การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 26, 2010 09:51 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 33/2553

เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

(ฉบับที่ 5)

_____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 12 และข้อ 17 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และข้อ 19(6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 ของหมวด 1 บททั่วไป ในภาค 1 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สิน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามประเภทที่กำหนดในหมวด 2 และหมวด 2/1 ของภาค 1 ทั้งนี้ ตามลักษณะของตราสารและหลักเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดในหมวด 3 ของภาค 1

(2) เปิดเผยการลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 4 ของภาค 1

(3) เมื่อมีเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินขาดคุณสมบัติที่กองทุนอาจลงทุนหรือมีไว้ได้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหมวด 5 ของภาค 1”

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 4/1 ในหมวด 2 ข้อกำหนดประเภททรัพย์สินตามลักษณะของกองทุน ของภาค 1 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สิน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 4/1 ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว ทั้งนี้ กองทุนรวมดังกล่าวต้องลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ในหมวด 2/1 ด้วย”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือได้มาซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง (5) ได้”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 2/1 ข้อกำหนดเกี่ยวกับประเภททรัพย์สินสำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกัน และข้อ 8/1 ถึงข้อ 8/6 ในภาค 1 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สิน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“หมวด 2/1

ข้อกำหนดเกี่ยวกับประเภททรัพย์สินสำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน

และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกัน

____________________

ข้อ 8/1 ในหมวดนี้

“อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก” (portfolio duration) หมายความว่า อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกระแสเงินที่จะได้รับจากทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้

ข้อ 8/2 ภายใต้บังคับข้อ 8/3 และข้อ 8/4 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สิน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว

(1) ตราสารแห่งหนี้ตามส่วนที่ 2 ในหมวด 3 ของภาค 1

(2) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามส่วนที่ 3 ในหมวด 3 ของภาค 1 ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนหรือโดยบริษัทที่มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวต้องไม่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เหตุแห่ง การเพิกถอนการจดทะเบียนหรือการได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายหมดไป

(3) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน ดังต่อไปนี้

(ก) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ

(ข) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในส่วนที่ 4 ของหมวด 3 ในภาค 1 ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน

(5) เงินฝากหรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสดตามส่วนที่ 6 ในหมวด 3 ของภาค 1

(6) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามส่วนที่ 10 ในหมวด 3 ของภาค 1

(7) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) ถึง (6) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 8/3 ตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 8/2(1) และตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามข้อ 8/2(2) ที่กองทุนจะลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) มีกำหนดวันชำระหนี้ตามตราสารเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น หรือไม่เกินสามร้อยเก้าสิบเจ็ดวันนับแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญา

(2) มีอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นตราสารภาครัฐไทย

(ก) อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรกที่ได้มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น

(ข) อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสามอันดับแรกที่ได้มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาว

(ค) อันดับความน่าเชื่อถือที่เทียบเคียงได้กับสองอันดับแรกของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นตามที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้เปรียบเทียบไว้

(3) ไม่ใช่ตราสารแห่งหนี้ดังต่อไปนี้

(ก) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้

(ข) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

ข้อ 8/4 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามข้อ 8/2 เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนตามหมวดนี้ บริษัทจัดการต้องดำรงอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก (portfolio duration) ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกินสามเดือน

ข้อ 8/5 กรณีที่กองทุนรวมตามหมวดนี้มีอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เกินสามเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลาห้าวันทำการไม่ว่าจะเกิดจากการลงทุนเพิ่มหรือไม่ก็ตาม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงาน โดยระบุอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกองทุนรวม และสาเหตุที่ไม่สามารถดำรงอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามข้อ 8/4 ได้ และดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) ส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในสามวันทำการนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลาห้าวันทำการดังกล่าว

(ข) จัดเก็บสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ดำเนินการแก้ไขให้อายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่ง เหลือไม่เกินสามเดือน ภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลาห้าวันทำการดังกล่าว เว้นแต่บริษัทจัดการสามารถแสดงให้สำนักงานเห็นว่ามีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นใดอันทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้

