NNCL หันทำรง.ให้เช่า-ศึกษาสร้างคลังสินค้า,คาด H2/52 ขายที่ดินนิคมฯฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 20, 2009 10:59 —SMS: IQ ข่าวหุ้น

บมจ.นวนคร(NNCL)ปรับฐานรายได้หันสร้างโรงงานให้เช่าและศึกษารับสร้างคลังสินค้า แทนรอขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเดียว เบื้องต้นทุ่มงบ 150 ล้านบาทสร้างโรงงานให้เช่า 15-16 โรงหลังลูกค้าแสดงความสนใจจำนวนมาก เพราะช่วยลดต้นทุนในช่วงเศรษฐกิจหดตัว โดยรอเซ็นสัญญาแล้วใน ก.ค.นี้ 1 ราย ขนาด 1 พัน ตร.ม.

ขณะที่ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลังจากครึ่งปีแรกขายได้แค่ 10 ไร่ โดยคาดว่าทั้งปียังน่าจะทำได้ 40-50 ไร่ เหตุลูกค้าทยอยติดต่อซื้อที่ดินใน ก.ค.-ส.ค.สัปดาห์หน้าเซ็นสัญญาณขาย 1 ราย จากนั้นจะเร่งปิดการเจรจาลูกค้าจากจีน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นส่งผู้บริหารบินดูที่ดินผืนใหญ่ 120 ไร่

NNCL ยังคาดว่ารายได้ปี 52 จะเติบโตได้ 10% จากปีก่อนที่ทำรายได้ 736 ล้านบาท และกำไรก็คาดว่าจะเติบโตในสัดส่วนเดียวกับรายได้ จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 77.56 ล้านบาท

*หันสร้างรง.ให้เช่าเสริมรายได้-ศึกษารับสร้างคลังสินค้า

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ NNCL เปิดเผยกับ"อินโฟเควทส์"ว่า บริษัทหันมาพัฒนาที่ดินด้วยการสร้างโรงงานให้เช่าทั้งในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.นครราชสีมา และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าใช้เงินลงทุน และมีลูกค้าแสดงความสนใจที่จะเช่าโรงงานมากกว่าซื้อที่ดิน

เบื้องต้นบริษัทมีแผนจะสร้างโรงงานให้เช่าประมาณ 15-16 โรง ขนาดตั้งแต่ 1,000-3,000 ตารางเมตรในทั้ง 2 นิคมฯ โดยใช้งินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท แหล่งเงินจะมาจากการกระแสเงินสดสัดส่วน 30% และกู้จากสถาบันการเงิน 70% ซึ่งจะเป็นการทยอยกู้

"การสร้างโรงงานให้เช่านั้นจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการขายที่ดินในนิคมทั้ง 2 แห่งที่แม้สัญญานการกลับมาซื้อที่ดินจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างแล้วในปัจจุบัน"นายนิพิฐ กล่าว

ที่ผ่านมามีลูกค้าสนใจที่จะเช่าโรงงาน 3-4 ราย โดยเป็นลูกค้าจากประเทศสหรัฐ 1 รายที่มีความต้องการโรงงานให้เช่าขนาด 1 พันตารางเมตร คาดว่าจะเซ็นสัญญาเช่าภายในเดือนก.ค.และบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 3/52 และยังมีลูกค้าในประเทศอีก 2-3 ราย ซึ่งบางรายเป็นลูกค้าเดิมที่ต้องการขยายโรงงานแต่ไม่ต้องการใข้เงินลงทุนมาก

นอกจากนั้น ลูกค้าจำนวนหนึ่งสนใจที่จะให้บริษัทสร้างคลังสินค้าในนิคมฯ ด้วย ซึ่งบริษัทคงต้องใช้เวลาศึกษางานในลักษณะดังกล่าว 2-3 เดือน

"ที่ผ่านมามีลูกค้ามาคุยว่าสนใจที่จะเช่าโรงงานแทนที่จะซื้อโรงงานจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่มีใครกล้าที่จะเอาเม็ดเงินมาลงทุนเพราะใช้เงินมาก เราก็เลย"ปิ๊ง"ความคิดว่าภายใต้ที่เรามีที่ดินก็น่าจะทำได้ เพราะก็สร้างรายได้ให้เราได้เหมือนกัน แต่การทำโรงงานให้เช่ามีความเสี่ยงเหมือนกัน แม้มาร์จิ้นจะดี แต่เราก็ควบคุมด้วยการหากใครตกลงเซ็นสัญญาเอาแน่นอนถึงจะก่อสร้างและยังต้องวางเงินจองด้วย"นายนิพิฐ กล่าว

