นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) คาดว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแห่งใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จะสามารถทำรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ(UN) ปกติหากทำเอกสารสมบูรณ์ก็คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 เดือน แต่บางบริษัทก็อาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปี
"หากทำได้ก็ถือว่าจะช่วยเสริมรายได้ให้กับ IRPC เนื่องจากปกติราคาขายคาร์บอนเครดิต อยู่ที่ 7-20 ยูโร/ตัน แต่ขณะนี้ราคาสูงขึ้นไปถึง 15-20 ยูโร/ตันแล้ว"นายไพรินทร์ กล่าว
โรงไฟฟ้าดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะแล้วเสร็จตามแผนปลายปี 53 ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 40% ซึ่งจะเป็นโครงการที่เน้นการลดมลพิษในอากาศ มีเป้าหมายลดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ 4 แสนตัน/ปี และพยายามทำให้โครงการมีคุณสมบัติที่จะขายคาร์บอนเครดิตได้
โครงการดังกล่าวยังจะถือเป็นโครงการพัฒนาพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย IRPC ได้ร่วมกับ จีอี เอ็นเนอร์ยี่ และเจเนอรัล คาร์บอน หากโครงการนี้แล้วเสร็จ บริษัทก็จะปิดโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง แต่ยังคงเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป เพื่อใช้เป็นระบบจ่ายไฟฟ้าสำรอง
นายไพรินทร์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองสั่งระงับโครงการลงทุนในมาบตาพุดว่า บริษัทได้รับผลกระทบเฉพาะโครงการที่จะร่วมมือผลิตน้ำมันยูโร 4 กับบมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR) ซึ่งหากต้องถูกระงับไปจริง บริษัทก็ไม่มีแผนจะลงทุนเอง เนื่องจากปัจจุบัน เครือ PTT ก็สามารถผลิตน้ำมันยูโร 4 ได้จากโรงกลั่นของบมจ.ไทยออยล์(TOP)และบมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) รวมทั้ง IRPC ก็มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างธุรกิจและการลงทุน อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึก ซึ่งต้องใช้เงินมากอยู่แล้ว