(3) จัดทำรายงานเมื่อบริษัทจัดการสามารถแก้ไขอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักได้ โดยให้ระบุอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของกองทุนรวม และวันที่สามารถแก้ไขได้ และดำเนินการตาม (1) (ก) และ (ข) โดยอนุโลม

ข้อ 8/6 ในระหว่างที่บริษัทจัดการไม่สามารถแก้ไขอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่งให้เหลือไม่เกินสามเดือน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าระยะเวลาตามข้อ 8/5(2) ได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือไม่

(1) จัดทำรายงานเมื่ออายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่งเกินสี่เดือน และทุกครั้งที่เพิ่มขึ้นเกินหนึ่งเดือน ตามลำดับ โดยรายงานดังกล่าวให้มีสาระสำคัญตามข้อ 8/5(1) โดยอนุโลม

(2) ส่งรายงานตาม (1) ต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว

(3) จัดเก็บสำเนารายงานตาม (1) ไว้ที่บริษัทจัดการ”

ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 52/1 และข้อ 52/2 ในหมวด 5 การดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินขาดคุณสมบัติที่กองทุนอาจลงทุนหรือมีไว้ได้ ของภาค 1 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สิน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 52/1 กรณีที่บริษัทจัดการได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ในหมวด 2/1 และหมวด 3 ของภาคนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าวไว้แล้ว หากต่อมาทรัพย์สินดังกล่าวมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป จนเป็นเหตุให้บริษัทจัดการไม่สามารถมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติ และวันที่ทรัพย์สินนั้นขาดคุณสมบัติ และดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) ส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในวันทำการถัดจากวันที่เกิดกรณีดังกล่าว

(ข) จัดเก็บสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) จำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ทรัพย์สินขาดคุณสมบัติ เว้นแต่บริษัทจัดการสามารถแสดงให้สำนักงานเห็นว่ามีเหตุดังต่อไปนี้

(ก) เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นใดอันทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการแก้ไขตามที่กำหนดใน (2) ได้

(ข) บริษัทจัดการดำเนินการให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย ณ วันที่บันทึกมูลค่าทรัพย์สินเป็นศูนย์ หรือวันที่มีพฤติการณ์ว่าผู้ออกหรือคู่สัญญาในทรัพย์สินดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้น (set aside) ตามหลักเกณฑ์ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน

(3) จัดทำรายงานเมื่อบริษัทจัดการสามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติ หรือเมื่อทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติจนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับกองทุนดังกล่าว โดยให้ระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว และวันที่ทรัพย์สินนั้นถูกจำหน่ายไป หรือวันที่คุณสมบัติเปลี่ยนแปลง แล้วแต่กรณี และดำเนินการตาม (1) (ก) และ (ข) โดยอนุโลม

ข้อ 52/2 ในระหว่างที่บริษัทจัดการไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติที่กองทุนอาจลงทุนหรือมีไว้ได้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าระยะเวลาตามข้อ 52/1(2) ได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือไม่

(1) จัดทำรายงานเมื่ออัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยให้ระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินนั้น และวันที่อัตราส่วนเพิ่มขึ้น

(2) ส่งรายงานตาม (1) ต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว

(3) จัดเก็บสำเนารายงานตาม (1) ไว้ที่บริษัทจัดการความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีตามข้อ 52/1(2) (ข)”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 54 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 54 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) จัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนทั่วไปในหมวด 1 ของภาค 2

(2) จัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับกองทุนเฉพาะประเภทตามที่กำหนดไว้ในหมวด 2 ถึง หมวด 11/1 ของภาค 2

(3) ให้ดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินไม่เป็นไปตามอัตราส่วนตามที่กำหนดในหมวด 12 ของภาค 2”

ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 77 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 77 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง และเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่กระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยมีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากเพื่อการลดความเสี่ยง โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมเปิดที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน

(2) กองทุนรวมเปิดแบบมีกำหนดระยะเวลาซึ่งกำหนดช่วงห่างของวันทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนครั้งก่อนและครั้งใหม่ยาวกว่าอายุของตราสารหรือสัญญาดังกล่าว โดยวันครบกำหนดอายุของตราสารหรือสัญญาดังกล่าวอยู่ในช่วงห่างนั้น

