เอกสารรหัส E06
วันที่บังคับใช้: 15 มิถุนายน 2541
บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
ระเบียบวิธีปฏิบัติ
เรื่อง กองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคา
และส่งมอบหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2541
โดยที่เห็นสมควรให้มีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนเงินสมทบรายเดือนขั้นต่ำที่สมาชิกต้องจ่ายเข้ากองทุนทดแทนความเสียในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์
บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกระเบียบวิธีปฏิบัตไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกระเบียบวิธีปฏิบัติของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัดเรื่องกองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2540
ข้อ 2 ในระเบียบวิธีปฏิบัตินี้
"ตลาดหลักทรัพย์" หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"สำนักหักบัญชี" หมายความว่า บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
"หลักทรัพย์" หมายความว่า หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือหลักทรัพยที่ประกาศให้ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
"สมาชิกกองทุน" หมายความว่า บุคคลที่สำนักหักบัญชีรับเป็นสมาชิกกองทุน
"กองทุน" หมายความว่า กองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์
"รายงาน" หมายความว่า รายงานการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่สำนักหักบัญชีจัดทำขึ้นจากข้อมูลการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัยพ์ของสมาชิกกองทุน
"บัญชีฝากหลักทรัพย์" หมายความว่า บัญชีฝากหลักทรัพย์ที่เปิดไว้กับศูนย์รับฝากที่ผู้จัดการกองทุนกำหนดเพื่อใช้ในการส่งมอบและรับมอบหลักทรัพย์ตามรายงาน
การจัดตั้งกองทุน
ข้อ 3 สำนักหักบัญชีเป็นผู้จัดตั้งกองทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการผิดนัดชำระราคาหรือผิดนัดส่งมอบหลักทรัพย์ หรือความเสียหายอื่นที่อาจเกิดจากการกระทำของสมาชิกกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ของสำนักหักบัญชี
ข้อ 4 กองทุนใช้ชื่อว่า “กองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์”
ข้อ 5 ให้กองทุนมีเงินกองทุนจำนวนสองร้อยล้านบาทขึ้นไป
สำนักหักบัญชีอาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินกองทุนได้ทุกหกเดือนนับแต่วันที่ระเบียบวิธีปฏิบัตินี้ใช้บังคับ โดยการเปลี่ยนแปลงเงินกองทุนดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน
ข้อ 6 เงินกองทุนประกอบด้วยเงินสมทบจากตลาดหลักทรัพย์และจากสมาชิกกองทุน
ข้อ 7 ตลาดหลักทรัพย์จ่ายเงินสมทบครั้งเดียวเฉพาะในคราวจัดตั้งกองทุนจำนวนหนึ่งร้อยล้านบาท
ข้อ 8 สมาชิกกองทุนจ่ายเงินสมทบให้ครบตามจำนวนเงินกองทุนที่กำหนดตามประเภทและจำนวนดังต่อไปนี้
(1) เงินสมทบคงที่ให้จ่ายเมื่อแรกเข้าเป็นสมาชิกกองทุนดังนี้
(1.1) กรณีที่สมาชิกกองทุนเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ให้จ่ายเงินสมทบจำนวนเก้าแสนบาท
(1.2) กรณีที่สมาชิกกองทุนมิได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ให้จ่ายเงินสมทบจำนวนหกแสนบาท
ในกรณีที่สมาชิกกองทุนที่จ่ายเงินสมทบตาม (1.2) ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ ให้จ่ายเงินสมทบอีกจำนวนสามแสนบาทภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่เป็นสมาชิกดังกล่าว
(2) เงินสมทบรายเดือน ให้จ่ายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักหักบัญชีดังนี้
(2.1) กรณีที่สมาชิกกองทุนเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์หรือของศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.008 ของมูลค่าการชำระและรับชำระราคาหลักทรัพย์สุทธิของสมาชิกกองทุนในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
