หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 14, 2010 14:09 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทข. 35/2553

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืน

หน่วยลงทุนและตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล

_______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช บัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 100 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 56/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) “ตัวแทน” หมายความว่า บุคคลซึ่งบริษัทจัดการตั้งให้เป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และในกรณีที่เป็นบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้หมายถึงบุคคลซึ่งบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลตั้งให้เป็นตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล

(2) “ตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลซึ่งบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลตั้งให้เป็นตัวแทนในการชักชวนลูกค้าให้ทำสัญญากับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(3) “บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน

(4) “บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

(5) “บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(6) “กองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ” หมายความว่า กองทุนรวมอีทีเอฟทองคำที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(7) “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” หมายความว่า บุคคลที่ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคล

(8) “การชักชวนลูกค้า” หมายความว่า การชักชวนลูกค้าให้ทำสัญญากับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยมีการวางแผนการลงทุนให้แก่ลูกค้าด้วย

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการตั้งตัวแทนของบริษัทจัดการในกรณีดังต่อไปนี้

(1) การตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

(2) การตั้งตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล

หมวด 1

การตั้งตัวแทน

____________________

ส่วนที่ 1

การตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

____________________

ข้อ 4 การตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องตั้งบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน

ข้อ 5 การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการดำเนินการได้เฉพาะกรณีตามข้อ 6 และข้อ 8

ข้อ 6 การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำ บริษัทจัดการต้องตั้งนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทองคำมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีติดต่อกันและเป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำ ชมรมผู้ค้าปลีกทองคำแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานอื่นใดที่สำนักงานยอมรับ

(2) กรรมการ ผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์

(3) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ลงทุนเกินกว่าร้อยละสิบของทุนทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยอนุโลม และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวเป็น นิติบุคคล กรรมการ และหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้นต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย

(4) มีความพร้อมในการให้บริการและการปฏิบัติตามประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนและประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทจัดการกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว

(5) มีระบบงานที่มีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมระบบการควบคุมภายใน ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องล่วงรู้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล ระบบป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร และระบบการกำกับดูแลให้บุคลากรปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่ได้รับมอบหมาย

(6) มีบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเป็นผู้ดำเนินการติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุน

ข้อ 7 ในกรณีการตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงานว่าบริษัทจัดการอาจไม่สามารถกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้บริษัทจัดการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นตัวแทนได้ ทั้งนี้ สำนักงานต้องแจ้งให้บริษัทจัดการทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน

ข้อ 8 การตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในต่างประเทศบริษัทจัดการต้องตั้งสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลในต่างประเทศซึ่งสามารถประกอบธุรกิจการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนได้ตามกฎหมายของประเทศนั้น และสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลดังกล่าวต้องไม่เป็นตัวแทนขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศไทยไม่ว่าจะกระทำโดยตรงหรือผ่านสำนักงานผู้แทน

ข้อ 9 การตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในประเทศ ให้ทำได้เฉพาะในกิจการดังต่อไปนี้

(1) การรับคำขอเปิดบัญชีและตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการขอเปิดบัญชี เพื่อส่งให้บริษัทจัดการพิจารณาอนุมัติ

(2) การเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อขายหน่วยลงทุนให้ลูกค้าทราบ รวมทั้งการจัดให้มีข้อมูลของลูกค้าเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคำขอเปิดบัญชีของบริษัทจัดการและการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า

(3) การรับคำสั่งขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเพื่อส่งให้บริษัทจัดการทำรายการให้แก่ลูกค้า

(4) การให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือความเหมาะสมในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

ส่วนที่ 2

การตั้งตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล

____________________

ข้อ 10 การตั้งบุคคลธรรมดาเป็นตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องตั้งบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และมาตรฐาน การปฏิบัติงานการตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องตั้งนิติบุคคลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบนิติบุคคลเป็นตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล และมาตรฐานการปฏิบัติงาน

ส่วนที่ 3

สัญญาตั้งตัวแทน

____________________

ข้อ 11 สัญญาตั้งตัวแทนต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อสัญญาดังต่อไปนี้

(1) กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบริษัทจัดการและตัวแทนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว

(2) กำหนดให้ตัวแทนปฏิบัติและให้ความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือการชักชวนลูกค้า

(3) กำหนดห้ามมิให้ตัวแทนตั้งตัวแทนช่วง

หมวด 2

การดำเนินการของบริษัทจัดการ

เกี่ยวกับตัวแทน

____________________

ข้อ 12 บริษัทจัดการต้องดูแลให้ตัวแทนให้บริการแก่ผู้ลงทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและความระมัดระวังเอาใจใส่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยมีมาตรฐานการให้บริการเช่นเดียวกับบริษัทจัดการ ซึ่งรวมถึงการดูแลให้ตัวแทนปฏิบัติดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ดำเนินการตามข้อสัญญาและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือการชักชวนลูกค้า

(2) ดำรงคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ 4 ข้อ 6 ข้อ 8 หรือข้อ 10 แล้วแต่กรณี ตลอดเวลาในกรณีที่ตัวแทนไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องดำเนินการยกเลิกการตั้งหรือเปลี่ยนแปลงตัวแทนโดยไม่ชักช้า

ข้อ 13 บริษัทจัดการต้องดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ลงทุนที่เกิดจากการกระทำของตัวแทนหรือพนักงานของตัวแทน เช่นเดียวกับการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนที่เกิดจากการกระทำของตนหรือพนักงานของตน

ข้อ 14 บริษัทจัดการต้องกำหนดให้ตัวแทนจัดเก็บเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับผู้ลงทุนไว้ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้บริษัทจัดการเรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที และสามารถจัดให้สำนักงานตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ

ข้อ 15 ในกรณีที่สำนักงานเห็นสมควร บริษัทจัดการต้องจัดให้สำนักงานเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานตลอดจนเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของตัวแทนในส่วนที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการให้ทำการแทนได้

หมวด 3

อำนาจของสำนักงานในการสั่งการหรือออกกฎ

____________________

ข้อ 16 นอกจากที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้

ข้อ 17 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานว่าบริษัทจัดการหรือตัวแทนรายใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศนี้ สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทจัดการนั้นแก้ไข กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้ หรือสั่งพักการอนุญาตการตั้งตัวแทนตามระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนด หรือเพิกถอนการอนุญาตการตั้งตัวแทนได้

หมวด 4

บทเฉพาะกาลและวันมีผลใช้บังคับของประกาศ

____________________

ข้อ 18 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติ หรือที่ใช้บังคับอยู่โดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 56/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 19 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 56/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตั้งตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และตัวแทนด้านการตลาดกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 20 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทจัดการสามารถตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

ในประเทศของกองทุนรวมอีทีเอฟทองคำได้ อันเป็นการสอดคล้องกับการอนุญาตให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใช้บริการด้านผู้

ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวกับทองคำ (selling agent) ที่เป็นผู้ค้าทองคำซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ จึงจำเป็นต้องออก

ประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