ทริส ให้เครดิตองค์กรPF ที่BBB- และคงอันดับตราสารหนี้BBB แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 18, 2009 09:08 —SMS: IQ ข่าวหุ้น

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ที่ระดับ “BBB-" พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานในตลาดบ้านจัดสรรและแบรนด์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน ทว่าจุดแข็งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องทางการเงินที่อ่อนกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งจะส่งผลกระทบให้อุปสงค์ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลดลง รวมทั้งวงจรธุรกิจที่มีความผันผวน และนโยบายของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อบ้านกู้เงินได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งกล่าวว่าอันดับเครดิตตราสารหนี้ของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าอันดับเครดิตองค์กรเนื่องจากได้พิจารณารวมถึงมูลค่าที่ดินจำนวน 25 ไร่ในโครงการ “เมโทร สกาย สุขุมวิท" และ 176 ไร่ซึ่งอยู่ติดทางหลวงหมายเลข 345 ที่ใช้เป็นหลักประกันด้วย ซึ่งหากมูลค่าหลักประกันลดต่ำกว่า 1.68 เท่าของมูลค่าหุ้นกู้ ระดับอันดับเครดิตตราสารหนี้ดังกล่าวก็จะไม่ได้รับการปรับเพิ่ม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถประคองผลการดำเนินงานเอาไว้ได้แม้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตกต่ำ โดยคาดว่าความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แม้บริษัทจะมีความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากในการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม แต่บริษัทก็ควรดำรงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ 50%

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2528 โดยนายชายนิด โง้วศิริมณี และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 ผลของการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงของการปรับโครงสร้างหนี้ทำให้เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการรายใหญ่ 3 ราย ซึ่งได้แก่ บริษัท แจแปนเอเชีย กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอ็มเจแอล อินเตอร์เทรด จำกัด และ บริษัท สำนักกฎหมายนทีอินเตอร์แนทชั่นแนล จำกัด ถือหุ้นในบริษัทรวมกันในสัดส่วน 22.87% บริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหลากหลายประเภททั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมซึ่งเน้นตลาดลูกค้าระดับกลางถึงบน โดยมีราคาขายต่อหน่วยตั้งแต่ 1.7 ล้านบาทจนถึง 20 ล้านบาทสำหรับบ้านจัดสรร และตั้งแต่ 1.2 ล้านบาทจนถึง 4 ล้านบาทสำหรับคอนโดมิเนียม ในปี 2551 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2552 รายได้จากการขายบ้านยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทโดยมีสัดส่วน 72% ของรายได้รวม

ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการขายคอนโดมิเนียม ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมาจากแบรนด์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับและการมีที่ดินเป็นจำนวนมากตามแนวระบบขนส่งมวลชนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านรัตนาธิเบศร์ บริษัทสร้างความแตกต่างให้แก่โครงการที่อยู่อาศัยของตนด้วยการเน้นสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ในโครงการแก่ลูกบ้านซึ่งกลายเป็นจุดขายสำคัญของบริษัท

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ยอดขายของบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคในปี 2551 ทำสถิติเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,354 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2549-2550 ยอดขายในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงเล็กน้อยเป็น 4,507 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 6,266 ล้านบาทในปี 2550 และ 7,538 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งสูงกว่ายอด 4,477 ล้านบาทในปี 2549 ค่อนข้างมาก

สาเหตุหลักมาจากการโอนคอนโดมิเนียมโครงการเมโทร พาร์ค สาทร เฟส 1 และเฟส 2 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 อ่อนลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 รายได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อ่อนตัวลง 30% จากครึ่งแรกของปี 2551 (ซึ่งรวมรายได้จากการขายบ้านมูลค่ารวม 510 ล้านบาทให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PFFUND)) เหลือ 2,712 ล้านบาท ความสามารถในการทำกำไรลดลงโดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ 13% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงจาก 15% ในปี 2551 กระแสเงินสดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นในปี 2551 โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 19.37% จาก 8.65% ในปี 2550 ก่อนจะอ่อนตัวลงเป็น 4.39% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็น 3.30 เท่าในช่วงปี 2551 และ 2.39 เท่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552

ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงของการเมืองภายในประเทศและวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก แม้ว่ามาตรการด้านภาษีซึ่งอนุญาตให้ผู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและจะหดตัวในปี 2552 ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังและดำรงความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันทางการเงินต่างๆ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนเพื่อที่จะดำรงสถานะอันดับเครดิตเอาไว้ ทริสเรทติ้ง กล่าว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