การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 4, 2010 13:26 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทด. 26/2553

เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย

_________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 40(11) มาตรา 41(3) และ (4) มาตรา 42(10) มาตรา 43(3) มาตรา 67 มาตรา 69 และมาตรา 70(9) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 15/2552 เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้ต่างประเทศต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 2 การเสนอขายหุ้นกู้ที่มีข้อตกลงให้ชำระค่าหุ้นกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกโดยกิจการที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้อยู่ภายใต้บังคับประกาศนี้

(1) กิจการตามกฎหมายไทย ได้แก่ บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และให้รวมถึงสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) กิจการตามกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่

(ก) หน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ

(ข) องค์การระหว่างประเทศ

(ค) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

ข้อ 3 การออกและเสนอขายหุ้นกู้ตามประกาศนี้ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ให้ผู้ออกหุ้นกู้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การอนุญาตที่กำหนดไว้ในภาค 1

(2) ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ในแต่ละครั้ง ให้ผู้เสนอขายยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 เว้นแต่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยกเว้น การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้

ข้อ 4 ในประกาศนี้

(1) คำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ”

“ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” และ “แบบแสดงรายการข้อมูล” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาค 1 คำว่า “ผู้บริหาร” และ “ผู้มีอำนาจควบคุม” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ ทุกประเภท

(2) “หุ้นกู้” หมายความว่า หุ้นกู้ไม่ว่าชนิดใดๆ แต่ไม่รวมถึง

(ก) หุ้นกู้อนุพันธ์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

(ข) หุ้นกู้แปลงสภาพ และ

(ค) หุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(3) “หุ้นกู้ระยะสั้น” หมายความว่า หุ้นกู้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันที่ออกหุ้นกู้

(4) “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” หมายความว่า หุ้นกู้ไม่มีประกันที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ไว้ด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไป

(5) “หน่วยงานกำกับดูแลหลัก” (home regulator) หมายความว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศที่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศตั้งอยู่

(6) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้

(7) “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” หมายความว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยที่ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน

(8) “ตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน” หมายความว่า ตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ข้อ 5 ผู้เสนอขายหุ้นกู้ที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งเสนอขายหุ้นกู้พร้อมกันหรือในระยะเวลาใกล้เคียงกันในประเทศอื่นด้วย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามข้อ 2(1) หรือกิจการตามกฎหมายต่างประเทศตามข้อ 2(2) อาจยื่นข้อมูลหรือเอกสารต่อสำนักงานที่จัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ หากข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว แปลมาจากข้อมูลหรือเอกสารที่เป็นภาษาอื่น ผู้เสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ดำเนินการให้ผู้แปลรับรองความถูกต้องว่า สาระของการแปลถูกต้องตรงตามสาระของข้อมูลหรือเอกสารที่เป็นต้นฉบับ

(2) ผู้เสนอขายหุ้นกู้ต้องรับรองว่า สาระของข้อมูลหรือเอกสารที่แปลนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริง และมิได้มีการปกปิดข้อเท็จจริงที่พึงเปิดเผยเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานตามประกาศนี้ หากได้จัดทำเป็นภาษาใดในครั้งแรก ให้จัดทำโดยใช้ภาษานั้นต่อไปทุกครั้ง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นสมควรและได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

ข้อ 6 เอกสารหรือหลักฐานที่ต้องยื่นต่อสำนักงานตามที่ประกาศนี้กำหนด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

ภาค 1

หลักเกณฑ์การอนุญาต

_________________

ข้อ 7 กิจการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ซึ่งประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ที่มีข้อตกลงให้ชำระค่าหุ้นกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(1) การออกและเสนอขายหุ้นกู้ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในหมวด 1

(2) การออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัด ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในหมวด 2

หมวด 1

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขาย

หุ้นกู้ในกรณีทั่วไป

_________________

ข้อ 8 การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามหมวดนี้ จะมีผลเมื่อ

(1) ผู้ขออนุญาตได้ยื่นคำขออนุญาตตามส่วนที่ 1 และได้รับอนุญาตในเบื้องต้นจากสำนักงานว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติที่สามารถเสนอขายหุ้นกู้ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 2 โดยผู้ขออนุญาตที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสามารถเสนอขายหุ้นกู้ได้ทุกลักษณะ โดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขาย ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลอนุญาตในเบื้องต้นนั้น และ

(2) ในการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในแต่ละครั้ง หากผู้ขออนุญาตได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 แล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในครั้งนั้น และให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จากสำนักงานในวันที่ถือว่าได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้นั้นด้วย

