บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)คาดรายได้งวดปี 52(สิ้นสุด ก.ย.52)ลดลง 15% จากปริมาณเที่ยวบินที่คาดว่าจะลดลง 14-15% และผู้โดยสารลดลง 15% รวมทั้งปริมาณขนส่งสินค้าก็ลดฮวบ แต่ยังเชื่อว่างวดปีนี้ยังน่าจะทำกำไรได้แม้จะไม่มากนัก และยังพร้อมจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น โดยจะพยายามหารายได้ที่ไม่ใช่จากธุรกิจการบินเข้ามาเสริมให้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจด้วย
นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ AOT ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/52 ขาดทุน ส่วนงวดไตรมาส 2-3/52 กระเตื้องบ้างแต่ก็ยังไม่ดีขึ้นมาก
แต่คาดว่าในงวดไตรมาส 4/52 (ก.ค.-ก.ย.52)จะมีปริมาณแที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/52 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากย่านเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย กลับเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงส.ค.-ก.ย.
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมจำนวนผู้โดยสารทั้งปีน่าจะลดลงมาที่ 51-52 ล้านคน โดยสนามบินสุวรรณภูมิคาดว่าจะมีผู้โดยสารลดเหลือ 36 ล้านคน หรือลดลง 17-18% จากปีก่อนที่มี 38 ล้านคน
ในขณะที่บริษัทยังมีรายได้จากพิเศษจากกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ที่จ่ายค่าเช่าที่ใช้พื้นที่เกิน 900 ล้านบาท โดยบันทึกในเดือน ก.ย.นี้ประมาณ 500 ล้านบาท และอีก 400 ล้านบาท บันทึกในเดือน ต.ค.ซึ่งจะมีส่วนช่วยชดเชยรายได้จากธุรกิจการบินที่ลดลงไปได้บ้าง
"ผมเชื่อว่าไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 จะมี Traffic มากขึ้น...เชื่อว่าปีนี้เราไม่ขาดทุนและจ่ายปันผลได้ แต่เราไม่มีจ่ายปันผลระหว่างปี เพราะเราคิดว่าจะลดรายจ่าย 2 พันล้านบาทได้ตามเป้าหมาย ส่วนรายได้เราตั้งเป้าไว้ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท และปี 53 ก็จะดีกว่า 52 แต่คงไม่ดีเท่าปี 51 เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน"นายเสรีรัตน์ กล่าว
อนึ่ง งวด 9 เดือน AOT มีรายได้จากการดำเนินงาน 1.6 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.47 พันล้านบาท ลดลง 18.4% และ 79.4% ตามลำดับ จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ฯ 2.2 หมื่นล้านบาท และมีกำไร 7.3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทบันทึกรับรู้รายได้จากเงินทดแทนจากบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานที่ศาลแพ่งสั่งบังคับใช้ 8.3 พันล้านบาท
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่งรายได้ของบริษัทที่ลดลง เพราะบริษัทลดค่าธรรมเนียมทั้งค่าแลนดิ้งและการจอดอากาศยาน 30% ไปจนถึงเดือน ธ.ค.52 เพื่อช่วยเหลือกับสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และลดค่าเช่า 10% สำหรับพื้นที่ค่าเช่าไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.52
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า ในปี 53 บริษัทก็เห็นว่าจะมีการปรับลดค่าธรรมเนียมให้กับสายการบินต่อเนื่อง แต่จะมีเงื่อนไขท่จะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์ด้วย เพราะแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่เชื่อว่าจะค่อยๆ พลิกฟื้น ขณะที่ธุรกิจการบินจะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ
*ปรับแผนหารายได้เพิ่มจากการพัฒนาพื้นที่สนามบิน
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนระยะยาวจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใข่ธุรกิจการบิน(Non-Aero)เป็น 50-60% ตามลำดับ จากปัจจุบันมีสัดส่วน 40% ซึ่งเป็นไปตามสายการบินอื่นทั่วโลก เนื่องจากธุรกิจการบินไม่สามารถขยายตัวได้มากมาย ขึ้นกับปริมาณเที่ยวบินและจำนวยผู้โดยสาร และบริษัทไม่สามารถจะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมได้ง่ายนัก
