17 กรกฎาคม 2550
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ น.(ว) 11/2550 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศจำนวน 5 ฉบับดังนี้
ประกาศเกี่ยวกับกองทุนรวมอีทีเอฟ จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ประกาศสำนักงานที่ สน. 14/ 2550 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สน. 14/2550”)
2. ประกาศสำนักงานที่ สข/น. 15/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สข/น. 15/2550”)
ประกาศเกี่ยวกับการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ประกาศสำนักงานที่ สน. 16/ 2550 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สน. 16/2550”)
2. ประกาศสำนักงานที่ สข/น. 17/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สข/น. 17/2550”)
3. ประกาศสำนักงานที่ สน. 18/2550 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สน. 18/2550”)
เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียดดังนี้
ซักซ้อมเกี่ยวกับกองทุนรวมอีทีเอฟ
1. ประกาศที่ สน. 14/2550 (แก้ไขประกาศที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (“ประกาศที่ สน. 23/2547”)) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.1 คำนิยาม “ กองทุนรวมอีทีเอฟ” (ข้อ 4 ของประกาศที่ สน. 23/2547)
ประกาศเดิม กำหนดให้บริษัทจัดการจัดให้มีผู้ลงทุนรายใหญ่อย่างน้อย 1 รายที่พร้อมจะซื้อและขายคืนหน่วยลงทุนเพื่อให้ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดรองสะท้อนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมได้อย่างใกล้เคียง
แก้ไขเป็น กำหนดให้บริษัทจัดการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างน้อย 1 ราย
เหตุผล เพื่อกำหนดบทบาทของผู้ดูแลสภาพคล่อง
1.2 คำนิยาม “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” (ข้อ 4 ของประกาศที่ สน. 23/2547”)
เพิ่มเติม ผู้ดูแลสภาพคล่อง หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการกองทุนรวมให้ทำหน้าที่เพื่อให้ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟในตลาดรอง (organized market) สะท้อนมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวที่คำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมได้อย่างใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ โดยการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟและหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีที่กองทุนรวมอีทีเอฟนั้นอ้างอิง
เหตุผล เพื่อกำหนดบทบาทของผู้ดูแลสภาพคล่อง
1.3 คำนิยาม “ผู้ลงทุนรายใหญ่” (ข้อ 4 ของประกาศที่ สน. 23/2547”)
ประกาศเดิม ผู้ลงทุนที่ซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในปริมาณหรือมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
แก้ไขเป็น ผู้ลงทุนที่ซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในปริมาณหรือมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือตามที่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานเป็นรายกรณี
เหตุผล เนื่องจากมูลค่าของ ETF จะขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหลักทรัพย์ หรือความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่นใดที่กองทุนใช้อ้างอิง อาจมีความเป็นไปได้ว่าขนาดของคำสั่งในบางขณะจะมีมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาทได้ ทั้งนี้
การกำหนดปริมาณหรือมูลค่าของคำสั่งต้องมีขนาดที่เหมาะสมและสมเหตุสมผล
1.4 กำหนดให้มีการซื้อและชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในลักษณะ in kind ทั้งในช่วง IPO และหลัง IPO (ข้อ 42/4 ของประกาศที่ สน. 23/2547”)
ประกาศเดิม (1) ในช่วงการเสนอขายครั้งแรก (IPO) อนุญาตให้ in kind ระหว่างบริษัทจัดการกับผู้ลงทุนรายใหญ่เฉพาะกองทุนรวมดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ เท่านั้น
(2) ในช่วงหลังการเสนอขายครั้งแรก (IPO) อนุญาต in kind ระหว่างบริษัทจัดการกับผู้ลงทุนรายใหญ่สำหรับ ETF เป็นการทั่วไป โดยจะต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนในโครงการ
เพิ่มเติม กำหนดให้มีการซื้อและชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนของผู้ดูแลสภาพคล่องหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ในลักษณะ in kind ทั้งในช่วง IPO และหลัง IPO
เหตุผล เนื่องจาก ETF จะมีนโยบายการลงทุนเหมือนกองทุนดัชนี โดยจะบริหารจัดการกองทุน เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนสะท้อนความเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด ดังนั้น การซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในลักษณะ in kind จะทำให้พอร์ตของกองทุนไม่ได้รับผลกระทบจากการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนของผู้ลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการ ETF ในต่างประเทศ