ส่วนที่ 1

วิธีการยื่นคำขออนุญาต

_________________

ข้อ 9 ผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามหมวดนี้ ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานพร้อมทั้งเอกสารหลักฐาน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 10 ให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตต่อสำนักงานในวันยื่นแบบคำขออนุญาต ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่

ข้อ 11 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาการมีคุณสมบัติที่สามารถออกหุ้นกู้ได้ ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐานครบถ้วน

ในการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่นั้นอีกต่อไป

ส่วนที่ 2

ลักษณะของผู้ขออนุญาต

_________________

ข้อ 12 ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตในเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติที่สามารถเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ที่ออกตามงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดการบัญชีปีล่าสุด และงบการเงินประจำงวดหกเดือนล่าสุดหรืองบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

(ข) แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัด

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายของประเทศดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการจัดทำงบการเงิน รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต้องไม่แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมาย

ว่าด้วยการบัญชี หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) หรือ Financial Accounting Standards (FAS) หรือ United States Generally Accepted Accounting Principle (US GAAP) หรือมาตรฐานการบัญชีอื่นที่สำนักงานยอมรับ

(ค) แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ขออนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหาร

(2) ไม่อยู่ระหว่างค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขนั้น หรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199

(3) ไม่เคยเสนอขายหลักทรัพย์โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับตามแต่กรณี

(4) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศจะต้องมีบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการตามกฎหมายต่างประเทศได้ และแสดงได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้

ข้อ 13 ผู้ขออนุญาตที่เป็นกิจการตามกฎหมายไทย จะได้รับอนุญาตในเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติที่สามารถเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ได้ นอกจากต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 12 แล้ว ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีกรรมการและผู้บริหารที่มีรายชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การแสดงชื่อบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามข้อ 2(1) การพิจารณาตามวรรคหนึ่งให้พิจารณาเฉพาะกรรมการหรือผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งในสาขาในประเทศไทย

(2) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะที่ขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยอนุโลม

ข้อ 14 นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศตามข้อ 2(2)(ค) จะได้รับอนุญาตในเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติที่สามารถเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ได้ นอกจากต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 แล้ว ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(1) หน่วยงานกำกับดูแลหลักสามารถให้ความร่วมมือหรือช่วยเหลือแก่สำนักงาน ในการตรวจสอบการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลนั้นเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) โดยเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU) หรือ

(ข) มีบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือกับสำนักงานในระดับไม่น้อยกว่าความช่วยเหลือที่กำหนดตาม MMOU ตาม (ก) และหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานได้ตามบันทึกความเข้าใจนั้น

(2) แสดงได้ว่าการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ที่ขออนุญาตนั้นกระทำได้โดยชอบตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศนั้น

ข้อ 15 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 12(3) หรือข้อ 13(2) ในการแจ้งผลการขาดลักษณะดังกล่าวของผู้ขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการพิจารณาคำขอในคราวต่อไป โดยคำนึงถึงการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์เป็นรายกรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการกำหนดระยะเวลา ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวต่อผู้ขออนุญาต

เมื่อพ้นระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อผู้ขออนุญาตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดแล้ว มิให้สำนักงานนำข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการสั่งการตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาคำขอในครั้งใหม่อีกในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 12(3) หรือข้อ 13(2) เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หรือได้มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการป้องกันแล้ว สำนักงานอาจไม่นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดลักษณะดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้

ข้อ 16 ในระหว่างระยะเวลาที่สำนักงานอนุญาตเบื้องต้นว่าผู้ขออนุญาตเป็นผู้มีคุณสมบัติที่สามารถเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ได้ตามหมวดนี้ หากปรากฏในภายหลังว่าผู้ขออนุญาตไม่สามารถดำรงลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนนี้ ให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แจ้งกรณีเช่นนั้นต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงกรณีดังกล่าว และ

(2) แก้ไขให้มีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนด ภายในหกเดือนหรือภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในระหว่างที่ผู้ขออนุญาตยังไม่สามารถแก้ไขให้มีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดในส่วนนี้ผู้ขออนุญาตจะเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพิ่มเติมไม่ได้

ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้การอนุญาตเบื้องต้นเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ปรากฏเหตุดังกล่าว

(1) ผู้ขออนุญาตจงใจหรือเพิกเฉยไม่แจ้งต่อสำนักงานตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ

