การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 23, 2010 11:55 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ กจ. 8/2553

เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของ

กรรมการและผู้บริหารของบริษัท

____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 มาตรา 89/3 และมาตรา 89/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

(1) คำว่า “บริษัท” “บริษัทย่อย” และ “ผู้บริหาร” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ตามหมวด 3/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) “สถาบันการเงิน” หมายความว่า กิจการที่ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้

(ก) ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(ข) ธุรกิจหลักทรัพย์

(ค) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล้วงหน้า

(ง) ธุรกิจประกันภัย

(จ) ธุรกิจสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(3) “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการที่สำนักงานแต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความเห็นต่อสำนักงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้

(4) “ลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ” หมายความว่า ลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น

ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทต่างประเทศที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หมวด 1

ลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ

___________________

ข้อ 3 กรรมการและผู้บริหารของบริษัทต้องไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ ดังต่อไปนี้

(1) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดทุน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 เป็นลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 1

(2) มีประวัติการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 เป็นลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 2

(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมในการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น บริษัท หรือตลาดทุนโดยรวม ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6 เป็นลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3

ข้อ 4 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 1

(1) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ

(2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือ

(3) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงาน หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่สำนักงานกล่าวโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ เฉพาะในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศนี้

ข้อ 5 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 2

(1) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษ หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี หรือห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันการเงิน โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน และทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อสถาบันการเงินที่บุคคลนั้นเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือต่อลูกค้า หรือ

(2) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ ในความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือ

(3) เป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกัน และยังไม่พ้นสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

ข้อ 6 ให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3

(1) มีพฤติกรรมกระทำการ หรือละเว้นกระทำการโดยไม่สุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการทำธุรกรรมของบริษัทหรือบริษัทย่อย และเป็นเหตุให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย หรือเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับประโยชน์โดยมิชอบ หรือ

(2) มีพฤติกรรมในการเปิดเผย หรือเผยแพร่ข้อมูล หรือข้อความเกี่ยวกับบริษัท หรือบริษัทย่อยอันเป็นเท็จที่อาจทำให้สำคัญผิด หรือโดยปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะโดยการสั่งการ การมีส่วนรับผิดชอบ หรือมีส่วนร่วมในการจัดทำ เปิดเผย หรือเผยแพร่ข้อมูลหรือข้อความนั้น หรือโดยการกระทำหรือละเว้นการกระทำอื่นใด ทั้งนี้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าโดยตำแหน่ง ฐานะ หรือหน้าที่ของตน ไม่อาจล่วงรู้ถึงความเป็นเท็จของข้อมูลหรือข้อความดังกล่าว หรือการขาดข้อเท็จจริงที่ควรต้องแจ้งนั้น หรือ

(3) มีพฤติกรรมที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าว

ให้การทำธุรกรรมดังต่อไปนี้ของบริษัทหรือบริษัทย่อย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการ การอนุมัติ การสนับสนุน การได้รับประโยชน์ หรือการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในลักษณะอื่นใด เข้าลักษณะการมีพฤติกรรมไม่สุจริตตามวรรคหนึ่ง (1) เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นประการอื่น

(1) ธุรกรรมที่มิได้กระทำในลักษณะเดียวกับที่วิญญูชนผู้ประกอบธุรกิจจะพึงกระทำกับคู่สัญญาทั่วไปในสถานการณ์เดียวกัน และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทหรือบริษัทย่อยเป็นสำคัญ หรือมีลักษณะไปในทางเอื้อประโยชน์แก่ตนหรือบุคคลอื่น

(2) ธุรกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ 7 การมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการหรือผู้บริหารตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ให้มีผลตามระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 1 ให้มีผลเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาในเรื่องที่กำหนด หรือเมื่อสำนักงานได้มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลนั้นต่อพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี และมีผลไปจนกว่าบุคคลนั้นจะพ้นจากการมีลักษณะดังกล่าว

(2) ลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 2 ให้มีผลเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่มีลักษณะตามข้อ 5 ต่อสำนักงาน และสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งบุคคลที่ถูกพิจารณาและบริษัทที่บุคคลนั้นเป็นกรรมการหรือผู้บริหารให้ทราบถึงการมีลักษณะดังกล่าวแล้ว และมีผลไปจนกว่าบุคคลนั้นจะพ้นจากการมีลักษณะดังกล่าว

