บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,500 ล้านบาทของ บมจ. บัตรกรุงไทย(KTC)ที่ระดับ “BBB+"ในขณะเดียวกันก็ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ“BBB+"ด้วยแนวโน้ม“Stable"หรือ“คงที่" ซึ่ง KTC จะนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เดิมที่จะครบกำหนดและใช้ในการปรับโครงสร้างเงินกู้
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและระบบการดำเนินงานของ KTC ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานภาพที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิต ในการให้อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารกรุงไทย(KTB) ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 49.45% ณ วันที่ 2 เมษายน 2552
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนปัจจัยทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของทางการซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายสินเชื่อ และกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่จาก KTB ต่อไป นอกจากนี้ ยังสะท้อนความสามารถของบริษัทในการเข้าไประดมทุนในตลาดทุน รวมถึงการบรรลุแผนระดมทุนโดยการมีแหล่งเงินจากสถาบันการเงินภายนอกหลายแห่ง และยังคงดำเนินนโยบายด้านสินเชื่อที่เข้มงวดต่อไป อย่างไรก็ตาม หากผลประกอบการของบริษัทถดถอยลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตได้
ทริสเรทติ้ง รายงานว่าสภาพคล่องในระยะสั้นของ KTC ปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับ เนื่องจากบริษัทสามารถออกหุ้นกู้ระยะยาวมูลค่ารวม 9,180 ล้านบาทได้ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.52 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ระยะยาวคิดเป็น 80.2% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด ณ เดือน ส.ค.52 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 54.89% ณ เดือน พ.ค.52
นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือน ส.ค.52 บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จาก KTB อีกจำนวน 18,030 ล้านบาทและจากสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 4,010 ล้านบาท นับตั้งแต่เดือน พ.ค.52 เป็นต้นมาบริษัทมีระดับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เคยมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือจาก KTB เพียง 3,200 ล้านบาทและจากสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 3,510 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก KTB ก็มีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบซึ่งกำหนดเพดานวงเงินกู้ที่ KTB จะให้แก่บริษัทในกลุ่ม ทั้งนี้ การจัดสรรวงเงินให้แก่บริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับแบบรวมกลุ่มของ KTB ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาและอนุมัติจากธนาคารเป็นสำคัญ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า KTC ยังคงดำรงสถานะผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่องด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนบัตรที่ 12.5% ณ เดือน ก.ค.52 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากระดับ 12.7% ณ เดือน ธ.ค.51 อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทมีนโยบายบริหารงบการเงินด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้นซึ่งเหมาะกับภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยของปัจจัยภายนอกและความไม่แน่นอนของแหล่งเงินในตลาดทุน ดังนั้น ยอดสินเชื่อของบริษัทในปี 52 จึงมีโอกาสที่จะไม่เติบโตหรือลดลงได้
การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดีจึงเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญสำหรับบริษัทในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อจะลดระดับการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ ผู้บริหารของบริษัทจึงได้ดำเนินมาตรการป้องกันหลายประการในปี 51 ได้แก่ การใช้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อและนโยบายการจัดเก็บหนี้ที่เข้มงวดขึ้น และมีแผนในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น
ณ สิ้นเดือน มิ.ย.52 KTC มียอดรวมสินเชื่อคงค้างจำนวน 49,001 ล้านบาท ลดลง 3.1% จาก 50,587 ล้านบาท ณ เดือน ธ.ค.51 โดยยอดสินเชื่อดังกล่าวประกอบด้วยสินเชื่อจากบัตรเครดิต 73% สินเชื่อส่วนบุคคล 24% สินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย 2% และสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตอีก 1%
บริษัทประกาศกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 52 จำนวน 202 ล้านบาท ลดลงประมาณ 36% จาก 318 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 51 ปัจจัยสำคัญเนื่องมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มเป็น 2,025 ล้านบาทสำหรับช่วงดังกล่าว จาก 1,476 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 51 รวมทั้งจากการที่บริษัทมีรายได้พิเศษจำนวน 114 ล้านบาทจาก VISA Inc. เข้ามาในปี 51 ทั้งนี้ หากไม่นับรวมรายได้พิเศษแล้ว อัตราส่วนในการทำกำไรของบริษัทในปี 52 จะลดลงเล็กน้อย บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.4% และ 3.2% ตามลำดับสำหรับครึ่งแรกของปี 52 เทียบกับระดับ 0.5% และ 4.0% ในช่วงเดียวกันของปี 51
KTC มีอัตราสินเชื่อค้างชำระและอัตราส่วนหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย.52 อัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ของบริษัทมีสัดส่วน 4.6% เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ณ สิ้นเดือน ธ.ค.51 โดยสาเหตุหลักมาจากการมียอดค้างชำระของสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิกลับเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปี 2550 เป็น 6.3% ในปี 51 และ 3.7% สำหรับครึ่งแรกของปี 52 (ยังไม่ได้ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี)
อัตราส่วนจำนวนกันไว้เผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 3.84% ณ สิ้นปี 50 เป็น 4.54% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.52 เป็นผลมาจากการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์และเกณฑ์การตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 50 เกณฑ์การตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลคำนวณจากค่าสถิติความสูญเสียย้อนหลังที่เกิดขึ้นจริงบวกกับค่าความเสี่ยงในอนาคตที่สะท้อนถึงภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงไปจากเดิมที่ตั้งสำรองในอัตราคงที่ในระดับ 2% ของยอดสินเชื่อที่ค้างชำระน้อยกว่า 180 วัน
นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 52 บริษัทยังได้เปลี่ยนวิธีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับสินเชื่อเจ้าของกิจการที่ค้างชำระเกิน 90 วันเป็นเต็มจำนวน 100% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจำนวน 30.17 ล้านบาทในไตรมาสดังกล่าว