(2) ผู้ขออนุญาตไม่สามารถแก้ไขให้มีลักษณะตามที่กำหนดภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง (2)

ส่วนที่ 3

ลักษณะของหุ้นกู้

__________________

ข้อ 17 หุ้นกู้ที่เสนอขายจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มีคำเรียกชื่อเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงถึงหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ คำเรียกชื่อหุ้นกู้ดังกล่าวต้องแสดงถึงปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน และลักษณะพิเศษของหุ้นกู้ (ถ้ามี) ไว้โดยชัดเจน

(2) มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างแน่นอน หรือเป็นอัตราที่ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยอื่น

(3) มีมูลค่าไถ่ถอนรวมเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นกู้ ทั้งนี้ ไม่ว่าหุ้นกู้นั้นจะมีการไถ่ถอนครั้งเดียวหรือหลายครั้ง

(4) มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหุ้นกู้ระยะสั้น

เพื่อประโยชน์ตามความในข้อนี้ “สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(1) ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน

(3) สถาบันการเงินต่างประเทศ

ข้อ 18 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวต้องด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญเฉพาะในเรื่องการรับชำระหนี้ตามหุ้นกู้นั้นเมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้

(1) ผู้ออกหุ้นกู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

(2) มีการชำระบัญชีเพื่อการเลิกกิจการ หรือ

(3) กรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 19 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกกิจการ (perpetual bond) ต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ออกหุ้นกู้ไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวก่อนมีการเลิกกิจการ

(2) ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเรียกให้ผู้ออกหุ้นกู้ไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวก่อนมีการเลิกกิจการตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ข้อ 20 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้มีประกัน ไม่ว่าการประกันของหุ้นกู้นั้นจะจัดให้มีพร้อมกับการเสนอขายหุ้นกู้หรือจัดเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง หลักประกันของหุ้นกู้ดังกล่าวต้องมีลักษณะดังนี้

(1) เป็นทรัพย์สินหรือการค้ำประกันที่มีการดำเนินการให้มีผลบังคับได้ตามกฎหมายโดยคำนึงถึงสภาพของหลักประกันแต่ละประเภท สามารถดำรงได้ตลอดอายุหุ้นกู้ และดูแลได้โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่เป็นหรือเกี่ยวข้องกับหลักประกันซึ่งเป็นทรัพย์สินอื่นใดที่มิใช่ตราสารทางการเงิน ทรัพย์สินดังกล่าวต้องอยู่ในประเทศไทย

(2) ในกรณีที่หลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสัญญาเช่าระยะยาว ผู้ออกหุ้นกู้ต้องจัดให้มีการประเมินค่าของหลักประกันดังกล่าวโดยผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ การประเมินราคาหรือการคำนวณมูลค่าของหลักประกันต้องคำนึงถึงสิทธิและ ภาระผูกพันใด ๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยบทกฎหมายหรือโดยสัญญาที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นด้วย และต้องจัดทำขึ้นไม่เกินกว่าหนึ่งปีก่อนวันที่ออกหุ้นกู้นั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ราคาหรือมูลค่าของหลักประกันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ผู้ออกหุ้นกู้จัดให้มีการประเมินค่าหลักประกันดังกล่าวใหม่

ส่วนที่ 4

หลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ในแต่ละครั้ง

_________________

ข้อ 21 ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ในแต่ละครั้ง ให้ผู้ขออนุญาตยื่นเอกสารหลักฐานตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต่อสำนักงานมาพร้อมกับเอกสารหลักฐานที่ยื่นตามวรรคหนึ่งด้วย โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ส่วนที่ 5

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต

ให้เสนอขายหุ้นกู้ในกรณีทั่วไป

__________________________

ข้อ 22 ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ที่เสนอขายต้องมีความชัดเจนและไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม และมีการลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ออกหุ้นกู้และประทับตราของผู้ออกหุ้นกู้ (ถ้ามี) ทั้งนี้ รายการและสาระสำคัญของข้อกำหนดสิทธิให้เป็นไปตามมาตรา 42

ข้อ 23 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ หรือ

(3) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ได้รับอนุญาต เฉพาะในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้น

ที่มิใช่หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานว่าไม่สามารถทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้นั้นได้โดยมีเหตุอันสมควร และเหตุนั้นมิได้เกิดจากผู้ออกหุ้นกู้ สำนักงานอาจผ่อนผันให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นกระทำโดยสถาบัน จัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นที่สำนักงานกำหนดได้