(3) กองทุนรวมตลาดเงิน

(4) กองทุนรวมปิด”

ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 81/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน.24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 81/1 การคำนวณมูลค่าการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 77 ให้ใช้มูลค่าตามขนาดของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (notional amount) เป็นมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณ”

ข้อ 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 11/1 หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกัน และข้อ 106/1 ถึงข้อ 106/5 ในภาค 2 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“หมวด 11/1

หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมตลาดเงิน

และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุน

ในลักษณะเดียวกัน

___________________

ข้อ 106/1 มิให้นำอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 61 ข้อ 62 และข้อ 69 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว โดยให้บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามข้อกำหนดดังกล่าวตามอัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 106/2 และข้อ 106/3

ข้อ 106/2 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนตามข้อ 106/1 ได้ ไม่เกินอัตราดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามข้อ 61 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4)

(2) ร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (3) และ (7)

(3) ร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน

ข้อ 106/3 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่บริษัทในกลุ่มกิจการใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนตามข้อ 106/1 หากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่ใช้ในการคำนวณตัวชี้วัดของกองทุนนั้น บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวโดยมี มูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญารายนั้นได้ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้แล้วแต่อัตราใดจะสูงกว่า

(1) อัตราที่คำนวณได้จากน้ำหนักของทรัพย์สินดังกล่าวในตัวชี้วัดรวมกับร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(2) อัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 106/2

ข้อ 106/4 ในกรณีของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วนบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละห้าสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เมื่อคำนวณรวมทุกบุคคลที่เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา

การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนตลอดเวลาที่มีการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว

ข้อ 106/5 ในกรณีของกองทุนรวมตลาดเงิน ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงดังต่อไปนี้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เมื่อคำนวณรวมทุกบุคคลที่เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา

(1) เงินสดสกุลเงินบาท

(2) เงินฝากสกุลเงินบาท ทั้งนี้ ต้องเป็นเงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(3) ตั๋วเงินคลังที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ หรือ

(4) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยประเภทระยะสั้น”

ข้อ 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 112/1 และข้อ 112/2 ในหมวด 12 การดำเนินการเมื่อมีเหตุที่ทำให้ไม่เป็นไปตามอัตราส่วน ของภาค 2 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 112/1 ในกรณีที่กองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว มีการลงทุนหรือได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในภาค 2 หากต่อมาทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลาห้าวันทำการ โดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนหรือได้มาเพิ่มเติม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินอัตราส่วน และวันที่ทรัพย์สินมีมูลค่าเกินอัตราส่วน และดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) ส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลรายย่อย แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในสามวันทำการนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลาห้าวันทำการดังกล่าว

(ข) จัดเก็บสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ดำเนินการแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของระยะเวลาห้าวันทำการดังกล่าว เว้นแต่บริษัทจัดการสามารถแสดงให้สำนักงานเห็นว่าที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นใดอันทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการดังกล่าว

(3) จัดทำรายงานเมื่อบริษัทจัดการสามารถแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนได้ โดยให้ระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว และวันที่สามารถแก้ไขได้ และดำเนินการตาม (1) (ก) และ (ข) โดยอนุโลม มิให้นำความในข้อ 110 ถึงข้อ 112 มาใช้บังคับกับกรณีตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 112/2 ในระหว่างที่บริษัทจัดการไม่สามารถแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามข้อ 52/2 โดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าระยะเวลาตามข้อ 112/1 (2) ได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือไม่”

ข้อ 11 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 113 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 113 ในกรณีที่ทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุน มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดในภาค 2 นี้ หากต่อมามีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าว

โดยไม่เข้าลักษณะตามข้อ 107 ถึงข้อ 112/2 และการเกินอัตราส่วนดังกล่าวมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้ทรัพย์สินมาเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้”

ข้อ 12 ในกรณีที่กองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกันได้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินของกองทุนโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดแห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่กำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

ข้อ 13 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภททรัพย์สินและอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน

และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้มีการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องและความเสี่ยงต่ำใน

อัตราส่วนที่เหมาะสมกับลักษณะของกองทุนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