มาตรการดำเนินการบันทึกคะแนนความผิด (point system)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 24, 2010 13:32 —ประกาศ ก.ล.ต.

24 พฤษภาคม 2553

เรียน ผู้จัดการ

บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัท

บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ

กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท

บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกบริษัท

บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็น

ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกบริษัท

นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ที่ กลต.น./ธ.(ว) 12/2553 เรื่อง มาตรการดำเนินการบันทึกคะแนนความผิด (point system)

ตามที่สำนักงานได้มีหนังสือที่ กลต.น./ธ.(ว) 23/2552 เรื่อง มาตรการดำเนินการบันทึกคะแนนความผิด (point system) ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2552 (“หนังสือที่ กลต.น./ธ.(ว) 23/2552”) ซึ่งบังคับใช้กับผู้บริหารและผู้จัดการกองทุน โดยนิยาม “ผู้บริหาร” อ้างอิงตามประกาศเกี่ยวกับผู้บริหาร ในขณะนั้น แต่โดยที่สำนักงานมีการแก้ไขประกาศเกี่ยวกับผู้บริหารดังกล่าว (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) สำนักงานจึงขอยกเลิกหนังสือที่ กลต.น./ธ.(ว) 23/2552 และขอซักซ้อม ดังนี้

1. ขอบเขตการบังคับใช้

บุคคลภายใต้ขอบเขตบังคับใช้มาตรการดำเนินการบันทึกคะแนนความผิดยังคงเป็นไปตามเจตนารมณ์เดิม ได้แก่ กรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้ง Fund Manager โดยผู้บริหารหมายถึงผู้จัดการและบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งครอบคลุมบุคคลดังต่อไปนี้

“ผู้จัดการ” หมายถึง บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของบริษัท

“บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ” หมายถึง รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้จัดการสาขา และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นโดยบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบงานในสายงานเกี่ยวกับการให้บริการ การปฏิบัติการ การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน หรือการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านหลักทรัพย์หรือตลาดทุนหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสายงานอื่นในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าสายงานนั้นจะปฏิบัติงานเพื่อให้บริการแก่บุคคลอื่นหรือเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเอง และให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการงานที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เช่น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการพิจารณาการลงทุน หรือคณะกรรมการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เป็นต้น หรือที่ปรึกษาของคณะกรรมการดังกล่าว

1.1 กรณีกรรมการและผู้บริหาร

(1) กรณีกรรมการและผู้บริหารของบริษัทได้กระทำผิด หรือมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอันเป็นลักษณะต้องห้าม หรือกรณีที่บริษัทมีการกระทำผิดและสำนักงานพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำผิดดังกล่าวเกิดจากการที่กรรมการและหรือผู้บริหารสั่งการหรือไม่สั่งการ กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ หรือละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการตรวจสอบดูแลมิให้บริษัทปฏิบัติฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อฐานะการเงิน การดำเนินธุรกิจ หรือต่อลูกค้า หรือมีการปฏิบัติในลักษณะอื่นใดอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

(2) ในการพิจารณาการเป็นบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ (“บุคคลผู้มีอำนาจฯ”) ในสายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติการจะพิจารณาลักษณะงานที่ปฏิบัติด้วย เช่น

  • กรณีเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป หากได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการลงทุนของบริษัทจัดการ จะถือเป็นบุคคลผู้มีอำนาจฯ เนื่องจากรับผิดชอบส่วนงานที่เกี่ยวกับการให้บริการเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจหรือเพื่อ port การลงทุนของบริษัท
  • กรณีเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ หากได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านระบบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมการใช้งานที่เกี่ยวกับฐานข้อมูลของลูกค้าหรือกองทุนภายใต้การจัดการ ซึ่งสามารถเข้าถึงหรือจัดการฐานข้อมูลของลูกค้าหรือกองทุนภายใต้การจัดการได้ จะถือเป็นบุคคลผู้มีอำนาจฯ เนื่องจากรับผิดชอบส่วนงานที่เกี่ยวกับด้านหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
  • กรณีเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะไม่ถือเป็นบุคคลผู้มีอำนาจฯ หากขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบไม่เกี่ยวกับด้านหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

