ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ ขส. 3/2550
เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร
____________________________
ตามที่สำนักงานได้มีประกาศที่ ขส. 2/2548 เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน โครงสร้างการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงาน หน้าที่ของแต่ละส่วนงาน และสถานที่ติดต่อของสำนักงาน มาเพื่อทราบโดยทั่วกันแล้ว นั้น
โดยที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้อนุมัติให้เพิ่มส่วนงานจำนวน 3 ส่วนงาน คือ ฝ่ายกำกับตลาด ฝ่ายคดี และฝ่ายวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงชื่อส่วนงานจำนวน 3 ส่วนงาน คือ ฝ่ายตรวจสอบและคดี เป็น ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน ฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์ เป็น ฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็น ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของส่วนงานต่าง ๆ ของสำนักงาน เพื่อให้การบริหารจัดการสำนักงานเป็นไปโดยสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงาน
สำนักงานจึงขอแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนงานขององค์กรและอำนาจหน้าที่ของส่วนงานภายในสำนักงานมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน โดยขอยกเลิกประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ ขส. 2/2548 เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และให้ใช้ประกาศนี้แทน ดังนี้
ข้อ 1 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“คณะกรรมการ ก.ล.ต.”) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน”) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศ
ข้อ 2 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคนเป็นกรรมการ โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านการบัญชี และด้าน การเงินด้านละหนึ่งคน และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ การออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อำนาจดังกล่าวรวมถึง
(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต
(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
(4) ออกระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับเกี่ยวกับการพนักงาน ระบบพนักงานสัมพันธ์ การบรรจุแต่งตั้งถอดถอน และวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน การกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ
(5) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ดังต่อไปนี้
อำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540
(1) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(2) กำกับดูแลให้นิติบุคคลเฉพาะกิจปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(3) กำหนดประเภทของสินทรัพย์และหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(4) ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(5) กำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่างๆ ตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมาย
(7) วางระเบียบเกี่ยวกับการประชุมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
(8) ปฏิบัติการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดดังกล่าว
อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อำนาจหน้าที่ดังกล่าวรวมถึง
(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต การขอจดทะเบียน การขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบ
(3) กำหนดขอบเขตและวิธีปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
(4) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว
ข้อ 3 สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงาน ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวเลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 หรือตามกฎหมายอื่น
อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน
(1) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยนโอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(2) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินและลงทุนหาผลประโยชน์
(3) กำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ
(4) รับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานกำหนดและโดยที่สำนักงานได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2543 ให้เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา สำนักงานจึงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
ข้อ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป โครงสร้างการดำเนินงานของสำนักงานโดยอนุมัติของคณะกรรมการ
ก.ล.ต. แบ่งออกเป็นส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้
(1) ฝ่ายกฎหมาย
(2) ฝ่ายกำกับตลาด
(3) ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
(4) ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์
(5) ฝ่ายกำกับธุรกิจแนะนำการลงทุน
(6) ฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน
(7) ฝ่ายคดี
(8) ฝ่ายงานเลขาธิการ
(9) ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์
(10) ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน
(11) ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน
(12) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
(13) ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(14) ฝ่ายบริหารทั่วไป
(15) ฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ
(16) ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
(17) ฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล
ข้อ 5 ฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่
(1) พิจารณาและยกร่างกฎหมาย ประกาศ คำสั่งและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานซึ่งครอบคลุมถึง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และกฎหมายอื่น ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน รวมทั้งการให้ข้อเสนอแนะและดำเนินการเพื่อการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว
(2) ให้คำปรึกษาและยกร่างข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งต่าง ๆ ที่ใช้บังคับภายในสำนักงาน และความผูกพันตามสัญญาหรือหลักฐานอื่นใดระหว่างสำนักงานกับบุคคลภายนอก รวมทั้งพิจารณายกร่างความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างสำนักงานและองค์กรกำกับดูแลตลาดทุนอื่น
(3) ให้คำปรึกษา ตอบข้อหารือและความเห็นทางกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ ของสำนักงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ส่วนงานภายใน รวมทั้งองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ
(4) ปฏิบัติงานด้านเลขานุการและธุรการของคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย และอนุญาโตตุลาการ
(5) ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุน
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 6 ฝ่ายกำกับตลาด มีหน้าที่
(1) กำกับและพัฒนาโครงสร้างและกลไกตลาดทุน อันรวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลตนเอง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดอนุพันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
(2) กำกับดูแลหน่วยงานกำกับดูแลตนเอง รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชี ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่การทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงาน การเสนอแนะความเห็นในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (contract specification) การให้ความเห็นชอบผู้บริหาร การให้ความเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบการปฏิบัติงาน และการพิจารณาข้อร้องเรียน ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลตนเองข้างต้นมิให้หมายความรวมถึงสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
