นายปฎิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบัญชีและการเงิน บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP)คาดว่า บริษัทจะสามารถแก้ไขปัญหาที่ทำให้ต้องหยุดเดินเครื่องหน่วยแตกตัวโมเลกุล (Hydrocracking Unit) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุง คุณภาพน้ำมัน (PQI) ได้ภายใน 2 เดือน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทไม่มากนัก และหากต้องใช้เวลาเกินกว่า 2 เดือนบริษัทก็ได้ทำประกันความเสียหายไว้แล้ว
การหยุดเดินเครื่องหน่วยดังกล่าวจะส่งผลกระทบชัดเจนในไตรมาส 3/52 ซึ่งมองว่าไม่มากนัก ส่วนไตรมาส 2/52 ผลประกอบการคงไม่กระทบ เพราะการกลับไประบบการกลั่นแบบเดิมที่ให้ผลผลิตเป็นน้ำมันเตามาก คือประมาณ 140 ล้านลิตร จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวไปได้ เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันเตาอยู่ในระดับสูง
แต่ในแง่ของกำลังการกลั่นเฉลี่ยทั้งปีนี้อาจจะลดลงไปบ้าง เหลือ 9.1 หมื่นบาร์เรล/วัน จากแผนเดิมที่จะมีกำลังการกลั่น 9.3 หมื่นบาร์เรล/วัน ขณะที่กำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ยจ่าย(EBITDA)ในปีนี้ยังน่าจะทำได้ถึง 8 พันล้านบาท
"ตอนนี้ ยังเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาจะใช้เวลาสูงสุดไม่เกิน 2 เดือน แต่หากเลวร้ายก็ยังประกันรองรับ ผมเชื่อว่าจะไม่กระทบกับไตรมาส 2 เพราะเรายังสามารถ run ในระบบเดิมได้ และกำลังการกลั่นก็หายไปเพียง 1 หมื่นบาร์เรล/วัน เอง"นายปฏิภาณ กล่าว
BCP แจ้งว่า บริษัทฯ ได้หยุดการทดลองเดินเครื่องหน่วยแตกตัวโมเลกุล (Hydrocracking Unit) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ PQI เพื่อซ่อมแซมระบบควบคุมอัตโนมัติในการเปิดปิดและสูบถ่ายน้ำมันของหน่วยดังกล่าว ที่เกิดความเสียหายขึ้นระหว่างการทดลองเดินเครื่อง เมื่อวันที่ 21 พ.ค.52 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดแผนการซ่อมแซม