นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 29, 2010 10:59 —ประกาศ ก.ล.ต.

29 มีนาคม 2553

เรียน ผู้จัดการ

บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมทุกบริษัท

ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ที่ น.(ว) 18/2553 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ด้วยคณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้เห็นชอบการแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1. ประกาศ ที่ สน. 5/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553 (“ประกาศที่ สน. 5/2553”)

2. ประกาศ ที่ สข/น. 6/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553 (“ประกาศที่ สข/น. 6/2553”)

3. ประกาศ ที่ สน. 7/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553 (“ประกาศที่ สน. 7/2553”)

เพื่อรองรับการนำกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศมาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ผ่านกองทุนรวมอีทีเอฟในประเทศไทย (Thai ETF on foreign ETF) โดยแก้ไขข้อจำกัดในการจัดตั้งกองทุนรวมอีทีเอฟ และนิยามผู้ดูแลสภาพคล่องให้ครอบคลุมถึงการลงทุนใน foreign ETF กำหนดลักษณะของ foreign ETF ที่กองทุนรวมอีทีเอฟ สามารถลงทุนได้ กำหนดรูปแบบการจัดตั้ง Thai ETF on foreign ETF และปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอีทีเอฟ โดยทั่วไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ประกาศทั้ง 3 ฉบับข้างต้นมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ประกาศ ที่ สน. 5/2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (ประกาศจัดตั้ง)

1.1 แก้ไขข้อจำกัดในการจัดตั้งกองทุนรวมอีทีเอฟ และนิยามของผู้ดูแลสภาพคล่องเพื่อรองรับ foreign ETF

(1) ข้อจำกัดในการจัดตั้ง (ข้อ 58(2) (ค))แก้ไขให้กองทุนรวมอีทีเอฟสามารถมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาหน่วยลงทุนของ foreign ETF ได้

(2) นิยามของผู้ดูแลสภาพคล่อง (ข้อ 5(2) (ฑ))แก้ไขนิยามให้กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ดูแลสภาพคล่องสามารถทำหน้าที่เพื่อให้ราคาซื้อขายกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรองสะท้อนมูลค่า foreign ETF ที่อ้างอิงได้

1.2 กำหนดลักษณะการจัดตั้ง Thai ETF on foreign ETF ซึ่งสามารถจัดตั้งในลักษณะ feeder fund หรือ fund of funds ก็ได้ โดยต้องมีการบริหารจัดการในลักษณะเชิงรับด้วย (passive management) (ข้อ 58/1(1))

passive management หมายถึง การจัดการในลักษณะที่ไม่ใช้ดุลยพินิจในการลงทุน ดังนั้น Thai ETF on foreign ETF ควรลงทุนเกือบทั้งหมดใน foreign ETF เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ foreign ETF มากที่สุด และไม่ควรมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (derivatives) เพื่อการแสวงหากำไร

นอกจากนี้ Thai ETF on foreign ETF ที่จัดตั้งในลักษณะ fund of funds บริษัทจัดการต้องกำหนดสัดส่วนการลงทุนใน foreign ETF แต่ละกองให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนรวม อย่างไรก็ดี หาก foreign ETF ที่ลงทุนประสบปัญหา บริษัทจัดการสามารถหา foreign ETF ใหม่มาทดแทนได้โดยต้องระบุเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ในโครงการด้วย ทั้งนี้ กรณี foreign ETF บางกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง กรณีนี้จะพิจารณาเป็นกองทุนรวมเดียวกัน เช่น SPDR gold trust เป็นต้น

อนึ่ง เนื่องจาก Thai ETF on foreign ETF เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) จึงมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประเทศ บริษัทจัดการต้องเปิดเผยความเสี่ยงและนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวนด้วย

1.3 กำหนดลักษณะของ foreign ETF ที่ Thai ETF สามารถลงทุนได้ (ข้อ 58/1(2))

(1) ต้องไม่มีลักษณะซับซ้อน และมีการอ้างอิงกับดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์หรือดัชนีราคาสินค้าที่แพร่หลายเท่านั้น เช่น ดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ดัชนีราคาน้ำมัน ดัชนีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น หรือมีการอ้างอิงกับราคาทองคำ ในกรณีที่อ้างอิงกับดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ต้องเป็นดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federations of Exchange (“WFE”) และดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ดังกล่าวมีองค์ประกอบทั้งหมดเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ WFE ด้วย

(2) ต้องมีการบริหารจัดการในลักษณะเชิงรับ (passive management)

(3) ต้องมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ WFE และต้องมีลักษณะตามข้อ 21 ของประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2552

