บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ที่ระดับ “A" และผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาทของธนาคารที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารในการบริหารธนาคารขนาดกลางที่มีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ความมีสภาพคล่องสูง การบริหารสภาพคล่องที่ดี ฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่ง และเงินกองทุนที่เพียงพอสำหรับรองรับความสูญเสียจากความเสี่ยงที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายได้ในระดับหนึ่ง ความเสี่ยงดังกล่าวประกอบด้วยการลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ในการให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้นจากปริมาณของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในอนาคตเนื่องจากความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในช่วงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าธนาคารจะมีผลประกอบการทางการเงินในระยะปานกลางได้ตามคาด และยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่า ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะถูกควบคุมไม่ให้ถดถอยลงอย่างรวดเร็วเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระบบบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ดี คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และระดับเงินกองทุนที่เพียงพอจะช่วยลดทอนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ความสามารถของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันในการดำเนินงานตามแผนธุรกิจและควบคุมการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งถือหุ้น 47.58% มาตั้งแต่ปี 2547 ธนาคารนครหลวงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 7 ของไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ ณ เดือนมีนาคม 2552 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อและเงินฝาก 5% สินทรัพย์รวมของธนาคารมีจำนวน 421 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2552 ในขณะที่มียอดสินเชื่อรวม 281 พันล้านบาทและเงินฝากรวม 343 พันล้านบาท ฐานเงินฝากของธนาคารมีความแข็งแกร่งซึ่งทำให้ธนาคารมีต้นทุนทางการเงินในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารขนาดกลางด้วยกัน ทั้งนี้ อัตราการฝากเงินต่อโดยเฉลี่ยของธนาคารอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ในปี 2552
ผลประกอบการของธนาคารในปี 2551 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2550 โดยธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 4,114 ล้านบาทในปี 2551 จากที่ขาดทุนถึง 2,029 ล้านบาทในปี 2550 เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนสูงมาก เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานบัญชีใหม่ (IAS39) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยของธนาคารจึงปรับตัวดีขึ้นในปี 2552 เป็น 0.99% และ 10.60% ตามลำดับ จาก -0.49% และ -5.55% ในปี 2550 สำหรับไตรมาสแรกของปี 2552 ธนาคารมีผลกำไรสุทธิ 651 ล้านบาท ลดลง 51% จากช่วงเดียวกันของปี 2551 จึงทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยของธนาคารที่ยังไม่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ในระดับ 0.15% และ 1.56% ตามลำดับ ซึ่งลดลงจาก 0.32% และ 3.57% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 โดยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถือเป็นความกังวลที่สำคัญเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในระยะปานกลาง ทั้งนี้ คณะผู้บริหารจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และขยายฐานสินทรัพย์ที่ทำกำไรท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารถดถอยลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 ถึงเดือนมีนาคม 2552 และคาดว่าจะยังคงถดถอยต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2552 เนื่องจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยยังคงสร้างแรงกดดันต่อฐานะทางการเงินของผู้กู้ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 8.8% ณ เดือนมีนาคม 2552 จากระดับ 2.6% ในปี 2548 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่งซึ่งอยู่ที่ 7.2% ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน รวมทั้งยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารก็เพิ่มขึ้นเช่นกันโดยอยู่ที่ระดับ 13.0% ณ เดือนมีนาคม 2552 จาก 9.1% ในปี 2548 ธนาคารมีแผนในการขายหนี้เสียจำนวนประมาณ 10 พันล้านบาทภายในปี 2552 ซึ่งจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารดีขึ้น
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 120% ของระดับขั้นต่ำตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 137% สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง ณ เดือนมีนาคม 2552 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 62% ณ ปลายเดือนมีนาคม 2552 จาก 65% เมื่อสิ้นปี 2551 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 67% สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง ธนาคารมีระดับเงินกองทุนที่เพียงพอดังเห็นได้จากอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนที่ระดับ 10.51% และอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 9.80% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย 15% ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาทจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เงินกองทุนให้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 15% ในปี 2552 ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็น 1.1 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพียงพอต่อการรองรับการขาดทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในอนาคตอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ
ในกรณีที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขายหุ้นส่วนที่ถืออยู่ในธนาคารให้แก่นักลงทุนเชิงกลยุทธ์นั้น หลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคารอาจเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคตอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนองค์กรและการปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วงดังกล่าวได้