โบรกเกอร์ส่วนใหญ่แนะ"ซื้อ" หุ้นธนาคารกสิกรไทย(KBANK)มองการขยายตัวสินเชื่อในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก จากคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แม้ในไตรมาส 2/52 สินเชื่อจะลดลงแต่ก็ดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก ขณะที่เชื่อว่าธนาคารยังมีความสามารถทำกำไรแม้ว่าอาจจะลดลงจากปีก่อน และยังน่าจะจ่ายปันผลได้ราว 2 บาทต่อหุ้น ส่วน NPL คาดว่าจะคุมไว้ไม่เกิน 4% ได้ ถือว่าต่ำกว่าธนาคารอื่น และมองว่าราคาหุ้นในขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกัน น่าจะลงทุนได้ระยะยาว
ปิดเที่ยง ราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 68.00 บาท บวก 0.25 บาท (+0.37%) โดยราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 69.25 บาทจากราคาเปิดตลาด 69.00 บาท
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) บล.ฟิลลิป ซื้อ 87.70 บล.เคจีไอ ซื้อ 85.00 บล.ฟินันซ่า ซื้อ 80.00 บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อ 77.00 บล.กิมเอ็ง ซื้อ 73.00 บล.บีฟิท ถือ 68.00
น.ส.ศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังการขยายตัวของสินเชื่อจะดีขึ้นตามความต้องการจากผู้ประกอบการและผลจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ แม้ว่าสินเชื่อสุทธิช่วง 2 เดือนของไตรมาส 2 ปรับลงต่ออีก 1.3% แต่ดีขึ้นจากที่ลดลง 3.1% ในไตรมาสแรก และผู้บริหารของ KBANK ยังยืนยันว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้ 4-5% ในปีนี้ ครึ่งปีหลังสินเชื่อก็น่าจะขยายตัวดีขึ้น
ส่วน NPL แม้ว่าจะขยับสูงขึ้นตาม NPL ในระบบ แต่ก็ยังอยู่ในความคาดหมายของธนาคาร และยังต่ำกว่า 4% ขณะที่การสำรองน่าจะสูงขึ้นโดยคาดว่าจะตั้งสำรองในไตรมาส 2/52 ที่ 2.5 พันล้านบาท โดยกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2/52 คาดไว้ที่ 3.82 พันล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาส 1/52 แต่ลดลงราว 10.6% จาก 4.27 พันล้านบาทจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
เหตุผลที่แนะนำ"ซื้อ" เพราะราคาหุ้น KBANK ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้คาดการลงทุนในเมืองไทยประกันชีวิต(MTL)ซึ่งได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้วตั้งแต่เม.ย.52 จะส่งผลดีต่อรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาส 3 หรือช้าสุดไตรมาส 4 และจะเห็นผลต่อกำไรเต็มที่ในปีหน้า ด้านแผนลดต้นทุนได้มีประกาศซื้อคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิอัตราดอกเบี้ย 8.25% ในวงเงินไม่เกิน 75 ล้านดอลลาร์ช่วยลดภาระดอกเบี้ยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ ประเมินกำไรทั้งปี 52 จะลดลงราว 4.7% จากปีก่อน สำหรับราคาพื้นฐานจะอยู่ที่ 87.70 บาท/หุ้นอิงกับ P/BV ที่ 1.7 เท่า (ROE 13%, COE 11.3%) และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลในปีนี้ได้ 2 บาทต่อหุ้น
"เรามองว่า เป็นแบงก์ใหญ่ที่มีพื้นฐานดี และตั้งสำรองไว้ค่อนข้างมาก มองในแง่ ROE , ความสามารถจ่ายปันผล ซึ่งมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และก็ไม่ได้มีความกังวลกับการตั้งสำรอง surprise เพราะมีการตั้งสำรองไว้ค่อนข้างมากแล้ว เราค่อนข้างมั่นใจใน Management มองว่าสถานการณ์แบบนี้จะเอาตัวรอดได้ และมองว่าคุณภาพสินทรัพยย์ ถึงแม้ NPL จะขยับขึ้น แต่ก็ยังต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม" น.ส.ศศิกร กล่าว