(2.2) กรณีที่สมาชิกกองทุนมิได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์หรือของศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ให้จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 0.005 ของมูลค่าการชำระและรับชำระราคาหลักทรัพย์สุทธิของสมาชิกกองทุนในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
เงินสมทบรายเดือนต้องมีจำนวนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 บาท
หากสมาชิกกองทุนไม่จ่ายเงินสมทบรายเดือน ผู้จัดการกองทุนอาจเรียกค่าปรับจากสมาชิกกองทุนดังกล่าว โดยกำหนดหลักเกณฑ์และแแจ้งให้สมาชิกกองทุนทราบล่วงหน้า
ข้อ 9 ในกรณีที่ปริมาณมูลค่าการชำระและรับชำระราคาหลักทรัพย์สุทธิของสมาชิกกองทุนเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คณะกรรมการกองทุนอาจพิจารณาปรับปรุงจำนวนเงินสมทบของสมาชิกกองทุนแต่ละรายตามความเหมาะสม โดยอาจเรียกให้สมาชิกกองทุนจ่ายเงินสมทบเพิ่ม หรืออาจจ่ายเงินสมทบคืนให้แก่สมาชิกกองทุน
ข้อ 10 ในระหว่างที่กองทุนมีเงินกองทุนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดตามข้อ 5 ผู้จัดการกองทุนอาจนำดอกผลหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในเงินกองทุนจ่ายเข้ากองทุนเป็นเงินสมทบของตลาดหลักทรัพย์และของสมาชิกกองทุนตามสัดส่วนของเงินสมทบที่บุคคลดังกล่าวจ่ายเข้ากองทุน
ข้อ 11 ตลาดหลักทรัพย์และสมาชิกกองทุนเป็นเจ้าของเงินกองทุนตามสัดส่วนของเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุน
สมาชิกกองทุน
ข้อ 12 บุคคลที่จะเป็นสมาชิกกองทุนต้องเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอใช้บริการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ของสำนักหักบัญชี
ข้อ 13 บุคคลที่จะเป็นสมาชิกกองทุนต้องยื่นคำขอเป็นสมาชิกกองทุนตามแบบที่กำหนดต่อผู้จัดการกองทุน โดยผู้จัดการกองทุนจะแจ้งผลการรับเป็นสมาชิกกองทุนให้บุคคลดังกล่าวทราบ
ข้อ 14 สมาชิกกองทุนมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน
(2) จ่ายเงินคืนกองทุนพร้อมดอกเบี้ยตามระเบียบวิธีปฏิบัตินี้
(3) ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่สำนักหักบัญชีกำหนด
ข้อ 15 ตลาดหลักทรัพย์และสมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในเงินกองทุนตามสัดส่วนของเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุน
การจัดสรรผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในเงินกองทุนให้แก่สมาชิกกองทุน ให้คำนวณนับแต่วันที่ได้เป็นสมาชิกกองทุนจนถึงวันที่พ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุน
ข้อ 16 สมาชิกกองทุนพ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุนในกรณีดังต่อไปนี้
(1) พ้นจากการเป็นสมาชิกสำนักหักบัญชี
(2) ค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสองงวดติดต่อกัน
(3) ไม่จ่ายเงินคืนกองทุนและดอกเบี้ยตามที่ผู้จัดการกองทุนมีหนังสือเรียกให้จ่าย
(4) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่สำนักหักบัญชีกำหนด
(5) ลาออกโดยยื่นเป็นหนังสือต่อผู้จัดการกองทุน
ให้สมาชิกกองทุนพ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนกำหนด
ข้อ 17 สมาชิกกองทุนที่พ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุนยังคงต้องผูกพันชำระหนี้ที่ค้างชำระต่อกองทุน
ข้อ 18 สมาชิกกองทุนที่พ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุนมีสิทธิได้รับเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนและผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในเงินกองทุนตามจำนวนที่เหลือภายหลังหักชำระหนี้ที่ค้างชำระต่อกองทุน
การเป็นสมาชิกกองทุนอันเป็นผลจากการรับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกสำนักหักบัญชี
ข้อ 19 สมาชิกกองทุนที่ดำเนินการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกสำนักบัญชีให้แก่บุคคลผู้รับโอน ต้องโอนสิทธิการเป็นสมาชิกกองทุนให้แก่บุคคลผู้รับโอนนั้นในคราวเดียวกัน เว้นแต่กรณีตามข้อ 20