1.2 กรณี Fund Manager

กรณี Fund Manager กระทำผิด หรือกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนมีการกระทำผิดและสำนักงานพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำผิดดังกล่าวเกิดจากการที่ Fund Manager จัดการลงทุนโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ หรือขาดความระมัดระวังหรือมีพฤติกรรมจงใจโดยไม่ได้ใช้ความสามารถเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกค้าอย่างเต็มที่ ไม่คำนึงถึงและรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และไม่ตั้งอยู่บนหลักแห่งความซื่อสัตย์สุจริตและความรอบคอบระมัดระวัง

2. ระดับคะแนนความผิดและการดำเนินการ

การพิจารณาระดับคะแนนความผิดจะพิจารณาจากการปฏิบัติงาน ผลกระทบ และนัยสำคัญของเรื่อง โดยจะนำปัจจัยในข้อ 3 มาเป็นปัจจัยในการกำหนดคะแนน โดยมีรายละเอียดดังนี้

          ระดับความผิด (พิจารณาจากการปฏิบัติงาน ผลกระทบ และนัยสำคัญของเรื่อง)             คะแนนที่ได้ในแต่ละครั้ง
          -  ผลกระทบเล็กน้อย หรือไม่ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร                                 1 หรือ 2
          -  ผลกระทบปานกลาง หรือไม่ปฏิบัติงานโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ          3 หรือ 4
  • ผลกระทบมาก หรือจงใจกระทำผิด หรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น
          ในลักษณะเอาเปรียบผู้ลงทุน หรือมีการปฏิบัติในลักษณะส่อไปในทางไม่สุจริต                      มากกว่า 4

เมื่อผู้กระทำผิดถูกลงโทษ สำนักงานจะบันทึกประวัติการถูกลงโทษเป็นคะแนนตามระดับโทษที่ได้รับ หากผู้กระทำผิดมีการกระทำผิดขึ้นอีก สำนักงานจะนำคะแนนที่บันทึกไว้จากประวัติการถูกลงโทษมาใช้เป็นปัจจัยในการเพิ่มระดับโทษทางปกครองที่จะลงสำหรับการกระทำผิดครั้งใหม่ โดยในแต่ละระดับคะแนนมีบทลงโทษดังนี้

          คะแนน          บทลงโทษ                              การดำเนินการ
          1-2 คะแนน      ภาคทัณฑ์โดย          - มีหนังสือถึงผู้กระทำผิดโดยแจ้งคะแนนและสิทธิอุทธรณ์
                         ไม่เปิดเผย           - มีหนังสือถึงประธานกรรมการ (กรณีผู้จัดการหรือกรรมการ) หรือ

มีหนังสือถึงผู้จัดการ (กรณี Fund Manager หรือผู้บริหารอื่น)

เพื่อแจ้งการดำเนินการ

  • แจ้งสมาคมบริษัทจัดการลงทุน/สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ถึง

พฤติกรรมความผิดโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้กระทำผิดและบริษัทที่สังกัด

          3-4 คะแนน     ตำหนิโดยเปิดเผย       - มีหนังสือถึงผู้กระทำผิดโดยแจ้งคะแนนและสิทธิอุทธรณ์
                        ต่อสาธารณชน          - มีหนังสือถึงประธานกรรมการ (กรณีผู้จัดการหรือกรรมการ) หรือ

มีหนังสือถึงผู้จัดการ (กรณี Fund Manager หรือผู้บริหารอื่น)

เพื่อแจ้งการดำเนินการ

  • เปิดเผยต่อสาธารณชน (เปิดเผยชื่อผู้กระทำผิดและบริษัทที่สังกัด)
          5-6 คะแนน          พัก
          7 คะแนน          เพิกถอน