(2) กรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยมีเหตุจำเป็นและสมควร หรือเป็นกรณีที่พิจารณาได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 24 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ ที่เป็นไปตามข้อ 23 อย่างต่อเนื่องจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้นั้นจะระงับลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ โดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น

ข้อ 25 ผู้ได้รับอนุญาตต้องยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายเป็นหุ้นกู้ขึ้นทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันออกหุ้นกู้ดังกล่าว

ข้อ 26 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้สัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิ โดยอย่างน้อยต้องมีรายการและสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา

(2) วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ

(3) อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญา โดยมีข้อตกลงที่ระบุให้ผู้ได้รับอนุญาตและผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดตามข้อกำหนดสิทธิทุกประการ

(4) อัตราและวิธีการจ่ายค่าตอบแทน หรือบำเหน็จในการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งต้องกำหนดไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน รวมทั้งอัตราและวิธีการจ่ายคืนเงินทดรองซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้จ่ายไปเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(5) การสิ้นสุดของสัญญา

ข้อ 27 ในกรณีการออกหุ้นกู้มีประกันโดยหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นเป็นประกันตามกฎหมายด้วย

ข้อ 28 ในการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ภายหลังการออกหุ้นกู้ ให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งเอกสารต่อสำนักงานตามข้อ 6 เมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้ส่งเอกสารตามวรรคหนึ่งต่อสำนักงานครบถ้วนแล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้โดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว และให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งสำเนาสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้นั้น

ข้อ 29 การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หรือหลักประกันตามหุ้นกู้ภายหลังการออกหุ้นกู้นั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดของภาคนี้และการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้ดำเนินการโดยชอบตามข้อกำหนดสิทธิ โดยผู้ได้รับอนุญาตต้องแจ้งการ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวพร้อมทั้งส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานและสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลใช้บังคับในกรณีที่การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิซึ่งได้กำหนดให้กระทำได้โดยการมีมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ต้องระบุอย่างชัดเจนถึงสาเหตุแห่งการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิ และผลกระทบที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นกู้

หมวด 2

หลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขาย

หุ้นกู้ในวงจำกัด

____________________

ส่วนที่ 1

ลักษณะการเสนอขายในวงจำกัด

_________________

ข้อ 30 การเสนอขายหุ้นกู้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นการเสนอขายในวงจำกัด

(1) เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่

(2) เสนอขายโดยได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน โดยผู้ที่จะได้รับอนุญาตต้องแสดงได้ว่า

(ก) มีเหตุจำเป็นและสมควร

(ข) การเสนอขายดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง และ

(ค) มีมาตรการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนอย่างเพียงพอแล้ว

ข้อ 31 ในกรณีเป็นการขอผ่อนผันเพื่อเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามข้อ 30(2) ผู้ที่จะขอผ่อนผันต้องแสดงได้ถึงเหตุจำเป็นและสมควรของกรณีดังกล่าว การไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง และการมีมาตรการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ และสำนักงานอาจผ่อนผันมิให้นำหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในภาคนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวก็ได้เท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเพียงพอของมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุน

ส่วนที่ 2

กรณีที่ถือว่าได้รับอนุญาต

_________________

ข้อ 32 กิจการตามข้อ 2 จะสามารถเสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัดได้ โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงาน เมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 33 ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศตามข้อ 2(2)(ค) นิติบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 14 ด้วย

ข้อ 33 การเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในวงจำกัดจะกระทำได้เมื่อได้ดำเนินการจดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่จะเสนอขายกับสำนักงานตามความในวรรคสอง รวมทั้งยื่นเอกสารตามวรรคสามแล้ว และให้กิจการที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวดนี้ ทั้งนี้ ให้กิจการดังกล่าวรายงานลักษณะของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายต่อสำนักงานตามข้อ 6 การจดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้กับสำนักงานตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความซึ่งแสดงได้ว่าผู้ออกหุ้นกู้จะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้ไม่ว่าทอดใด ๆ หากการโอนหุ้นกู้ดังกล่าวจะทำให้หุ้นกู้ที่เสนอขายในครั้งนั้นไม่สามารถคงลักษณะการเสนอขายในวงจำกัดตามข้อ 30 ได้แล้วแต่กรณี เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก ทั้งนี้ ให้ถือว่าสำนักงานรับจดข้อจำกัดการโอนดังกล่าวในวันที่สำนักงานได้รับการแสดงเจตนาจดข้อจำกัดการโอนที่มีข้อความดังกล่าวแล้วในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้มีประกันหรือหุ้นกู้ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้กิจการเสนอร่างข้อกำหนดสิทธิและร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มาพร้อมกับการจดข้อจำกัดการโอนด้วย

