โบรกเกอร์ แนะซื้อหุ้น บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์(ประเทศไทย)หรือ CCET หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/52 ดีกว่าคาดมาก โดยเติบโตกว่า 300% จากไตรมาส 1/52 เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบลดงจากสต็อกเก่าราคาสูงหมดลงไปแล้ว ทำให้มาร์จิ้นปรับสูงขึ้น และยังมองว่าไตรมาส 3/52 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นจมียอดขายดีต่อเนื่อง พร้อมได้ปรับประมาณกำไรในปีนี้ด้วย ทำให้หลายโบรกฯ เตรียมขยับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นหลังประชุมนักวิเคราะห์ 13 ส.ค. แต่บางรายก็ขยับไปบ้างแล้ว
ราคา CCET เช้านี้เคลื่อนไหวที่ 2.98 บาท (เวลา 11.42 น.) ลบ 0.04 บาท (-1.32%) โดยเช้านี้ราคาดีดขึ้นไปสูงสุดที่ 3.06 บาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) บล.บีฟิท ซื้อ 4.77 บล.กิมเอ็ง ซื้อ 3.46 บล.เคจีไอ ซื้อ 3.40 บล.ฟิลลิป ซื้อ อยู่ระหว่างปรับประมาณการ บล.ยูไนเต็ด เก็งกำไร อยู่ระหว่างปรับประมาณการ บล.เกียรตินาคิน - รอทบทวนประมาณการ
บล.เคจีไอ ระบุว่า CCET ประกาศกำไรในไตรมาส 2/52 เท่ากับ 460 ล้านบาท ลดลง 26% YoY แต่เพิ่มขึ้น 346% QoQ โดยอดคำสั่งซื้อในเดือน มิ.ย.เข้ามาก เป็นผลจากการกลับมาสะสมสต๊อกเพิ่มขึ้นของบริษัทอิเลคโทรนิคส์ทั้งหลาย หลังจากได้ลดสต๊อกลงไปมากในช่วงไตรมาส 1/52 นอกจากนี้ CCET ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น และมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในสินค้าหลายชนิด เช่น Set Top Box, HDD, Printer และ Mobile Phone
และ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงได้ใช้หมดไปแล้ววัตถุดิบที่สั่งซื้อมาใหม่มีราคาถูกลง ต้นทุนขายเท่ากับ 26,530 ล้านบาท มี GPM เท่ากับ 1,128 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.08%
ดังนั้น จีงปรับประมาณการณ์กำไรปี 52 และ ปี 53 โดยคาดว่าจะมียอดขายปีนี้ 113,750 ล้านบาท(-7.7%YoY) มี Gross Profit Margin เท่ากับ 3.9% ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเท่ากับ 1.65% ของยอดขาย และมีกำไรสุทธิ 2,191 ล้านบาท(+2.96% YoY) มี EPS เท่ากับ 0.53 บาท คาดว่าจ่ายเงินปันผล 0.20 บาทเท่ากับปีที่แล้ว คิดเป็น Dividend yield เท่ากับ 6.6%
สำหรับแนวโน้มปี 53 คาดว่ายอดขายเป็นเงินดอลลาร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,400 ล้าน USD หรือคิดเป็น 119,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% YoY Gross Profit Margin เท่ากับ 3.9% และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเท่ากับ 1.65% ของยอดขาย คาดว่ามีกำไรสุทธิ 2,300 ล้านบาท มี EPS เท่ากับ 0.56 บาทต่อหุ้น คาดว่าจ่ายเงินปันผล 0.28 บาท คิดเป็น Dividend yield เท่ากับ 9.16%
นักวิเคราะห์จากบล.ยูไนเต็ด กล่าวว่า กำไรสุทธิไตรมาส 2/52 ของ CCET ดีดขึ้นแรง เป็นผลจากยอดขายดีขึ้น ความสามารถทำกำไรดีขึ้นมาก มาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตมากขึ้น(Economic of Scale)และบริษัททยอยรับรู้ต้นทุนวัตถุดิบล็อตใหม่ที่มีราคาลดลง จากไตรมาส 1/52 ที่ยังใช้วัตถุดิบเก่าที่มีต้นทุนสูง พร้อมกันนั้น บริษัทเริ่มทยอยส่งมอบสินค้า SET TOP BOX ซึ่งเป็นสินค้าทีมีมาร์จิ้นสูงกว่า PCBA ทำให้โดยภาพรวม มาร์จิ้นในไตรมาส 2/52 ออกมาค่อนข้างดี
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/52 อัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)เพิ่มขึ้นมาเป็น 4.1% จาก 3.2% ในไตรมาส 1/52 และค่าใช้จ่ายการดำเนินการ(S&A) ลดลงมาเหลือ 1.6% ของยอดขาย จาก 2% ในไตรมาสแรก
อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการปรับมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิมให้ราคาเป้าหมายไว้ 2.25 บาท เพียงรอความชัดเจนของค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคา โดยจะมีการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 13 ส.ค.นี้
"ตอนนี้แนะนำให้ซื้อเก็งกำไร เพราะผมคิดว่าออกมาดี และราคาหุ้นตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน เช่น DELTA เทรดบน Price on book ประมาณ 1.2 เท่า ขณะที่ CCET ยังเทรดต่ำกว่า Book ก็เลยมองว่ายังมี room ในการเก็งกำไรได้"นักวิเคราะห์ กล่าว
ทั้งนี้ มูลค่าทางบัญชี (BV)ของ CCET อยู่ที่ 3.90 บาท
ด้าน น.ส.ศลยา ณ สงขลา ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)กล่าวว่า เหตุผลที่ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มเป็น 3.46 บาท/หุ้น จากเดิม 3.08 บาท/หุ้น มาจากผลประกอบการไตรมาส 2/52 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก และแนวโน้มไตรมาส 3/52 ก็จะยังดีต่อเนื่อง
CCET ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/52 มีกำไรสุทธิ 460 ล้านบาท หากไม่รวมค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุน 121 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ล้านบาทแล้ว จะมีกำไรปกติ 582 ล้านบาทเติบโตถึง 275% qoq และสูงกว่าประมาณการของเราถึง 74%
กำไรมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 3/52 ซึ่งเป็นช่วง high season ของอุตสาหกรรม รวมทั้งแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ(HDD)โดยข่าวล่าสุดระบุว่า Western Digital(HDD รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นลูกค้า PCBA ของ CCET)จะจ้างพนักงานในไทยเพิ่มขึ้น 5 พันคน ส่วน Hiticahi Global Storage Technologies (HDD รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ยังไม่ได้เป็นลูกค้า CCET)จะจ้างพนักงานในไทยเพิ่มขึ้น 1 พันคนเช่นกัน
พร้อมทั้ง ปรับประมาณการกำไรทั้งปีเพิ่ม 20% เป็น 1.8 พันล้านบาท หรือ 0.46 บาท/หุ้น อย่างไรก็ดี ประมาณการกำไรดังกล่าวนี้ยังต่ำกว่าปีที่แล้ว 19% ด้วยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น
อนึ่ง CCET เป็นบริษัทในเครือ Kinpo Group ประเทศไต้หวัน ซึ่งประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตชิ้นส่วนให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำของโลก เช่น Hewlett Packard, Panasonic, Olivetti, Western Digital, และ Nikon เป็นต้น