(3) กำกับดูแลบุคคลที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าตราสารหนี้ ตั้งแต่การให้ใบอนุญาต การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจ การตอบข้อหารือ ต่าง ๆ การตรวจสอบการปฏิบัติงาน และการพิจารณาข้อร้องเรียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
(4) กำกับดูแลบุคคลที่ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ตั้งแต่การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจ การให้ความเห็นชอบผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การตอบข้อหารือต่าง ๆ การตรวจสอบการปฏิบัติงาน และการพิจารณาข้อร้องเรียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
(5) ติดตามข่าวและสภาพการซื้อขายในภาพรวมทั้งตลาด ทั้งการซื้อขายในตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์ รวมทั้งประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
(6) ติดตามข่าวและสภาพการซื้อขายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแต่ละประเภทในตลาดอนุพันธ์
(7) ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนตามความเหมาะสม
(8) ปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลบริษัทหลักทรัพย์ ของสำนักงาน
(9) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 7 ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน มีหน้าที่
(1) กำกับดูแลบุคคลที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การจัดการเงินร่วมลงทุน ตลอดจนตัวกลางที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้รับฝากทรัพย์สิน และกำกับดูแลบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งการดำเนินงานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ตั้งแต่การเสนอแนะความเห็น ในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และผู้จัดการกองทุนของผู้ได้รับใบอนุญาต การให้ความเห็นชอบผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้รับฝากทรัพย์สิน การอนุมัติจัดตั้งและแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการในการจัดการลงทุน การตอบข้อหารือต่าง ๆ การพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ถือหน่วยลงทุนและลูกค้า รวมถึงการดำเนินการภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจจัดการลงทุน
งานในหน้าที่ตามวรรคหนึ่งมิให้หมายความรวมถึงการกำกับดูแลงานด้าน ทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ งานปฏิบัติการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการรายงานผล การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตาม(1)
(3) ตรวจสอบการดำเนินงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตตาม (1) ให้มีระบบงานที่จำเป็นในการบริหารความเสี่ยงและมีระบบการควบคุมดูแลให้การจัดการลงทุนเป็นไปตามนโยบายการลงทุน รวมถึงการพิจารณาลงโทษทางบริหารกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนด
(4) การพัฒนากองทุนรวมรูปแบบใหม่ ๆ
(5) งานด้านวิเทศสหการที่เกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือทางด้านการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนระหว่างประเทศ (cross-border) ภายใต้กรอบความร่วมมือและความตกลง ระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคีในระดับภูมิภาค
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 8 ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์ มีหน้าที่
(1) กำกับดูแลบุคคลที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ บุคคลที่ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ตั้งแต่การเสนอแนะความเห็นในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการในการประกอบธุรกิจ การตอบข้อหารือ รวมถึงการพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
(2) กำกับดูแลและประสานงานกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตาม (1)
(3) รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตาม (1) และ (2)
(4) ตรวจสอบการดำเนินงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตตาม (1) และ (2) รวมถึงการพิจารณาลงโทษทางบริหารกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำหนด
(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 9 ฝ่ายกำกับธุรกิจแนะนำการลงทุน มีหน้าที่
(1) กำกับดูแลบุคคลที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้า ค้า หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุน บุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบเป็นบริษัทจัดอันดับกองทุนรวม รวมทั้งการให้คำแนะนำ และการขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท ตั้งแต่การเสนอแนะความเห็นในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่การขึ้นทะเบียนบุคลากรซึ่งปฏิบัติงานให้คำแนะนำและขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน ติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ และการพิจารณาลงโทษทางบริหารกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำหนดของบุคคลดังกล่าว
(2) กำกับดูแลบุคคลที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลในส่วนเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ งานปฏิบัติการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการรายงานผลการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งการดำเนินงานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว
(3) รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตาม (1) และ (2)
(4) ดำเนินการทางทะเบียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การเปลี่ยนแปลงกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(5) เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในเรื่องบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตระหนักถึงการรักษาและปกป้องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับ และตอบข้อหารือที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
(6) การขึ้นทะเบียนอนุญาโตตุลาการ และพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนที่เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนและการขายหลักทรัพย์ไม่เหมาะสม
(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 10 ฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน มีหน้าที่
(1) พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของ ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(2) ส่งเสริมและพัฒนา รวมทั้งกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีและการสอบบัญชีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
(3) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ส่วนงานต่าง ๆ ของสำนักงาน รวมทั้งบุคคลภายนอกเกี่ยวกับวิชาการบัญชี และวิธีปฏิบัติทางบัญชี
(4) ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ
(5) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(6) ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งติดตามให้มีการดำเนินการแก้ไขการกระทำต่าง ๆ ในกรณีที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือผู้ลงทุน
(7) ศึกษามาตรฐานการบัญชีต่างประเทศ รวมถึงติดตามพัฒนาการเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีในต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางการนำมาตรฐานการบัญชีสากล มาใช้กับบริษัทในตลาดทุน
(8) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 11 ฝ่ายคดี มีหน้าที่
(1) เป็นผู้แทนสำนักงานในการต่อสู้คดี ที่มีโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงาน กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และพนักงานของสำนักงาน ในคดีที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน
(2) ดำเนินการในการเสนอข้อเท็จจริง และปฏิบัติงานด้านเลขานุการและธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลต่าง ๆ ในคดีเปรียบเทียบหรือคดีปกครอง เช่น
(ก) คณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 317 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.