สมาชิกกองทุนตามวรรคหนึ่งต้องยื่นคำขอโอนสิทธิการเป็นสมาชิกกองทุนตามแบบที่กำหนดต่อผู้จัดการกองทุน โดยให้การโอนสิทธิการเป็นสมาชิกกองทุนและการรับบุคคลผู้รับโอนดังกล่าวเป็นสมาชิกกองทุนมีผลตั้งแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนกำหนด
สมาชิกกองทุนซึ่งได้รับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกกองทุนต้องผูกพันชำระหนี้ที่สมาชิกกองทุนซึ่งโอนสิทธิดังกล่าวค้างชำระต่อกองทุน
ข้อ 20 ในกรณีที่สมาชิกกองทุนที่ดำเนินการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกสำนักหักบัญชีให้แก่บุคคลผู้รับโอนไม่ดำเนินการโอนสิทธิการเป็นสมาชิกกองทุนตามข้อ 19 ให้สมาชิกกองทุนดังกล่าวลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน และดำเนินการให้บุคคลผู้รับโอนนั้นยื่นคำขอเป็นสมาชิกกองทุนต่อผู้จัดการกองทุนโดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) สมาชิกกองทุนต้องลาออกโดยยื่นเป็นหนังสือต่อผู้จัดการกองทุน และดำเนินการให้บุคคลผู้รับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกกองทุนสำนักหักบัญชียื่นคำขอเป็นสมาชิกกองทุนตามแบบที่กำหนดต่อผู้จัดการกองทุนพร้อมกัน โดยให้การลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนและการรับบุคคลผู้รับโอนดังกล่าวเป็นสมาชิกกองทุนมีผลตั้งแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนกำหนด
(2) บุคคลผู้รับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกสำนักหักบัญชีต้องจ่ายเงินสมทบคงที่เมื่อแรกเข้าการเป็นสมาชิกกองทุน ในจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่สมาชิกกองทุนที่ลาออกจ่ายเข้ากองทุนรวมกับผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในเงินกองทุนทั้งหมด
สมาชิกกองทุนที่ลาออกตกลงให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินที่ตนมีสิทธิได้รับตามข้อ 18 มาจ่ายเป็นเงินสมทบคงที่ของบุคคลผู้รับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกสำนักหักบัญชี หากเงินดังกล่าวมีจำนวนไม่เพียงพอ ให้บุคคลผู้รับโอนสิทธิการเป็นสมาชิกหักบัญชีจ่ายเงินสมทบคงที่ในส่วนที่ยังขาด เมื่อแรกเข้าเป็นสมาชิกกองทุน
คณะกรรมการกองทุน
ข้อ 21 ให้มีคณะกรรมการกองทุนคณะหนึ่ง ประกอบด้วยบุคคลที่ตลาดหลักทรัพย์แต่งจำนวนหนึ่งคน บุคคลที่สำนักหักบัญชีแต่งตั้งจำนวนหนึ่งคนกับบุคคลที่สมาชิกกองทุนเลือกตั้งจำนวนสองคนเป็นกรรมการกองทุนและให้ผู้จัดการกองทุนเป็นกรรมการกองทุนโดยตำแหน่ง
ในการเลือกตั้งกรรมการนั้น ให้สมาชิกกองทุนเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้จัดการกองทุนกำหนด
ให้คณะกรรมการกองทุนเลือกกรรมการกองทุนคนหนึ่งเป็นประธานกองทุน
ข้อ 22 ให้กรรมการกองทุนอื่นนอกจากผู้จัดการกองทุนดำรงตำแหน่งคราวสองปี แต่ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดหนึ่งปี ให้กรรมการกองทุนออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนสองคนโดยวิธีจับสลากและให้ถือว่าการออกจากตำแหน่ง โดยจับสลากเป็นการออกตามวาระด้วย
เมื่อกรรมการกองทุนพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่ภายในสามสิบวัน ในระหว่างที่ยังมิได้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการกองทุนขึ้นใหม่ ให้กรรมการกองทุนซึ่งพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการกองทุนซึ่งได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการกองทุนซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่อีกได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ข้อ 23 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามข้อ 22 กรรมการกองทุนอาจพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ถูกถอดถอนโดยตลาดหลักทรัพย์หรือสำนักหักบัญชีซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง
