นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 6, 2010 09:38 —ประกาศ ก.ล.ต.

6 กันยายน 2553

เรียน ผู้จัดการ

บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ

กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท

ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย

ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย

นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ที่ น.(ว) 26/2553 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ด้วยสำนักงานได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป ดังนี้

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 31/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 32/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. หลักการและเหตุผล

เจตนารมณ์ของการกำหนดลักษณะของกองทุนรวมตลาดเงิน (“กอง MMF”) นั้น มุ่งหวังให้เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถเข้าออก กอง MMF ได้ทุกวันทำการ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ลงทุนมีความคาดหวังในการใช้กองทุนดังกล่าวทดแทนการ ฝากเงินกับธนาคาร อย่างไรดี วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ผ่านมา มีหลายประเทศประสบภาวการณ์ไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุนจากกอง MMF อย่างมาก และประสบปัญหาราคาไถ่ถอนคืนต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุน ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในธุรกิจจัดการลงทุนในวงกว้าง องค์กรกำกับดูแลตลาดทุน ในต่างประเทศจึงมีการทบทวนหลักเกณฑ์การลงทุนของกอง MMF เพื่อจำกัดความเสี่ยงด้านราคา ด้านเครดิต และด้านสภาพคล่อง สำนักงานจึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกอง MMF เพื่อจำกัดความเสี่ยงดังกล่าวให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกอง MMF และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล

2. การจัดตั้งกอง MMF

กอง MMF ที่จะขอยื่นคำขอจัดตั้ง ต้องเป็นประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังนี้

(1) กอง MMF ในประเทศ — เป็นกอง MMF ที่ลงทุนในประเทศเท่านั้น โดยจำกัดความเสี่ยงไม่ให้กองทุนมีฐานะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ทั้งในด้านสกุลเงิน ประเทศที่เสนอขาย และผู้ออก

(2) กอง MMF ที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน — กำหนดให้กองทุนสามารถมีฐานะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (“NAV”)

นอกจากนี้ การตั้งชื่อกอง MMF ต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในประเภทและนโยบายการลงทุนของกอง MMF นั้นด้วย

3. ประเภทหลักทรัพย์และอัตราส่วนการลงทุนของกอง MMF

กอง MMF ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การลงทุนดังต่อไปนี้ เพื่อจำกัดความเสี่ยงด้านราคา ด้านเครดิต และด้านสภาพคล่อง (สรุปรายละเอียดตามเอกสารแนบ)

3.1 ความเสี่ยงด้านราคาและด้านสภาพคล่อง

(1) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ต้องดำรง portfolio duration ไม่เกิน 3 เดือน

(2) แก้ไขอายุคงเหลือของตราสารจากเดิมไม่เกิน 1 ปี เป็นไม่เกิน 397 วัน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการลงทุนมากขึ้น

(3) เพิ่มเติมให้ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของ NAV

(4) ห้ามลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (“structured notes”)

(5) จำกัดการลงทุนที่ทำให้กอง MMF มีฐานะความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศ โดยกำหนดให้เฉพาะกอง MMF ที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วนเท่านั้นที่สามารถมีฐานะความเสี่ยงกับการลงทุนในต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของ NAV

3.2 ความเสี่ยงด้านเครดิต

(1) กำหนดให้ตราสารที่ลงทุนต้องมีคุณภาพสูงโดยมีอันดับความน่าเชื่อถือ ดังนี้

  • อันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น 2 อันดับแรก
  • อันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวที่เทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น 2 อันดับแรก ทั้งนี้ ตามที่สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้เปรียบเทียบไว้ หรือ
  • อันดับความน่าเชื่อถือระยะยาว 3 อันดับแรก

(2) แก้ไขอัตราส่วนการลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง (company limit) ให้มีการกระจายตัวการลงทุนมากขึ้น ดังนี้

          company limit                        เดิม (% NAV)        แก้ไขเป็น (% NAV)
  ตราสารภาครัฐไทย                              ไม่จำกัดอัตราส่วน          เหมือนเดิม
ตราสารภาครัฐต่างประเทศ
  - อันดับความน่าเชื่อ 2 อันดับแรกขึ้นไป               ไม่จำกัดอัตราส่วน          เหมือนเดิม
  - อันดับความน่าเชื่อถือ investment grade ขึ้นไป    น้อยกว่าหรือเท่ากับ35        เหมือนเดิม
  สถาบันการเงิน                               20 หรือ BM[1] + 10      15 หรือ BM + 5
  บริษัททั่วไป                                    15 หรือ BM + 10       10 หรือ BM + 5
[1] ดัชนีตัวชี้วัด (benchmark — BM) ที่ใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวม

(3) ยกเลิกการอนุญาตให้กอง MMF สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะหน่วยลงทุนของกอง MMF เท่านั้น ทั้งนี้ กอง MMF ที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ ต้องลงทุนในหน่วยลงทุนของกอง MMF ที่ลงทุนเฉพาะในประเทศเท่านั้น

4. การขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

กำหนดให้กอง MMF ที่ลงทุนเฉพาะในประเทศเป็นกองทุนประเภทเดียวที่สามารถชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนได้ ทั้งนี้ กอง MMF ดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

(1) กำหนดวงเงินรวมสูงสุดต่อวันสำหรับการชำระค่าไถ่ถอน โดยต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการไถ่ถอนหน่วยลงทุน และจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอย่างเหมาะสม เช่น มีการกันสำรองเงินสด หรือจัดให้มีวงเงินสำรองกับธนาคารในจำนวนที่เพียงพอต่อวงเงินรวมสูงสุดต่อวัน เป็นต้น

(2) ต้องยึดหลักมาก่อนได้ก่อน

(3) ผู้ถือหน่วยแต่ละรายสามารถไถ่ถอนได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่าเงินลงทุนของวันทำการก่อนหน้า หรือไม่เกิน 20,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า

(4) เปิดเผยค่าธรรมเนียมการใช้บริการดังกล่าวล่วงหน้า และต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการเท่านั้น โดยห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากกองทุนเพราะจะกระทบกับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายถึงแม้ไม่ใช้บริการก็ตาม

5. การยกเว้นการถือหน่วยลงทุนเกิน 1 ใน 3 ของกอง MMF

กำหนดให้กอง MMF ซึ่งต้องมี portfolio duration ไม่เกิน 3 เดือนตามเกณฑ์ใหม่ ไม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การลงทุนเกิน 1 ใน 3 แต่การจัดสรรหน่วยลงทุนต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยหากเป็นกอง MMF ที่กำหนด portfolio duration ไม่เกิน 6 เดือนอยู่ก่อนหน้าประกาศมีผลใช้บังคับ ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนยังคงถือหน่วยลงทุนเกิน 1 ใน 3 แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ได้ต่อไป

6. การจำกัดการลงทุนใน OTC derivatives ของกองทุนรวมเปิด

แก้ไขจากเกณฑ์เดิมที่จำกัดเฉพาะการลงทุนใน structured notes ไม่เกินร้อยละ 25 ของ NAV เป็นลงทุนใน OTC derivatives และ structured notes รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของ NAV โดยมูลค่าที่ใช้ในการคำนวณ OTC derivatives ให้คิดจาก notional amount ของสัญญา

7. บทเฉพาะกาลและการมีผลใช้บังคับ

ประกาศทั้ง 3 ฉบับข้างต้นจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ กรณีกอง MMF มีการลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่เป็นไปตามประเภทและอัตราส่วนที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ใหม่ให้ยังคงถือทรัพย์สินดังกล่าวได้แต่ห้ามมีการลงทุนเพิ่ม

8. ผลกระทบจากการแก้ไขประกาศและแนวทางการดำเนินการ

8.1 ประเด็นที่ส่งผลกระทบ

(1) ประเภทของกอง MMF โดยต้องระบุอย่างชัดเจนว่ากอง MMF ที่จัดตั้งอยู่ก่อนประกาศมีผลใช้บังคับเป็นกอง MMF ในประเทศ หรือกอง MMF ที่มีการลงทุนในต่างประเทศบางส่วน

(2) ประเภททรัพย์สินและอัตราส่วนการลงทุน โดยต้องปรับปรุงประเภททรัพย์สินและอัตราส่วนการลงทุน รวมทั้งการแก้ไขกรณีการลงทุนไม่เป็นไปตามที่กำหนดให้เป็นไปตามประกาศใหม่

8.2 แนวทางการดำเนินการ

สำหรับกอง MMF ที่จัดตั้งอยู่ก่อนประกาศมีผลใช้บังคับ ให้บริษัทจัดการยื่นแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม (“โครงการฯ”) ให้แล้วเสร็จก่อนประกาศมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ บริษัทจัดการสามารถแก้ไขโครงการฯ ด้วยวิธี fast track โดยในคำขอแก้ไขโครงการฯ ให้ระบุวันที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

9. การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกอง MMF กับเงินฝาก

กอง MMF ในประเทศเป็นกองทุนรวมเพียงประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับเงินฝากเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องระบุคำเตือนในหนังสือชี้ชวน เว็บไซต์ หรือเอกสารประกอบการเสนอขายหน่วยลงทุนอื่น ๆ ไว้อย่างชัดเจน ในหน้าเดียวกับการแสดงข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้วยว่า การลงทุนในกอง MMF ไม่ใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน โดยผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนจากกอง MMF ครบเต็มจำนวนได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ

ขอแสดงความนับถือ

(นายประกิด บุณยัษฐิติ)

ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

เลขาธิการแทน

สิ่งที่ส่งมาด้วย

1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 31/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

2. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข/น. 32/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 33/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

4. เอกสารแนบ — สรุปรายละเอียดประเภทหลักทรัพย์และทรัพย์สินและอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน

ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2695-9693
โทรสาร 0-2695-9914

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