อนึ่ง กรณีประสงค์จะลงทุนใน foreign ETF ที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำ สำนักงานจะพิจารณาอนุมัติคำขอจัดตั้งกองทุนรวมอีทีเอฟ ต่อเมื่อมีข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการรับสมาชิกที่สามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายเฉพาะหลักทรัพย์ที่อ้างอิงกับราคาทองคำแล้ว

1.4 ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ขั้นต่ำ 7 วันสำหรับกองทุนรวมอีทีเอฟ (ข้อ 60(2))

2. ประกาศที่ สข/น. 6/2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (ประกาศจัดการ)

2.1 แก้ไขนิยามของผู้ดูแลสภาพคล่องเพื่อรองรับ foreign ETF (ข้อ 116)แก้ไขนิยามให้กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้ดูแลสภาพคล่องสามารถทำหน้าที่เพื่อให้ราคาซื้อขายกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรองสะท้อนมูลค่า foreign ETF ที่อ้างอิงได้

2.2 ผ่อนผันเกณฑ์ 1 ใน 3 สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือผู้ดูแลสภาพคล่องของกองทุนรวมอีทีเอฟที่บริษัทจัดการแต่งตั้ง เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรอง (ข้อ 120)

2.3 กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลความเคลื่อนไหวของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมอีทีเอฟ (“indicative NAV”) และข้อมูลความคลาดเคลื่อนในการลงทุน (tracking errors) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทราบและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ (ข้อ 121/1)

(1) ข้อมูล Indicative NAV ที่เปิดเผยไม่ต้องได้รับการรับรองจากผู้ดูแลผลประโยชน์ และพิจารณาใช้ตัวเลขทศนิยมตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ความถี่ในการเปิดเผยข้อมูล Indicative NAV ต้องสอดคล้องกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าหรือราคาของปัจจัยอ้างอิงของกองทุนรวมอีทีเอฟนั้น

(2) ข้อมูลความคลาดเคลื่อนในการลงทุน (tracking errors) ที่คำนวณเปรียบเทียบมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมอีทีเอฟจากมูลค่าของปัจจัยอ้างอิงสุดท้าย (ultimate underlying) เนื่องจาก Thai ETF on foreign ETF มีนโยบายการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ foreign ETF และ foreign ETF ก็มีการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ underlying

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่า Thai ETF มีผลการดำเนินงานแตกต่างจาก ultimate underlying มากน้อยเพียงใด บริษัทจัดการจึงต้องเปิดเผยข้อมูลความคลาดเคลื่อนในการลงทุนที่เปรียบเทียบระหว่างการเปลี่ยนแปลงของ NAV ของ Thai ETF กับมูลค่าของ ultimate underlying ก่อนการเปิดซื้อขายหลักทรัพย์รอบแรกของตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ รูปแบบในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว อาจแสดงเป็นตัวเลขหรือกราฟ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมในการให้ข้อมูลต่อผู้ลงทุน

3. ประกาศที่ สน. 7/2553 ที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (ประกาศลงทุนและอัตราส่วน)

3.1 ยกเว้นไม่ใช้เกณฑ์ group limit สำหรับการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ข้อ 67/1)

เนื่องจากเกณฑ์ group limit มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการกระจุกตัวในการลงทุนของกองทุนรวมในกลุ่มกิจการใดกิจการหนึ่ง แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะจำกัดการที่กองทุนรวมใดจะไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนไม่ว่าจะกองเดียวหรือหลายกองภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการอื่น นอกจากนี้ กองทุนรวมทุกกองทุนต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ group limit อยู่แล้ว จึงแก้ไขประกาศโดยระบุให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่กระทบต่อโครงการจัดการของกองทุน

3.2 การปฏิบัติตามเกณฑ์ group limit ของกองทุนรวมหน่วยลงทุน (fund of funds และ feeder fund) (ข้อ 66) ถึงแม้กองทุนรวมหน่วยลงทุนจะไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ group limit ในส่วนที่ลงทุนในหน่วยลงทุน แต่โดยที่ fund of funds และ feeder fund ต้องลงทุนในหน่วยลงทุน โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 และร้อยละ 80 ของ NAV ตามลำดับ โดยส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในหลักทรัพย์อื่นได้ ดังนั้น กองทุนรวมหน่วยลงทุนยังคงต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ group limit สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์อื่น

3.3 การดำเนินการแก้ไขโครงการของกองทุนรวมหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการยื่นแก้ไขโครงการโดยวิธี fast track และดำเนินการในโอกาสแรก

4. การขออนุมัติและควบคุมวงเงินลงทุนต่างประเทศในการจัดตั้ง Thai ETF on foreign ETF (รายละเอียดตามแผนภาพที่แนบท้าย)

