บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. การบินไทย (THAI) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่บินเข้าและออกจากประเทศไทยและการได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงการที่บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจและมีสถานภาพเป็นสายการบินแห่งชาติและได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงานจากรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท
ปัจจุบัน รัฐบาลไทยถือหุ้นโดยตรงในบริษัทในสัดส่วน 51.0% และธนาคารออมสินถือ 2.7% นอกจากนี้ ยังมีกองทุนวายุภักษ์ซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในสัดส่วน 17.2% ด้วย
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสายการบิน เช่น โรคระบาด การก่อการร้าย และการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ภาระหนี้สินของบริษัทที่ค่อนข้างสูงยังส่งผลให้ความคล่องตัวทางการเงินลดลงและลดทอนความสามารถในการลงทุนใหม่ๆ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศที่มีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นเอาไว้ได้และยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อไปโดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ นอกจากนี้ ยังคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นและโครงสร้างทางการเงินจะไม่อ่อนแอลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสภาพคล่องที่ปรับตัวดีขึ้นจากการที่บริษัทสามารถเปลี่ยนหนี้เงินกู้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาวซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินในระยะสั้นถึงปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า THAI เป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย ณ เดือนมีนาคม 2552 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 58 แห่งทั่วโลก ด้วยเที่ยวบินจำนวน 513 เที่ยวต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 63 เส้นทาง และ 567 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในปี 2551 ทำให้ปริมาณที่นั่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ลดลง 13.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณที่นั่งที่ปรับลดลงนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ
บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในเส้นทางการบินระหว่างประเทศมาเป็นเวลายาวนานด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 40% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติของไทย ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงจากประมาณ 40% ในช่วงปี 2548-2550 มาอยู่ที่ 37.7% ในปี 2551 เนื่องจากมีการยกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพ-นิวยอร์ค รวมถึงการได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีความได้เปรียบในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติ ทำให้คาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในเส้นทางการบินระหว่างประเทศที่มีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้น ในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Star Alliance บริษัทได้ประโยชน์จากการขยายเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมและกว้างขวางยิ่งขึ้นผ่านระบบ Code Sharing กับสายการบินพันธมิตร รวมทั้งได้รับสิทธิ์ในการใช้ตราสัญลักษณ์ Star Alliance ทั่วโลก การใช้โปรแกรมบินประจำ (Frequent Flyer Program) และการร่วมกิจกรรมด้านการตลาดและการประหยัดต้นทุน เป็นต้น
ผลประกอบการของ THAI ในปี 2551 ได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความวุ่นวายทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้บริษัทประสบกับภาวะการขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 21,379 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจาก 18.4% ในปีงบประมาณ 2550 เป็น 5.7% ในปี 2551 และปรับตัวดีขึ้นเป็น 17.1% ในครึ่งแรกของปี 2552 หลังจากราคาน้ำมันเครื่องบินปรับลดลงอย่างมากจากประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2551 เป็น 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งแรกของปี 2552
ในด้านกระแสเงินสดนั้น บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 5.7 เท่าในปีงบประมาณ 2550 มาอยู่ที่ 2.1 เท่าในปี 2551 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ปรับลดลงจาก 18.6% ในปีงบประมาณ 2550 มาอยู่ที่ 7.2% ในปี 2551 และ 6.8% (ยังไม่ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจาก 67.5% ในปีงบประมาณ 2550 มาอยู่ที่ประมาณ 77% ในปี 2551 และครึ่งแรกของปี 2552 ผลประกอบการที่อ่อนตัวลงประกอบกับการมีภาระลงทุนค่อนข้างสูงเพื่อดำรงความสามารถในการแข่งขันทำให้คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง
สำหรับธุรกิจการบินภายในประเทศนั้น ปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่สายการบินต้นทุนต่ำเริ่มให้บริการในปี 2546 ทำให้จำนวนผู้โดยสารทั้งระบบเพิ่มขึ้นจาก 7.2 ล้านคนในปี 2546 มาอยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านคนในปี 2550-2551 กระนั้นส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงเหลือ 33% ในปี 2550 จาก 84% ในปี 2546 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 37.7% ในปี 2551 ธุรกิจการบินภายในประเทศสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเพียง 8% เนื่องจากบริษัทเน้นธุรกิจการบินระหว่างประเทศเป็นหลัก
บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะเพิ่มกำไรโดยการลดจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศที่มีผลประกอบการขาดทุนและเปิดโอกาสให้สายการบินต้นทุนต่ำรวมทั้งสายการบินในเครือของบริษัทคือนกแอร์เป็นผู้ให้บริการแทน อย่างไรก็ตาม สายการบินนกแอร์ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นและขาดทุนจากการขยายสู่เส้นทางการบินในภูมิภาคอื่นๆ