ทริส จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ TMB ที่ระดับ A

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 28, 2009 16:50 —SMS: IQ ข่าวหุ้น

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของธนาคารทหารไทย(TMB)ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “A+" คงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดปัจจุบันที่ระดับ“A"และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ด้อยสิทธิในระดับ “A+"และ “A"สะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและการสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นของธนาคาร ในฐานะเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของธนาคาร ING Bank N.V. ได้เข้ามาบริหารกิจการของธนาคารอย่างเต็มที่และคาดว่าจะช่วยเสริมสถานภาพทางการเงินและการดำเนินงานของธนาคารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

TMB ได้รับประโยชน์ด้านความรู้ความชำนาญจาก ING Bank ในด้านระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งจุดแข็งด้านธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย การประกันภัย และบริการด้านบริหารสินทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธนาคารในอนาคต ธนาคารยังมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลขาดทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับค่อนข้างสูง ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการปรับองค์กรภายใน ตลอดจนสภาพแวดล้อมทั้งทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

อันดับเครดิต“BBB+"ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารสะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน ไม่สะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสามารถไถ่ถอนโดยธนาคารได้หลังจาก 5 ปี นับจากวันที่ออกตราสาร และไถ่ถอนได้ทุกๆ 6 เดือนหลังจากนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร โดยธนาคารจะไม่มีภาระผูกพันในการจ่ายดอกเบี้ยในกรณีที่ธนาคารมีผลขาดทุนในรอบบัญชีก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้ การไม่จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคาร

แนวโน้มอันดับเครดิต“Stable"สะท้อนถึงความคาดหมายว่าธนาคารจะปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องให้ดีขึ้นได้ในระยะปานกลาง การสนับสนุนจาก ING Bank คาดว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบและระเบียบปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างรายได้ที่แน่นอนในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม การบรรลุผลสำเร็จตามแผนธุรกิจ 3 ปีภายใต้ความรับผิดชอบของคณะผู้บริหารชุดใหม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

ทริสเรทติ้ง รายงานว่า ณ เดือนมิถุนายน 2552 TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อ 6% และเงินฝาก 6% ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ได้แก่ กลุ่ม ING Bank และกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 30.1% และ 26.1% ของหุ้นทั้งหมดตามลำดับ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธนาคารรายงานผลกำไรสุทธิ 829 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าผลกำไรสุทธิตลอดปี 2551 ที่จำนวน 424 ล้านบาท แต่หากไม่นับรวมรายได้จากรายการพิเศษที่ได้กำไรจำนวน 2,103 ล้านบาทจากการไถ่ถอนคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ออกเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐก่อนกำหนดแล้ว ธนาคารยังมีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 1,463 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รายได้สุทธิของธนาคารในปี 2552 คาดว่าจะดีกว่าในปี 2551 แม้ธนาคารกำลังดำเนินโครงการปรับโครงสร้างภายในด้านบุคลากรและจะเสร็จสิ้นโครงการเกษียณก่อนอายุในเดือนกันยายน 2552 นี้ แต่ธนาคารก็ได้ตั้งสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวไว้อย่างเพียงพอมาตั้งแต่ปี 2551

ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ธนาคารบรรลุข้อตกลงในการขายสินเชื่อและสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)จำนวน 20,000 ล้านบาทให้แก่ บรรษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพ จำกัด ซึ่งทำให้ยอด NPL ของธนาคารลดลงมาที่ 14% เป็น 60,000 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2552 จากประมาณ 70,000 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2551 ทว่ายอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารก็ลดลงในอัตราดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงทำให้สัดส่วน NPL ของธนาคาร ณ เดือนมิถุนายน 2552 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากระดับเดิมที่ประมาณ 14% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 7% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 12 แห่ง

สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน รวมยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้และสินทรัพย์รอการขาย) ของธนาคารคิดเป็น 0.9 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.8 เท่า อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และขยายฐานสินทรัพย์ที่ทำกำไรท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยต่อไป

เงินทุนของ TMB ณ เดือนมิถุนายน 2552 มีจำนวน 537,000 ล้านบาท โดยจำนวน 75% เป็นเงินฝาก 12% เป็นเงินกู้ยืม (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ตั๋วแลกเงิน และตั๋วเงิน) 9% เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น และ 4% เป็นเงินกู้จากตลาดเงินระหว่างธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทในครั้งนี้ไปใช้ซื้อคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดเดิมที่มีอยู่จำนวน 8,000 ล้านบาท (TMB153A) และส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับการขยายธุรกิจ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