ส่วนนักวิเคราะห์จาก บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)ปรับเพิ่มมูลค่าหุ้น KBANK จากความเสี่ยง(Risk Premium )ที่ลดลงเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าในปี 52 ปรับลดประมาณการกำไรลงมา เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน ฉะนั้นจึงยังคงความเห็นแนะนำให้"ซื้อ"
เราคาดว่าเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวเป็นรูปตัว V และกำไรจะยังคงได้รับแรงกดดันในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากบรรยากาศของตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว เราจึงปรับลด Risk Premium สำหรับหุ้นลง ซึ่งทำให้ต้นทุนการลงทุน (COE) ลดลงเป็น 11.6% จาก 13.0%
การปรับดังกล่าวมากพอที่จะหักกลบกับผลกระทบจากการปรับลดกำไร (ค่า ROE ระยะยาวลดลงเหลือ 13.8% จาก 14.3%) และทำให้ราคาพื้นฐานของเราเพิ่มเป็น 85 จากเดิม 72 บาท ซึ่งคิดเป็นค่า PB (มูลค่าทางบัญชี) ได้ที่ 1.67 เท่า
"โดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาว ทางเคจีไอ ก็มองว่าดัชนีปีหน้าจะไปถึง 700 จุด จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 660 จุด และเรามองว่าในระยะยาวแล้วหุ้นกลุ่มแบงก์ก็จะขึ้น และราคาหุ้น KBANK ก็ยังถูกเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ศักยภาพการทำกำไรที่จะดีค่อนข้างมากในปีหน้าและปีถัดไป และมองว่าราคาเป้าหมาย 85 บาทไม่ได้สูงเกินไป"นักวิเคราะห์ กล่าว
ด้านบทวิเคราะห์ของบล.บีฟิท คาดว่า กำไรสุทธิในงวดไตรมาส 2/52 ของ KBANK จะลดลง 18% QoQ และ 27% YoY มาอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท ตามการหดตัวของมาร์จิ้น (-9 bps QoQ) และสินเชื่อ (-1.51% QoQ) นอกจากนั้น การปรับสำรองหนี้ขึ้นไปถึงเพดานบนของเป้าหมายที่ 2,500 ล้านบาท เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กำไรของธนาคารลดลง แต่ก็เป็นไปตามการคาดการณ์อยู่แล้ว ทำให้กำไรในงวดครึ่งแรกปี 52 จะอยู่ที่ 6,897 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49.9% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2009 ที่เราปรับขึ้นมาเป็น 13,830 ล้านบาทเราประเมินมูลพื้นฐานของ KBANK ไว้ที่ 68 บาท จาก PBV ที่ 1.3 เท่า
การเพิ่มขึ้นของ NPL กับการหดตัวของสินเชื่อจะทำให้ NPL Ratio เพิ่มขึ้น แต่ธนาคารคาดว่าจะสามารถคุม NPL Ratio ทั้งปีนี้ไม่ให้สูงกว่า 4% ได้ การจ่ายคืนหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อประเภท Corporate (-9% YTD) และ SME (-4% YTD) เป็นปัจจัยหลักของการหดตัว ในขณะที่สินเชื่อ Retail ยังมีการเติบโตถึง 1.50% YTD
ถึงแม้ว่าสินเชื่อของ KBANK ยังคงหดตัวลงต่อตามการคาดการณ์ส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่เรามองเห็นการลดลงของความรุนแรงในการหดตัวช่วงไตรมาส 2/52 เมื่อเทียบกับในไตรมาส 1/52
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มที่ชัดเจนยังคงต้องรอการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อกลุ่มธนาคารในช่วงไตรมาส 3/52 ก่อนซึ่งจะทำให้เห็นขนาดของการสะท้อนกลับเชิงบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หากการเมืองไม่บั่นทอนความเชื่อมั่นลงไปอีก มาร์จิ้นจากสินเชื่อในไตรมาส 2/52 ยังหดตัวลงต่อ แต่ไม่มีอะไรนอกเหนือการคาดการณ์ของตลาด
"เราประเมินมูลพื้นฐานของ KBANK ไว้ที่ 68 บาท จาก PBV ที่ 1.3 เท่า และยังคงแนะนำ "ถือ"สำหรับการลงทุนระยะยาว แต่นักเก็งกำไรอาจขายทำกำไรระยะสั้นออกมาก่อนได้เนื่องจากเรามองว่าการคาดหวังเชิงบวกที่เร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐานจะทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงสูงยิ่งขึ้น" บทวิเคราะห์ระบุ