DTAC ค้านกำหนดอายุไลเซ่น 3G ที่ 15 ปีมองไม่คุ้มลงทุน-ขอความชัดเจนเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 28, 2009 15:55 —SMS: IQ ข่าวหุ้น

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)แสดงความคิดเห็นต่อร่างข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and beyond ย่านความถี่: 1920-1980/ 2110-2170 MHz ว่า การกำหนดอายุของใบอนุญาตให้บริการ 3G ที่ 15 ปีสั้นเกินไป ควรจะปรับเพิ่มเป็น 20 ปี ขณะที่หลักเกณฑ์อีกหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะค่าใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต

DTAC เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาการอนุญาตควรคำนึงถึงเงินลงทุนในการพัฒนาระบบสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จำนวนมหาศาล ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่เพียงพอและคุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งนี้ ระยะเวลา 20 ปียังสอดคล้องกับเงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามที่มีระยะเวลาใบอนุญาต 20 ปี ทั้ง ๆ ที่เมื่อเปรียบเทียบแล้วใช้เงินลงทุนต่ำกว่ามาก

สำหรับเงื่อนไขการให้บริการทั่วประเทศ (Roll out obligation)นั้น DTAC เพื่อให้การให้บริการ 3G เป็นไปอย่างทั่วถึง ในการกำหนดเงื่อนไขการ Roll out เป้าหมายแรกควรกำหนดเป็นจำนวน 50% ของจำนวนประชากรภายในระยะเวลา 3 ปี และเป้าหมายสุดท้ายควรกำหนดเป็นจำนวน 80% ของจำนวนประชากรภายในระยะเวลา 6 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ทางบริษัทอยากให้ทาง กทช.ให้ความชัดเจนในการประกาศ Reserve Price โดยเร็ว เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายอาจต้องใช้ระยะเวลาในการขออนุมัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความล่าช้าในการประกาศ Reserve Price อาจเป็นการสร้างอุปสรรคในการเข้าร่วมประมูลแก่ผู้รับใบอนุญาตบางราย รวมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาต และจะดำเนินการอย่างไร และมีการคิดค่าธรรมเนียมการต่ออายุ (Renewal Fee) หรือไม่

เนื่องจากผู้สนใจเข้าร่วมประมูลต่างต้องจัดเตรียมแผนการลงทุนของตน แต่ปัจจุบันยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายประการ ซึ่งนอกเหนือจากความไม่แน่นอนของประกาศ กทช. ว่าด้วยการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันแล้ว ยังมีเรื่องอื่น ๆ เช่น ค่าคลื่นความถี่ และค่า USO

นอกจากนั้น DTAC ยังเสนอให้ กทช.ประกาศกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม(IC) และมีเงื่อนไขและมาตรการบังคับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทั้งประจำที่และเคลื่อนที่ทุกราย รวมทั้งผู้รับสัมปทานจาก บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ต้องเข้าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามเงื่อนไขในประกาศ กทช.

ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นว่าการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างผู้ให้บริการทุกรายโดยมีการชำระค่าตอบแทนการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายที่สะท้อนต้นทุนเป็นพื้นฐานของการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม และเป็นหลักประกันคุณภาพการให้บริการที่ประชาชนผู้ใช้บริการพึงได้รับ จึงขอให้ กทช. สร้างความชัดเจนในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้รับสัมปทานในการปฏิบัติตามประกาศ IC รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งหากยังไม่มีความชัดเจนก็จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

พร้อมกันนั้น บริษัทยังขอให้ กทช. กำหนดแนวนโยบายที่ชัดเจน หากปรากฎว่าผู้ยื่นคำขอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนนั้นมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต 4 ใบที่ กทช.นำออกประมูลในครั้งนี้ โดยบริษัทเห็นด้วยในการกำหนดเงื่อนไขที่ให้ผู้ประมูลแต่ละรายสามารถได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G เพียงรายละ 1 ใบ เพื่อป้องกันการผูกขาดการแข่งขันและป้องกันการกักตุนคลื่นความถี่ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการโดยผู้ประกอบการในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