ส่วนที่ 3

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต

ให้เสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัด

_____________________

ข้อ 34 ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในแต่ละครั้ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ได้รับมติโดยชัดแจ้งจากคณะกรรมการบริษัทให้ออกหุ้นกู้ได้ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องได้รับมติให้ออกหุ้นกู้ที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดหรือกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับบริษัทต่างประเทศนั้น แล้วแต่กรณี ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้กับกรณีที่บริษัทต้องออกหุ้นกู้ตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแผนนั้นแล้ว หรือกรณีอื่นใดที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นกิจการตามกฎหมายต่างประเทศจะต้องมีบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการตามกฎหมายต่างประเทศได้ และแสดงได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้

(3) จัดให้มีผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ทั้งนี้เฉพาะกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนตามข้อ 30(1) ที่ไม่เข้าลักษณะของผู้ลงทุนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารในต่างประเทศและอนุพันธ์การจัดให้มีตัวแทนในประเทศไทยตามวรรคหนึ่ง (2) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้นั้นจะระงับลง

ข้อ 35 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 30(1) ให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 36 ข้อ 37 และข้อ 38

ข้อ 36 ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ในแต่ละครั้ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้ หรือ

(3) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ได้รับอนุญาต แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับการผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามที่กำหนดในวรรคสองของข้อ 23 มาใช้บังคับกับกรณีตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 37 เมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้ออกหุ้นกู้แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามหลักเกณฑ์ในข้อ 36 อย่างต่อเนื่องจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้จะระงับลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ โดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น

ข้อ 38 ผู้ได้รับอนุญาตต้องยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายเป็นหุ้นกู้ขึ้นทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันออกหุ้นกู้ดังกล่าว

ข้อ 39 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้มีประกันหรือเป็นหุ้นกู้ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(2) เป็นทรัสตีได้ตามกฎหมายต่างประเทศหรือเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 14

(3) เป็นบุคคลอื่นใดที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณี

ข้อ 40 ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้หุ้นกู้ที่จะออกและเสนอขายมีลักษณะดังนี้

(ก) เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ และต้องมีข้อความในใบหุ้นกู้ที่เสนอขายแต่ละครั้งแสดงว่าผู้ออกหุ้นกู้จะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้ไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ตามที่ระบุไว้ ซึ่งต้องเป็นข้อจำกัดการโอนเดียวกับที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน

(ข) มีลักษณะเป็นไปตามข้อ 17 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ(3)

(ค) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 18 และข้อ 19 กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (perpetual bond) แล้วแต่กรณี

(ง) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 30(1) ต้องจัดให้มีข้อกำหนดสิทธิที่มีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42

(2) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัดตามข้อ 30(2) ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่โฆษณาการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจกจ่ายให้เฉพาะบุคคลที่มีลักษณะหรือมีจำนวนอยู่ในวงจำกัดตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30(2) ตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

(3) จัดให้เอกสารประกอบการเสนอขาย (ถ้ามี) มีข้อความที่ระบุถึงข้อจำกัดการโอนตาม (1) (ก) และในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ให้ระบุการด้อยสิทธินั้นไว้ให้ชัดเจน

ข้อ 41 ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ต่อผู้ได้รับอนุญาตที่จะลงทะเบียนการโอนหุ้นกู้ ให้ผู้ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องของการโอนหุ้นกู้ หากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงทะเบียนการโอนหุ้นกู้ เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก

ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีนายทะเบียนหุ้นกู้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้นายทะเบียนหุ้นกู้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

หมวด 3

อำนาจของสำนักงานเกี่ยวกับการอนุญาต

_________________

ข้อ 42 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัย ดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ตามคำขออนุญาตได้

(1) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหุ้นกู้นั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือประกาศนี้

(2) การเสนอขายอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ

(3) การเสนอขายอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม หรือ

(4) การเสนอขายอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ ประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 43 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อสำนักงานภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อสำนักงานก่อนการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้นั้น อาจทำให้การพิจารณาของสำนักงานเปลี่ยนแปลงไป ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารชี้แจง หรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้ผู้ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตไว้ก่อน จนกว่าจะได้ชี้แจง หรือแก้ไขให้ถูกต้อง