(3) สมาชิกกองทุนมีมติให้บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งพ้นจากการเป็นกรรมการกองทุน
(4) ลาออก
(5) เป็นบุคคลล้มละลาย
(6) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(7) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ในกรณีที่กรรมการกองทุนพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ตลาดหลักทรัพย์ สมาชิกกองทุนหรือสำนักหักบัญชีซึ่งเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการกองทุนนั้น อาจเลือกตั้งหรือแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการกองทุนแทน แล้วแต่กรณี และให้ผู้ได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการกองทุนซึ่งตนแทน
ข้อ 24 การประชุมของคณะกรรมการกองทุน ต้องมีกรรมการกองทุนมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการกองทุนทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมของคณะกรรมการกองทุน ถ้าประธานกรรมการกองทุนไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการกองทุนที่มาประชุมเลือกกรรมการกองทุนคนหนึ่งเป็นประธานกองทุนในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการกองทุนคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานกองทุนในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ 25 คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายการบริหารเงินกองทุนและกำกับดูแลการดำเนินการของผู้จัดการกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัตินี้
ให้คณะกรรมการกองทุนได้รับประโยน์ตอบแทนตามที่สำนักหักบัญชีกำหนด
ข้อ 26 ในการวางนโยบายการบริหารเงินกองทุน คณะกรรมการกองทุนอาจกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือไปหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) พันธบัตรรัฐบาล
(2) พันธบัตรที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(3) หลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์รวมจำนวนไม่เกินร้อยละสิบของเงินกองทุน
(4) หุ้นกู้หรือตั๋วเงินซึ่งเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(5) ตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออก
(6) ตั๋วแลกเงินที่มีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนรับรองหรือรับอาวัล
(7) บัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก
(8) เงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
การจัดการกองทุน
ข้อ 27 ให้กรรมการผู้จัดการของสำนักหักบัญชีเป็นผู้จัดการกองทุน
ข้อ 28 ผู้จัดการกองทุนมีอำนาจดำเนินการโดยทั่วไป เก็บรักษา ดูแลและจัดการเงินกองทุน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนและการดำเนินการตามระเบียบวิธีปฏิบัตินี้ตลอดจนเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเพื่อการนี้ผู้จัดการกองทุนจะมอบหมายให้บุคคลใดๆกระทำแทนก็ได้
ข้อ 29 ผู้จัดการกองทุนมีอำนาจบริหารเงินกองทุนตามนโยบายการบริหารเงินกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
ข้อ 30 ในกรณีที่มีดอกผลหรือผลประโยชน์จากการลงทุนในเงินกองทุนหรือจากการดำเนินการอื่น ให้ผู้จัดการกองทุนจัดสรรแก่ตลาดหลักทรัพย์และสมาชิกกองทุนทุกสิ้นรอบปีบัญชีตามสัดส่วนของเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุน
ข้อ 31 ผู้จัดการกองทุนมีอำนาจใช้เงินกองทุน เพื่อให้สำนักหักบัญชีใช้ในการชำระราคาหรือส่งมอบหลักทรัพย์ที่ผิดนัดพร้อมค่าเสียหายตามระเบียบวิธีปฏิบัติของสำนักหักบัญชี หรือทดแทนความเสียหายอื่นที่เกิดจากการกระทำของสมาชิกกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ของสำนักหักบัญชี
ข้อ 32 ผู้จัดการกองทุนต้องจัดทำและเก็บรักษาบัญชีแสดงฐานะทางการเงินของกองทุนแยกต่างหากจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสำนักหักบัญชี
ข้อ 33 ให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดจำนวนเงินค่าสอบบัญชีของกองทุนทุกรอบปีบัญชีคนเดิมอีกก็ได้
