9 มิถุนายน 2553
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ น.(ว) 19/2553 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ
ด้วยสำนักงานได้ออกประกาศจำนวน 3 ฉบับคือ
1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 14/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (“สน. 14/2553”) ซึ่งแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (“ประกาศจัดตั้ง”)
2. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข/น. 15/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (“สข/น. 15/2553”) ซึ่งแก้ไขประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (“ประกาศจัดการ”)
3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สบ. 16/2553 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (“สบ. 16/2553”) ซึ่งแก้ไข ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 (“ประกาศค่าธรรมเนียม”)
เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม
1.1 ยกเลิกการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบเป็นกลุ่มคำขอ (shelf-registration) (ข้อ 1 และข้อ 3 ของ สน. 14/2553) โดยกำหนดบทเฉพาะกาลสำหรับคำขอจัดตั้งกองทุนรวมแบบ shelf — registration ที่สำนักงานอนุมัติแล้ว หรือยื่นคำขอก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งบริษัทจัดการสามารถจัดตั้งกองทุนภายใต้ shelf-registration ดังกล่าวต่อไปได้ตามเกณฑ์เดิม (ภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาเบื้องต้น)
1.2 กำหนดลักษณะการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนต่อสำนักงานออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1.2.1 การยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบปกติ (ข้อ 9 — ข้อ 12 ของประกาศจัดตั้ง) บริษัทจัดการจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมต่อเมื่อเป็นไปตามเกณฑ์ดังนี้
(1) ข้อมูลโครงการและเอกสารประกอบคำขอเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และบริษัทจัดการไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งระงับการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมเป็นการชั่วคราว
(2) สำนักงานจะพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมภายใน 45 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วน
(3) สำนักงานอาจไม่อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม หากสำนักงานสงสัยว่ากองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้งเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
1.2.2 การยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบเป็นการทั่วไป (auto approve)(ข้อ 13 — ข้อ 16/5 ของประกาศจัดตั้ง)
(1) การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งแบบ auto approve ให้ยื่นผ่านระบบ OFAMของสำนักงานเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะเป็นไปตามคู่มือการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบ auto approve ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยนี้
(2) กองทุนรวมที่สามารถยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนแบบ auto approve ได้ต้องมีลักษณะไม่ซับซ้อน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(ก) ไม่ใช่ feeder fund
(ข) กรณีเป็นกองทุนรวมที่มีการลงทุนในต่างประเทศ กองทุนนั้นต้องมีนโยบายลดหรือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน (fully hedged)
(ค) ไม่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ยกเว้นกรณีเพื่อป้องกันความเสี่ยง
(ง) ไม่มีการลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured note)
(จ) ไม่มีการแบ่ง class หน่วยลงทุน
(ฉ) มีเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนที่ตรงไปตรงมา เข้าใจได้ง่าย
(ช) ไม่มีการขอรับความเห็นชอบหรือผ่อนผันเรื่องใดเป็นกรณีพิเศษต่อสำนักงาน
(3) ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งแบบ auto approve
(ก) กำหนดให้รายละเอียดโครงการและร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยกับบริษัทจัดการต้องมีข้อกำหนดที่แสดงได้ว่า ในกรณีที่บริษัทจัดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมแบบ auto approve และการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัตินั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน บริษัทจัดการจะดำเนินการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ลงทุนโดยไม่ชักช้า โดยในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ บริษัทจัดการจะยินยอมให้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ
(ข) บริษัทจัดการต้องมีหนังสือรับรองว่าข้อมูลในคำขอและเอกสารประกอบคำขอข้างต้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ auto approve และคำรับรองดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อโดยกรรมการที่มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท หรือในกรณีที่มีการมอบอำนาจ ผู้รับรองต้องมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่รับผิดชอบงานในสายงานเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวม ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวข้างต้นจะต้องสมัครใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้สำหรับการลงลายมือชื่อดิจิทัลด้วย (digital signature) (รายละเอียดตามคู่มือการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบ auto approve)
