บมจ.อาร์ ซี แอล(RCL)มองแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังส่งผลให้ความต้องการเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางจีน-อินเดียเห็นสัญญาณเติบโตโดดเด่น ตั้งความหวังปี 52 พลิกฟื้นกลับมามีกำไรได้ หลังจากปี 51 ประสบผลขาดทุนที่ 837 ล้านบาท และแม้ว่าไตรมาส 1/52 ยังขาดทุนสูงถึง 700 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในแง่ของรายได้อาจจะต่ำกว่าปี 51 ที่มีรายได้ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากครึ่งแรกของปีนี้ค่าระวางเรือลดลงไปราว 30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่บริษัทงดลงทุนซื้อเรือเข้ามาเพิ่มทั้งเรือใหม่และเรือมือสอง
"ทั้งปีเราก็หวังให้กลับมามีกำไร แต่อยู่ว่ากับครึ่งปีหลังจะพลิกฟื้นไปได้แค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก โดยในไตรมาส 2 บางเส้นทางเริ่มมีกำไรบ้างแล้ว ซึ่งเราก็ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีกำไร"นายสุเมธ ตันธุวณิตย์ กรรมการผู้จัดการ RCL กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บล.บัวหลวง คาดผลประกอบการของ RCL พลิกเป็นกำไรในครึ่งปีหลัง เนื่องจากปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นและอัตราค่าระวางตัวปรับตัวขึ้น หลังจากแตะระดับต่ำสุดแล้วในไตรมาส 1/52 และคาดว่าบริษัทจะรายงานผลขาดทุนต่อเนื่องในไตรมาส 2/52 แต่ลดลงจากไตรมาสแรกเนื่องจากอัตราค่าระวางเรือปรับตัวขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลง
รวมทั้ง ยังคาดธุรกิจฟื้นตัวในปี 53 จากปี 52 มีแนวโน้มเป็นปีที่แย่ที่สุดสำหรับผู้ประกอบการเดินเรือคอนเทนเนอร์ เนื่องจากคาดว่าจะมีอุปทานส่วนเกิน ดังนั้นอัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยคาดว่าจะลดลง 30% YoY ในปี 52
*แนวโน้มครึ่งปีหลังฟื้นตัวตามศก.หลังสินค้าในคลังเริ่มหมด
นายสุเมธ มองว่า ธุรกิจในครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก แต่จะฟื้นตัวเร็วหรือช้ายังต้องติดตามดู เพราะสินค้าที่ขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคและประเภทกึ่งอุตสาหกรรม ซึ่งการบริโภคของโลกหยุดมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ขณะที่สินค้าในสต็อกก็คงลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากหยุดซื้อมาเกือบปีแล้วก็น่าจะค่อยๆกลับมาซื้อ
ขณะนี้บางเส้นทางค่าระวางเรือปรับต้วขึ้นได้บ้างแล้ว ได้แก่ เส้นทางจากจีน และ อินเดีย โดยเป็นการทยอยปรับราคาขึ้นแบบช้า ๆ ยังไม่ได้สูงเท่ากับปีก่อน เป็นไปในลักษณะชึ้นช้าลงเร็ว ส่วนบางเส้นทางยังไม่ได้ปรับขึ้น เช่น ออสเตรเลีย
"รายได้ในปีนี้ คงไม่โตกว่าปีที่แล้ว เพราะปีทีแล้วดีมาก คือยังตอบเป็นตัวเลขไม่ได้ ไม่แน่ใจ แต่เราประมาณการว่าปีนี้คงสู้ปีที่แล้วไม่ได้ รายได้อาจจจะต่ำกว่าปีก่อน ครึ่งปีแรกปีนี้ก็ต่ำกว่าปีที่แล้วมากเหมือนกัน เพราะจำนวนสินค้าลดลง และค่าระวางเรือก็ต่ำลงเฉลี่ยตกไป 30% แต่คาดหวังว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น น่าจะไม่ลงไปกว่านี้แล้ว ตอนนี้คนเริ่มซื้อแล้ว"กรรมการผู้จัดการ RCL กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจขนส่งทางเรือได้ปรับตัวลงแรงในครึ่งหลังปีก่อนจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลก