาเต็มรูปแบบในประเทศไทย หรือ
(ค) บริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยหรือธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย
(2) ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1)(ก) หรือผู้มีอำนาจอนุมัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1)(ข) หรือ (ค) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตาม (1)(ก) มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามมาตรา 56 หรือเป็นบริษัทจดทะเบียน และไม่เคยเสนอขาย
ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ หรือไม่มีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยผู้ขออนุญาต คงค้างอยู่ในระยะเวลาสองปีก่อนยื่นคำขออนุญาต ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยในการมีมตินั้น ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และนโยบายในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวแล้วด้วย
(3) ผู้ขออนุญาตไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง ในกรณีเป็นการขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของข้อ 13 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“การอนุญาตตามหมวดนี้มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่อนุญาต โดยในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ได้หลายครั้งหากพ้นระยะเวลาตามวรรคสองแล้ว ให้การอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง”
ข้อ 8 ให้ยกเลิกความในข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 17 ผู้ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ ต้องดำเนินการเพื่อให้การเสนอขายและการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในทอดใด ๆ จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนที่กำหนดในส่วนที่ 1 จนกว่าสิทธิเรียกร้องตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะระงับลง โดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จดทะเบียนข้อจำกัดการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ต่อสำนักงานในลักษณะที่แสดงได้ว่าการลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ภายหลังการลงทะเบียน มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 10
(2) ตรวจสอบความถูกต้องของการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หากพบว่าเป็นการโอนที่จะขัดต่อข้อจำกัดการโอนตาม (1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงทะเบียนการโอนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้น เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก
ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีนายทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้นายทะเบียนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย
(3) ไม่ทำการโฆษณาการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และหากจะมีการ
แจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย บริษัทต้องแจกจ่ายให้เฉพาะบุคคลที่มีลักษณะหรือมีจำนวน
อยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในข้อ 10(1) หรือ (2) และต้องระบุข้อความที่แสดงถึงข้อจำกัดดังกล่าวด้วย
(4) จัดให้มีข้อความที่อธิบายถึงลักษณะข้อจำกัดการโอนตาม (1) ในตราสารกำกับ
ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์”
ข้อ 9 ให้ยกเลิกความใน (2) ของข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) เอกสารประกอบการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (ถ้ามี)”
ข้อ 10 ให้ยกเลิกความในข้อ 19/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 65/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“ข้อ 19/1 นอกจากการรายงานตามมาตรา 81 แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ให้สิทธิที่จะได้รับชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างของราคาหุ้นอ้างอิงหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในดัชนีหลักทรัพย์ ยื่นรายงานผลการใช้สิทธิตามใบสำคัญ
แสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าว แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด”
ข้อ 11 ให้ยกเลิกความในข้อ 22 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 7/2548 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 22 บริษัทที่ประสงค์จะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อประชาชนต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน โดยต้องจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำคำขออนุญาตดังกล่าว เว้นแต่ผู้ขออนุญาตนั้นเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
1. เป็นบริษัทหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมหรือเฉพาะประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวแสดงได้ว่า จะสามารถบริหารความเสี่ยงจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ขออนุญาตได้
2. เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าร้อยล้านบาทตามงบการเงินล่าสุดที่ผ่านการตรวจสอบหรือสอบทานจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวจะขออนุญาตได้เฉพาะกรณีเป็นการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน
(ข) ธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์เป็นสาขาเต็มรูปแบบในประเทศไทย หรือ
(ค) บริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่มีสาขาที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยหรือธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตามวรรคหนึ่ง (ข) หรือ (ค) ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทซึ่งมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) และบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสาธารณชนตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานหรือองค์การดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
(2) ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1)(ก) หรือผู้มีอำนาจอนุมัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1)(ข) หรือ (ค) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตาม (1)(ก) ซึ่งมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามมาตรา 56 หรือเป็นบริษัทจดทะเบียน และไม่เคยเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ หรือไม่มีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยผู้ขออนุญาต คงค้างอยู่ในระยะเวลาสองปีก่อนยื่นคำขออนุญาต ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ โดยในการมีมตินั้นผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และนโยบายในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวแล้วด้วย
(3) ผู้ขออนุญาตไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงในกรณีเป็นการขออนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น
(4) (ก) มีผู้บริหารที่เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (ข) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลมในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลตาม (1)(ข) หรือ (ค) ผู้ขออนุญาตต้องมีผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งในสาขาในประเทศไทย เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง (ก)
(5) ไม่มีประวัติการขาดความรับผิดชอบในการเป็นบริษัทที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และไม่มีผู้บริหารที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในบริษัทที่มีประวัติดังกล่าว”
ข้อ 12 ให้ยกเลิกความในข้อ 26 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“ข้อ 26 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 22(1)(ก) 1. ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ หากผู้ได้รับอนุญาตประสงค์จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยผู้ได้รับอนุญาตนั้นเอง ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานทราบก่อนเริ่มทำการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้นอย่างน้อยสามวันทำการ
ในการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้ซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ได้เสนอขายไปกลับคืนมา หากผู้ได้รับอนุญาตจะเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์นั้นออกไปอีก ให้ผู้ได้รับอนุญาตเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ที่มีจำนวน ลักษณะ และเงื่อนไขเช่นเดียวกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ซื้อกลับคืนมาได้ โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว และกรณีเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้น ให้ถือว่าได้รับการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงจากสำนักงานแล้วด้วย”
ข้อ 13 ให้ยกเลิกความในข้อ 29 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 65/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ข้อ 30 และข้อ 31 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 24/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 29 เว้นแต่กรณีการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นประเภทที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวน ผู้ได้รับอนุญาตที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 22(1)(ก) 1. ที่มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท โดยเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิดังกล่าวต้องมีอัตราส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดของหนี้สินทั่วไป และมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ในวันที่เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่
(1) ผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ทำธุรกรรมด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้านอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้บังคับแก่กรณี
(2) ผู้ได้รับอนุญาตได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขให้ผู้ได้รับอนุญาตได้รับชำระหนี้จากคู่สัญญาในจำนวนและระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับจำนวนและระยะที่ผู้ได้รับอนุญาตต้องชำระหนี้ให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขายนั้น (back to back agreement) ทั้งนี้ คู่สัญญาของผู้ได้รับอนุญาตในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวต้องเป็นบุคคลที่ผู้ได้รับอนุญาตระบุไว้ในคำขออนุญาตหรือได้แจ้งแก้ไขเพิ่มเติมให้สำนักงานทราบล่วงหน้าแล้วไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนการเสนอขาย
ข้อ 30 ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
ที่เสนอขายแต่ละครั้งต้องเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวนเท่านั้น
(1) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีลักษณะตาม
ข้อ 22(1)(ก) 2.
(2) ธนาคารต่างประเทศ บริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่มีลักษณะตามข้อ 22(1)(ข) หรือ (ค) เฉพาะที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
ข้อ 31 ผู้ได้รับอนุญาตต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับสูงสุดโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีการค้ำประกันในลักษณะดังต่อไปนี้ สำหรับการชำระหนี้ตามใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่เสนอขาย
(1) ผู้ค้ำประกันได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับสูงสุดจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