ข้อ 34 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ค่าประโยชน์ตอบแทนคณะกรรมการกองทุนและค่าสอบบัญชีให้หักจากเงินกองทุน
ข้อ 35 ผู้จัดการกองทุนต้องจัดให้มีการทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีของกองทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้วเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ผู้จัดการกองทุนต้องจัดส่งสำเนางบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนที่คณะกรรมการกองทุนได้พิจารณาอนุมัติแล้วให้แก่ตลาดหลักทรัพย์และสมาชิกกองทุนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ
การใช้เงินกองทุน
ข้อ 36 ในกรณีที่สมาชิกกองทุนผิดนัดชำระราคาหรือผิดนัดส่งมอบหลักทรัพย์ตามระเบียบวิธีปฏิบัติของสำนักหักบัญชี ผู้จัดการกองทุนอาจใช้เงินกองทุนเพื่อให้สำนักหักบัญชีใช้ในการชำระราคาที่ผิดนัดพร้อมค่าเสียหายโดยเป็นไปตามลำดับดังต่อไปนี้
(1) เงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัด
(2) เงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของสมาชิกกองทุนอื่น
(3) เงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของตลาดหลักทรัพย์
การใช้เงินกองทุนตาม (2) ให้เป็นไปตามสัดส่วนของเงินสมทบที่สมาชิกกองทุนจ่ายเข้ากองทุน
ข้อ 37 เมื่อมีการใช้เงินกองทุนให้แก่สำนักหักบัญชีตามข้อ 36 แล้ว สมาชิกกองทุนผู้ฟิดนัดมีหน้าที่ชำระเงินคืนกองทุนตามจำนวนที่มีการใช้เงินกองทุนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการใช้เงินกองทุน
ดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่งให้คำนวณตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินนับแต่วันที่มีการใช้เงินกองทุนจนถึงวันที่ชำระเงินคืนกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการกองทุนจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ผู้จัดการกองทุนอาจเรียกค่าปรับการใช้เงินกองทุนจากสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัด โดยกำหนดหลักเกณฑ์และแจ้งให้สมาชิกกองทุนทราบล่วงหน้า
ข้อ 38 ในกรณีที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดไม่ชำระเงินคืนกองทุนและดอกเบี้ยภายในวันที่มีการใช้เงินกองทุน ผู้จัดการกองทุนอาจดำเนินการดังต่อไปนี้ตามจำนวนที่มีการใช้เงินกองทุนหักด้วยจำนวนเงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดจนกว่าจะได้มีการชำระเงินคืนกองทุนและดอกเบี้ย
(1) ระงับการชำระราคาที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดมีสิทธิได้รับรายงานในวันที่มีการใช้เงินกองทุนและในวันถัดไป และนำเงินดังกล่าวมาชำระคืนกองทุนและดอกเบี้ย
(2) ระงับการสส่งมอบหลักทรัพย์ในบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดมีสิทธิได้รับตามรายงานในวันที่มีการใช้เงินกองทุนและในวันถัดไป และขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเพื่อนำเงินมาชำระคืนกองทุนและดอกเบี้ย
ข้อ 39 ในกรณีที่หลักทรัพย์ในบัญชีฝากหลักทรัพย์ของสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดที่ระงับไว้ตามข้อ 38 (2) มีมูลค่าไม่เพียงพอกับจำนวนที่มีการใช้เงินกองทุนหักด้วยจำนวนเงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัด ผู้จัดการกองทุนอาจเรียกให้สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดวางหลักประกันให้ครบถ้วน โดยสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดต้องวางหลักประกันดังกล่าวอย่างช้าในวันถัดจากวันที่มีการใช้เงินกองทุน
หากสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดไม่วางหลักประกันหรือวางหลักประกันไว้แต่ไม่ครบถ้วนผู้จัดการกองทุนอาจมีหนังสือเรียกให้สมาชิกนั้นชำระเงินคืนกองทุนและดอกเบี้ยภายในเวลาที่กำหนด ถ้าสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดไม่ดำเนินการดังกล่าว ผู้จัดการกองทุนอาจกำหนดให้พ้นจากการเป็นสมาชิกกองทุนได้