(2) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตหยุดการเสนอขายหุ้นกู้ในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อ และให้การอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลงโดยไม่มีผลกระทบต่อการเสนอขายหุ้นกู้ ในส่วนที่ได้เสนอขายหรือมีผู้จองซื้อแล้ว

ข้อ 44 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ได้รับอนุญาตได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตหรือผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้

(1) ประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนของผู้ขออนุญาตหรือผู้ได้รับอนุญาตในการปฏิบัติ และมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการอนุญาตในกรณีนั้น

(2) ผู้ขออนุญาตหรือผู้ได้รับอนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(3) ผู้ขออนุญาตหรือผู้ได้รับอนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

ภาค 2

การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

___________________

หมวด 1

วิธีการยื่น และค่าธรรมเนียม

___________________

ข้อ 45 ให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในหมวด 2 ของภาคนี้ และร่างหนังสือชี้ชวนตามแบบที่กำหนดตามมาตรา 72 ต่อสำนักงาน พร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน โดยวิธีการยื่นให้เป็นดังนี้

(1) แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ จำนวนสามชุด

(2) ข้อมูลในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน

ข้อมูลที่ผู้เสนอขายหุ้นกู้ยื่นต่อสำนักงานทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน

ข้อ 46 ผู้เสนอขายหุ้นกู้มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ในวันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล

หมวด 2

แบบแสดงรายการข้อมูล

___________________

ข้อ 47 แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงาน ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ไม่มีข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือที่อาจทำให้สำคัญผิด และไม่ขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ

(2) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้พร้อมกันหรือในระยะเวลาใกล้เคียงกันในประเทศอื่นด้วย ต้องมีรายละเอียดข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าที่เปิดเผยในประเทศอื่น

(3) มีข้อมูลตามที่กำหนดในมาตรา 69(1) ถึง (10) และข้อมูลตามมาตรา 70(1) ถึง (7) ทั้งนี้ ให้มีข้อมูลเพิ่มเติมตามที่กำหนดในข้อ 49 และข้อ 50 ด้วย

(4) ในกรณีผู้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามข้อ 2(1) หรือกิจการตามกฎหมายต่างประเทศตามข้อ 2(2) ให้ระบุไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับภาษาที่จะใช้ในการจัดทำหนังสือชี้ชวน งบการเงิน รายงานประจำปี แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และการให้ข้อมูลอื่นหรือรายงานเกี่ยวกับกิจการที่บริษัทจัดทำเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ข้อ 48 แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงาน ให้เป็นไปตามแบบดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ในกรณีทั่วไปโดยผู้ออกหุ้นกู้ ให้ยื่นแบบ 69-Base ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ โดยอนุโลม หรือแบบ 69-FD ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย ทุกครั้งก่อนการเสนอขาย เว้นแต่เป็นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลแบบเป็นโครงการ ให้เป็นไปตามแบบและหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(ก) ให้ยื่นแบบ 69-Base ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ โดยอนุโลม หรือแบบ 69-FD ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย ในการเสนอขายครั้งแรกของโครงการ

(ข) ให้ยื่นแบบ 69-FX-Supplement ท้ายประกาศนี้ ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงานอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาเดียวกับที่ผู้ออกหุ้นกู้ส่งงบการเงินหรือแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีตามระยะเวลาที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

(ค) ให้ยื่นแบบ 69-Pricing ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ โดยอนุโลม ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งต่อไปของโครงการ

(2) กรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ในวงจำกัดให้ใช้แบบ 69-S ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้

(3) กรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ในกรณีทั่วไปโดยผู้ถือหุ้นกู้ ให้ใช้แบบ 69-Base ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ โดยอนุโลม หรือแบบ 69-FD ที่แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการ เสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย การยื่นแบบ 69-Base หรือแบบ 69-FD ตามวรรคหนึ่ง ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำข้อมูลในแบบดังกล่าว

ข้อ 49 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกโดยกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ แบบแสดงรายการข้อมูลต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างน้อยดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ข้อมูลเกี่ยวกับข้อจำกัดและความเสี่ยงในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) สิทธิและความคุ้มครองที่ผู้ลงทุนได้รับจากการลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งไม่แตกต่างจากกรณีที่ผู้ลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศเองโดยตรง ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของประเทศที่กิจการตามกฎหมายต่างประเทศนั้นจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวให้แสดงในหน้าปกของแบบแสดงรายการข้อมูลด้วยตัวอักษรที่เน้นและสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