2. ประกาศที่ สข/น. 15/2550 (แก้ประกาศที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 (“ประกาศที่ สข/น. 1/2549”)) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
2.1 บริษัทจัดการอาจขอผ่อนผันไม่ใช้ NAV ของสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนต่อสำนักงานได้ หากการใช้ NAV ดังกล่าวจะทำให้มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ใช้ชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ (“ข้อ 108/2 ของประกาศที่ สข/น. 1/2549”)
เหตุผล เพื่อส่งเสริมการทำ arbitrage ของผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือผู้ดูแลสภาพคล่อง ซึ่งจะต้องเข้าทำรายการเมื่อมีความแตกต่างของราคาในตลาดรองหับมูลค่าหน่วยลงทุนที่แท้จริง (NAV) และเพื่อให้กลไกการ arbitrage เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนอาจจำเป็นต้องคำนวณโดยใช้ราคาของวันที่มีการทำรายการซื้อขายหน่วยลงทุน และการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรอง บริษัทจัดการจึงสามารถขอผ่อนผันการใช้ NAV ได้สำหรับกรณีดังกล่าว
ซักซ้อมเกี่ยวกับการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน (multi-class)
1. ประกาศที่ สน. 16/2550 (แก้ไขประกาศที่ สน. 23/2547)โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.1 อนุญาตให้กองทุนรวมสามารถแบ่ง class หน่วยลงทุนออกเป็นหลาย class ได้ โดยบริษัทจัดการต้องกำหนดสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนใน class เดียวกันอย่างเท่าเทียม โดยบริษัทจัดการต้องแบ่ง class ตามกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น (ข้อ 6/1 ของประกาศที่ สน. 23/2547)
(1) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน
(2) ระยะเวลาการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
(3) สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล
(4) อัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับจากการลงทุนในหน่วยลงทุน
(5) กรณีอื่นใดตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ สำนักงานจะคำนึงถึง
ประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมเป็นสำคัญ โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ของการแบ่ง class หน่วยลงทุน
ตามที่ขอ และผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละ class จะได้รับ
เหตุผล เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการจัดตั้งกองทุนรวมและตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนซึ่งมี risk profile ที่แตกต่างกัน โดยจะอนุญาตให้แบ่ง class หน่วยลงทุนตามสิทธิประโยชน์ในผลตอบแทนเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้มีการแบ่ง class หน่วยลงทุนตามประเภททรัพย์สิน
1.2 บริษัทจัดการต้องกำหนดการแบ่ง class หน่วยลงทุนไว้ในโครงการตั้งแต่ก่อนเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (ข้อ 6/2 ของประกาศที่ สน. 23/2547) โดยต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังนี้
(1) class หน่วยลงทุนที่แบ่ง
(2) สิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละ class รวมทั้งวิธีการคำนวณและการแบ่งผลประโยชน์ตอบ
แทนโดยละเอียด (ถ้ามี)
(3) การขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนในเรื่องต่าง ๆในแต่ละ class หน่วยลงทุน (ถ้ามี)
(4) ข้อจำกัดในการเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนระหว่างหน่วยลงทุนแต่ละ class
(5) การจัดสรรรายได้ รายจ่าย รวมทั้ง ผลกำไรและขาดทุน ที่เกิดจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ใดๆ แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละ class ไว้อย่างชัดเจน (ถ้ามี)
(6) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยที่ถือหน่วยลงทุนแต่ละ class (ถ้ามี) โดยการกำหนดค่า
ธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจะต้องมีความสอดคล้องกับหน่วยลงทุนแต่ละ class ด้วย
(7) วิธีการคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของหน่วยลงทุนแต่ละ class รวมทั้งสิทธิและ
ส่วนได้เสียของหน่วยลงทุนแต่ละ class ในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (ถ้ามี)
เหตุผล เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบลักษณะและข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่ง class ของหน่วยลงทุนก่อนการตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน
1.3 กองทุนรวมที่มีการแบ่ง class หน่วยลงทุน (ข้อ 14 ของประกาศที่ สน. 23/2547) อาจขอผ่อนผันในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละราย ต้องไม่กำหนดไว้สูงกว่า 50,000
บาท
แนวผ่อนผัน เปิดให้กำหนดสูงกว่า 50,000 บาทได้ เช่น ในกรณีที่มีการแบ่ง class ที่มีความเสี่ยงในการได้รับผลตอบแทนที่ต่างกัน class ที่มีความเสี่ยงสูงอาจกำหนดมูลค่าขั้นต่ำที่สูง หรือเสนอขายเฉพาะนักลงทุนสถาบันได้
(2) กำหนดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 7 วัน แนวผ่อนผัน ใน class ที่ต้องรับความเสี่ยง
สูง เปิดให้กำหนดระยะเวลาเสนอขายครั้งแรกต่ำกว่า 7 วันได้
(3) ประชาสัมพันธ์การขายหน่วยลงทุนอย่างกว้างขวางเพื่อให้มีการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อ
ประชาชนอย่างแพร่หลาย
แนวผ่อนผัน ใน class ที่รับความเสี่ยงสูง อาจมีการประชาสัมพันธ์ในวงจำกัดได้
1.4 สำหรับกองทุนเก่าที่บริษัทจัดการประสงค์จะให้มีการแบ่ง class ของหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องขออนุญาตจากสำนักงาน และจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อการเบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลาย class ดังกล่าวเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
เหตุผล เพื่อกำหนดแนวทางอนุญาตให้มีการแบ่ง class หน่วยลงทุน สำหรับกองทุนเก่าอย่างเข้มงวด โดยต้องคำนึงว่า การแบ่ง class หน่วยลงทุนจะต้องไม่ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่อยู่ในกองทุนก่อนมีการแบ่ง class เกิดความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ
2. ประกาศที่ สข/น. 17/2550 (แก้ไขประกาศที่ สข/น. 1/2549) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
2.1 เกี่ยวกับ multi-class
2.1.1 การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการ ในกรณีที่ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนใน class ใดมีจำนวนไม่เกิน 60% ของจำนวนหน่วย
ลงทุนใน class นั้น ให้บริษัทจัดการส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการขอมติและการนับมติไปยังผู้ดูแลผลประโยชน์ เพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รับรองผลการนับมตินั้น (ข้อ 41 ของประกาศที่ สข/น. 1/2549)
เหตุผล เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่าการแก้ไขโครงการดังกล่าวได้รับมติผู้ถือหน่วยแต่ละ class ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดอย่างแท้จริง
2.1.2 การสับเปลี่ยน class บริษัทจัดการอาจกำหนดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจาก class หนึ่งเป็นหน่วยลงทุนอีก class หนึ่งได้ โดยต้องระบุวิธีการสับเปลี่ยนดังกล่าวไว้ในโครงการให้ชัดเจน (ข้อ 43/1 ของประกาศที่ สข/น. 1/2549)
เหตุผล เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบถึงเงื่อนไขวิธีการในการสับเปลี่ยน class
2.1.3 กองทุนที่มีการแบ่ง class หน่วยลงทุน การขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการใด ๆ ต้องระบุไว้อย่างชัดเจนในโครงการ ซึ่งมตินั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (ข้อ 43/2 ของประกาศที่ สข/น. 1/2549)
(1) การขอมติที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยทุก class เช่นการเลิกกองทุนรวม เป็นต้น ต้องได้รับมติผู้ถือหน่วยลง
ทุนแต่ละ class เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุน class นั้น
(2) การขอมติที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วย class หนึ่ง class ใด เช่น การคิดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
ของหน่วยลงทุนแต่ละ class เป็นต้น ต้องได้รับมติผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับผลกระทบเกินกึ่งหนึ่ง
ของจำนวนหน่วยลงทุน class นั้น
(3) ในกรณีที่ข้อกำหนดอื่นในประกาศนี้กำหนดให้ต้องมีการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน หากการขอมติในเรื่องดังกล่าวมีผล
กระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน class ใด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมขอมติเฉพาะจากผู้ถือหน่วยลงทุน
class นั้น
เหตุผล เพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่ามติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับเป็นมติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนั้นๆ
2.1.4 การคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของหน่วยลงทุนแต่ละ class ให้ปฏิบัติตามเกณฑ์การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินและมูลค่าหน่วยลงทุน (ข้อ 43/3 ของประกาศที่ สข/น. 1/2549)