(4) การอนุมัติกองทุนรวม ให้ถือว่าสำนักงานอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม เมื่อสำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ครบถ้วน และบริษัทจัดการได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ทั้งนี้ การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งแบบ auto approve ผ่านระบบของสำนักงานจะมีผลอนุมัติในวันทำการที่ยื่นหากบริษัทจัดการยื่นคำขอผ่านระบบภายในเวลา 15.30 น. หากบริษัทจัดการยื่นหลังเวลาดังกล่าว คำขออนุมัติจัดตั้งแบบ auto approve จะมีผลในวันทำการถัดไป ซึ่งสำนักงานจะมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งผลต่อผู้ยื่นคำขออนุมัติในวันดังกล่าว
2. การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ
เนื่องจากปัจจุบันบริษัทจัดการบางแห่งได้จัดตั้งกองทุนไว้ก่อนโดยมิได้วางแผนที่จะขายหรือตั้งใจจะเสนอขาย ณ ขณะนั้น และต่อมาได้ยื่นขอแก้ไขโครงการต่อสำนักงานเป็นจำนวนมากก่อนการเสนอขาย ทำให้สำนักงานต้องพิจารณาข้อมูลโครงการเหล่านั้นอีกครั้ง ดังนั้น เพื่อให้บริษัทจัดการพิจารณาและตรวจสอบข้อมูลก่อนยื่นขออนุมัติจัดตั้งต่อสำนักงาน สำนักงานจึงกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นขอแก้ไขโครงการตามหัวข้อใหญ่ในระบบพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม โดยมีรายละเอียดการแก้ไขประกาศดังนี้
ตามอัตราที่กำหนด (รายการละ 5,000 บาท ) ยกเว้นกรณีดังนี้ (ข้อ 16/9 ของประกาศจัดตั้ง ข้อ 45/1 ของประกาศจัดการ และข้อ 18(9) ของประกาศค่าธรรมเนียม)
(1) การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการแบบ fast track
(2) การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการที่ได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน
(3) การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อเปลี่ยนตัวผู้ดูแลผลประโยชน์
(4) การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อลดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายของกองทุน
(5) การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมของสำนักงาน
ทั้งนี้ ห้ามเก็บค่าธรรมเนียมการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจากกองทุน
2.2 สำนักงานจะไม่รับแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ หากข้อมูลที่แก้ไขเป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งแล้ว และให้บริษัทจัดการยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมใหม่ (ข้อ 16/10 ของประกาศจัดตั้ง)
2.3 ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมโครงการในช่วง IPO เพราะข้อมูลที่แก้ไขอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนได้ (16/9 ของประกาศจัดตั้ง)
2.4 สำนักงานจะแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทจัดการทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วน ยกเว้นกรณี fast track ซึ่งเมื่อสำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานครบถ้วน ให้ถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการ (ข้อ 45/1 และข้อ 46 ของประกาศจัดการ)
3. ขยายระยะเวลาการดำเนินการเสนอขายหน่วยลงทุนภายหลังได้รับอนุมัติจากสำนักงาน เดิมกำหนดให้เสนอขายภายใน 1 ปี เป็นให้เสนอขายภายใน 2 ปี (ข้อ 19 ของประกาศจัดตั้ง)
4. ค่าธรรมเนียม (ประกาศค่าธรรมเนียม)
สำนักงานได้ปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนในการกำกับดูแล รวมทั้งกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบ auto approve ดังต่อไปนี้
4.1 คำขอจัดตั้งกองทุนรวม (ข้อ18(1) - (2))
คำขอจัดตั้งกองทุนรวม ปัจจุบัน แก้ไขเป็น - แบบปกติ 50,000 100,000 - แบบ auto approve - 25,000
4.2 การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ (ข้อ 18(9)) คิดค่าธรรมเนียม 5,000 บาทต่อรายการ
4.3 การยื่นขอผ่อนผัน ในกรณีที่บริษัทจัดการยื่นคำขออนุมัติแบบ auto approve ไม่ปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังนี้
(1) ค่าธรรมเนียมคำขอผ่อนผัน คำขอละ 100,000 บาท (ข้อ 18(10))
(2) ชำระส่วนต่างระหว่างค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจัดตั้งแบบปกติ และแบบ auto approve จำนวน 75,000 บาท (ข้อ 16/2 วรรคสอง (2) ของประกาศจัดตั้ง)
4.4 การปรับปรุงค่าธรรมเนียมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (ข้อ 18(3) และข้อ 18(7)(ค))
ในการพิจารณาคำขอจัดตั้งหรือคำขอเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานต้องใช้ทรัพยากรและระยะเวลามากกว่ากองทุนรวมแบบปกติ ประกอบกับการจัดหาเงินทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีความใกล้เคียงกับการออกหุ้นกู้เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีระยะเวลาในการได้ประโยชน์มากกว่า (เช่น กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์มักจะมีระยะเวลาสิทธิการเช่า 30 ปี ในขณะที่การออกหุ้นกู้ระยะยาวแต่ละครั้งมักจะไม่เกิน 10 ปี) ดังนั้น สำนักงานจึงได้ปรับปรุงค่าธรรมเนียมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนี้
ค่าธรรมเนียม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบัน ใหม่ คำขอจัดตั้ง 75,000 บาท 100,000 บาท คำขอเพิ่มทุน - 100,000 บาท ค่าจดทะเบียน 2,000 บาท ต่อทุก 100 ล้านบาท 10,000 บาทต่อทุก เงินทุน (0.002% ของทุนจดทะเบียน) 100 ล้านบาท
min 20,000 max 150,000 (0.01% ของทุนจดทะเบียน)
5. วันที่มีผลใช้บังคับ
ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2553
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายประกิด บุณยัษฐิติ)
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
เลขาธิการแทน
1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 14/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
2. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข/น. 15/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สบ. 16/2553 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
4. คู่มือการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบ auto approve