*คาดขายที่ดินได้ 40-50 ไร่ในปีนี้

กรรมการผู้จัดการ NNCL กล่าวว่า สำหรับการขายที่ดินในนิคมอุตสหากรรม ขณะนี้เริ่มมีสัญญานที่ดีขึ้นโดยเฉพาะปลาย ไตรมาส 2/52 ลูกค้าบางรายเริ่มเข้ามา และสถานการณ์ยังน่าจะดีต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3/52 และไตรมาส 4/52 โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการเซ็นสัญญากับลูกค้า 1 รายที่จะซื้อที่ดิน 6 ไร่ในนิคมอุตสหากรรมนวนคร มูลค่า 35 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนจีน ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทอยู่แล้ว โดยเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการที่ดินมาใช้ขยายโรงงาน คาดว่าลูกค้ารายดังกล่าวจะตกลงเซ็นสัญญากับบริษัทค่อนข้างแน่นอน ซึ่งก็จะส่งผลต่อยอดขายที่ดินในปีนี้ทำได้ไม่ต่ำกว่า 40-50 ไร่ จากช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมายอดขายน้อยมากไม่ถึง 10 ไร่

นายนิพิฐ กล่าวอีกว่า บริษัทยังคาดว่าจะได้รับผลสำเร็จจากการที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตรของประเทศญี่ปุ่น สนใจจะซื้อที่ดิน 120 กว่าไร่มูลค่า 400 กว่าล้านบาทในนิคมฯที่ ปทุมธานี ซึ่งทางบริษัทดังกล่าวจะส่งผู้บริหารเข้ามาดูที่ดินในเดือน ส.ค.นี้

อย่างไรก็ดี แม้ลูกค้าจะเริ่มกลับมาแต่ผู้ประกอบการเองก็มีความลำบากมากขึ้นทั้งการระดมทุนและการกู้เงิน เพราะธนาคารก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้บริษัทเองจำเป็นต้องมีกลยุทธเข้ามาช่วยในการขาย เช่น ลดราคาขายที่ดินหากผู้ประกอบการซื้อด้วยเงินสด เป็นต้น

*เป้ารายได้-กำไรปี 52 โต 10%

นายนิพิฐ คาดว่า รายได้รวมของบริษัทในปีนี้ยังจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือเติบโตราว 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 736 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่น่าจะเติบโตในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากยอดขายที่ดินและรายได้ด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะปีนี้จะมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากบริการสาธารณูปโภค

"ปีนี้รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากบริการสาธารณูปโภคมากกว่าขายที่ดินแน่นอน นอกจากนี้ยังมีรายได้เพิ่มจากโรงงานให้เช่า โครงการที่อยู่อาศัยที่มีการเปิดตัวเป็นตัวสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย และยังเป็นรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบบ้างจากโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งลดกำลังการผลิตหรือชะลอการขยายกำลังการผลิต ทำให้การใช้น้ำอาจจะน้อยลง แต่กำไรก็ยังถือว่าอยู่ในระดับพอใช้"นายนิพิฐ กล่าว

ปัจจุบัน ลูกค้าหลักของ NNCL มี 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, อาหารแปรรูป และ อุปกรณ์การแพทย์ ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีออเดอร์ลดลงอย่างมาก ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรดนิกส์บางโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราว บางโรงอาจจำเป็นต้องขายกิจการ แต่ก็มีรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน

ขณะที่ธุรกิจอาหารแปรรูป และ อุปกรณ์การแพทย์ถือว่ามาแรงมากตอนนี้ และแต่ละแห่งก็มีแนวโน้มที่จะขยายการผลิต คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 30% ดังนั้น บริษัทก็จะให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว โดยจะมองว่าจะร่วมกันพัฒนาหรือทำการตลาดอย่างไรให้เหมาะสมกับลูกค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