ข้อ 40 ในกรณีที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดวางหลักประกันแล้ว แต่ไม่ชำระเงินคืนกองทุนและดอกเบี้ยภายในเวลาที่ผู้จัดการกองทุนกำหนด ผู้จัดการกองทุนอาจดำเนินการบังคับหลักประกันดังกล่าวเพื่อนำเงินมาชำระคืนกองทุนและดอกเบี้ยจนครบถ้วน
ข้อ 41 การระงับการชำระราคาหรือการระงับการส่งมอบหลักทรัพย์ตามข้อ 38 หรือการบังคับหลักประกันตามข้อ 40 ผู้จัดการกองทุนอาจมอบหมายให้สำนักหักบัญชีเป็นผู้ดำเนินการแทน
ข้อ 42 เมื่อผู้จัดการกองทุนได้ใช้เงินกองทุนให้แก่สำนักหักบัญชีตามข้อ 36 เพื่อใช้ในการชำระราคาที่ผิดนัดหรือส่งมอบหลักทรัพย์ที่ผิดนัดทั้งหมดหรือบางส่วนพร้อมค่าเสียหายแล้ว ถ้าสำนักหักบัญชีระงับเงินหรือหลักทรัพย์ที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดมีสิทธิได้รับ หรือยึดถือหลักประกันที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดได้วางเป็นประกันไว้ เพื่อประโยชน์ต่อการชำระราคาหรือส่งมอบหลักทรัพย์ที่ผิดนัดและค่าเสียหาย ให้ผู้จัดการกองทุนมีสิทธิระงับหรือบังคับเงิน หลักทรัพย์ หรือหลักประกันดังกล่าวเพื่อประโยชน์ต่อการชำระเงินคืนกองทุนและดอกเบี้ย
ข้อ 43 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการชำระหนี้ของสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัด การระงับการชำระราคาหรือการระงับการส่งมอบหลักทรัพย์ที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดมีสิทธิได้รับตามรายงาน หรือการบังคับหลักประกันที่สมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดได้วางไว้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อการชำระหนี้ผิดนัดหรือการชำระเงินคืนกองทุนแล้ว ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อการชำระหนี้ผิดนัดให้กับสำนักหักบัญชีเป็นลำดับก่อน
ข้อ 44 ในกรณีที่มีความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของสมาชิกกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ของสำนักหักบัญชี ผู้จัดการกองทุนอาจใช้เงินกองทุนเพื่อทดแทนความเสียหายดังกล่าว โดยนำข้อ 36 ข้อ 37 ข้อ 38 ข้อ 39 ข้อ 40 ข้อ 41 ข้อ 42 และข้อ 43 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 45 เมื่อสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดหรือสมาชิกกองทุนผู้กระทำความเสียหายได้ชำระเงินคืนกองทุนให้แก่ผู้จัดการกองทุน ให้จัดสรรเงินดังกล่าวคืนตามลำดับดังต่อไปนี้
(1) เงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของตลาดหลักทรัพย์
(2) เงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของสมาชิกกองทุนอื่น
(3) เงินกองทุนในส่วนเงินสมทบของสมาชิกกองทุนผู้ผิดนัดหรือสมาชิกกองทุนผู้กระทำความเสียหาย แล้วแต่กรณี
บทเฉพาะกาล
ข้อ 46 ให้โอนบรรดากิจการ เงินกองทุน สินทรัพย์ สิทธิ หนี้สิน ตลอดจนความรับผิดชอบของกองทุนตามระเบียบวิธีปฏิบัติของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เรื่องกองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 เป็นของกองทุนตามระเบียบวิธีปฏิบัตินี้
ข้อ 47 ให้ถือว่าสมาชิกกองทุนตามระเบียบวิธีปฏิบัติของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เรื่องกองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 เป็นสมาชิกกองทุนตามระเบียบวิธีปฏิบัตินี้
ข้อ 48 ให้บรรดาคำสั่งหรือหนังสือเวียนที่ออกตามระเบียบวิธีปฏิบัติของ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยกองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ซึ่งได้ออกก่อนระเบียบวิธีปฏิบัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีคำสั่งหรือหนังสือเวียนตามระเบียบวิธีปฏิบัตินี้ออกใช้บังคับ
ระเบียบวิธีปฏิบัตินี้ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป
(ลงนาม) อมเรศ ศิลาอ่อน
(นายอมเรศ ศิลาอ่อน)
ประธานกรรมการ
บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
วันที่ 8 มิถุนายน 2541