2.1.5 กรณีที่ไม่มีผู้ถือหน่วยลงทุนเหลืออยู่ใน class ใด บริษัทจัดการอาจคง class นั้นไว้ได้ ในกรณีที่ประสงค์จะขายหน่วยลงทุน class เพิ่มเติม บริษัทจัดการต้องคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนของ class ดังกล่าว โดยใช้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม (Asset value) หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (Net Asset Value) เป็นเกณฑ์ (ข้อ 43/4 ของประกาศที่ สข/น. 1/2549)
เหตุผล เพื่อให้ class หน่วยลงทุนที่ไม่มีผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว สามารถยังคงอยู่ได้ เพื่อรับผู้ลงทุนต่อไปได้
2.2 เรื่องอื่น ๆ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) (ข้อ 125 ของประกาศที่ สข/น. 1/2549)
2.2.1 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนจัดให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสิทธิเปลี่ยนนโยบายการลงทุน
ปัจจุบัน อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
แก้ไขเป็น อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เว้นแต่สมาชิกมีมติกำหนดเวลาในการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนไว้เป็นอย่างอื่น
เหตุผล เพื่อให้การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้สมาชิกสามารถกำหนดเวลาในการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนซึ่งเป็นเรื่องกระทบสิทธิของสมาชิกได้
3. ประกาศที่ สน. 18/2550 (แก้ไขประกาศสำนักงานที่ สน. 17/2548 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทูนรวม ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2548 (“ประกาศที่ สน. 17/2548”)) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่ง class หน่วยลงทุน จึงมีการปรับปรุงในเรื่องดังต่อไปนี้
3.1 กำหนดรายการเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญสำหรับกองทุนรวมที่มีการแบ่ง class ของหน่วยลงทุนเป็นหลาย class (ข้อ 7 ของประกาศที่ สน. 17/2548) ดังนี้
(1) ในกรณีที่มีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลาย class ตามการจัดสรรค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ให้แสดงค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละ class ในตารางแสดงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยหน่วยลงทุนหรือกองทุนรวมด้วย โดยมีรายละเอียดตามแนบ
(2) วิธีการคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของหน่วยลงทุนแต่ละ class
3.2 ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีการแบ่ง class ของหน่วยลงทุน ให้มีคำถามคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างของหน่วยลงทุนแต่ละ class รวมทั้งความเสี่ยงและสิทธิประโยชน์ของหน่วยลงทุนแต่ละ class ไว้ในหนังสือชี้ชวน (ข้อ 8 ของประกาศที่ สน. 17/2548)
3.3 กำหนดคำเตือนที่แสดงว่า การแบ่ง class หน่วยลงทุน มิได้ทำให้ความรับผิดชอบของกองทุนรวมที่มีต่อบุคคลภายนอกแยกออกจากกันตาม class หน่วยลงทุน ทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวมยังคงอยู่ภายใต้ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกดังกล่าวด้วย (ข้อ 10 ของประกาศที่ สน. 17/2548)
3.4 กำหนดให้คำเตือนและคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนมีตัวอักษรที่ชัดเจนและมีขนาดไม่เล็กไปกว่าตัวอักษรปกติของหนังสือชี้ชวนนั้น (ข้อ 10 วรรค 2 ของประกาศที่ สน. 17/2548)วันมีผลใช้บังคับประกาศทั้ง 5 ฉบับดังกล่าวข้างต้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์)
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
เลขาธิการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย
1. ประกาศสำนักงานที่ สน. 14/ 2550 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 8)
ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
2. ประกาศสำนักงานที่ สข/น. 15/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 2กรกฎาคม
พ.ศ. 2550
3. ประกาศสำนักงานที่ สน. 16/ 2550 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 9)
ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
4. ประกาศสำนักงานที่ สข/น. 17/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 4
กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สข/น. 17/2550”)
5. ประกาศสำนักงานที่ สน. 18/2550 เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 4
กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สน. 18/2550”)
6. ตารางแสดงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยหน่วยลงทุนหรือกองทุนรวม
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2263-6032
โทรสาร 0-2263-6292