(ข) การดำเนินคดีทางกฎหมายกับกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ เนื่องจากมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ให้ระบุถึงเขตอำนาจศาลในการฟ้องร้องบังคับคดีต่อกิจการตามกฎหมายต่างประเทศด้วย

(ค) ผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้ของกิจการตามกฎหมายต่างประเทศอาจได้รับ ในกรณีที่กฎหมายของประเทศที่เกี่ยวข้องกับกิจการตามกฎหมายต่างประเทศนั้นมีข้อจำกัดในการส่งเงินออกนอกประเทศ (ถ้ามี)

(ง) ข้อจำกัดหรือความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา วิธีการจองซื้อ การชำระราคา และการส่งมอบหลักทรัพย์ รวมทั้งวิธีการโอนหลักทรัพย์

(จ) ข้อจำกัดหรือความเสี่ยงอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิหรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

(2) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกในนามของรัฐบาลต่างประเทศ แบบแสดงรายการข้อมูลต้องมีข้อมูลทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังของประเทศห้าปีล่าสุดก่อนวันยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลนั้น โดยอย่างน้อยต้องแสดงถึงรายได้ประชาชาติ ดุลการค้า ดุลบริการ ข้อมูลการนำเข้าและส่งออก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ภาระหนี้สินในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประมาณการการชำระหนี้ต่างประเทศอย่างน้อยห้าปีโดยเริ่มในปีที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าวต่อสำนักงาน

(3) ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและสถานที่ติดต่อของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากกิจการตามกฎหมายต่างประเทศให้เป็นตัวแทนของกิจการตามกฎหมายต่างประเทศในประเทศไทย โดยระบุอำนาจหน้าที่ของตัวแทนดังกล่าวอย่างชัดเจนในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกโดยกิจการตามกฎหมายไทย แบบแสดงรายการข้อมูลต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างน้อยตามวรรคหนึ่ง (1)(ง) และ (จ) ด้วย

ข้อ 50 งบการเงินของผู้เสนอขายหุ้นกู้ที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูล ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ดังต่อไปนี้

(1) มาตรฐานการบัญชีไทย

(2) International Financial Reporting Standards (IFRS)

(3) Financial Accounting Standards (FAS)

(4) United States Generally Accepted Accounting Principle (US GAAP)

(5) มาตรฐานการบัญชีที่หน่วยงานกำกับดูแลหลัก หรือกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของประเทศที่กิจการตามกฎหมายต่างประเทศนั้นจัดตั้งขึ้น ยอมรับหรือกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้เสนอขายหุ้นกู้ได้จัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินโดยแสดงผลกระทบของรายการที่แตกต่างจาก IFRS (Reconciled IFRS) ไว้ด้วย หรือ

(6) มาตรฐานการบัญชีอื่นที่สำนักงานยอมรับ

ข้อ 51 ก่อนสิ้นสุดการเสนอขายหุ้นกู้ หากผู้เสนอขายหุ้นกู้ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่มิได้แสดงอยู่ในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนให้แก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะราย เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการลงทุน หรือการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ที่เสนอขาย ผู้เสนอขายหุ้นกู้ต้องดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่มเติมในแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนโดยพลัน

ในกรณีที่แบบแสดงรายการข้อมูลยังไม่มีผลใช้บังคับ ต้องเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับ หรือในกรณีที่แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับแล้ว ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงต่อบุคคลนั้น

หมวด 3

อำนาจของสำนักงานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล

____________________

ข้อ 52 ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 69(11) หรือมาตรา 70(9) ได้ หากผู้เสนอขายหุ้นกู้นั้นแสดงได้ว่ามีเหตุอันควรที่จะไม่แสดงรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าวไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูล ทั้งนี้ รายละเอียดของข้อมูลนั้นต้องไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อ 53 ในการพิจารณาข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน หากสำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

(1) เปิดเผยข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนเพิ่มเติม

(2) ชี้แจง หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูล หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม

(3) จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นอิสระจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วน หรือความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ปรากฏในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

หากผู้เสนอขายหุ้นกู้ไม่ดำเนินการตามที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้เสนอขายหุ้นกู้ไม่ประสงค์จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานอีกต่อไปในการกำหนดให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง สำนักงานอาจกำหนดให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้เปิดเผยการสั่งการ การดำเนินการ ข้อสังเกตของสำนักงาน หรือคำชี้แจงของผู้เสนอขายหุ้นกู้ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานตามแนวทางที่สำนักงานกำหนดด้วยก็ได้