2535 และมาตรา 155 แห่งพระราชบัญญัติสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(ข) คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 261 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535
(ค) คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองและคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 112 แห่งพระราช
บัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(ง) คณะบุคคลที่ทำหน้าที่ประจำเพื่อสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเสนอความเห็นในเรื่องที่มีการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของ
สำนักงาน
(3) ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทางปกครองของสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นต้น ตลอดจนดำเนินการที่จำเป็นในกรณีที่สำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นคู่กรณีทางปกครอง
(4) ติดตามคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาหรือดำเนินการในชั้นของการสอบสวน อัยการ หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล
(5) ประสานงานการปฏิบัติตามคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือหมายเรียกพยานบุคคล ตลอดจนให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่พนักงานในการต่อสู้คดีตามที่กำหนดในข้อบังคับสำนักงาน
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 12 ฝ่ายงานเลขาธิการ มีหน้าที่
(1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ และงานสารนิเทศ
(2) ปฏิบัติงานด้านเลขานุการและธุรการของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน
(3) บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลกลางและการเผยแพร่ข้อมูลด้านตลาดทุน และการดำเนินงานของสำนักงาน รวมทั้งการให้บริการข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป
(4) ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการเงิน การลงทุน และตลาดทุน ให้แก่นักลงทุนและประชาชนโดยทั่วไป
(5) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวิเทศสัมพันธ์
(6) ดำเนินการเกี่ยวกับห้องสมุดของสำนักงาน
(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 13 ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ มีหน้าที่
(1) กำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน ซึ่งได้แก่ การพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ การตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการเปิดเผยข้อมูลในตลาดแรก
และการสุ่มตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลภายหลังการเสนอขายหลักทรัพย์
(2) ติดตามการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน
(3) ศึกษาแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ได้แก่ ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน รวมทั้งพิจารณาคำขอความเห็นชอบ และติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนการพิจารณาลงโทษผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง
(4) ตรวจสอบข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน
(5) ขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้บริหารบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 14 ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน มีหน้าที่
(1) ตรวจสอบกิจการและการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ข้อบังคับ คำสั่ง และพิธีปฏิบัติที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานกำหนด เพื่อให้มีระบบการควบคุมภายในที่รัดกุม ปลอดภัย
(2) ศึกษาและจัดทำนโยบาย แผนงานและกระบวนการบริหารความเสี่ยงของสำนักงาน โดยครอบคลุมถึงการจัดให้มีหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยง ระบบการระบุ ประเมิน ติดตาม ควบคุมหรือลดความเสี่ยง รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและการรายงาน
(3) ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินงานของสำนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(4) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 15 ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน มีหน้าที่
(1) ตรวจสอบ ติดตามและรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนเสนอแนะมาตรการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และ การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตลอดจนการกระทำที่เข้าข่ายความผิดอื่น ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(2) ติดตามสภาพการซื้อขาย ข่าว ตลอดจนพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
(3) ประสานงานกับฝ่ายคดีและพนักงานสอบสวน เพื่อให้ข้อเท็จจริงในคดีที่สำนักงานกล่าวโทษ เมื่อมีการกระทำความผิดตาม(1)—(2)
(4) พัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ และการลงโทษผู้กระทำผิดในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(ยังมีต่อ)