(3) ลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในหนังสือของสำนักงานซึ่งแจ้งบุคคลที่ถูกพิจารณาและบริษัทที่บุคคลนั้นเป็นกรรมการหรือผู้บริหารให้ทราบถึงการมีลักษณะเข้ากรณีที่กำหนดตามข้อ 6 แล้ว และมีผลไปจนกว่าจะพ้นเงื่อนไข หรือระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสิบปี ทั้งนี้ ในการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้คำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมของผู้ถูกพิจารณาเป็นสำคัญ

ข้อ 8 การมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในช่วงระยะเวลาตามข้อ 7 เป็นผลให้บุคคลพ้นจากการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท และจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวในบริษัทต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 89/4 และมาตรา 89/6 วรรคสอง แล้วแต่กรณี

หมวด 2

การพิจารณาลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3

___________________

ข้อ 9 ในการพิจารณาการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3 หากเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่ยกขึ้นเป็นเหตุในการพิจารณาลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของบุคคลนั้นได้

(1) มีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือ

(2) เกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่าสิบปี นับถึงวันที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน

ข้อ 10 ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3 และการกำหนดระยะเวลาการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ ให้สำนักงานนำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา

(1) บทบาทความเกี่ยวข้อง และพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา

(2) การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว

(3) ผลกระทบหรือความเสียหายต่อบริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมที่พิจารณา

(4) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือตลาดทุนโดยรวม เพื่อแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมทำนองเดียวกันนั้นซ้ำอีก

(5) พฤติกรรมอื่นของผู้ถูกพิจารณาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน

(6) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท

ข้อ 11 ให้สำนักงานด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งเสนอความเห็นต่อสำนักงานเกี่ยวกับการพิจารณาสั่งให้บุคคลมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3 ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นต่อสำนักงานในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามประกาศนี้

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินห้าคนซึ่งไม่เป็นเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงาน โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และด้านการเงินหรือการบัญชี ด้านละหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารธุรกิจซึ่งแต่งตั้งจากรายชื่อบุคคลที่สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นผู้เสนออีกหนึ่งคน

ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และให้สำนักงานแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ กรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาในลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อการให้ความเห็นอย่างเป็นกลาง ให้ผู้นั้นแจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ข้อ 12 ในการแจ้งบุคคลใดว่ามีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจกลุ่มที่ 3 สำนักงานจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

(2) เสนอข้อเท็จจริง รวมทั้งคำชี้แจงของผู้ถูกพิจารณา (ถ้ามี) ให้คณะกรรมการพิจารณา และหากคณะกรรมการประสงค์จะให้ผู้ถูกพิจารณาชี้แจงเพิ่มเติม ให้สำนักงานจัดให้มีการชี้แจงเช่นนั้น

(3) ได้รับความเห็นของคณะกรรมการด้วยมติไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่เข้าร่วมประชุมว่าบุคคลที่ถูกพิจารณามีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ รวมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาให้บุคคลดังกล่าวมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ

(4) แจ้งผลการพิจารณาเบื้องต้นให้ผู้ถูกพิจารณาทราบเพื่อให้โอกาสชี้แจง หรือโต้แย้งอีกครั้งภายในระยะเวลาที่กำหนดในการปฏิบัติอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ข้อ 13 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือ

ผู้บริหารของบริษัทที่เสนอขายหุ้นต่อประชาชนหรือบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาลักษณะที่ขาดความ

เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการแต่งตั้งบุคคลที่มีลักษณะไม่เหมาะสมดำรงตำแหน่งที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารจัดการ

กิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้

บัญชีแนบท้ายประกาศ

          ความผิดตามข้อ 4(3)                    พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์         พระราชบัญญัติ
                                                         พ.ศ. 2535                 สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

พ.ศ.2546

การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์          มาตรา 238 ถึงมาตรา 243          มาตรา 92 ถึงมาตรา 100
หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
การกระทำโดยทุจริต หรือการทำให้เสียหาย                  มาตรา 306 ถึงมาตรา 311          มาตรา 145 ถึงมาตรา 147
ต่อทรัพย์สิน ต่อเจ้าหนี้ หรือต่อประชาชน                     มาตรา 314 และ 315              มาตรา 149 และมาตรา 150
ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง หรือ                         มาตรา 281/2                           -
ซื่อสัตย์สุจริต
จงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญหรือปกปิด             มาตรา 281/10 และ                  มาตรา 148
ข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ควรบอกให้แจ้ง                     มาตรา 312
ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า          มาตรา 289 ประกอบกับมาตรา 90    มาตรา 125 ประกอบกับมาตรา 16
โดยไม่ได้รับอนุญาต  และเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