แหล่งข่าวจากบมจ.ยานภัณฑ์(YNP)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทเริ่มให้พนักงานทำโอทีและเพิ่มรอบเวลาทำงาน(กะ) พร้อมทั้งรับพนักงานเพิ่มเข้ามากว่า 100 รายแล้ว เพื่อรองรับคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)ของลูกค้าที่เริ่มกลับมามากขึ้น ทั้งจากค่ายโตโยต้าที่ออร์เดอร์เพิ่มขึ้นมากว่า 10% รวมทั้งอีซูซุและฮอนด้า จึงเชื่อว่ายอดขายหรือรายได้ในครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกที่มียอดขายประมาณ 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าไปรับงานลูกค้าใหม่ไม่ว่าจะเป็นคูโบต้าหรือโคมัตสุในการผลิตขึ้นรูปโลหะ ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มรายได้เข้ามานอกเหนือจากรายได้ปกติ ตรงนี้จะทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท ปีนี้จึงประเมินยอดขายอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 9.5 พันล้านบาท
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า จากออร์เดอร์ที่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทประเมินแนวทางการเพิ่มทุน เพื่อให้มีเงินทุนมากขึ้นในการรองรับออร์เดอร์ของลูกค้า แต่ทั้งนี้ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณของออร์เดอร์ที่เข้ามาด้วย และภาวะของธุรกิจยานยนต์ว่ามีการฟื้นตัวอย่างแท้จริงหรือไม่ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวบ้างแล้วก็ตาม
"ผมว่าตอนนี้ธุรกิจยานยนต์เริ่มที่จะผงกตัวขึ้นมาแล้ว เพราะเห็นได้จากออร์เดอร์ที่เริ่มสั่งสินค้าเรา แต่เราก็คงจะไม่ประมาท เพราะในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าเป็นบทเรียนสำหรับเรา เพราะเราลงทุนไปเยอะไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและกำลังคน แต่การฟื้นจริงๆ ไม่กล้าพูด คงจะ 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงของเราเองการกลับไปของยอดขายที่เหมือนกับปีก่อนก็คงจะไปในปี 54"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจยานยนต์ ส่งผลให้บริษัทเร่งหาลูกค้ารายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอราคาและเสนองาน 4-5 ราย คาดว่าคงจะรู้ผลในไตรมาส 4/52 และจะไปช่วยในแง่การเติบโตของรายได้ในปีหน้า
ที่ผ่านมาธุรกิจยานยนต์ชะลอลง บริษัทได้พยายายามปรับลดค่าใช้จ่าย ทั้งการปรับปรุงด้านการผลิตและการแยกประเภทชิ้นงานในแต่ละโรงงานอย่างชัดเจน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 โรง คือ โรงงานแห่งที่ 1 ผลิตชิ้นส่วนให้กับฮอนด้า อีซูซุ และเครื่องจักรการเกษตร ส่วนโรงงาน 2 และ 3 รองรับการผลิตป้อนให้กับค่ายโตโยต้า ซึ่งโตโยต้าถือเป็นลูกค้าหลักคิดเป็น 80%
และบริษัทได้หันมาเน้นการผลิตเองจากเดิมที่จ้างผลิตเป็นส่วนใหญ่ โดยพยายามผลิตให้มากที่สุดเพื่อให้เครื่องจักร run ได้เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาได้ใช้เงินลงทุนในเครื่องจักรไว้สูงถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 โรงงานใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 50-55% โดยหากผลิตเต็มที่ 100% ยอดขายจะไปอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะได้เห็นการใช้กำลังการผลิตเต็มที่ในอีก 3-4 ข้างหน้า หรือปี 56
"ตอนนี้ภาวะธุรกิจจะเริ่มฟื้นตัว การที่บริษัทไปมุ่งมั่นในการผลิตตามออร์เดอร์มากขึ้น เพื่อทำให้ cash flow ดีขึ้น เนื่องจากบริษัทมีเงินกู้ทั้งหมด 6,000 ล้านบาท ตรงนี้อาจจะมีการยืดอายุหนี้ออกไปถึงแม้จะต้องทำให้ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่เราก็ยอมเพื่อที่จะทำให้ cash flow ของบริษัทดีขึ้น เพราะหากในอนาคตออร์เดอร์เข้ามาจริงๆ ก็สามารถที่จะไปชดเชยได้ไม่ยาก สามารถจ่ายหนี้ได้ แต่ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ให้ได้มากที่สุดก่อน"แหล่งข่าว กล่าว
ส่วนการปรับขึ้นของราคาหุ้น YNP ค่อนข้างจะแรงน่าจะเป็นการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนที่มองว่าธุรกิจยานยนต์เริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นและด้วยความเชื่อมั่นว่าโตโยต้ามียอดขายฟื้นตัวขึ้น ซึ่งโตโยต้าถือเป็นลูกค้าหลักของบริษัท และ YNP ก็เป็นคู่ค้ากับโตโยต้ามานานคงจะไม่ทิ้งกันไป