4.1 ขั้นตอนการจัดตั้ง Thai ETF on foreign ETF ให้บริษัทจัดการเป็นผู้ขออนุมัติวงเงินของกองทุนรวมอีทีเอฟเช่นเดียวกับกรณีการขออนุมัติวงเงินของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศปกติ รวมทั้ง การใช้วงเงินของกองทุนรวมอีทีเอฟจะมีการทบทวนเช่นเดียวกับวงเงินของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศด้วย

4.2 ขั้นตอนการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมอีทีเอฟของผู้ลงทุนรายใหญ่ (participating dealer : PD) หรือผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker : MM) โดยการนำหน่วยลงทุนของ foreign ETF มาชำระให้บริษัทจัดการ (in-kind creation) แบ่งตามกรณี PD/MM ดังนี้

(ก) กรณี PD/MM เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลไทย (“PD/MM ไทย”) PD/MM ไทยจะเป็นผู้ขออนุมัติวงเงินลงทุนต่างประเทศ เพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนของ foreign ETF ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และเมื่อ PD/MM ไทยได้ทำรายการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟโดยส่งมอบหน่วยลงทุนของ foreign ETF ให้บริษัทจัดการ (in-kind transaction) แล้ว ผู้ใช้วงเงินลงทุนต่างประเทศจะเปลี่ยนเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟแทน ทั้งนี้ PD/MM ไทยจะต้องแจ้งมูลค่าต้นทุน ของ foreign ETF ให้บริษัทจัดการทราบเพื่อให้บริษัทจัดการบันทึกรายการเพิ่มการลงทุนใน foreign ETF ตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว และ PD/MM ไทยต้องรายงานการคืนวงเงินลงทุนต่างประเทศ (ในกรณีที่ขออนุมัติวงเงินผ่านระบบ FIA ต้องรายงานการคืนวงเงินผ่านระบบ FIA ด้วย)

(ข) กรณี PD/MM เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลต่างประเทศ (“PD/MM ตปท.”) เมื่อ PD/MM ตปท. ทำรายการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟและชำระโดยส่งมอบหน่วยลงทุนของ foreign ETF ให้กับกองทุนรวมอีทีเอฟแล้ว บริษัทจัดการบันทึกเพิ่มรายการลงทุนใน foreign ETF ตามมูลค่าราคาตลาด ของ foreign ETF

อนึ่ง ทุกสิ้นเดือนบริษัทจัดการจัดส่งรายงานยอดคงค้างการลงทุน foreign ETF ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

4.3 ขั้นตอนการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟของ PD/MM โดยรับชำระเป็นหน่วยลงทุนของ foreign ETF จากบริษัทจัดการ (in-kind redemption) แบ่งตามกรณี PD/MM ดังนี้

(ก) กรณี PD/MM ไทย PD/MM ไทยขออนุมัติวงเงินลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ PD/MM ไทยจะได้รับชำระเป็นหน่วยลงทุนของ foreign ETF ดังนั้น PD/MM ไทยจะเป็นผู้ใช้วงเงินลงทุนต่างประเทศแทนกองทุนรวมอีทีเอฟ ซึ่งบริษัทจัดการต้องแจ้งมูลค่าต้นทุนของ foreign ETF ให้ PD/MM ไทยทราบเพื่อรายงานการใช้วงเงิน และบริษัทจัดการบันทึกลดรายการลงทุนใน foreign ETF ตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว

การดำเนินการของ PD/MM ไทยเมื่อได้รับหน่วยลงทุนของ foreign ETF แล้ว หาก PD/MM ไทยขายหน่วยลงทุน foreign ETF ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และนำเงินกลับเข้ามาในประเทศไทย PD/MM ไทยมีหน้าที่รายงานการคืนวงเงินเช่นเดียวกับการลงทุนในต่างประเทศปกติ

(ข) กรณี PD/MM ตปท. เมื่อ PD/MM ตปท. ทำรายการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟโดยรับชำระเป็นหน่วยลงทุนของ foreign ETF จากกองทุนรวมอีทีเอฟ และบริษัทจัดการบันทึกลดรายการลงทุนใน foreign ETF ตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว อนึ่ง ทุกสิ้นเดือนบริษัทจัดการจัดส่งรายงานยอดคงค้างการลงทุน foreign ETF ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ

ขอแสดงความนับถือ

(นายประกิด บุณยัษฐิติ)

ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

เลขาธิการแทน

สิ่งที่ส่งมาด้วย

1. ภาพถ่ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 5/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

2. ภาพถ่ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 6/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 2)ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

3. ภาพถ่ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 7/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน(ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

4. แผนภาพการขออนุมัติและควบคุมวงเงินลงทุนต่างประเทศในการจัดตั้ง Thai ETF on foreign ETF

ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2263-6087
โทรสาร 0-2263-6348

แท็ก กองทุนรวม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