หมวด 4

การรับรองข้อมูล

_________________

ข้อ 54 แบบแสดงรายการข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงาน ต้องมีการลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล อย่างน้อยโดยบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่เป็นการยื่นแบบ 69-Base หรือแบบ 69-FD โดยผู้ออกหุ้นกู้ ให้กรรมการทุกคนและผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดในสายงานบัญชีของผู้ออกหุ้นกู้ เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรอง เว้นแต่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ ให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันกิจการดังกล่าว แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรอง ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใดให้ประทับตรากิจการ (ถ้ามี)

(2) ในกรณีที่เป็นการยื่นแบบ 69-FX-Supplement แบบ 69-Pricing หรือแบบ 69-S โดยผู้ออกหุ้นกู้ ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันหรือกรรมการผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดของผู้ออกหุ้นกู้ เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรอง เว้นแต่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือกิจการตามกฎหมายต่างประเทศ ให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันกิจการดังกล่าว แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรอง ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใดให้ประทับตรากิจการ (ถ้ามี)

(3) การเสนอขายหุ้นกู้โดยผู้ถือหุ้นกู้ ต้องลงลายมือชื่อโดยผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นผู้เสนอขายหุ้นกู้นั้น และในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้เป็นนิติบุคคล ให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลลงลายมือชื่อ พร้อมประทับตรากิจการ (ถ้ามี)

ในกรณีที่การเสนอขายหุ้นกู้ตามวรรคหนึ่งมีที่ปรึกษาทางการเงิน ให้ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันที่ปรึกษาทางการเงินลงลายมือชื่อ พร้อมประทับตรากิจการด้วย (ถ้ามี)

ข้อ 55 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้บุคคลที่ต้องลงนามเพื่อนิติบุคคลตามที่กำหนดในข้อ 54 ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้นิติบุคคลดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(1) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากการที่บุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิต ผู้เสนอขายหุ้นกู้ไม่จำต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อในแบบแสดงรายการข้อมูล

(2) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากกรณีอื่นนอกจากที่ระบุใน (1) เมื่อเหตุดังกล่าวหมดสิ้นไป ให้ผู้เสนอขายหุ้นกู้จัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อทันที เพื่อให้แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับได้ตามข้อ 56

หมวด 5

วันมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

_________________

ข้อ 56 ภายใต้บังคับมาตรา 75 ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน มีผลใช้บังคับเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา 33 ผู้เสนอขายหุ้นกู้ต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่นั้นแล้ว

(2) ผู้เสนอขายหุ้นกู้ได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

(3) ในกรณีที่เป็นการยื่นแบบ 69-Base หรือแบบ 69-FD ผู้เสนอขายหุ้นกู้ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและได้เปิดเผยข้อมูลตามข้อ 53 วรรคสาม (ถ้ามี) แล้ว

(4) เมื่อถึงหรือพ้นกำหนดระยะเวลาดังต่อไปนี้

(ก) ในวันถัดจากวันที่ยื่นแบบ 69-Pricing หรือแบบ 69-S ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุด

(ข) เมื่อพ้นสิบสี่วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบ 69-Base หรือแบบ 69-FD และร่างหนังสือชี้ชวนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุด (ไม่รวมข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นกู้หรือข้อมูลอื่นที่มิใช่ข้อมูลสำคัญซึ่งสำนักงานผ่อนผันให้แก้ไขเพิ่มเติมได้)

เพื่อประโยชน์ตามความในข้อนี้ “ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นกู้” หมายความว่า ข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) จำนวนและราคาหุ้นกู้ที่เสนอขาย

(2) ระยะเวลาของการเสนอขาย

(3) ลักษณะหุ้นกู้ที่เสนอขาย

(4) รายละเอียดเกี่ยวกับการจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรร

(5) ข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นกู้ หรือที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือเกี่ยวกับข้อมูลตาม (1) (2) (3) (4) และ (5)

ภาค 3

วันมีผลใช้บังคับของประกาศ

__________________

ข้อ 57 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อเป็นการเพิ่มบทบาทตลาดทุนไทยโดยเปิดให้กิจการไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือจัดตั้ง

ขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ สามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศต่อผู้ลงทุนในประเทศไทยได้ อีกทั้งเพื่อเป็นการ

เพิ่มความหลากหลายของสินค้าในตลาดทุนอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยให้พร้อมรับกับกระแสการแข่งขันตลาดทุนโลก จึง

จำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