นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รอง นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(รศก.) ได้มอบหมายให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)หรือ ทอท.ไปพิจารณาทบทวนการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมืองในเชิงธุรกิจอย่างละเอียด และจัดทำทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเห็นว่ากิจกรรมการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นควรมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จัดทำแผนการพัฒนาศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยพิจารณาประเด็นการใช้ท่าอากาศยานเดียวในการให้บริการหรือไม่ แผนการลงทุนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในอนาคต และแผนการย้ายกิจกรรมการบินทั้งหมดจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแผนการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองในอนาคต โดยให้กรอบเวลาการศึกษา 90 วัน และนำกลับมารายงานต่อที่ประชุม รศก.อีกครั้ง
"ข้อมูลยังไม่เพียงพอในการตัดสินใจของ ครม.เศรษฐกิจที่จะให้ความเห็นชอบได้ ครม.เศรษฐกิจส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นว่าน่าจะเป็นภาพรวมให้ชัดว่าสนามบินที่จะเป็น Hub จะเป็น 2 สนามหรือสนามเดียว" นายกอร์ปศักดิ์ ระบุ
วันนี้ ทอท.ได้นำเสนอแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองสำหรับอุตสาหกรรมการบินอื่นๆ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองในระยะต่อไป ให้แก่ที่ประชุมรศก.รับทราบใน 6 โครงการสำคัญ เช่น โครงการซ่อมบำรุง Landing Gear ของอากาศยานลำตัวแคบ, โครงการบริหารจัดการอะไหล่อากาศยานในภูมิภาค, โครงการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาอากาศยานขนาดกลาง/เล็ก, โครงการศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ, โครงการศูนย์ฝึกบินจำลอง และโครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคลและอากาศยานเช่าเหมาลำขนาดเล็ก
นอกจากนี้ ที่ประชุม รศก.ยังรับทราบความคืบหน้าจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด โดยขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง และจัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ระยะสั้นจะบูรณาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และด้านสุขภาพ(HIA)ไว้ด้วยกัน และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อพิจารณาโครงการดังกล่าวตามแนวทางที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยกร่างแนวทางเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์กรอิสระ เพื่อให้ความเห็นประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 และให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพตามมาตรา 25(5) แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ควรให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