ปัจจุบัน AOT บริหารท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงสุด 95% รองลงมาเป็น ท่าอากาศยานภูเก็ต และ เชียงใหม่ตามลำดับ ส่วนท่าอากาศยานหาดใหญ่และ เชียงราย ประสบผลขาดทุนมาตลอด ขณะที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ(ดอนเมือง)ได้ย้ายการบินไปท่ากาศยานสุวรรณภูมิ
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แปลง 37 ที่มีพื้นที่ 1,140 ไร่ อยู่ในด้านตะวันเฉียงหนือของสนามบิน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาแล้วตามหลัก ICAO บริษัทสามารถใช้พื้นที่บางส่วนได้ในระยะเวลา 10 ปี และอีกส่วนใช้ได้ในระยะยาว และแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ก็ทำไว้ตั้งแต่ปี 47 ดังนั้น จึงจะทำการทบทวนแผนใหม่ โดยเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาที่จะมาช่วยทบทวนแผนงานเดิม คาดว่าจะคัดเลือกที่ปรึกษาได้ในปลายปีนี้
บริษัทอาจเลื่อนไปประมูลการเข้าพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจากเดิมคาดไว้ในปี 54 เพราะเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ราคาที่เปิดประมูลที่บริษัทควรได้อาจจะไม่ได้ราคาที่ดี และหากโครงการไหนมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาทก็เข้าข่ายต้องทำตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ก็จะต้องใช้เวลามากขึ้น
"ยังไงกิจกรรมหรือโครงการที่จะทำแน่ๆ ก็มีศูนย์สุขภาพ ศูนย์ Business Center ...เราทำตรงนี้เพิ่มเพราะเราปรับขึ้นค่าธรรมเนียมไม่ได้ และเชื่อว่าปีนี้ปีหน้ายังไม่ค่อยดี จากภาวะการเมือง ภาวะเศรษฐกิจโลก โรคหวัดที่คิดว่าอาจจะกลับมาใหม่"นายเสรีรัตน์ กล่าว
ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการว่าจ้างผู้ที่จะหาผู้ร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่จะพัฒนาขึ้นภายในท่าอากาศยานเดิม ได้แก่ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ศูนย์ฝึกบินจำลอง
ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมเจรจาต่อรองกับกรมการขนส่งทางอากาศ(ขอ.)ที่ต้องการให้บริษัทรับโอนทรัพย์สินและบริหารทั้ง 26 ท่าอากาศยานที่ปัจจุบัน ขอ.เป็นผู้ดูแลอยู่ แต่บริษัทจะเสนอขอรับจ้างบริหารทั้ง 26 แห่งแทนการรับโอนกิจการ เพราะถือว่าเป็นความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดผลขาดทุน โดยก่อนหน้านี้มีกำหนดการหารือกันในเดือนส.ค.นี้ แต่ขอ.ขอเลื่อนออกไปก่อน
*เตรียมแผนลงทุนราว 1.1 หมื่นลบ.
กรรมการผู้จัดการใหญ่ AOT กล่าวว่า บริษัทเตรียมแผนลงทุนอาคารผู้โดยสารในประเทศภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่จะรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน/ปี โดยมีมูลค่าลงทุน(เฉพาะงานวิศวกรรม) 6,711 ล้านบาท และสร้างรันเวย์ที่ 3 มูลค่า 3,637 ล้านบาท รวมประมาณ 10,348 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นที่จะมีมูลค่ารวมเพิ่มเป็นประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนสร้างรถราง(โมโนเรล)จากอาคารผู้โดยสารต่างประเทศไปอาคารผู้โดยสารในประเทศ ระยะทางประมาณ 5 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท มาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท
นายเสรีรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเตรียมยื่นข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งขาติ ครั้งที่ 2 ภายในสิ้น ส.ค.นี้ หลังจากที่ได้ทำประชาพิจารณ์รอบที่ 2 แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นน่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 54 และแล้วเสร็จปลายปี 56 ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน และทดสอบอีก 6 เดือน
ขณะที่บริษัทได้ชะลอการลงทุนโครงการก่อสร้างท่อากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท เพราะเห็นว่าหากลงทุนขณะนี้จะไม่คุ้มค่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงหันมาทำอาคารผู้โดยสารในประเทศก่อน ซึ่งเมื่อรวมกับอาคารผู้โดยสารในปัจจุบันที่รองรับได้ 45 ล้านคน/ปี รวมแล้ว ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 65 ล้านคน/ปี