2.1 ในการบันทึกคะแนนความผิดจะบันทึกเป็นคะแนนของแต่ละบุคคลโดยไม่พิจารณาเรื่องการสังกัดบริษัทใด ๆ และในกรณีที่บุคคลใดมีสถานะเป็นทั้งผู้บริหาร และ Fund Manager จะนับรวมคะแนนความผิดของทั้ง 2 สถานะเข้าด้วยกัน

2.2 บริษัทที่จะรับกรรมการ ผู้บริหารหรือ Fund Manager เข้าปฏิบัติงานสามารถสอบถามคะแนนความผิดจากสำนักงานได้โดยการแสดงหนังสือยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลจากกรรมการ ผู้บริหารหรือ Fund Manager ดังกล่าวต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ในการเปิดเผยสำนักงานจะให้ข้อมูลคะแนนความผิดในช่วง 3 ปีย้อนหลัง

2.3 การล้างคะแนน จะล้างเมื่อผู้กระทำผิดได้รับโทษเพิกถอนหรือเมื่อครบระยะเวลา 3 ปี โดยจะล้างทิ้งเฉพาะคะแนนที่ครบกำหนด

3. ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาระดับความผิด

ในการพิจารณาระดับความผิดตามข้อ 2 สำนักงานจะคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

3.1 การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ผู้บริหาร และ Fund Manager

  • พิจารณาจากระดับของการขาดความระมัดระวัง หรือไม่ปฏิบัติงานโดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ หรือละเลยการทำหน้าที่ตามสมควร
  • พิจารณาจากการมีพฤติกรรมจงใจโดยรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ หรือมีการวางแผนหรือเตรียมการ หรือมีพฤติกรรมซับซ้อน หรือร่วมกับบริษัทในการกระทำผิด หรือช่วยเหลือ สนับสนุนหรือยอมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ หรือจงใจกระทำผิด หรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่นในลักษณะเอาเปรียบผู้ลงทุน หรือมีการปฏิบัติในลักษณะส่อไปในทางไม่สุจริต

3.2 นัยสำคัญของเรื่องและผลกระทบ

  • นัยสำคัญของเรื่อง : จะพิจารณาจากหลายปัจจัย รวมถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

1) เรื่องที่มีนัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อฐานะการเงิน หรือการดำเนินธุรกิจ หรือต่อลูกค้า หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุน เช่น การปิดบังข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลเท็จหรือมีการกระทำใด ๆ ให้ลูกค้าสำคัญผิดเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนหรือผลตอบแทนที่ลูกค้าจะได้รับจากการลงทุน เป็นต้น

2) ความถี่และระยะเวลาของการกระทำความผิด เช่น มีการกระทำความผิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ หรือมีระยะเวลากระทำผิดต่อเนื่อง เป็นต้น

  • ผลกระทบ : จะพิจารณาจากกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบ จำนวนเงินหรือขนาดความเสียหาย ผลประโยชน์ที่บริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับ โดยแบ่งผลกระทบเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1) ผลกระทบเล็กน้อย เมื่อปรากฏว่าเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติหรือข้อกำหนดต่าง ๆ ที่กำหนดในประกาศ หรือเป็นเรื่องการดำเนินงานทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ลูกค้า หรือนักลงทุน เพียงเล็กน้อย

2) ผลกระทบปานกลาง เมื่อปรากฏว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท และลูกค้าหรือนักลงทุน

3) ผลกระทบมาก เมื่อปรากฏว่าอาจกระทบฐานะความมั่นคงของบริษัทและหรือระบบการเงินโดยรวม

ทั้งนี้ สำนักงานอาจนำพฤติกรรมภายหลังการกระทำผิด เช่น การให้ความร่วมมือต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการชี้แจงข้อมูลหรือรวบรวมพยานหลักฐาน หรือแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบ หรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น มาประกอบการพิจารณาปรับเพิ่มหรือลดระดับความรุนแรงของมาตรการลงโทษได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สิ่งที่ส่งมาด้วย รายชื่อประกาศเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขาย

ล่วงหน้า

ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2263-6029/โทรสาร 0-2263-6289
ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์
โทรศัพท์ 0-2695-9553/โทรสาร 0-2695-9762

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