สินค้าที่ขนส่งลดลงและการแข่งขันก็สูง ทำให้บริษัทขาดทุนในปีก่อน 387.02 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องในไตรมาสแรกที่ 711.33 ล้านบาท แต่บริษัทก็ยังมีกำไรสะสมอยู่ ทำให้ไม่มีผลขาดทุนสะสม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะตอนนี้คงผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะตั้งแต่ต้นปีค่าระวางเรือลดลงมาต่อเนื่อง จำนวนสินค้าลดลงไปพอสมควร จึงเห็นว่าช่วงนี้เริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าบ้างแล้ว เพียงแต่ว่าการซื้อคงจะไม่หวือหวา ทุกคนก็ระมัดระวัง เพราะคิดว่าคงไม่ดีเหมือนในอดีต แต่การซื้อมาเก็งกำไรจะน้อยลง
"ครั้งนี้ถือว่าแรงที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ปัญหาทั้งหมดที่เกิดก็เนื่องจากราคาน้ำมัน แม้กระทั่งซับไพร์มก็มาจากน้ำมันเป็นเหตุ ทำให้ทุกอย่างพังมาหมด ถ้าเกิดราคาน้ำมันขึ้นช้าๆกว่านี้ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาน้ำมันคงปรับขึ้นไม่ได้มาก เพราะการบริโภคไม่ได้ปรับขึ้นด้วย"นายสุเมธ กล่าว
ในปีนี้ต้นทุนค่าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของต้นทุนรวม จาก 40% ในปีก่อน โดยบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเพียงบางส่วน
แม้ว่ารายได้บริษัทเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ 100% แม้จะแปลงเป็นเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็เป็นเงินดอลสหรัฐ เช่นกัน ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายเมื่อแปลงเป็นเงินบาทก็ลดลงตามไปด้วย
*มีแผนออกหุ้นกู้ใน Q3/52,งดซื้อเรือเพิ่ม
นายสุเมธ กล่าวว่า บริษัทเตรียมจะออกหุ้นกู้ในไตรมาส 3/52 คาดว่าวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี โดยจะขออนมุ้ติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 24 ก.ค.นี้ การระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำมารีไฟแนนซ์หนี้ และช่วยลดต้นทุนทางการเงินของบริษัท ขณะที่ธนาคารเริ่มเข้มงวดการปล่อยกู้มากขึ้น
"ฐานะการเงินของบริษัทไม่มีปัญหา เพราะบริษัทเองก็มีมูลค่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก" นายสุเมธ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ RCL เป็นระดับ BBB+ จากระดับเดิมที่ A-พร้อมทั้งปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันสู่ระดับ “BBB" จาก “BBB+" แนวโน้ม Stable
ณ สิ้นเดือน ธ.ค.51 บริษัทมีเงินสด 3,437 ล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกจำนวน 3,870 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บริษัทไม่มีแผนลงทุนเรือเพิ่ม เพราะปัจจุบันมีเรือมากพอแล้ว ซึ่งจะใช้เท่าที่มีอยู่ นอกจากนี้ บริษัทก็ยังไม่มีนโยบายขายเรือในปีนี้เช่นกัน โดยปัจจุบันอ้ตราการใช้เรือเกือบเต็ม 100%
"ช่วงนี้ถึงจะเห็นว่ามีโอกาสในการเข้าซื้อเรือในราคาต่ำ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อซื้อแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง คงไม่ใช่ซื้อมาเก็บ" นายสุเมธ กล่าว
ปัจจุบัน จำนวนเรือมี 42 ลำ อายุเฉลี่ย 10 ปี โดยเส้นทางที่ให้บริการมี 40 เส้นทาง