การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 6)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday February 23, 2007 08:29 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 1/2550
เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ฉบับที่ 6)
______________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 141(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบกับข้อ 16 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และข้อ 4(2) ข้อ 18(6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 11 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 18/2548 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548
“ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมเปิดที่มีเหตุต้องเลิกกองทุนรวมโดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหรือในวันที่ครบกำหนดจัดทำและจัดส่งหนังสือชี้ชวน
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (2) ของข้อ 14 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 6/2549 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) ไม่จัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
(ก) เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังต่อไปนี้
1. กองทุนรวมวายุภักษ์
2. กองทุนรวมตราสารแห่งทุนซึ่งมิใช่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ
3. กองทุนรวมตลาดเงินที่โครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวกำหนดการดำรงอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่จะได้รับจากทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนไว้ (portfolio duration) ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินหกเดือน แต่ทั้งนี้ การจัดสรรหน่วยลงทุนให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดต้องไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(ข) บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป
(ค) บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิ หรือวัด เป็นต้น
(ง) บุคคลอื่นใดที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (2) และ (3) ของข้อ 21/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 6/2549 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(2) เป็นการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามข้อ 14(2)(ก)
(3) เป็นการถือหน่วยลงทุนโดยบุคคลตามข้อ 14(2)(ข) (ค) หรือ (ง)”
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 21/3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 6/2549 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 21/3 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีการจัดตั้ง จัดการ หรือใช้กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อการแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือธุรกิจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด สำนักงานจะดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทำการชี้แจง แสดงเหตุผล ข้อเท็จจริง และหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด
(2) ในกรณีที่ไม่มีการชี้แจงตาม (1) หรือชี้แจงแล้วแต่ไม่อาจพิสูจน์หรือทำให้เชื่อได้ว่าการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวเป็นการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง สำนักงานจะสั่งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทำการแก้ไข หรือดำเนินการใด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง
(3) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการตามที่สำนักงานสั่งตาม (2) หรือดำเนินการแล้วแต่ไม่สามารถทำให้กองทุนรวมนั้นเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง สำนักงานจะเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “ผู้ประกัน” ในข้อ 22 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้
ความต่อไปนี้แทน
““ผู้ประกัน” หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้”
ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 25 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
“ข้อ 25 ผู้ประกันของกองทุนรวมมีประกันต้องมิใช่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมมีประกันดังกล่าว”
ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 34/2 ของหมวด 6/1 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการ
กองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 18/2548 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548
“ข้อ 34/2 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันเหตุของการสิ้นสุดลงของการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามข้อ 20(1) และ (2) หรือการดำเนินการตามข้อ 20 วรรคสอง ต่อสำนักงานได้”
ข้อ 8 ให้เพิ่มความดังต่อไปนี้เป็น (4) ของข้อ 45 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 18/2548 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548
“(4) มีข้อความที่ให้ลูกค้ามีสิทธิเลิกสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ลงนามในสัญญาโดยไม่ต้องแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทราบล่วงหน้าและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่บริษัทเนื่องจากการเลิกสัญญาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการทำสัญญากับลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ”
ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในเรื่องดังต่อไปนี้ 1. การผ่อนผันการจัดทำ
หนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมเปิดให้เป็นปัจจุบันทุกรอบระยะเวลาบัญชี 2. การผ่อนผันการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนเกินกว่าหนึ่ง
ในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด 3. การดำเนินการของสำนักงานเมื่อมีการใช้กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปผิด
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนรวมประเภทดังกล่าว 4. การกำหนดลักษณะของผู้ประกันของกองทุนรวมมีประกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5. การเพิ่มเติมเหตุที่กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศจะขอผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งประกาศ ที่ สน. 23/2547
และ 6. การกำหนดลักษณะของสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลเพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