ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 8/2550
เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ฉบับที่ 7)
_________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในหมวด 3 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น และข้อ 26 ของภาค 1 การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หมวด 3
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น
____________________
ข้อ 25/1 ในหมวดนี้
“การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งล่าสุดที่มีต่อตัวตราสาร ต่อผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญา หรือต่อผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี
“เงินต้น” หมายความว่า เงินที่ผู้ลงทุนแต่ละรายชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นซึ่งโครงการจัดการกองทุนรวมมุ่งที่จะให้ความคุ้มครอง ทั้งนี้ จำนวนเงินดังกล่าวไม่รวมค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน
“ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
“บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
“บริษัทเงินทุน” หมายความว่า บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
“ประกาศ ที่ สน. 28/2549” หมายความว่า ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“อันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า สัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ข้อ 26 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ต้องกำหนดประเภททรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังต่อไปนี้ ไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มุ่งจะให้เกิดความคุ้มครองเงินต้นทั้งจำนวน
(ก) ตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 14(1) แห่งประกาศ ที่ สน. 28/2549
(ข) ตราสารภาครัฐต่างประเทศตามข้อ 14(2) หรือข้อ 17(1) แห่งประกาศ ที่ สน. 28/2549 ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรก ทั้งนี้ โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือภายใต้ชื่อ Standard & Poor หรือ Moody’s หรือ Fitch หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างประเทศที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติม
(ค) ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือบัตรเงินฝาก ที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออกเพื่อการกู้ยืมหรือรับเงินจากประชาชน
(ง) เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ หรือบัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก
(จ) ทรัพย์สินอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือมีความเสี่ยงเทียบเคียงได้กับความเสี่ยงในทรัพย์สินตาม (ก) ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(2) ต้องกำหนดอัตราส่วนการลงทุนขั้นต่ำของการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตาม (1) และแสดงได้ว่าอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดนั้นสามารถคุ้มครองเงินต้นทั้งจำนวนได้ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
(3) ต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินต้นอย่างชัดเจนไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการคุ้มครอง จำนวนเงินต้นที่คุ้มครอง ระยะเวลาการคุ้มครอง และกลไกการคุ้มครอง”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 46 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และให้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 46 ในกรณีของกองทุนส่วนบุคคลที่มีมูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ลงทุนรายย่อยต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้นำนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมตามข้อ 4(1) และ (2)(ก) ถึง (ช) และหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าว มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2550
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากกองทุนที่กำหนดนโยบายคุ้มครองเงินต้น แต่ละกองทุนมีขนาดของกองทุนและเงื่อนไข
การคุ้มครองเงินต้นที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้บริษัทจัดการสามารถวางแผนการลงทุนเพื่อให้ความคุ้มครองเงินต้นของผู้ลงทุนได้
อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของแต่ละกองทุน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้บริษัทจัดการสามารถกำหนดอัตราขั้นต่ำของ
การลงทุนในทรัพย์สินที่จะก่อให้เกิดการคุ้มครองเงินต้นได้เอง